บางกอก POST 2025 จัดขึ้นเป็นปีที่สองแล้ว โดยทีม Loudly Prefer ผู้คร่ำหวอดในวงการดนตรีร็อกของไทย ซึ่งปีนี้เองก็ไม่ได้เป็นแค่เทศกาลดนตรีธรรมดา ๆ แต่คือหลักฐานทางวัฒนธรรมว่า post-genre ในเอเชียยังคงเติบโตและแตกแขนงแนวดนตรีออกไปได้อย่างกล้าหาญ เปิดพื้นที่ใหม่ ๆ ให้กับเสียงอันซับซ้อนตั้งแต่ post-rock, shoegaze, math rock, blackgaze, ไปจนถึง stoner และ screamo ได้เติบโตเคียงกันอย่างงดงาม
ไลน์อัพจากทั้งฝั่งไทยและเทศล้วนช่วยกันเติมเต็มให้งานนี้กลายเป็นคอมมูนิตี้ที่ค่อย ๆ แข็งแรงขึ้น ศิลปินแต่ละวงได้ส่งพลังบางอย่างให้คนดูซึมซับ และตอบกลับด้วยการโยกหัว ร้องตาม หรือหลับตาไปกับคลื่นความรู้สึกที่ไม่มีคำอธิบาย สำหรับคนที่เคยเชื่อว่า post-rock เป็นดนตรีของกลุ่มเฉพาะทาง แต่งาน บางกอก POST จะเป็นเสียงสะท้อนที่ดังมากพอจะสั่นสะเทือนทั้งวงการ
ทีมคอสมอสได้ไปร่วมงานในฐานะ Media Partner ในงานนี้ และอยากส่งต่อความสนุกในวันนั้นให้กับทุกคนได้ชมอีกครั้ง
28 มิถุนายน 2568

ทุกคนมารวมกันหน้า Mr. Fox Live House ตั้งแต่ตอนบ่าย หลังจากประตูเปิดตอนบ่ายสามโมง ด้านในก็เพียบพร้อมไปด้วยตลาดสินค้าของศิลปิน พร้อมของกินและเครื่องดื่มมากมาย เราจะเห็นว่าศิลปินทุกคนก็ออกมาเอ็นจอยกันงานด้วยเหมือนกัน ทุกคนต่างพูดคุยแลกเปลี่ยนกันอย่างอบอุ่น
เปิดงาน On The Pleateau ที่ค่อย ๆ นวดอารมณ์คนดูด้วยกีตาร์เหงา ๆ ซึมลึก กลั่นออกมาจากห้องโล่ง ๆ ที่มีแค่เราและความรู้สึก ก่อนจะซัดเราเต็มแรงด้วยดนตรีหนักหน่วงที่ไม่ทันให้ตั้งตัว โยกจังหวะช้า‑เร็วสลับกันอย่างเฉียบคม ท่อนฮุกดุดันกระแทกใจ ขณะที่ท่อนเชื่อมก็ไม่ปล่อยให้พักกับรีเวิร์บชวนล่องลอย
ความหนักหน่วงของโชว์ไม่ได้อยู่ที่เสียงดังอย่างเดียว แต่มันบีบเค้นอารมณ์ผ่านเนื้อเพลงที่ว่าด้วยบาดแผล และความไม่เข้าใจกัน ที่ถูกส่งผ่านเสียงที่หน่วง หนัก และเยือกเย็นในเวลาเดียวกัน เพลง ช้า คืออีกหนึ่งไฮไลต์ที่เรียกเสียงล่องของคนทั้งงาน สาดรีเวิร์บกระจายเหมือนหมอกหนาที่บดบังขอบฟ้า จนเราเผลอหลับตาแล้วโยกหัวตามไปตลอดทั้งโชว์

ขยับมาที่อีกเวทีหนึ่ง Sinners Turn Saints ก็พร้อมปล่อยของทันที พวกเขาเปิดโชว์ด้วย interlude อันนุ่มนวลราวกับกำลังประกอบพิธีกรรมบางอย่าง สแนร์แผ่ว ๆ กับกีตาร์รีเวิร์บที่คลุ้งอยู่ในอากาศ จับมือพาเราเดินเข้าสู่ความมืดแบบไม่ทันรู้ตัว ก่อนจะสาดสองกระเดื่องใส่หน้าอย่างไม่ปรานี พร้อมเสียงกีตาร์อันบ้าคลั่ง และเสียงคำรามแบบสุดปอด ทุกอย่างที่ระเบิดออกมานั้นคืออารมณ์ดิบ ๆ ที่ชวนคลั่งไคล้ ไปกับความจริงอันเจ็บปวด
ซาวด์ของพวกเขาเหมือนหลุดมาจากหนังสยองขวัญ โครงสร้างทางดนตรีที่ดุดัน กีตาร์ที่ไต่เมโลดี้ไปทีละโน้ตอย่างเชื่องช้า ท่ามกลางบรรยากาศอันน่าหวาดหวั่น จนเราไม่รู้ว่ากำลังกลัวหรือกำลังอินอยู่ โดนเฉพาะ Lament คือความโกลาหลอันยาวนานกว่า 22 นาทีที่เหมือนนั่งรถไฟเหาะอารมณ์ มีทั้งช่วงที่พาเราลอยขึ้นไปสุดราง ก่อนจะทิ้งดิ่งทุกคนลงมา จังหวะที่ค่อย ๆ โบยตีคนฟังอย่างไม่ปรานีทำหน้าที่ได้ดีเกินคาด บาดลึกและเปิดเปลือยความดิบเถื่อนที่ซ่อนอยู่ในชาวร็อกทุกคนออกมา

โชว์ของ Slowwves เปิดมาด้วยการสาดรีเวิร์บกับดิสทอร์ชันใส่คนดูตั้งแต่โน้ตแรก แล้วค่อย ๆ ความแน่นของซาวด์ที่โอบล้อมทุกคนไว้ ทำให้เราไม่เหลือทางหนีไปจากความรู้สึกที่วงส่งมา ได้แต่โอบรับความหนักหน่วงนี้ไว้ พออารมณ์เริ่มได้ที่ วงก็แอบหยอด dream pop เข้าไปอย่างมีชั้นเชิง
Labyrinth คือหมัดเด็ดของโชว์ ที่ยืนยันว่าจุดแข็งของวงไม่ได้อยู่แค่ซาวด์อันสวยงาม แต่เสียงร้องที่มีเสน่ห์เฉพาะตัว ช่วยยกระดับดนตรีให้ยิ่งน่าฟัง พาดทับดนตรีหนักหน่วงได้อย่างลงตัว กีตาร์ที่เข้ามาซัดในเพลงนี้ก็ร้อนแรง พร้อมจะลากคนฟังเข้าไปในเขาวงกตอารมณ์ที่ทั้งหวาน ทั้งเจ็บ ทั้งเหงาในเพลงเดียว

ก่อนทุกคนจะทยอยกลับมาที่เวทีหลักกับ Hope the Flowers พวกเขาเปิดเวทีด้วยซาวด์ที่ชวนลุ่มหลง กีตาร์ฟุ้ง ๆ กับซินธ์ลึกลับที่ค่อย ๆ อุ่นเครื่องอารมณ์คนดูอย่างละเมียดละไม ก่อนจะระเบิดดิสตอชันออกมาแบบเต็มแรงชนิดที่เผลอถามตัวเองว่า วงไม่ได้เสียงแตกขนาดนี้ไม่ใช่หรอวะ แต่มันดันโคตรมันจนไม่ต้องการคำอธิบายอะไรแล้ว
โชว์รอบนี้ยิ่งพิเศษขึ้นด้วยการกลับมาแบบเฉพาะกิจของ Nixsa สมาชิกดั้งเดิมและดอกไม้เพียงหนึ่งเดียวในวง เสียงของเธอเติมความนุ่มนวลให้วงได้อย่างที่ไม่มีใครแทนได้ และกลายเป็นสมดุลสำคัญที่ตัดกับไลน์กีตาร์ที่พุ่งพล่านอย่างบ้าคลั่ง ท่อนฮุกแต่ละเพลงที่ทำงานกับเราอย่างแปลกประหลาด เสียงไวโอลีนล้อกับกีตาร์รีเวิร์บ และ visual ที่ค่อย ๆ เติมสีสันบนจอด้านหลังจนกลายเป็นภาพฝันแบบไซคีเดลิกเล็ก ๆ ที่เราหลงเข้าไปแบบไม่รู้ตัว
สามเพลงแรกคือเดือดมาก ซึ่งฮอนบอกเองว่าเป็นเพลงใหม่ที่ยังไม่ได้ปล่อยแต่อยากเอามาเล่นก่อน แต่มันคือสามเพลงที่โคตรเท่ทั้งสไตล์ใหม่ ๆ ของวงรวมถึงโชว์ที่ดุดันมากขึ้น
ก่อนจะหยิบเพลงที่ทุกคนชอบมาเล่นต่อ กีตาร์ที่กรีดกรายด้วยโน้ตแหลมสูง ดึงกลิ่นอาย post-rock ออกมาอย่างเฉียบคม เศร้าแต่ไม่อ่อนแอ หนักหน่วงแต่หนักแน่น ท่อนฮุกยังคงรักษาความล่องเกินต้าน และอารมณ์ของเพลงก็พุ่งทะยานไม่มีตก บิวด์ทุกพาร์ตของโชว์ขึ้นมาอย่างมีจังหวะ ก่อนระเบิดอารมณ์จนเกือบล้นในตอนท้าย

ก่อนจะกลับมาสนุกกันต่อที่เวทีเล็ก กับตัวท็อปของดนตรีชูเกซ Death of Heather ซึ่งวงก็คงไม่ต้องบรรยายอะไรมาก เพราะทุกอย่างมันออกมาจากเพลงที่พวกเราชอบอยู่แล้ว ทั้ง Endless Emotion ที่ถ่ายทอดความอัศจรรย์ใจของโชว์ของพวกเขาได้ดีที่สุด พอขึ้นเพลงนี้เมื่อไหร่ คนดูหน้าเวทีก็โยกหัวตามทันที ฮุกที่ระเบิดอารมณ์ออกมาเหมือนเป็นสัญญาณของมอชพิท ชูเกซที่ควรจะหวานหม่นกลับกลายเป็นพลังอัดที่กระแทกอารมณ์คนดูได้พอ ๆ กับศิลปินสาย post-hardcore คนอื่น ๆ
และ Drained ที่ส่งพลังให้ทั้งฮอลล์โยกหัวกันพร้อมเพรียง พาย้อนกลับไปสู่ความหม่นเทาและเสียงคลุ้งหนา ๆ แบบชูเกซดั่งเดิม เติมด้วยไลน์เบสและจังหวะที่แข็งแรงพอจะพาคนดูข้ามผ่านความบาดไปด้วยกัน แถมยังแอบเอาเพลงใหม่มาให้ทุกคนลองฟัง

เซอร์ไพรส์โชว์ของค่ำคืนนี้ยกให้กับ Acid Brain แบบไม่ต้องสงสัย พอได้ดูโชว์ของพวกเขาจริง ๆ แล้วพบว่าไม่สามารถนิยามดนตรีของพวกเขาได้จริง ๆ ด้วย ดนตรีของพวกเขามีทั้งความหยาบ ความล่อง และความหนักหน่วงที่สลับไปมาได้ราวกับเวทมนต์ เดี๋ยว progressive หรือจะคำรามแบบ screamo หรือจะระเบิดความ stoner rock ที่หนักหน่วง ทำให้โชว์ของวงมันเกินพิกัดแบบที่ไม่ต้องสนโครงสร้างดนตรีใด ๆ
สิ่งที่เรียบเรียงออกมาล้วนกล้าหาสญ กล้าพูดได้เต็มปากว่านี่อาจเป็นวงที่ร็อกสุดในงานก็ว่าได้ พวกเขาไม่ได้แค่โชว์ดนตรี แต่โชว์จิตวิญญาณของศิลปินที่ยอมโดนเผาไปกับเมโลดี้อันเมามันด้วย

ตัวท็อปฝั่งชูเกซมาแล้ว จะขาดตัวท็อปฝั่ง post-rock ไปได้ยังไง กับเฮดไลเนอร์ฝั่งไทยของงานอย่าง INSPIRATIVE โชว์ของพวกเขายังคงหนักแน่นเหมือนเดิม ความดุดันไม่ได้มาพร้อมความเกรี้ยวกราด แต่ถูกจับคู่กับเมโลดี้ที่สวยงามและละเมียดละไมพอจะเล่าเรื่องชีวิตได้อย่างธรรมดาและลึกซึ้ง
ความงามในดนตรีองพวกเขาคือการจัดวางเสียงให้อยู่ตรงกลางได้อย่างกลมกล่อม เหมือนปลูกดอกไม้กลางพายุ เพลง พื้นที่ว่าง คือหนึ่งในเพลงที่จะสลักอยู่ในใจชาวร็อกตลอดไป กับการล่องไปตามเมโลดี้อันสงบนิ่งแต่คลื่นใต้น้ำอันเดือดดาลยังพาเราไปไกล ท่ามกลางเสียงร้องของคนดูที่อินจัดยิ่งทำให้ท่อนฮุกมันพุ่งพล่านสุด ๆ ช่วงสองนาทีสุดท้ายที่ตราตรึงนั้นยังทำได้ดูเหมือนทุกโชว์เลย
รวมถึง สิ่งที่เหลือไว้ ที่เหมือนเมฆดำก่อนพายุมา เสียงกีตาร์ที่ชวนทุกคนปล่อยใจไปกับดนตรีอย่างหมดใจ บีบนวดเราไปช้า ๆ ปลอบโยนเราเมื่อต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายตรงหน้า เป็นอีกเพลงที่ได้ฟังกี่ครั้งเราก็ต้องหลับตาแล้วโยกหัวตามทันที

มาถึงเฮดไลเนอร์ระดับเอเชียวงแรกของงานอย่าง Asunojokei จากญี่ปุ่น ซึ่งถ้าใครชอบ Deafheaven ในปีแรก จะต้องชอบวงนี้ด้วยแน่นอน กับดนตรี blackgaze, screamo, และ post-hardcore ที่หลอมรวมกันได้อย่างสวยงาม โชว์ของพวกเขาคือการพาเราดิ่งสู่ใจกลางความโกลาหลที่งดงาม
ฟรอนต์แมนของ Asunojokei มาพร้อมเสน่ห์เหลือร้าย ทั้งท่าทีที่ก้าวร้าวและวูบไหว ควบคุมทั้งเวทีปล่อยออร่าบางอย่างที่ไม่ค่อยได้เห็นในวงโพสต์เมทัลยุคนี้เท่าไหร่ เสียงร้องของเขาเองก็ไม่ได้มีแค่ว๊ากได้ทรงพลัง แต่ท่อนร้องก็ไพเราะจับใจ
In The City Where Cobalt Falls หนึ่งในเพลงที่พลังของ post-hardcore ถูกปลดปล่อยแบบไม่ยั้ง จังหวะเร่งเร้า เสียงแผดกีตาร์แผดอย่างบ้าคลั่ง รีเวิร์บถูกอัดแน่นจนทุกอย่างเหมือนสั่นไปทั้งฮอลล์ เสียงกรีดร้องจากฟรอนต์แมนส่งพลังให้กับคนดูอย่างหนักหน่วง กำปั้นถูกชูขึ้นกลางอากาศไปตามจังหวะอย่างพร้อมเพียง มันคือพิธีกรรมที่คนดูได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของวงอย่างสมบูรณ์

อีกหนึ่งที่เราไม่อยากพลาดเลยในงานนี้คือ Prune Deer วง math-rock ที่เรารอคอยให้พวกเขากลับมาอีกครั้ง ตั้งแต่โน้ตแรก วงก็ซัดไลน์กีตาร์ที่พันกันเป็นปม คอร์ดซ้อนคอร์ด ไลน์เบสที่พลิกไปมาราวกับเดินอยู่ในเขาวงกต และกลองที่กระแทกแบบ off-beat จนหูฟังตามไม่ทัน แต่ร่างกายดันสัมผัสความหฤหรรษ์นี้ได้ และสนุกไปกับมันอย่างควบคุมไม่ได้
แม้จะไม่มีเนื้อร้องหรือเมโลดี้หวานหูแบบวงอื่น แต่ทุกเครื่องดนตรีก็ทำหน้าที่ของตัวเองเพื่อเชื่อมโยงกับคนดูได้อย่างตรงไปตรงมา บางช่วงก็มีความเป็น post-rock ที่ชวนหลุดจากกฎเกณฑ์ล่องลอยไปกับเมโลดี้อันน่าตื่นตา

เดินทางมาถึงวงสุดท้ายแล้ว กับอีกหนึ่งเฮดไลเนอร์จากญี่ปุ่นที่ทุกคนรอคอยกับ Suichu Spica ที่โชว์ของพวกเขาเหมือนกับแสงแดดเจิดจ้าในวันพายุเข้า เสียงร้องของนักร้องนำอันสดใส ทำหน้าที่เหมือนน้ำตาลที่เคลือบซาวด์ร็อกอันจัดจ้านไว้ได้อย่างกลมกล่อม math rock ของพวกเขามีเอกลักษณ์เฉพาะตัวมาก ๆ ทั้งสดใสน่ารัก ส่งพลังบวกได้อย่างไม่น่าเชื่อ แถมยังชวนน่าตื่นเต้นไปพร้อมกัน
ไดนามิกที่ค่อย ๆ ขยับขึ้นลงอย่างหฤหรรษ์, การสลับห้องไปมาอย่าง, หรือการวางท่อน bridge ที่กล้าแตกต่างจากโครงสร้างเพลงทั่วไป พวกเธอกำลังพูดกับเราผ่านดนตรีว่าความสดใสไม่ได้แปลว่าง่าย ความหวานไม่ได้แปลว่าขาดพลัง และผู้หญิงในร็อกไม่ได้ต้องทำตัวเหมือนใคร
ความหลงใหลในประเทศไทยของเธอยังส่งผ่านโชว์บนเวทีได้อย่างอบอุ่นใจ ทั้งการพยายามสื่อสารกับแฟนเพลงรวมถึงการตามใจแฟนเพลงแถมเพลงแบบไม่ยั้ง เรียกว่าได้ใจชาวร็อกวันนั้นกันสุด ๆ
อ่านต่อ: บางกอก POST เฟสติวัลที่กำลังกลายเป็นหนึ่งในหมุดหมายของซีนร็อกทางเลือก
บางกอก POST 2025 คือเทศกาลที่ยืนยันว่าซีนดนตรีร็อกในเอเชียไม่ใช่ดนตรีเฉพาะกลุ่มอีกต่อไป ความหลากหลายของแนวดนตรีในงานมันน่าสนใจมาก ๆ มันคือพื้นที่เปิดกว้างสำหรับใครก็ตามที่หลงใหลในดิสตอชั่นหรือรีเวิร์บที่วงร็อกทั่วไปอาจให้กันไม่ได้
และสิ่งที่ทำให้เทศกาลนี้พิเศษ คือการเผยให้เห็นภาพรวมของซีนร็อกในภูมิภาคว่ามันหลากหลายและมีความเป็นไปได้มากมายรอเราอยู่ และความหวังของซีนนี้ไม่ได้อยู่ที่ผู้จัดคนเดียวหรือศิลปินที่มา แต่คือทุกคนที่ต้องช่วยกันออกมาซัพพอร์ตให้ศิลปินเหล่านี้ยังคงทำผลงานกันต่อไปได้
เราเชื่อว่า บางกอก POST ปีหน้าจะต้องมีวงที่ทำให้เราตื่นเต้นได้แบบนี้อีกแน่นอน จนกว่าจะถึงวันนั้นก็อย่าลืมออกไปซัพพอร์ตศิลปินและผู้จัดที่เรารักเท่าที่เราไหว จนกว่าจะพบกันใหม่


ชอบไปคอนเสิร์ตเพราะเป็นกิจกรรมที่ทำคนเดียวได้ และยังชอบแนะนำวงดนตรีใหม่ ๆ ผ่านตัวอักษรตลอดเวลา