Valentin Hansen ศิลปินที่กล้าตั้งคำถามถึงคุณค่าของดนตรีและท้าทายระบบสตรีมมิ่งผ่านเพลงของเขา

by McKee
105 views
Valentin Hansen Crisis Max Spotify Killing a Friend German

ในแกลเลอรีเล็ก ๆ กลางกรุงเบอร์ลิน สมาร์ตโฟนหลายสิบเครื่องสว่างไสวขณะกำลังเล่นเพลงในอัลบั้มหนึ่งแบบวนซ้ำไม่หยุดหย่อน อุปกรณ์เหล่านี้คือส่วนหนึ่งของ Installation Art ที่เรียกว่า Farm Click โดยศิลปินนามว่า Valentin Hansen (วาเลนติน แฮนเซน) ที่สร้างขึ้นมาเพื่อสตรีมเพลงของตัวเองทั้งวันทั้งคืน แต่ท้ายที่สุดแล้ว ตัวเลขการสตรีมบน Spotify ของเขากลับอยู่ที่เลขศูนย์ และนี่คือจุดเริ่มต้นที่ทำให้ทั่วโลกสนใจในตัวเขา

แฮนเซนคือศิลปินสายทดลองจากกรุงเบอร์ลิน ผู้ผสานงานศิลปะเชิงแนวคิดเข้ากับการวิพากษ์วงการดนตรีอย่างเฉียบแหลม ก่อนจะเริ่มออกผลงานของตัวเอง เขาเติบโตในพื้นที่ชนบทใกล้เมืองฮัมบูร์ก ประเทศเยอรมนี ซึ่งหล่อหลอมความสนใจในดนตรีและศิลปะภาพของเขาตั้งแต่ยังเด็ก แต่พอเริ่มไม่อินกับระบบการศึกษาแบบเดิม เขาก็ตัดสินใจลาออกจากโรงเรียนตอนมัธยม แล้วย้ายมาอยู่เบอร์ลินเพื่อดื่มด่ำกับวงการสร้างสรรค์ ที่นั่นเขาทำงานด้านออกแบบกราฟิกและโปรดักชันวิดีโอมากมาย

“ผมไม่เคยคิดจะเดินเส้นทางการศึกษาแบบเดิม ๆ” เขาเล่า “การดรอปเรียนทำให้ผมหลุดจากวัฏจักรนั้น และได้อำนาจการตัดสินใจกลับมา ผมอยากเป็นคนเลือกทุกอย่างเอง ไม่ใช่ตามระบบที่สังคมกำหนดไว้”

Valentin Hansen Crisis Max Spotify Killing a Friend German
Valentin Hansen from max

ในเบอร์ลิน เขาเริ่มต้นด้วยงานออกแบบกราฟิกและวิดีโอเพื่อเลี้ยงชีพ ฝึกฝีมือด้านภาพและกำกับมิวสิกวิดีโอให้ศิลปินชื่อดังอย่างวง Bilderbuch และดีเจ Paul Kalkbrenner ระหว่างนั้นก็ใช้เวลาว่างทั้งหมดกับการทำดนตรี ใช้เวลาถึงห้าปีในการฝึกฝนก่อนจะปล่อยซิงเกิลแรก แต่ในใจลึก ๆ ดนตรีคือหัวใจของทุกสิ่งมาตลอด ความสามารถที่หลากหลายครอบคลุมทั้งเสียง ภาพ และภาพยนตร์ ทำให้เขากลายเป็นศิลปินที่ไม่เห็นเส้นแบ่งระหว่างรูปแบบศิลปะใด ๆ และยังปลูกฝังแนวคิดท้าทายความคุ้นชินในทุกขั้นตอนของการสร้างงาน

ขณะเดียวกันก็ใช้เวลาว่างทำเพลงอย่างจริงจัง ตลอด 5 ปี เขาพัฒนาซาวด์เฉพาะตัวที่ผสมระหว่างความเป็นดิจิทัลและแอนะล็อก ใช้เอฟเฟกต์ vocoder เพื่อเชื่อมบีทฮิปฮอปเข้ากับความเศร้าแบบดนตรีอินดี้ได้อย่างมีเอกลักษณ์ จนกระทั่งในปี 2021 ขณะที่เขาอยู่ในวัยกลางยี่สิบ แฮนเซนได้นำพลังความเป็นอิสระนั้นมาสู่ผลงานเปิดตัวที่กลายเป็นแถลงการณ์ศิลปะอย่างชัดเจน เขาก่อตั้งคอลเลกทีฟและค่ายเพลงเล็ก ๆ ของตนเองในชื่อ Killing A Friend ร่วมกับเพื่อนร่วมงานอีกสองคน ภายในสตูดิโอสไตล์อุตสาหกรรมย่านฮันซาเฟียร์เทลของเบอร์ลิน

ที่นั่น พวกเขาวางแผนปล่อยเพลงด้วยวิธีที่จะเผชิญหน้ากับความเป็นจริงของเศรษฐกิจแบบสตรีมมิ่งอย่างตรงไปตรงมา ผลลัพธ์คืออัลบั้ม Crisis (The Worthless Album) — ผลงานที่ท้าทายทั้งแนวคิดและระบบอย่างถึงที่สุด สมชื่อของมัน

เมื่ออัลบั้ม Crisis (The Worthless Album) ปล่อยในเดือนกรกฎาคมปี 2021 หลายคนอาจไม่ทันสังเกตว่าอัลบั้มนี้มีอะไรผิดแผกไปจากปกติ มันมีเพลงจริง ๆ อยู่ 8 เพลง ที่มาพร้อมกลิ่นอายซินธ์ดิจิทัลและอารมณ์โศกเศร้าแบบอินดี้ป๊อปซึ่งเป็นลายเซ็นของแฮนเซน แต่สิ่งที่ไม่ธรรมดาก็คือวิธีที่เขาเลือกใส่เพลงเหล่านั้นบนสตรีมมิ่ง

แฮนเซนหั่นอัลบั้มออกเป็น 30 แทร็กสั้นพิเศษ โดยแต่ละแทร็กยาวเพียง 29 วินาทีเท่านั้น; นี่ไม่ใช่การทำเพื่อสร้างความประหลาดใจเพียงอย่างเดียว แต่มันคือการยั่วยุไปยังระบบเศรษฐกิจของการสตรีมเพลงโดยตรง

บนแพลตฟอร์มอย่าง Spotify การสตรีมจะถูกนับ (และจ่ายค่าลิขสิทธิ์ให้ศิลปิน) ก็ต่อเมื่อมีผู้ฟังเล่นเพลงนั้นอย่างน้อย 30 วินาที การที่แฮนเซนจงใจทำให้ทุกแทร็กใน Crisis สั้นกว่าเกณฑ์ดังกล่าว ว่าอัลบั้มนี้จะไม่มีวันถูกนับเป็นการสตรีม และแน่นอนว่าจะไม่มีรายได้ใด ๆ ตามมา เขาได้สร้างอัลบั้มที่อัลกอริทึมของ Spotify จะมองว่า “ไม่มีอยู่จริง” เป็นเหมือนผีที่ไร้ตัวตนในสายตาของระบบ

“ไม่มีเพลงไหนในอัลบั้ม Crisis ยาวเกิน 29 วินาทีเลย และเขาก็ไม่ได้รับเงินแม้แต่แดงเดียวจาก Spotify นี่คือการประท้วงระบบค่าตอบแทนที่ต่ำเตี้ยเรี่ยดิน” หนึ่งในรายงานข่าวกล่าวไว้อย่างตรงไปตรงมา แฮนเซนจึงได้ประกาศว่า เพลงของเขา “ไร้ค่า” บนแพลตฟอร์มสตรีมมิ่ง ไม่ใช่เพราะเขาเชื่อว่ามันไม่มีคุณค่าใด ๆ แต่เพื่อชี้ให้เห็นอย่างเจ็บแสบว่า ใครกันแน่ที่มีอำนาจในการกำหนด “คุณค่า” ของศิลปะในตลาดดนตรียุคดิจิทัล

แรงบันดาลใจเบื้องหลัง Crisis มาจากคำถามยาก ๆ ที่ศิลปินยุคใหม่ทุกคนต้องเผชิญ … ศิลปินจะสร้างงานต่อไปได้อย่างไรในเมื่อรายได้จากสตรีมต่ำมาก ดนตรีมีมูลค่าเท่าไรในปี 2021

แฮนเซนไม่ได้ตอบคำถามเหล่านั้นผ่านบทความหรือบทสัมภาษณ์ แต่เลือกให้อัลบั้มเป็นคำตอบแทน โดยออกแบบให้ Crisis มีมูลค่าเป็นศูนย์จริง ๆ บนทุกแพลตฟอร์มสตรีมมิ่ง “ท้ายที่สุดแล้ว นี่คือหนทางเดียวที่ศิลปินจะกำหนดคุณค่าของตนเองในระบบที่ขับเคลื่อนโดย Big Tech และค่ายเพลงยักษ์ใหญ่” แถลงการณ์ที่แนบมากับอัลบั้มระบุ พร้อมชี้ให้เห็นถึง “ความไม่แฟร์และไร้สาระของโมเดลการสร้างรายได้ในอุตสาหกรรมเพลงปัจจุบัน”

ถ้า Spotify จะถือว่าเพลงของศิลปินมีค่าเพียงเล็กน้อย แฮนเซนก็จะผลักตรรกะนั้นไปให้สุดทาง และเปิดโปงความย้อนแย้งของระบบได้อย่างแสบสัน

แผนของเขาก็ได้ผล Crisis (The Worthless Album) กลายเป็นกระแสในแวดวงดนตรีอินดี้และฟอรั่มเทคโนโลยี เพราะความกล้าท้าทายกรอบความคิดเดิม ๆ “วาเลนติน แฮนเซน ออกอัลบั้มด้วยวิธีที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน” นักวิจารณ์คนหนึ่งกล่าว พร้อมเสริมว่า เขาได้ชี้ให้เห็นถึง “การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในวิธีการสร้างดนตรี” ภายใต้กฎของโลกสตรีมมิ่ง

และเหนือเสียงฮือฮา โครงการนี้ก็ได้บรรลุเป้าหมายที่แฮนเซนตั้งไว้ นั่นคือการสะท้อนระบบของ Spotify ให้โลกเห็น เมื่อถึงปลายปี 2021 รายงาน “Year Wrapped” ของ Spotify สำหรับบัญชีของแฮนเซน แสดงผลเป็นศูนย์หมดทุกอย่าง: 0 สตรีม, 0 ผู้ฟัง, 0 ประเทศ ว่างเปล่าสนิท

Credit: Killing A Friend https://kaf.mirror.xyz/

แฮนเซนยังกดแผ่นไวนิลของ Crisis ออกมาและกระจายไปยังร้านแผ่นเสียง 14 เมืองทั่วโลก โดยแต่ละแผ่นติดป้ายราคาว่า €0 เพื่อขยายการประท้วงจากโลกดิจิทัลสู่โลกจริง เบื้องหลังท่าทีขบถแบบติดตลกของอัลบั้ม Crisis คือคำถามสำคัญที่จริงจัง ใครควรเป็นคนกำหนดคุณค่าของงานศิลปะ? อัลกอริทึมหรือศิลปิน?

สำหรับแฮนเซน คำตอบนั้นชัดเจน ในระบบที่หยิบยื่นความเมตตาให้ศิลปินด้วยรายได้จิ๊บจ๊อย ทางเดียวที่จะทวงอำนาจคืนมาก็คือการปฏิเสธรับเงินของระบบนั้นโดยสิ้นเชิง

ซึ่ง Crisis ยังคงทำหน้าที่เป็นอัลบั้มดนตรี glitch pop ได้อย่างสมบูรณ์ มีธีมดนตรีที่ลูปและไต่ระดับอารมณ์ที่ค่อย ๆ ก่อตัวขึ้นไป แม้มันจะตั้งใจต่อต้านประสบการณ์การฟังแบบทั่วไปของคนฟัง ที่คลิกเพลงและได้ฟังทีเดียวจนจบ ซาวด์ดีไซน์ของแฮนเซนในอัลบั้มนี้ คือหัวใจสำคัญที่ช่วยขับเน้นธีมของความวิตกและความหมดศรัทธาในยุคดิจิทัลได้อย่างทรงพลัง เขาสร้างเพลงบัลลาดที่ฟังดูหม่นหมองชวนดิ่ง แต่ยังเรียบเรียบเมโลดี้ไว้ได้อย่างอ่อนโยน โหยหา Auto-Tune ที่ถูกใส่มาอย่างมีอารมณ์ขันอย่างจงใจ สร้างความรู้สึกแปร่ง ๆ และ ไม่เป็นธรรมชาติ ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาตั้งใจออกแบบไว้

เครื่องดนตรีน้อยชิ้น และถูกแต่งเสียงให้ฟังเหมือนไม่ใช่ของจริง อย่างบีตกับซินธ์ที่ก้องสะท้อนอยู่ในห้องเซิร์ฟเวอร์โล่ง ๆ ไม่ใช่สตูดิโอ เสียงกลองถูกแต่งจนเสียโทน เสียงร้องถูกบิด-ดึง-เคลือบฟิลเตอร์แบบสุดทาง ทั้งหมดนี้ทำให้เพลงฟังเหมือนอารมณ์ของมนุษย์ที่ถูกบิดงอฉีกกระชากโดยเทคโนโลยีปัจจุบัน

แต่ด้วยวิธีการนำเสนอที่ตั้งใจทำลายรูปแบบเพื่อชี้ให้เห็นปัญหา มันกลับทำให้ Crisis กลายเป็นงานศิลปะที่ทั้งท้าทายและชวนให้ตีความไปพร้อมกัน

Credit: Killing A Friend https://kaf.mirror.xyz/

เพื่อขยายคอนเซปต์ของอัลบั้มนี้ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น แฮนเซนได้นำเสนอศิลปะจัดวางที่ชวนตั้งคำถาม กับนิทรรศการที่จำลอง click-farm สำหรับสตรีมอัลบั้ม Crisis โดยตั้งโทรศัพท์มือถือเรียงเป็นแถวจำนวนมากที่เปิดเพลงจากอัลบั้มนี้วนซ้ำตลอดทั้งวันทั้งคืน

จุดสำคัญคือ ตัวนับจำนวนการสตรีมไม่ขยับเลยแม้แต่น้อย แม้ว่าจะมีอุปกรณ์หลายสิบเครื่องกำลังเล่นเพลงในอัลบั้มก็ตาม Crisis ยังคงแสดงจำนวนสตรีมว่าเป็นศูนย์ ภาพของห้องที่มีโทรศัพท์เปิดเพลงสว่างไสว แต่ไม่ก่อให้เกิดผลลัพธ์ใด ๆ นี้ กลายเป็นการล้อเลียนต่อระบบของ Spotify โดยตรง มันแสดงให้เห็นคำถามสำคัญว่า ความหมายของ “ความสำเร็จของเพลง” คืออะไร เมื่อแม้แต่ห้องที่เต็มไปด้วยผู้ฟังยังถูกนับว่าไม่มีคุณค่าอยู่ในสายตาของระบบ

Crisis จึงกลายเป็นเสียงตะโกนแห่งการต่อต้านในรูปของอัลบั้มที่พุ่งเป้าไปยัง Big Streaming และตรรกะแบบองค์กรที่แทรกซึมเข้ามาในโลกของดนตรี และยังได้วางรากฐานให้กับตัวตนทางศิลปะของแฮนเซนในเวลาต่อมา ดนตรีในฐานะบทวิจารณ์ ดนตรีที่รูปแบบและการแจกจ่ายของมันมีความหมายไม่แพ้เนื้อเพลงหรือท่วงทำนอง

ในมุมมองของ แฮนเซน อุตสาหกรรมดนตรีทุกวันนี้บังคับให้นักดนตรีต้องเล่นเกมอันแปลกประหลาด ไล่ล่าคลิก การจัดอันดับโดยอัลกอริธึม และการปล่อยเนื้อหาอย่างต่อเนื่อง เขาตั้งข้อสังเกตว่าทุกวันนี้มีการบริโภคคอนเทนต์มากเกินไปในยุคของการสตรีม กระแสของเพลง วิดีโอ และโพสต์ที่ผู้ฟังแทบตามไม่ทัน

“ผู้คนถูกป้อนขยะและโฆษณาเข้ามาเรื่อย ๆ” เขากล่าว พร้อมแสดงความเศร้ากับความจริงที่ว่าปริมาณคอนเทนต์มหาศาลบนโลกอินเทอร์เน็ตนั้นกำลังทำลายคุณค่าของการฟังเพลง

กับอัลบั้ม Crisis แฮนเซนเลือกจะทำทั้งหมดไปเพื่อประท้วงวิธีที่ศิลปะถูกประเมินมูลค่า อัลบั้มที่ว่างเปล่าบนชาร์ตนั้นคือสารของเขา และสิ่งที่น่าสนใจคือ แฮนเซนยินดีกับความสับสนหรือความหงุดหงิดของผู้ฟังไม่แพ้กับคำชื่นชม ถ้ามีคนบอกว่า “นี่ไม่ใช่สิ่งที่เรียกว่าดนตรี” หรือเพื่อนนักดนตรีที่วิตกกับความกล้าของเขา เขามองว่านั่นคือหลักฐานว่าโปรเจกต์นี้กระตุกความคิดของคนอื่นได้ผลแล้ว

“มีคนคอมเมนต์บน TikTok ว่า Crisis มันเหมือนโรงงานตัดต่ออันไร้สาระ (a pointless “factory” of snippets) และถึงแม้มันจะเป็นคอมเมนต์แนวเกลียดชัง แต่นั่นแหละคือข้อความที่ผมพยายามจะสื่อ” แฮนเซนว่าไว้ อีกนัยหนึ่งก็คือ ความรู้สึกไม่สบายใจและการถกเถียงคือส่วนหนึ่งของงานศิลป์นั้นเอง

หลังจากอัลบั้ม Crisis หลายคนก็ตั้งตารอว่า Valentin Hansen คนนี้จะใช้ความคิดสร้างสรรค์สร้างความประหลาดใจให้เราได้อีกมั้ย แต่เขาเพิ่งเริ่มต้นเท่านั้น เมื่อต้นปี 2025 แฮนเซนได้เปิดตัวโปรเจกต์ใหม่ที่ชื่อว่า max หลังจากที่สร้างอัลบั้มที่ไม่มีการสตรีมเลยมาแล้ว ครั้งนี้เขากลับสร้างอัลบั้มที่มีการสตรีมอย่างไม่รู้จบ ถ้า Crisis คือความน้อยนิดมินิมอล max ก็คือความมหาศาลจนท่วมท้น ถ้า Crisis คือการทำให้อัลกอริธึมหิวโหย max ก็คือการพยายามทำให้อัลกอริธึมจมน้ำตาย

max เปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2025 โดยถูกนิยามว่ามันจะเป็น “อัลบั้มที่ไม่มีวันหยุด” ปล่อยเพลงใหม่ แตกต่างจากอัลบั้มทั่วไปที่มีจำนวนเพลงตายตัว max เป็นอัลบั้มที่มีชีวิตที่เติบโตขึ้นทุกชั่วโมง แฮนเซนได้สร้างระบบที่ใช้ซอฟต์แวร์ AI ที่ถูกฝึกด้วยสไตล์ดนตรีและเสียงร้องของเขาเอง เพื่อให้มันสามารถแต่งและผลิตเพลงใหม่ได้อย่างต่อเนื่อง จากนั้นอัปโหลดขึ้นเว็บไซต์เฉพาะของโปรเจกต์นี้แบบเรียลไทม์ (ที่ max.valentinhansen.live)

หมายความว่า max ผลิตเพลงใหม่อยู่ตลอดเวลา หากคุณเข้าไปเยี่ยมชมเว็บไซต์ คุณจะพบกับคลังแทร็กที่ขยายตัวออกไปเรื่อย ๆ พร้อมเลขกำกับว่า #1, #2, #3 ไล่ไปเรื่อย ๆ จนถึงหลักหมื่น ซึ่งแต่ละเพลงล้วนเป็นเพลงใหม่หมดที่ AI สร้างขึ้นตามแบบฉบับของแฮนเซน ตั้งแต่เปิดตัว max สร้างเพลงใหม่ทุก ๆ สองนาที และในเวลาเพียงไม่กี่เดือน จำนวนแทร็กก็พุ่งสู่หลักหมื่น ภายในเดือนเมษายน 2025 max มีเพลงเกิน 70,000 เพลงแล้ว และยังไม่มีทีท่าว่าจะหยุดด้วย

ถ้าเปรียบเทียบแล้ว บันทึก Guinness World Records สำหรับศิลปินที่ออกเพลงมากที่สุด โดยนักร้องเพลงประกอบภาพยนตร์ชาวอินเดีย Asha Bhosle อยู่ที่ประมาณ 11,000 เพลงในช่วงเวลา 70 ปี แต่แฮนเซนใช้เวลาเพียงไม่กี่สัปดาห์ก็แซงสถิตินั้นไปแล้ว ซึ่งทำให้ max กลายเป็นอัลบั้มที่ยาวและนานที่สุดในประวัติศาสตร์ และมันยังคงเติบโตต่อไปในทุก ๆ วัน

หากฟังดูเหมือนเป็นแค่ลูกเล่น แฮนเซนยืนยันว่า max มีจุดมุ่งหมายเพื่อการสำรวจที่จริงจัง เช่นเดียวกับ Crisis แรงบันดาลใจเริ่มต้นมาจากความสนใจในเครื่องมือสร้างสรรค์ใหม่ ๆ ในการทำเพลง เมื่อซอฟต์แวร์ AI สำหรับการสร้างเพลงเริ่มเป็นที่รู้จัก แฮนเซนและทีมของเขาก็ทดลองเล่นกับมันจนเกิดไอเดียสำคัญ: “ถ้าผมสามารถสร้างเพลงหนึ่งได้เร็วกว่าที่เพลงหนึ่งจะเล่นจบ ผมก็สามารถผลักอะไรบางอย่างไปถึงขีดสุด ไปสู่ความไม่มีที่สิ้นสุด”

เบื้องหลัง max ยังมีแรงผลักดันส่วนตัวที่ฝังรากลึกอยู่ในข้อสงสัยและความหงุดหงิดแบบเดียวกับที่ก่อกำเนิด Crisis ขึ้นมา หลังจากใช้เวลาทำงานในสตูดิโอท่ามกลางคลังเพลงนับไม่ถ้วน ทั้งของตัวเองและเพลงนับล้านที่มีอยู่แล้วในโลก แฮนเซนเริ่มตั้งคำถามกับตัวเองว่า “เรายังจำเป็นต้องสร้างเพลงใหม่อีกหรือเปล่า ในเมื่อมันมีอยู่เยอะมากแล้ว?”

เป็นคำถามที่เจ็บลึกและสะท้อนยุคสมัย ที่ในแต่ละวันมีเพลงใหม่กว่า 100,000 เพลงถูกอัปโหลดขึ้น Spotify เมื่อเผชิญกับความรู้สึกไม่มั่นใจว่าเสียงของเขาจะมีที่ยืนในมหาสมุทรแห่งเนื้อหานี้ได้อย่างไร แฮนเซนตัดสินใจที่จะเผชิญหน้ากับความกลัวนั้นโดยการผลักมันไปให้สุด “ถ้าโลกนี้อยากได้คอนเทนต์ไม่รู้จบ งั้นฉันจะให้มันเอง แต่ต้องเป็นในแบบของฉัน”

ถึงเขาจะประกาศออกมาแบบนั้น แต่เขาเองก็ยอมรับถึงภาวะหมดไฟที่ตัวเขาเองและศิลปินมากมายกำลังเผชิญอยู่ในยุคที่ความสนใจคือเงิน “บางทีคุณก็ถึงจุดที่อยากเลิกทำไปเลย ผมเปลี่ยนความรู้สึกนั้นให้กลายเป็นแรงขับ ใช้เทคโนโลยีใหม่ให้เต็มที่” และผลลัพธ์ก็คือ max อัลบั้มที่โอบรับวิถี “ไม่มีวันหยุด” ของคอนเทนต์ยุคดิจิทัลไว้อย่างเต็มที่ จนกลายเป็นการยั่วล้ออันแสนสุดโต่งของสิ่งนั้น

แฮนเซนยังได้สร้างคาแร็กเตอร์ขึ้นมาเพื่อสะท้อนแนวคิดของโปรเจกต์ max ถูกจินตนาการให้เป็นชายคนหนึ่งที่วิ่งอยู่ตลอดเวลา ในภาพโปรโมตและองค์ประกอบของอัลบั้ม

แฮนเซนสวมบทบาทเป็นชายที่เดินไปข้างหน้าตลอดเวลา สวมหูฟัง วิ่งไม่หยุด ไม่เคยพัก “แรงบันดาลใจของผมคือแนวคิดของ ‘non-stop’ มนุษย์อยู่ในสภาพของความไม่เคยหยุดนิ่ง ตลอดเวลาต้องพยายามพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพตัวเองโดยไม่มีเป้าหมายที่ชัดเจน เหมือนกำลังรันโปรแกรมที่ไม่มีวันหยุด” max ในฐานะตัวละคร จึงเป็นสัญลักษณ์ของแรงกดดันนั้น “ทุกคนกำลังเดิน แต่ผมกำลังวิ่ง” แฮนเซนพูดผ่านคาแร็กเตอร์

“ตอนคุณกินหรือหลับ max กำลังวิ่งอยู่ ทั้งโลกกำลังวิ่ง ส่วนผมกลับช้าไป ผมไม่ดีพอ” ไอ้ความรู้สึกแบบนี้ ไอ้ความรู้สึกที่ว่าเรายังทำได้ไม่มากพอท่ามกลางโลกที่ไม่มีวันหยุดเป็นสิ่งที่คนมากมาย โดยเฉพาะศิลปิน เข้าใจดี และ max ในฐานะอัลบั้ม กำลังยื่นกระจกสะท้อนภาพนั้นให้เห็น “อัลบั้มนี้ทำงาน 24 ชั่วโมง ปล่อยคอนเทนต์ออกมาแม้ในตอนที่มนุษย์ไม่สามารถทำได้เลย”

นักวิจารณ์หลายคนชี้ว่า ถ้า Crisis (The Worthless Album) คือการเสียดสีวัฒนธรรมการสตรีมที่หมกมุ่นกับตัวเลขและอาการสมาธิสั้นแล้ว max ก็เปรียบเสมือนงานล้อเลียนแบบตลกร้ายต่อแรงกดดันที่บังคับให้ศิลปินต้องผลิตคอนเทนต์อย่างไม่รู้จบ

เหมือนกับว่าแฮนเซนได้สร้างสัตว์ประหลาดเพื่อสนองความคาดหวังของ CEO Spotify ที่เคยกล่าวไว้อย่างโด่งดังว่า “ในวันนี้ ต้นทุนในการสร้างคอนเทนต์ใกล้กับเลขศูนย์ ทุกคนสามารถสร้างคอนเทนต์ได้อย่างไม่มีข้อจำกัด” (“Today, with the cost of creating content being close to zero, people can share an incredible amount of content,”) แฮนเซนเลยดันแนวคิดนี้ไปจนถึงบทสรุปแบบสุดขั้วด้วย max

แต่มุมมองของแฮนเซนต่อเทคโนโลยีไม่ได้เต็มไปด้วยความประชดถากถางเสมอไป max ยังสะท้อนความหลงใหลของเขาต่อ AI ในฐานะเครื่องมือสร้างสรรค์ แม้เขาจะรู้ดีว่ามันคือดาบสองคม max เดินอยู่บนเส้นบาง ๆ ระหว่างการวิพากษ์วิจารณ์กับการยอมรับมัน โดยชี้ว่าตัวโปรเจกต์นั้นขับเคลื่อนด้วยทั้งความเสียดสีระบบสตรีมมิ่งและความอยากรู้อยากเห็นในศักยภาพของ AI แฮนเซนเองก็พูดถึงยุคใหม่ของ AI ในวงการเพลงด้วยน้ำเสียงตื่นเต้น แม้จะยอมรับว่าในหลาย ๆ บริบทมันก็ยัง “แปลก ๆ” หรือ “ไร้สาระ” อยู่ก็ตาม

จากมุมของผู้ฟัง การได้สัมผัส max อาจให้ความรู้สึกเหนือจริงแบบประหลาดหน่อย ๆ เพลงที่ AI สร้างขึ้นล้วนมีสไตล์ของแฮนเซนที่ชัดเจน เป็นเพลงป็อปหม่น ๆ ที่ละมุนละไม มีเสียงร้องที่ฟังแล้วเศร้าอย่างเป็นธรรมชาติ (เพราะฝึกมาจากเสียงของแฮนเซนเอง) และสิ่งที่น่าทึ่งคือมันฟังดูเป็นเพลงที่แต่งโดยมนุษย์จริง ๆ อย่างน่าประหลาด

ใครที่กดฟังโดยไม่รู้อะไรมาก่อน อาจไม่ทันสังเกตเลยว่าเกิดอะไรผิดแปลก อัลบั้มนี้ไม่ได้โจมตีคุณด้วยเสียงสังเคราะห์ แต่มันล่อหลอกคุณด้วยกระแสของเพลงอินดี้ป็อปแสนเบลอ ฟังสบาย หงอยเหงา “แนวคิดนี้จะไม่เวิร์กเลย ถ้าเพลงมันฟังไม่ได้” เขาลงรายละเอียด ถ้าเพลงที่ออกมาไร้คุณภาพ มันก็แค่เดโมของเทคโนโลยี ไม่ใช่งานศิลปะ แต่เพราะเขาตั้งค่าให้ AI แต่งเพลงที่เหมือนจริง มีท่อนร้อง ท่อนฮุก และเสียงร้องที่เหมือนมนุษย์จริง ๆ max จึงกลายเป็นกับดักอารมณ์แบบแนบเนียน

คุณอาจเปิดฟังไว้ตอนทำงาน แล้วก็พบว่ากำลังกระดิกหัวตามเพลงหนึ่งโดยไม่ทันรู้ตัว จนกระทั่งคุณเหลือบไปเห็นชื่อเพลงแปลก ๆ อย่าง Truth Faces Notes Fire Echo หรือ Crack Fire Pain Throne Mirror และเริ่มสงสัยขึ้นมาว่าเพลงอะไรชื่อโคตรแปลก และคำถามที่จะตามมาคือ; เรารู้สึกอย่างไรกับเพลงที่สร้างตัวเองขึ้นมาได้?

แฮนเซนเองก็เจอกับความรู้สึกนี้จากทั้งสองฝั่ง ในฐานะศิลปินของ max ซึ่งเขาเป็นคนตั้งกฎของระบบ แต่พอระบบเริ่มทำงาน เขากลับควบคุมสิ่งที่ออกมาไม่ได้เลย และกลายเป็นผู้ฟังอีกคนทันที “เวลาพูดถึงมัน ผมเป็นเหมือนศิลปินของอัลบั้มนี้ แต่เวลาผมเข้าเว็บไซต์ไปฟัง ผมเป็นผู้ฟัง 100% เพราะผมไม่เคยได้ยินเพลงพวกนั้นมาก่อนเลย มันแปลกมาก โดยเฉพาะนั่นคือเสียงของผมเอง”

แฮนเซนยังบอกอีกว่า บางครั้งเขาได้ยินบางท่อน อาจเป็นเนื้อร้องหรือคอร์ดที่คุ้น ๆ เหมือนสะท้อนงานเก่า ๆ ของเขา แต่มันกลับกลายเป็นเพลงใหม่ที่เขาไม่เคยแต่งมาก่อนจริง ๆ และในช่วงเวลาแบบนั้น เขารู้สึกสับสนราวกับตกอยู่ตรงกลางระหว่าง “ผู้สร้าง” และ “ผู้เสพ” และนั่นคือประสบการณ์ที่ max ต้องการให้เราทุกคนได้สัมผัส

ด้วยการทำให้เส้นแบ่งระหว่างศิลปินกับผู้ชม มนุษย์กับเครื่องจักร เบลอจนแทบมองไม่ออก แฮนเซนกำลังทดสอบขีดจำกัดของคำว่า “ดนตรี” และ “ผู้สร้าง” ในศตวรรษที่ 21 max เป็นอะไรแน่ ศิลปินจัดวางเชิงคอนเซปต์? เพลย์ลิสต์ที่ไม่มีวันจบ? หรือภาพอนาคตของป็อปที่แต่งโดย AI ทั้งหมด หรือทั้งหมดนั้นรวมกัน ไม่มีคำตอบที่แน่นอน และนั่นเองคือสิ่งที่ทำให้โปรเจกต์นี้เต็มไปด้วยประเด็นชวนคิดตาม

แรงผลักดันที่ทำให้ Valentin Hansen เดินหน้าในเส้นทางการทดลองศิลปะแบบสุดโต่งเหล่านี้ ส่วนหนึ่งมาจากตัวตนส่วนลึกของเขาเองและอีกส่วนหนึ่งเป็นการตอบสนองต่อแรงกระเพื่อมขนาดใหญ่ที่กำลังเปลี่ยนแปลงโลกของดนตรีในยุคปัจจุบัน

ชีวิตของแฮนเซนสะท้อนลวดลายของการตั้งคำถามต่อกรอบเกณฑ์ดั้งเดิม; เขาเดินออกจากระบบการศึกษาแบบที่คนทั่วไปยึดถือ เลือกที่จะไม่ยึดติดกับแขนงศิลปะแคบ ๆ เพียงแขนงเดียว และเสาะหาวิธีใหม่ ๆ อยู่เสมอในการนำเสนอผลงานของตน เขาเคยกล่าวว่า “ดนตรีเป็นรูปแบบศิลปะที่ใกล้ตัวที่สุดสำหรับผม และเป็นวิธีที่ง่ายที่สุดในการแสดงตัวตน ไม่ได้ผ่านการวิเคราะห์ แค่ก้มหน้าแล้วลงมือทำ”

ความรักที่บริสุทธิ์ในการสร้างเสียงดนตรีคือรากฐานของเขา แต่เหนือสิ่งนั้นคือจิตใจที่วิเคราะห์และตั้งคำถามถึงวิธีที่ดนตรีเดินทางไปถึงผู้คนในยุคนี้ แฮนเซนเองก็ยอมรับว่าเขาเองก็มาจากเจนที่ชีวิตต้องออนไลน์ตลอดเวลา และตระหนักดีถึงทั้งข้อดีและข้อเสียที่อินเทอร์เน็ตมีต่อความคิดสร้างสรรค์

หนึ่งในแรงบันดาลใจสำคัญต่อโปรเจกต์ของแฮนเซน คือบทสนทนาเกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์ของการสตรีมดนตรีที่เริ่มทวีความเข้มข้นในช่วงปลายปี 2010s ถึงต้น 2020s ขณะที่เขากำลังเติบโตในวงการอินดี้ของเบอร์ลิน หลายศิลปินออกมาวิพากษ์การจ่ายค่าลิขสิทธิ์ของ Spotify ที่น้อยจนน่าใจหาย บางวงใช้วิธีสร้างเพลงยาว 30 วินาทีเพื่อหลอกให้ระบบนับเป็นการเล่นจริง

หรือศิลปินอย่าง Vulfpeck ที่เคยปล่อยอัลบั้มชื่อ Sleepify ขึ้น Spotify โดย 10 แทร็กในอัลบั้มจะไม่มีเสียงอะไรทั้งสิ้นและมีความยาว 30 วินาทีทุกเพลง ซึ่งวงเชิญชวนให้แฟนเพลงช่วยกันเปิดวนทิ้งไว้ตอนพวกเขาหลับเพื่อให้วงได้รับค่าสตรีมมิ่ง โดยเงินทั้งหมดพวกเขาจะเอาไปทำทัวร์ฟรีคอนเสิร์ตเพื่อตอบแทนแฟน ๆ

หลังจากปล่อยให้ฟังบนสตรีมมิ่งเพียงเดือนเดียว Spotify ก็ถอดอัลบั้มนี้ออกโดยอ้างว่าละเมิดนโยบายของแพลตฟอร์ม แม้จะไม่มีการประกาศอย่างเป็นทางการว่าวงได้รับเงินจากโปรเจกต์อัลบั้มนี้เท่าไหร่ แต่พวกเขาก็ประกาศเดินหน้าทำทัวร์ฟรีคอนเสิร์ตอยู่ดีในชื่อ Sleepify Tour ในสหรัฐอเมริกา

โดย Jack Stratton ฟรอนต์แมนของวง Vulfpeck ก็เป็นอีกคนหนึ่งที่ออกมาเคลื่อนไหวเรื่องระบบสตรีมมิ่งบ่อย ๆ โดยได้เสนอโมเดลใหม่สำหรับการจ่ายค่าลิขสิทธิ์ที่ยุติธรรมยิ่งขึ้น โดยให้คำนวณตามจำนวนผู้ฟังของศิลปินแต่ละราย แทนที่จะนำผู้ใช้ทุกคนในระบบมารวมกันเพื่อเฉลี่ยยอดจ่ายในภาพรวม

Valentin Hansen ติดตามความเคลื่อนไหวเหล่านี้ด้วยเหมือนกัน แต่เมื่อถึงเวลาของ Crisis เขาเลือกใส่ความหมายใหม่ให้การประท้วง ด้วยการไม่เล่นตามเกมเพื่อทำกำไร แต่สร้างกติกาใหม่เพื่อแสดงจุดยืน

แนวทางของแฮนเซนเชื่อมโยงกับอิทธิพลทางปรัชญาด้วย โดยเฉพาะแนวคิดที่ว่ามูลค่าของศิลปะไม่ควรถูกกำหนดด้วยความต้องการของตลาดหรืออัลกอริธึมเท่านั้น เขาจึงตั้งคำถามตลอดมาว่า ดนตรีแท้จริงแล้วมี “คุณค่า” อะไรบ้าง คำถามที่วนเวียนในทั้งวงการเศรษฐศาสตร์ ทฤษฎีความงาม และวัฒนธรรมดิจิทัลสมัยใหม่

ด้วยอัลบั้ม Crisis ที่ไม่มีค่าอะไรในทางการเงิน และ max ที่ไร้ขอบเขตทางปริมาณ แฮนเซนทำให้เราต้องคิดใหม่เกี่ยวกับคำว่า “คุณค่า” ในแง่มุมอื่น ๆ เช่น ผลกระทบทางอารมณ์ ประสบการณ์ร่วม ความหายาก(หรือการขาดความหายาก) และเหนืออื่นใด การให้ความสนใจ ซึ่งเป็นทรัพยากรที่หายากที่สุดในยุคการสตรีม

แฮนเซนยังได้แรงบันดาลใจมากมายจากเทคโนโลยีด้วย แนวคิดของ “อัลบั้มที่ไม่มีวันจบ” เคยมีในวงการดนตรีทดลองมาก่อน อย่างเช่น Longplayer ของ Jem Finer ที่ออกแบบให้เล่นต่อเนื่องยาวนาน 1,000 ปีโดยไม่ซ้ำกัน แต่งานลักษณะนั้นมักอยู่ในแวดวงวิชาการหรือแกลเลอรีศิลปะ ขณะที่แฮนเซนนำแนวคิดเดียวกันมาเชื่อมกับโลกและการสตรีมในชีวิตประจำวัน ทำให้มันเข้าถึงง่ายแค่คลิกเดียว และขยายวงสนทนาเรื่อง AI กับศิลปะให้กว้างขึ้น

ที่สำคัญคือเขาไม่ใช่แค่นักดนตรี แต่ยังเป็นคนทำหนังและศิลปินภาพอีกด้วย เขามักคำนึงถึงประสบการณ์ทั้งภาพและเสียงเสมอ ตัวอย่างเช่น ใน max ที่สร้างตัวละครชื่อ Max ขึ้นมา มีภาพลักษณ์ของชายผู้วิ่งไม่หยุด มีเว็บไซต์เฉพาะกิจ และคลิปโซเชียลมีเดียที่ตามติดการเติบโตของอัลบั้ม เหล่านี้ชวนให้นึกถึงงาน performance art เช่น ผลงานของ Marina Abramović หรือกลุ่มศิลปินที่วิจารณ์เทคโนโลยีอย่าง Die Antwort

แม้เฮนเซนจะไม่ได้อ้างถึงตรง ๆ แต่จิตวิญญาณของเขาเดินอยู่ในแนวทางเดียวกัน เพียงแต่แปลออกมาเป็นภาษาใหม่ที่คนฟังเพลงป๊อปก็เข้าใจได้ นอกเหนือจากอิทธิพลเฉพาะตัวแล้ว แรงผลักดันที่ทรงพลังที่สุดของแฮนเซนอาจจะเป็นความปรารถนาที่จะจุดประกายบทสนทนาและการใคร่ครวญ เขาอยากปลุกสติของผู้ฟังให้กลับมารับรู้ว่าตัวเองกำลังทำอะไรอยู่เวลาที่พวกเขาเปิดเพลง

ในโลกที่เพลงกลายเป็นเพียงเสียงพื้นหลัง และศิลปินถูกลดทอนให้เป็นแค่ผู้ผลิตคอนเทนต์ งานของแฮนเซนจึงเป็นเหมือนการกระตุกให้ระบบสะดุ้ง “เราถูกถาโถมด้วยดนตรีจำนวนมาก และเสพมันมากเสียจนลืมไปว่า เราฟังมันอย่างไร” เขากล่าวด้วยความกังวลว่า การฟังเองก็กำลังเปลี่ยนไปเร็วเกินกว่าจะตามทัน โปรเจกต์อย่าง Crisis และ Max จึงทำหน้าที่เป็นเหมือนจังหวะพักเบรก มันทำให้ผู้ฟังตระหนักถึงการสตรีมด้วยการบิดเบือนมันออกจากความเคยชิน

Hansen เองก็ยังมองโลกในแง่ดีแบบแปลก ๆ เขาตื่นเต้นที่จะได้เห็นวิวัฒนาการของการบริโภคดนตรีในอนาคต และสงสัยว่า ดนตรีจะเอาตัวรอดจากความบ้าคลั่งของยุคดิจิทัลนี้ได้หรือไม่ แทนที่จะหลีกเลี่ยงคำถามเหล่านี้ เขาเลือกเผชิญหน้ากับมันตรง ๆ และใช้ศิลปะของเขาเป็นเวทีในการตั้งคำถามที่ยากจะตอบ

“กล้าเถอะ คิดให้ลึก และอย่ากลัวที่จะพลิกระบบทั้งระบบเพื่อค้นหาความจริงบางอย่าง” สิ่งหนึ่งที่แน่นอนคือ Valentin Hansen ทำให้โลกหยุดฟัง และในกระบวนการนั้น เขาทำให้เราทุกคนต้องหันกลับมาทบทวนว่า ดนตรีในศตวรรษที่ 21 นี้ ควรถูกสร้างและให้คุณค่าอย่างไร

+ posts

ชอบไปคอนเสิร์ตเพราะเป็นกิจกรรมที่ทำคนเดียวได้ และยังชอบแนะนำวงดนตรีใหม่ ๆ ผ่านตัวอักษรตลอดเวลา

Related Articles

This website uses cookies to improve your experience. We'll assume you're ok with this, but you can opt-out if you wish. Accept Read More

Privacy & Cookies Policy