21st Century in a Nutshell อัลบั้มหลากรสที่จัดจ้านด้านดนตรีของ Salad

by Nattha.C
100 views
21st Century in a Nutshell
 21st Century in a Nutshell Album Cover
ปกอัลบั้ม ’21 Century in a Nutshell’ ที่ออกแบบโดย Nutcha Harnpukdipatima และ Kong Pantumachinda

ด้านภาคดนตรีของ 21st Century in a Nutshell ไม่ใช่การละความเศร้าหมองหรือเอเลเมนต์ร็อกทิ้งไปเสียเปล่า ทว่ามันคือการเคี้ยวและซึมซับ จนเกิดงานเพลงหลากสไตล์ หลายอารมณ์ให้เลือกสัมผัส จริงอยู่บ้างที่การฟังอัลบั้มนี้ในครั้งแรกอาจกลืนยาก แต่เอเลเมนต์ที่พวกเขาตั้งใจใส่มาก็ทำให้เราเอนจอยไปกับความแตกต่างทางสุ้มเสียง คล้ายได้ทำความรู้จักตัวตนของ Salad ผ่านการเบนจากความชอบเดิมไปสู่การทดลองต่อยอดสิ่งที่มีในมืออย่างชัดเจนยิ่งขึ้น

มาพูดถึงตัวเพลงที่เป็นไฮไลต์ของอัลบั้มนี้กันก่อนอย่าง CVC แทร็กแรกที่ทักทายผู้ฟังได้ค่อนข้างน่าประทับใจ ทั้งด้านการดีไซน์ซาวด์ระหว่างพาร์ทของเครื่องดนตรีต่าง ๆ และแม้ตัวทำนองจะอยู่ในจังหวะกลางถึงเนิบช้าแต่ก็ไม่รู้สึกว่าน่าเบื่อจนเกินไป ถัดมาเป็น Big Brothers ที่สาดระบายผ่านการเสิร์ฟเอเลเมนต์ของเพลงร็อกที่เราคิดถึง ทั้งกลิ่นอายดนตรีสไตล์เมทัล โพสต์พังก์ โพรเกรสซิฟ ลูกบ้าของจังหวะสับไฮแฮท ประกอบรสชาติที่เผ็ดร้อน พลุ่งพล่าน ซึ่งทั้งสองเพลงนี้มีสิ่งที่คล้ายกันคือตัวกิมมิคที่เฉิดฉายอย่างแนบเนียน และลูกล่อลูกชนที่เพียงพอทำให้เราจดจ่อได้ตั้งแต่ต้นจนจบท่อน

เช่นเดียวกับเพลง Payroll อีกหนึ่งแทร็กที่เราชื่นชอบตั้งแต่วงโพสต์ทีเซอร์ก่อนได้ฟังเต็ม เบสซิงเกิ้ลโน๊ตทุ้ม ๆ ควบจังหวะกลองกับเมโลดี้ไลน์สโตนเนอร์ร็อกที่ค่อย ๆ คำรามเสียงเรียกให้ตื่น อย่างไรก็ตาม พวกเขาไม่ได้มีแค่งานดุดันเคร่งขรึม หากบรรดาเพลงที่เหลือคือการได้หยุดพักเพื่อทบทวนอีกครั้ง อาทิ

Black Mirror สะกดเราผ่านความโอ่อ่าทางท่วงทำนองน้อยแต่มากที่เปิดด้วยกลองแอฟโฟรบีท และการเสริมไวโอลินของสาว วิว-อธิยา (หนึ่งในสมาชิก Part Time Musicians) ช่วงกลางถึงท้ายเพลงที่ช่วยขับเค้นมิติให้รู้สึกถึงความเพลิดเพลินในอริยาบทของดนตรีอาร์ตร็อกกึ่ง Orchestral ก่อนส่งเข้า Cordyceps แทร็กจังหวะอัพบีทน่าโยกตามเบา ๆ ที่นำเสนอแกนหลักของเพลงจากไลน์ริทึ่มและริฟฟ์กีตาร์อันติดหู สารภาพว่าปีนี้ ถ้าศิลปินคนไหนหยิบพาร์ทเพอร์คัสซิฟมาใช้ เราก็จะซื้อเป็นพิเศษ (หัวเราะ)

หรืออย่างในเพลง Dunsan (둔산동) กับดนตรีอิเล็กทรอนิกส์สไตล์ IDM (Intelligent dance music) กึ่งซาวด์แอมเบียนต์วูบวาบผ่านตัวเอฟเฟกต์ที่นอกจากจะได้หนุ่ม ‘นิกกี้’ ศิลปินในนาม Nike Polo มาปรุงรสด้วยการร้องแนวทะเล้น ๆ พวกเขายังย่อยบีทให้มีความสนุก และสามารถนำไปเล่นจริงได้ ซึ่งเป็นการต่อยอดจาก MATU โปรเจกต์เดี่ยวของ ‘จิน’ ในแง่ที่เขาหรือวงต้องการพาผู้ฟังไปลิ้มลองแนวเพลงอื่น แม้จะดูอยู่ในจุดที่คุ้นเคย แต่ก็เป็นความคุ้นเคยที่ขยายขอบเขตออกไปอย่างคิดมาดี

สำหรับแทร็ก A Cubicle Girl ที่ก่อนหน้านี้ทางวงลองปล่อยมาเป็นซิงเกิ้ลแยก ส่วนตัวเรารู้สึกว่าเป็นเพลงที่ค่อนข้างจะหักมู้ดระหว่าง Cordyceps หรือซิงเกิ้ลเดี่ยวที่ไม่ได้รวมอยู่ในอัลบั้มอย่าง Another ไปสักนิด ทั้งความกระฉับกระเฉงของจังหวะกลองและเบสไลน์น่าติดตามที่แอบหยอดตรงท่อนบริดจ์ การสตรัมคอร์ดกีตาร์กลิ่นอายพังค์วิ่งแจ้นที่เผยลูกกวนและพลังวัยรุ่นชวนกระโดดกอดคอแหกปาก แต่เมื่อลองฟังแบบไล่เรียงกันครบถ้วนแล้ว มันกลายเป็นอีกเพลงที่ลดทอนความซีเรียสมิวสิกลงได้พอดิบพอดีเลยทีเดียว

และเราก็ดำเนินมาถึงแทร็กสุดท้าย Ken’s Song ที่วงหันมาจับกีตาร์โปร่งสตรัมคอร์ดแล้วบรรยายความสวยงามของดอกไม้ ช่วงชีวิต หรือหนึ่งในความสัมพันธ์อันใกล้ชิดที่ย่อมโรยราตามกาลเวลา ผ่านน้ำเสียงซึมเซากึ่งครวญหา พร้อมซาวด์สังเคราะห์ที่เสริมสร้างสภาพแวดล้อมโดยรวมของเพลงให้อบอุ่นท่ามกลางกระแสลมที่พัดพาไปถึงบุคคลสำคัญที่เดินทางไปรอพบเรา ณ ปลายท้องฟ้า สรุปแล้วอัลบั้มนี้เป็นผลงานที่แม้ต่างสมาชิก ต่างนักร้อง-นักดนตรีที่เข้ามามีบทบาทจะมากไปด้วยฝีมือและชั่วโมงบิน แต่การทำอะไรใหม่ ๆ ของพวกเขาก็แสดงให้เห็นว่าความสนใจย่อมไม่มีที่สิ้นสุด คงเหมือนการที่เราต้องเรียนรู้เพื่อใช้ชีวิตอยู่บนโลกที่แปรผันไปอย่างเข้าอกเข้าใจหรือไม่ก็ตามนั่นเอง

+ posts

แบม นักเขียนน้องเล็กที่ชอบอ่านหนังสือและฟังเพลงในเวลาเดียวกัน ปัจจุบันกลับมาทำเพจ Listenist

Related Articles

This website uses cookies to improve your experience. We'll assume you're ok with this, but you can opt-out if you wish. Accept Read More

Privacy & Cookies Policy