DELVE INDISTINCT ผลงานแห่งการกะเทาะเปลือกและเจาะลึกถึงความรู้สึกจากเหล่าศิลปินสายพร่า

by Nattha.C
729 views
DELVE INDISTINCT: Thai Shoegaze and Related Genre Vol.3

TYSB เริ่มต้นจากการเป็นสื่อดนตรีสำหรับกลุ่มคนที่สนใจในแนวเพลงสายจ้องเกือกอย่าง “ชูเกซ” หรือดนตรีแยกย่อยประเภทอื่น อีกทั้งยังเป็นผู้จัดคอนเสิร์ตที่มุ่งหวังว่าจะสามารถสร้างคอมมิวนิตี้เพื่อรวบรวมศิลปินและผู้ฟังให้มาพบปะกัน ผ่านอีเวนต์และโปรเจกต์ต่าง ๆ รวมถึงอัลบั้ม Compilation ที่คอนเซ็ปต์ของแต่ละวอลลุ่มก็จะเปลี่ยนไปตามธีมและศิลปินที่ไม่ได้จำกัดแค่ภูมิภาคหนึ่ง ซึ่งไล่เรียงจากเหนือลงใต้ ตะวันออกไปตะวันตก

ตั้งแต่ Thai Shoegaze Compilation Vol.1 สู่ Normalexotic: Thai Shoegaze and Related Genre Compilation Vol.2 อันว่าด้วยสิ่งผิดแผกที่เราต่างไม่คุ้นเคยกับมัน ทว่าในท้ายที่สุดมันก็จะกลายเป็นความ “ปกติ” ที่หลอมรวมประสบการณ์และมุมมองอะไรใหม่ ๆ แต่ก่อนมนุษย์จะผ่านพ้นเรื่องราวเหล่านั้นมาได้ ทุกคนล้วนต้องเผชิญกับช่วงเปลี่ยนผ่านที่ทั้งทดสอบและมอบโอกาสให้เราได้เจาะลึกลงไปในห้วงเวลาอันแสนสับสน เพราะการปล่อยให้ตัวเองจมจ่อมกับความคิดหรือความรู้สึกบ้างไม่ใช่เรื่องที่แย่ หากเราได้ลองทำความเข้าใจและยอมจำนนอย่างแท้จริง มันก็อาจนำไปสู่สิ่งที่ดีกว่าเดิม เช่นเดียวกับคอนเซ็ปต์ในผลงานชุดนี้

DELVE INDISTINCT: Thai Shoegaze and Related Genre Compilation Vol.3 ประกอบด้วยศิลปินทั้งหมด 13 ชื่อ อาทิ Art Dave, sleep in the class, John, Buddhi Becca & The Malai, null, Downpulse, S4EED, XAWANNA, 2045 และวงดนตรีที่เราอาจเคยพูดถึงพวกเขาไปแล้วบ้างอย่าง Roysenberg, Srwks, Slowwves, Analog Joys หากพร้อมแล้วลองมาอ่านรีวิวคร่าว ๆ และฟังทั้งหมด 13 บทเพลงได้ที่นี่เลย

เริ่มที่แทร็กแรกอย่าง See Through My Goddess (feat. ROSE, Stardust) ที่เขาจับเทคนิคและประสบการณ์การใช้โปรแกรมเสียงมารังสรรค์เป็นเพลงอัลเทอร์เนทีฟที่มีกลิ่นอายป๊อปฟุ้งฝันแบบ ethereal wave จากเนื้อหาที่นอนฝันถึงตัวละคร ประกอบริฟฟ์กีตาร์และไลน์เบสที่เพิ่มสีสันอย่างพอเหมาะ ถัดมา days gone by เปิดผ่านเสียงกีตาร์หนึ่งตัวแล้วตัดไปที่ริทึ่มกลอง ก่อนแทรกเบสคลอไปกับเสียงร้องและเมโลดี้ที่อบอุ่นบนอารมณ์ melancholy ที่ถึงจะเศร้าหมองด้วยเนื้อหาเกี่ยวกับการสูญเสีย แต่บรรยากาศโดยรวมของเพลงก็กลับทำให้เราพร้อมเดินต่อไปข้างหน้า ดั่งวันเวลาที่ไม่เคยหยุดรอ

ต่อที่ ทุกช่วงเวลา (Favorite Last Words) แม้ช่วงแรกของเพลงจะเปี่ยมด้วยความทรงจำอันหวานละมุน ไม่ว่าจากน้ำเสียงในท่อนร้องที่ย้ำว่า “วันคืนที่ไม่จางไป ยังคงมีเธอเก็บไว้ ทุกช่วงเวลา ทุกช่วงเวลา” แต่หลังเวิร์สและฮุคสอง พวกเขาก็ตรึงเราผ่านกำแพงเสียงที่ได้ทั้งกลิ่นอายอินดี้มิวสิกกับความละล่องแบบโพสต์ร็อกฝั่งเอเชีย และสำหรับแทร็ก Way to Home ที่ดึงดูดด้วยอิเล็กทรอนิกส์บีตและดรัมแมชชีน ประกอบเสียงร้องอันนุ่มนวลและไลน์เครื่องสายไปตลอดทั้งเพลง ยิ่งทำให้เรานึกถึงจังหวะดนตรีแบบนิวเวฟฝั่งตะวันตก ที่พวกเขาหยิบมาทำเป็นงานเพลงของตัวเองได้น่าสนใจ ซึ่งมอบอารมณ์ที่เปรียบได้การรอคอยและโอบกอดอย่างเข้าอกเข้าใจ

มาถึงสองแทร็กสุดซิ่งกันบ้างอย่าง Crab ที่แปลงเนื้อเพลง ‘ปูไข่ไก่หลง’ ของพี่ ก็อต—จักรพันธ์ (หรือศิลปินท่านอื่น) มาแต่งเป็นภาษาอังกฤษ ซิงเกิ้ลนี้อาจไม่เด้งเท่าผลงานก่อนหน้าของรอยเซนเบิร์ก เพราะต้องลดทอนเอเลเมนต์หรือดรอปจังหวะ แต่ความกวนโอ๊ยและไอเดียแปลกประหลาดที่วงมักเล่าให้ฟังก็เป็นจุดเด่นที่เอาเขาไม่ลงจริง ส่วนเพลง White Dude’s Podcast. ที่เปิดมาก็ชวนหัวหมุนแล้ว ด้านซาวด์ก็โดนเส้นไม่แพ้ชาวคณะก่อนหน้า ทั้งจังหวะกระฉับกระเฉงน่าเต้นที่ได้กลิ่นอายแบบแดนซ์พังค์ ผสมความเกรี้ยวกราดที่ระบายผ่านเนื้อร้องก่นด่าและความอลหม่านของเสียงซินธิไซเซอร์ ตีคู่กับการสตรัมเครื่องสายซิงเกิ้ลโน๊ตที่ต้องพุ่ง พุ่ง และพุ่งสู้เท่านั้น

ตามด้วย 911 ที่วงอธิบายเกี่ยวกับเพลงนี้ไว้ว่าเป็นตัวแทนของสภาวะหมดแรง คล้ายการตกอยู่ในสถานการณ์แห่งความมืดมนที่ไม่สามารถมองเห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์ ทั้งเสียงร้องกึ่งคร่ำครวญที่แทรกท่อนโหยหวนเข้ามากลางเพลง และไลน์กีตาร์ที่ไบร์ทไม่มากก็ทำให้เราสัมผัสถึงได้ โดยแทร็กถัดมาอย่าง Amoral Letters To Your Lover ก็เป็นเพลงที่น่าสนใจไม่น้อย ด้วยสไตล์การขับเค้นเสียงแบบโพสต์เมทัลที่เบลนด์กับท่วงทำนองได้อย่างกลมกล่อมและหนักแน่นในตัว ระหว่างทางพวกเขายังมีโครงสร้างของป๊อปผสานซาวด์หลายแนว ที่เบรคผ่านกีตาร์โปร่งในช่วงท้าย แล้วเฟดออกไปโดยไม่รู้สึกว่าขาดหรือเกินอะไรนัก

ย่อยสลาย (Decompose) กระหน่ำเราด้วยซาวด์อื้ออึงที่ค่อย ๆ แยกคนฟังออกเป็นชิ้นส่วน ก่อนเก็บเศษเสี้ยวมาประกอบเป็นความพร่ามัวจากน้ำเสียงกับดนตรีที่ถูกสื่อสาร หรือสะท้อนภาพทรงจำที่ดีและไม่ดีปะปนกันไป ก่อนดรอปท่อนพักแล้วทะยานขึ้น แล้วเหวี่ยงไปมาอีกทีซึ่งปล่อยให้เรางุนงงในห้วงอารมณ์นั้น เช่นเดียวกับ Dive ที่พอรับไม้ต่อเสร็จสรรพก็ทิ้งดิ่งให้เราได้ปะติดปะต่อความรู้สึก บนการบรรเลงเมโลดี้ที่แวกว่ายอย่างสวยงาม

ต่อด้วย Trains ที่ส่วนตัวเราคิดว่าจุดเด่นหลัก ๆ ของวงนี้คือเสียงร้องที่ใสกริ๊งตัดกับดนตรีสุดร้าวราน ซึ่งเพลงนี้พวกเขาก็ทำได้ถึงเครื่องเลย ตั้งแต่เมโลดี้และทำนองที่ขับเคลื่อนไปอย่างเนิบช้า บนบรรยากาศที่สัมผัสได้ถึงการหลงทาง กระทั่งน่าหวาดระแวง ระหว่างการต้องจากสถานที่ที่รักมาไกล ส่งให้ซิงเกิ้ลถัดไปอย่าง TRAP ทำหน้าที่เป็นภาคต่อของเรื่องราวชีวิตที่อาจโหดร้ายแต่ยังมีหวังอยู่ โดยเฉพาะการเลือกใช้คำว่า “กับดัก” ราวกำลังติดแหงกอยู่ที่ใดสักที่หนึ่ง ผ่านลูปซาวด์และกีตาร์สไตล์ swirling ย้วยยาน พร้อมคอรัสหนุ่มสาว ประดับคู่คีย์ซินธ์ระยิบระยับ ยิ่งทำให้เรารู้สึกว่าสองเพลงนี้ช่วยตอบแทนช่วงเวลาของวัยรุ่นหลายคนได้ดี

และสำหรับแทร็กปิดอัลบั้มอย่าง sleep for a little while longer ที่เสมือนเป็นการปล่อยให้ทุกคนได้พักผ่อน ก็สามารถขับกล่อมเราในแบบที่ไม่คิดว่าจะนำเอาลูกเล่นน่ารัก ๆ มาผสมซาวด์แตกพร่า แถมในขณะเดียวกันเขาก็ถ่ายทอดความเจ็บปวดของอีกฝ่าย หรือมุมมองของอีกบุคคลนึงได้อย่างหม่นหมองแถมลงตัว ซึ่งเสริมกับกิมมิคในช่วงเอาท์โทรที่แซมเปิลเสียงชีพจรจากเครื่องบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ส่งท้ายคนฟังกันแบบซาบซึ้งไปข้าง

ขอสารภาพว่าเลือกไม่ถูกว่าเพลงไหนเป็นเพลงโปรดที่สุดสำหรับเรา เพราะต่างคนต่างมีศักยภาพและสไตล์จำเพาะในแบบของตัวเอง ทางทีมงานคอสมอสก็หวังว่าพวกเขาจะกลายเป็นศิลปินน่าจับตามองได้ในเร็ววันนี้ ส่วนใครกำลังลังเลอยู่ว่า เริ่มฟอร์มวงดีไหม? ปล่อยเพลงมาจะมีคนฟังหรือเปล่า? ยังไงลองดูกันสักตั้ง สักวันหนึ่งจะมีกลุ่มคนที่ชื่นชอบผลงานที่เราเป็นตัวเองอย่างแน่นอน และสำหรับศิลปินที่สนใจรวมพลังกับทีม The Year Shoegaze Broke อย่าลืมติดตามโพสต์ประกาศรับผลงานช่วงถัดไปได้เลย

Related Articles

This website uses cookies to improve your experience. We'll assume you're ok with this, but you can opt-out if you wish. Accept Read More

Privacy & Cookies Policy