Kim Gordon หวดไม่ยั้งในอัลบั้มนอยซ์แร็ปสุดคลั่ง ‘The Collective’

by Montipa Virojpan
882 views

เมื่อปี 2019 Kim Gordon ได้ปล่อยอัลบั้มปฐมบทโซโล่โปรเจกต์สุดเหวออย่าง ‘No Home Record’ ออกมาและได้รับเสียงวิจารณ์ล้นหลามถึงความไม่ประนีประนอมในการนำเสนองานศิลปะของเธอ ซึ่งก็เป็นเวลา 4 ปีกว่า ๆ ที่อดีตมือเบสวง Sonic Youth วัย 70 ปีซุ่มทำเพลงใหม่ ก่อนจะทยอยปล่อยซิงเกิ้ลออกมา 3 เพลงได้แก่ ‘BYE BYE’, ‘I’m a Man’ และ ‘Psychedelic Orgasm’ ซึ่งสร้างความตื่นเต้นให้แฟน ๆ ที่รอจะฟังอัลบั้ม ‘The Collective’ แบบเต็ม ๆ เพราะเดากันว่าทิศทางของงานชุดนี้น่าจะ ‘เกเร’ กว่าชุดก่อนหน้าเสียอีก และตอนนี้เราก็ได้ฟังทั้งอัลบั้มกันเป็นที่เรียบร้อย ถึงจะไม่ได้ผิดจากที่คาดนัก แต่ความที่แม่ก็คือแม่ เลยไม่ลืมที่จะฝากเซอร์ไพรส์ไว้ให้เราได้ว้าวอีกเป็นระยะ ๆ ตลอดทาง

kim gordon

ในชุดที่แล้ว เราสังเกตว่า Kim Gordon มีความอินเพลงฮิปฮอปอยู่ไม่น้อยเลยจากเพลงที่มีฉากหน้าเป็นนอยซ์แต่อันที่จริงก็มีบีต กรูฟ และโครงสร้างบางอย่างของฮิปฮอปซ่อนอยู่ในนั้น โดยเฉพาะกับแทร็ค ‘Paprika Pony’ ที่จากที่เราฟังเองก็รู้สึกว่าอาจจะเป็นสารตั้งต้นของงานชุดนี้เพราะมีทั้งดั๊บ แทร็ป และ spoken words เหมือนกัน หรือเป็นไปได้ว่าเพราะโปรดิวเซอร์ของทั้งสองชุดคือคนเดียวกันนั่นคือ Justin Raisen ที่อยู่เบื้องหลังงานของแร็ปเปอร์ตัวแรงหลายคนทั้ง Lil Yachty, Teezo Touchdown, Kid Cudi ตัวพ่ออย่าง Drake ศิลปินอัลเทอร์เนทิฟสุดแหวก Sky Ferreira, Charli XCX, Yves Tumor, Yeah Yeah Yeahs หรือแม้แต่ปู่ John Cale แห่ง The Velvet Underground ยังให้ความไว้วางใจมาแล้ว ซึ่งใน ‘The Collective’ ก็ได้ Anthony Paul Lopez มาช่วยโปรดักชันอีกแรง จนเกิดเป็นงานที่ดูเผิน ๆ อาจจะฟังง่ายขึ้นด้วยบีตคงเส้นคงวา แต่ยังมีความเก๋ ความเฮี้ยน รายละเอียดสุดล้ำ นอยซ์แบบไม่บันยะบันยัง และซาวด์ที่โดดเด่นและเกาะกลุ่มกันจนเป็นเหมือนธีมหลักของอัลบั้มได้

“ในอัลบั้มนี้ฉันอยากที่จะถ่ายทอดความบ้าคลั่งอย่างที่ฉันรู้สึกได้จากสิ่งรอบตัวในตอนนี้” Kim Gordon เล่า “ในจุดที่ไม่มีใครรู้แล้วว่าอะไรจริงไม่จริง เพราะข้อเท็จจริงไม่สามารถโน้มน้าวคนได้เสมอไป แต่ละคนเลือกอยู่ข้างที่ตัวเองเชื่อ ทำให้ตอนนี้ทุกอย่างดูไม่น่าวางใจไปซะหมด ซึ่งวิธีที่จะบรรเทาความรู้สึกหรือหลบหนีจากสิ่งเหล่านี้ คนเลือกที่จะติดอยู่กับความฝัน ใช้ยา ดูซีรีส์ ช็อปปิ้ง เล่นอินเทอร์เน็ต หรือเลือกอะไรที่ง่ายดาย ราบรื่น สะดวก ของมีแบรนด์เชื่อถือได้ อะไรพวกนี้ทำให้ฉันอยากทำลายมัน อยากเดินตามในสิ่งที่ไม่คุ้นเคย หรือบางทีก็อยากจะลองล้มเหลวดูเหมือนกัน”

เพลงนี้ไม่เพียงแต่ฟังดูคล้ายงานของ Playboi Carti ที่มีเสียงเบสแตก ๆ แต่อันที่จริงแล้วแรกเริ่มเดิมทีบีตในเพลงก็ทำมาเพื่อเขาจริง ๆ นั่นแหละ ซึ่งตอนนั้น Justin กับน้องชาย Jeremiah ได้ซุ่มทำบีตให้แร็ปเปอร์ แต่ไป ๆ มา ๆ พอเพลงเสร็จมันดูล้นเกินกว่าที่จะส่งให้ใครก็ตาม แต่พวกเขาคิดว่ามันน่าจะเหมาะมือกับศิลปินหัวก้าวหน้าอย่าง Kim Gordon สุดท้ายแล้วเพลงนี้ก็กลายมาเป็นเพลงเปิดตัวและแทร็คแรกของอัลบั้ม

เมโลดี้ดาร์กและบีตนิ่งเนิบยังคงดำเนินเรื่อยมาในแทร็คนี้ เสียงสั่นเทาของเธอเหมือนกำลังร่ายมนต์ไปพร้อมกับนอยซ์และดิสทอร์ตความแตกพร่า ส่วนช่วงท้ายเพลงก็ชวนเหวอด้วยท่อนแร็ปเลดแบ็กใส่ออโต้จูน

เสียงกีตาร์กับเอฟเฟกต์พร่าหูชวนฝันราวกับแซมพ์เพลงชูเกซสักเพลงมาใส่ แล้วก็ใช้วิธีเว้นจังหวะยืดยานปล่อยให้เสียงมาเป็นช่วง ๆ พร้อมด้วยบีตกลองฟุ้งที่ใส่ทับเข้ามาให้ความรู้สึกแบบโพสต์อินดัสเทรียลร็อกเท่ ๆ สักเพลง

ซิงเกิ้ลที่สองเปิดมาด้วยซาวด์โดรนอื้ออึง เป็นเพลงที่เสียดสีตั้งแต่ชื่อเพลง ส่วนเนื้อหาก็เป็นการสร้างคาแร็กเตอร์ท็อกซิก ๆ ขึ้นมา แล้วรวบรวมคำพูดที่มักจะได้ยินจากพวกชายเป็นใหญ่มาทำให้เว่อร์ขึ้นอีกนิด (แต่เชื่อเถอะว่าเราน่าจะเคยได้ยินสักคนพูดอะไรแบบนี้) โดยเธอบอกกับ New York Times ว่าเพลงนี้ได้แรงบันดาลใจจาก Josh Hawley วุฒิสมาชิกรัฐมิสซูรีที่ครั้งนึงเคยพูดว่า ‘เฟมินิสต์ทำลายผู้ชายและความเป็นชาย’ “ฉันว่ามันตลกดี เวอร์ชันของฉันเลยทำให้กลายเป็นว่า ทุนนิยมและบริโภคนิยมต่างหากที่กลืนกินผู้ชายและความเป็นชายที่” เธอเล่า

นอยซ์ร็อกแน่น ๆ ที่เหมือนหยิบเอา aesthetic แบบอารีน่าร็อก หรือพวกเพลงเอปิก ๆ มาทำให้ไม่เลี่ยน เธอและโปรดิวเซอร์มีวิธีในการทวิสต์เอาความเฝือทำออกมาได้แบบมีรสนิยม อย่างที่พูดอยู่เสมอว่าการใช้ออโต้จูนได้ถูกที่ถูกเวลาจะเป็นตัวที่ยิ่งช่วยชูโรงให้กับเพลงนั้น ๆ ซึ่งเพลงนี้ก็เป็นอีกตัวอย่างที่ดีของออโต้จูนที่ว่า

กีตาร์แสบโสตประสาทเปิดขึ้นมา แต่กลับลำด้วยดั๊บแบบแตกแตนนอยซ์ระเบิด ผสมผสานก่อนที่ช่วงท้ายเพลงจะมาเป็นเบรกบีตนิด ๆ แล้วส่งเข้าท่อนร็อกมีเมโลดี้ชวนฉงน เป็นอีกเพลงที่ฟังสนุกกับวิธีการเล่าเรื่องด้วยการเรียบเรียงเพลงแบบที่เราไม่รู้ว่าจะพาเราไปอยู่ตรงจุดไหนในวินาทีข้างหน้า

ชื่อก็บอกอยู่แล้วสำหรับซิงเกิ้ลสามก่อนปล่อยอัลบั้มเต็ม ซึ่งเป็นหนึ่งในเพลงที่เราชอบที่สุด ยกให้งดงามที่สุดเพลงนึงในอัลบั้ม กับโน้ตที่เล่นมาตอนต้นเหมือนไซเคเดลิกร็อก แต่อัดนอยซ์ เสียงแตกฉ่ำ แล้วมีท่อนดรอปเป็นแทร็ปดาร์ก ๆ พร้อมด้วยออโต้จูนเมโลดี้สวยสว่าง ๆ กับกลองเบรกบีตผสมดั๊บคลอกันไป แล้วยังมีความเป็นแอมเบียนต์ชูเกซเต็มไปหมด ซึ่งเป็นอะไรที่สะใจมากที่หยิบทุกอย่างมายำรวมกันได้อร่อยหูขนาดนี้

น่าจะเป็นเพลงที่มีความเป็นกีตาร์ นอยซ์ร็อกที่สุดในอัลบั้มแล้ว แต่ก็ยังมีลูกเล่นของการ mute จังหวะอยู่เรื่อย ๆ แต่แม่ก็ไม่ปล่อยให้มันเป็นอะไรที่คาดเดาได้เสมอไป เมื่อใส่บีตเพอร์คัชชันให้ความรู้สึกแบบโลหะ ก็ยิ่งดูอินดัสเทรียลขึ้นไปอีก (มันบ้านต้นไม้จังไสละน้อ) ความอุตสาหกรรมค่อย ๆ คลี่คลายไปด้วยโครงเพลงที่มินิมัลขึ้นในช่วงกลาง และบีตเดิมถึงจะกลับเข้ามาตอนท้ายพร้อมกับความวุ่นวายแบบสุดขั้ว 

กลับมาที่บีตนวด ๆ ดาร์ก ๆ กับบีต 808 เป็นเหมือนตัวเบรกให้ผ่อนหูแบบที่เคยเจอในเพลงก่อน ๆ หน้า 

เข้าใจแล้วว่าทำไมถึงมีเพลงก่อนหน้ามาคั่น เพราะเพลงนี้ระเบิดหูและสมองมาก จัดเต็มทุกความรุนแรงหนักหน่วงแบบที่จะจินตนาการได้ โยนใส่มาในแทร็คนี้ให้หมด ส่วนช่วงกลางเพลงก็เปลี่ยนมาบรรเลงเมโลดี้กีตาร์นอยซ์แหลมวนลูป ที่มีเสียงร้องทุ้มแต่โน้ตสูงคล้ายกับสวดมนต์ประกอบกับบีตลากคว้าง แล้วดึงกลับมาที่ความโกลาหลและดุเดือดไปจนจบเพลง

จบอัลบั้มกันไปด้วยเพลงเท่ที่มาหมดทั้งนอยซ์ร็อก อินดัสเทรียลร็อก ไหนจะบีตที่ให้ความรู้สึกเหมือนหยิบ old school rap มาตีความใหม่ แล้วก็ร้องทับไปแบบไม่ได้สนใจว่าจะต้องเป็นฮิปฮอปหรืออะไร ส่วนท้ายเพลงก็มาเป็นแอมเบียนต์โดรนสวย ๆ ที่น่าจะยกมาจากเพลง ‘I Don’t Miss My Mind’ นั่นเอง

เมื่อจะต้องสรุปว่าสิ่งที่เพิ่งฟังจบไปคืออะไร เราอาจจะจำกัดความได้ว่าเป็น experimental rock/ art rock ที่ผสมผสานเอานอยซ์ร็อก ชูเกซ พาวเวอร์ป๊อป มาเจอกับพวกดั๊บ อิเล็กทรอนิก และพวกแร็ป lo-fi D.I.Y ที่อัปขึ้น SoundCloud ที่ว่าแบบนี้เพราะอิสระทางความคิดในแต่ละเพลงมันไร้ขีดจำกัดและเกิดความคาดหมายไปมาก ความวุ่นวายและบ้าคลั่งแบบที่ Kim Gordon ตั้งใจจะถ่ายทอดออกมาก็ทำได้เป็นรูปธรรม การเรียบเรียงที่เรียกได้ว่าปล่อยไหลไม่ยั้งมือเป็นข้อพิสูจน์ว่า อายุไม่ได้ทำให้เธอกลายเป็นป้าแก่เชย ๆ หลงยุค แต่เป็นการนับชั่วโมงบินที่สั่งสมมา และยังเปิดโอกาสให้ไอเดียได้มีวิวัฒนาการ ทั้งยังก้าวกระโดดต่อยอดได้อย่างไร้ที่สิ้นสุดไม่อยู่ตามสูตรยิ่งกว่าศิลปินรุ่นหลังบางคนด้วยซ้ำ คิดแล้วก็อยากจะดูแม่สด ๆ สักครั้ง เอามาเจอกับ Death Grips ก็น่าจะดี

ที่มา
Official Website
Stereogum
New York Times

อ่านต่อ
Wall of Eyes ดวงตาแห่งการสำรวจทุกสรรพเสียงจาก The Smile

+ posts

อิ๊ก นักเขียนสายดนตรีที่เกือบจะต้องวางมือ แต่คงหนีไม่พ้นเพราะยังอยากพูดถึงวงและเพลงดี ๆ ต่อไปเรื่อย ๆ

Related Articles

This website uses cookies to improve your experience. We'll assume you're ok with this, but you can opt-out if you wish. Accept Read More

Privacy & Cookies Policy