Oblique Strategies (โอบรีคสแตทติจี้ส’) คือสำรับไพ่ธรรมดา ๆ นี้ ถูกสร้างขึ้นในช่วงกลางทศวรรษ 1970 โดยนักดนตรี Brian Eno และศิลปิน Peter Schmidt เพื่อช่วยให้ตัวเองหลุดพ้นจากความตีบตันในการสร้างสรรค์ผลงาน หรือที่ยุคนี้เรียกว่า creative block
สำรับไพ่นี้เต็มไปด้วยคำแนะนำที่ช่วยกระตุ้นจินตนาการของเราผ่านประโยคธรรมดา ๆ ที่ไม่ต้องพึ่งพาบริบทใด ๆ เช่น “ใช้ไอเดียเก่า”, “ทำอย่างที่เพื่อนสนิทคุณชอบทำสิ” หรือ “ลองเรียบเรียงปัญหาออกมาเป็นคำพูดให้ชัดเจนที่สุดเท่าที่จะทำได้” ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อทำลายรูปแบบความคิดเดิม ๆ ทุกครั้งที่ Eno หรือเพื่อน ๆ ในห้องอัดประสบปัญหาในการทำเพลง เขามักจะแนะนำให้ทุกคนสุ่มเลือกไพ่ขึ้นมาหนึ่งใบเพื่อค้นหาคำชี้นำใหม่ ๆ ในการทำงาน
ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา สำรับไพ่ที่เรียบง่ายนี้ได้ช่วยชี้นำกระบวนการสร้างสรรค์ของอัลบั้มเพลงสำคัญ ๆ ในหน้าประวัติศาสตร์ดนตรี และเป็นแรงบันดาลใจให้กับศิลปินมากมาย ตั้งแต่ David Bowie จนถึงวง Coldplay สิ่งที่เริ่มต้นจากการทดลองเล็ก ๆ ที่แปลกประหลาด ได้กลายเป็นวิธีการที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในการส่งเสริมความคิดเชิงสร้างสรรค์ให้กับแวดวงดนตรีและศิลปะมาอย่างยาวนาน
ต้นกำเนิดของไพ่โอบรีค
ต้นกำเนิดของไพ่โอบรีคเริ่มต้นจากความบังเอิญอันน่าทึ่ง ในช่วงปลายทศวรรษ 1960 ถึงต้นทศวรรษ 1970 Brian Eno ซึ่งขณะนั้นเป็นนักดนตรีแนวทดลองที่เพิ่งเรียนจบจากโรงเรียนศิลปะ และ Peter Schmidt ศิลปินแนวจิตรกรรมและศิลปะแนวความคิด ต่างฝ่ายต่างก็เริ่มชุดการ์ด “กลยุทธ์” (strategies) เป็นลายลักษณ์อักษรเพื่อใช้ในการสร้างสรรค์ผลงานของตัวเองโดยไม่รู้จักกันมาก่อน
โดยทั้งคู่ต่างพยายามที่จะแก้ไขปัญหาเดียวกันคือการเอาตัวเองออกจากกรอบที่จำกัดความคิดสร้างสรรค์ Schmidt ได้สร้างผลงานศิลปะชื่อว่า “The Thoughts Behind the Thoughts” ในปี 1970 ซึ่งเป็นกล่องบรรจุไพ่ 55 ใบที่พิมพ์คำแนะนำสั้น ๆ ที่ได้มาจากประสบการณ์ด้านการวาดภาพของเขา
ในช่วงเวลาเดียวกันนั้นเอง Eno ก็เขียนคำแนะนำของเขาเองด้วยลายมือบนไพ่ไม้ไผ่ และเรียกมันว่า “Oblique Strategies” ในปี 1974 เมื่อเพื่อนทั้งสองคนได้เปรียบเทียบแนวคิดของกันและกันในช่วงปลายปี 1974 ทั้งคู่ต่างประหลาดใจที่พบว่าไอเดียของพวกเขามีความคล้ายคลึงกันอย่างไม่น่าเชื่อ ดังที่ Eno ได้กล่าวไว้ในภายหลังว่า ทั้งสองได้คิดค้นระบบไพ่ที่แทบจะเหมือนกัน ในเวลาเดียวกัน ใช้ถ้อยคำเกือบเหมือนกันทุกประการ แต่เกิดขึ้นโดยอิสระจากกันอย่างสิ้นเชิง ความบังเอิญนี้เองที่ทำให้พวกเขาตัดสินใจนำแนวคิดของตนมารวมกัน
Eno และ Schmidt รวบรวมข้อความแนะนำที่ดีที่สุดของทั้งคู่เข้าด้วยกันจนกลายเป็นสำรับไพ่ชุดเดียวกัน และนำออกจำหน่ายสู่สาธารณะในปี ค.ศ. 1975 สำรับไพ่ Oblique Strategies รุ่นแรก มีชื่อรองว่า “Over One Hundred Worthwhile Dilemmas” ประกอบด้วยไพ่ขนาดเล็กจำนวน 113 ใบที่บรรจุอยู่ในกล่องสีดำเรียบง่าย แต่ละใบจะมีข้อความแนะนำเชิงนามธรรมสั้น ๆ พิมพ์ด้วยตัวอักษรธรรมดา ๆ โดยตั้งใจออกแบบให้เรียบง่ายที่สุด เพื่อให้ข้อความได้สื่อสารด้วยตัวของมันเอง สำรับไพ่รุ่นแรกนี้ผลิตจำนวนจำกัดเพียง 500 ชุด แต่ละชุดถูกหมายเลขและลงลายเซ็นด้วยมือโดยผู้สร้างทั้งสองคน Eno และ Schmidt ได้เผยแพร่เพื่อแบ่งปัน “สาร” ที่เคยส่งผลกระทบต่อกระบวนการคิดของพวกเขาอย่างลึกซึ้ง

สำรับไพ่แห่งแรงบันดาลใจชิ้นนี้ได้รับอิทธิพลมาจากแนวคิดศิลปะอาว็อง-การ์ดและแรงบันดาลใจส่วนตัวที่มีมาก่อนหน้า Eno เคยกล่าวถึงการที่นักประพันธ์เพลง John Cage ใช้ระบบ I Ching (เรียกว่า อี้จิง เป็นตำราทำนายดวงชะตาของจีนโบราณ) เพื่อช่วยตัดสินใจในการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ ว่าเป็นต้นแบบที่ชัดเจนที่สุดของไพ่โอบรีคเช่นเดียวกับกระบวนการของ Cage ที่ให้ความสำคัญกับความบังเอิญ
ไพ่โอบรีคได้ใช้การสุ่มและการตีความที่เปิดกว้างมาเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการสร้างสรรค์ อีกทั้งยังสอดคล้องกับแนวคิดของศิลปะ Fluxus ในช่วงทศวรรษ 1960 ที่นิยมสร้างงานแบบคำแนะนำ ยกตัวอย่างเช่น ผลงาน Water Yam (1963) ของ George Brecht ที่เป็นกล่องบรรจุไพ่ที่มีคำสั่งหรือคำแนะนำเชิงเล่นสนุกต่าง ๆ ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจโดยตรงให้กับงานของ Eno และ Schmidt แม้แต่ Marshall McLuhan นักทฤษฎีสื่อสารมวลชนชื่อดัง ก็เคยสร้างสำรับไพ่คำคมที่ชื่อ “Distant Early Warning” (1969) แสดงให้เห็นถึงกระแสความนิยมของไพ่ที่มีข้อความเชิง conceptual ในฐานะงานศิลปะ
ในแง่ปรัชญา ไพ่สำรับนี้ยังได้รับอิทธิพลจากแนวคิดนอกเหนือจากศิลปะตะวันตก นักเขียนบางรายอธิบายว่าไพ่สำรับนี้ได้รับอิทธิพลสุดโต่งที่หยั่งรากมาจากปรัชญาตะวันออก หลายข้อความในไพ่ก็มีลักษณะคล้ายโกอันของศาสนาเซน ซึ่งข้อความเหล่านี้มักจะดูเหมือนปริศนาธรรมหรือมีความย้อนแย้งบางอย่าง เพื่อกระตุ้นให้เกิดการหยั่งรู้
Schmidt มีความสนใจในพุทธศาสนาแบบเซนและแนวคิดปรัชญาตะวันออก ซึ่งส่งผลต่อโทนของคำแนะนำหลาย ๆ ใบ ด้าน Eno เองก็มีพื้นฐานจากการเรียนศิลปะ ทำให้เขาคุ้นเคยกับศิลปะแนว conceptual และยุทธวิธีที่ได้รับแรงบันดาลใจจากศิลปะ Dada ที่ยอมรับความสุ่มและความไร้เหตุผล ยกตัวอย่างเช่น ไพ่ที่มีข้อความว่า “ละทิ้งหลักการพื้นฐาน” (Discard an axiom) หรือ “ทำให้ลัดวงจร” (Short-circuit) ซึ่งสะท้อนถึงลักษณะเฉพาะของ Dada ในการท้าทายตรรกะแบบเดิม ๆ
Eno เคยพูดติดตลกว่า หากเปรียบเทียบกับไพ่ทาโรต์ของ Aleister Crowley แล้ว สำรับไพ่ของเขาและ Schmidt จะเป็นแรงบันดาลใจที่ใช้งานได้จริงมากกว่าสำหรับนักดนตรีที่กำลังมืดแปดด้าน ไพ่ของทั้งสองไม่ได้เน้นไปที่ความลี้ลับ แต่เพื่อกระตุ้นให้ผู้ใช้งานเกิดแนวคิดหรือมุมมองใหม่ ๆ เหมาะกับทั้งจิตรกรที่กำลังเผชิญหน้ากับผืนผ้าใบอันว่างเปล่า รวมไปถึงวงดนตรีร็อกที่กำลังเขียนเพลงไม่ออก
จากไอเดียสุดนามธรรมสู่ผลิตภัณฑ์ที่ศิลปินต้องมี
หลังจากความสำเร็จอันงดงามในการตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1975 ทั้งคู่ได้ออกสำรับใหม่อีกสองรุ่นแบบจำกัดจำนวนในช่วงปลายทศวรรษ 1970 สำรับรุ่นที่สองออกมาในปี 1978 มีไพ่ทั้งหมด 128 ใบ จัดจำหน่ายผ่านค่ายเพลงของ Eno คือ Obscure/Opal Records และสำรับรุ่นที่สามในปี 1979 มีไพ่ 123 ใบ ซึ่งได้รับการโฆษณาผ่านสื่อดนตรีและจดหมายข่าวของ Eno สำรับไพ่เหล่านี้มีการเพิ่มไพ่บางใบและปรับเปลี่ยนข้อความเล็กน้อย สะท้อนให้เห็นถึงการทบทวนปรับปรุงเนื้อหาอย่างต่อเนเนื่องของ Eno แต่จิตวิญญาณหลักของไพ่โอบรีคยังคงเหมือนเดิม
สำรับไพ่ชุดนี้เริ่มโด่งดังในวงการศิลปินใต้ดิน โดยเฉพาะหลังจากมีข่าวลือว่า Eno ใช้สำรับนี้ระหว่างการบันทึกเสียงกับศิลปินชื่อดังหลายราย แต่ตัวสำรับไพ่กลับหาซื้อได้ยากมาก แต่ละรุ่นถูกพิมพ์ขึ้นในจำนวนจำกัด และหลังจากการเสียชีวิตอย่างกะทันหันของ Peter Schmidt ในต้นปี 1980 ก็ไม่มีการผลิตสำรับใหม่ออกมาอีกเป็นเวลานาน สำรับดั้งเดิมกลายเป็นของสะสมหายาก ซึ่งบางครั้งถูกซื้อขายกันในราคาสูงในหมู่นักดนตรีและผู้หลงใหลในศิลปะ
เวลาผ่านไปถึง 16 ปี ก่อนที่ไพ่โอบรีคจะปรากฏตัวขึ้นอีกครั้ง ในปี 1995 นักธุรกิจสายเทคโนโลยี Peter Norton ผู้ชื่นชอบผลงานของ Eno ได้โน้มน้าวให้ Eno ผลิตสำรับไพ่รุ่นใหม่ขึ้นมาเป็นของขวัญพิเศษให้กับกลุ่มคนรู้จัก โดยได้รับการอนุมัติจาก Eno ทำให้ Norton ผลิตสำรับรุ่นที่สี่ขึ้นในปี 1996 ซึ่งมีไพ่ประมาณ 100 ใบ พร้อมข้อความแปลในหลายภาษาและมีศิลปินคนอื่นมีร่วมงานด้วย
สำรับรุ่นนี้ไม่ได้มีวางจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ แต่เป็นสัญญาณบ่งบอกถึงความสนใจครั้งใหม่ของ Eno ที่มีต่อไพ่ชุดนี้ ในหนังสือบันทึกของเขาที่ชื่อ A Year with Swollen Appendices ในปี 1996 Eno ได้เขียนไว้อย่างละเอียดเกี่ยวกับการกลับมาทบทวน ไพ่โอบรีคอีกครั้ง โดยสะท้อนว่าแนวคิดแต่ละใบยังคงมีคุณค่าและเข้ากับยุคสมัยในช่วงทศวรรษ 1990 ได้หรือไม่
จนกระทั่งในปี 2001 สำรับไพ่นี้จึงได้ตีพิมพ์ใหม่เป็นรุ่นที่ห้า และเปิดจำหน่ายให้กับสาธารณชนอย่างเป็นทางการ สำรับรุ่นปี 2001 ซึ่งกลายเป็นต้นแบบของสำรับไพ่ทางการในปัจจุบันทั้งหมด มีข้อความแนะนำ 103 ใบ บรรจุในกล่องสีดำที่เป็นเอกลักษณ์
เมื่อถึงช่วงทศวรรษ 2000 ความสนใจในสำรับไพ่นี้ได้เพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ เครื่องมือที่เคยเป็นที่นิยมในกลุ่มศิลปินเฉพาะกลุ่มได้ก้าวเข้าสู่การรับรู้ในวงกว้างของแวดวงศิลปะและการสร้างสรรค์ ในปี 2009 ได้มีการเปิดตัวแอปพลิเคชันบน iPhone ช่วยให้ทุกคนที่มีสมาร์ตโฟนสามารถเข้าถึงภูมิปัญญาจากไพ่ชุดนี้ได้ในทันที และต่อมาในปี 2013 มีการตีพิมพ์สำรับรุ่นที่หกแบบจำกัด (106 ใบ) สำหรับนักสะสม แต่สำรับรุ่นปี 2001 ที่มีจำหน่ายทั่วไปยังคงเป็นรุ่นมาตรฐานที่ใช้งานกันในปัจจุบัน
ทุกวันนี้ คุณสามารถซื้อสำรับไพ่ Oblique Strategies ได้โดยตรงผ่านเว็บไซต์ของ Brian Eno หรือใช้งานผ่านเวอร์ชันดิจิทัลที่มีให้เลือกมากมาย ซึ่งทำให้แนวคิดที่มีอายุกว่า 50 ปีนี้ยังคงสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักสร้างสรรค์รุ่นใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง
เมื่อไพ่ถูกนำมาใช้จริงในห้องอัด
นับตั้งแต่ Oblique Strategies ถูกคิดค้นขึ้นมาก็กลายเป็นส่วนสำคัญของกระบวนการสร้างสรรค์ของ Brian Eno ทันที อัลบั้ม Another Green World ที่ออกในปี 1975 ถือเป็นผลงานแรกที่ Eno ให้เครดิตไพ่โอบรีคไว้บนปกในฐานะเครื่องมือที่มีบทบาทในการหล่อหลอมซาวด์อันแหวกแนวของอัลบั้มนี้ Eno เคยอธิบายว่าที่เขาพัฒนาสำรับไพ่นี้ขึ้นมาก็เพื่อรับมือกับความตื่นตระหนกที่มักเกิดขึ้นเมื่อเจอกับแรงกดดันในการสร้างงาน โดยเฉพาะในห้องอัดที่ทุกการตัดสินใจต้องแลกมาด้วยทั้งเวลาและค่าใช้จ่าย

credit: https://www.brian-eno.net/about/
“ในสถานการณ์ทำงานหลายครั้ง ความตื่นตระหนกมักทำให้ผมลืมไปว่ามันยังมีวิธีอื่นในการทำงานอยู่” เขากล่าว พร้อมเสริมว่าไพ่เหล่านี้ช่วยเตือนให้เขารู้จักใช้วิธีจัดการกับปัญหาด้วยวิธีที่คาดไม่ถึง ซึ่งมักน่าสนใจกว่าการเดินตามแนวทางการทำงานแบบเดิม ๆ
การหยิบไพ่หนึ่งใบที่ให้คำแนะนำที่ไม่คาดฝันมักเปลี่ยนมุมมองของเขาได้ทันที เช่น หากการมิกซ์เสียงไม่เป็นไปอย่างที่หวัง ไพ่ที่มีข้อความอย่าง “ลองความเร็วที่ต่างออกไป” (Try a different speed) หรือ “เน้นข้อบกพร่อง” (Emphasize the flaws) อาจกระตุ้นให้เขารื้อองค์ประกอบทั้งชิ้นใหม่ แทนที่จะพยายามขัดเกลาไอเดียเดิมต่อไป เทคนิคนี้ช่วยเติมความสนุกและองค์ประกอบที่คาดไม่ถึงให้กับกระบวนการทำเพลงของ Eno อย่างชัดเจน “หัวใจของ Eno คือความรู้สึกสนุก” มือกีตาร์ Robert Fripp ผู้เคยร่วมงานกับเขากล่าวไว้ Fripp ชี้ว่าเซนส์ในการเลือกสิ่งต่าง ๆ อย่างเป็นธรรมชาติของ Eno มักมีอิทธิพลมากกว่าการใช้เหตุผลล้วน ๆ ซึ่งนั่นก็คือสัญชาตญาณที่ Oblique Strategies ตั้งใจจะปลุกมันขึ้นมาโดยตรง
หนึ่งในกรณีที่โด่งดังที่สุดของการใช้ไพ่โอบรีคคือช่วงที่ Eno ร่วมงานกับ David Bowie ปลายทศวรรษ 1970 Bowie ซึ่งเป็นศิลปินที่ขึ้นชื่อเรื่องการพัฒนาตัวตนอยู่เสมอ ได้เปิดรับแนวทางที่แหวกแนวของ Eno อย่างเต็มที่เพื่อนำดนตรีของตนไปสู่ทิศทางใหม่ๆ ในการบันทึกเสียงอัลบั้มที่เป็นที่รู้จักในชื่อ “Berlin Trilogy” ได้แก่ Low (1977), “Heroes” (1977) และ Lodger (1979)
Eno มักจะหยิบสำรับไพ่ออกมาใช้ทันทีเมื่อทีมงานติดขัดในการทำเพลง ตามเรื่องเล่าในสตูดิโอ หลายแทร็กที่เป็นอินสตรูเมนทัลใน “Heroes” ได้บรรยากาศที่แปลกประหลาดเฉพาะตัวจากแนวคิดในไพ่เหล่านี้ เช่น ในการทำเพลง Sense of Doubt นั้น Eno หยิบไพ่ที่ว่าด้วย “การลดทอนองค์ประกอบ” (reducing elements) จึงแนะนำให้ Bowie ตัดทอนองค์ประกอบทั้งหมดให้เหลือเพียงโครงสร้างอันลึกลับและเรียบง่ายที่สุด ผลลัพธ์คือแทร็กที่เย็นยะเยือก เต็มไปด้วยความตึงเครียดแบบมินิมัลที่น่าหลงใหล
พอถึงช่วงทำอัลบั้ม Lodger วงของ Bowie ก็เริ่มใช้ไพ่โอบรีคอย่างเป็นระบบมากขึ้น หนึ่งในตัวอย่างที่เป็นตำนานคือการทำเพลง Boys Keep Swinging ซึ่งมีไพ่ใบหนึ่งแนะนำให้ “สลับเครื่องดนตรีกันเล่น” (Change instrument roles) ทำให้มือกีตาร์มาเล่นกลอง มือกลองไปเล่นคีย์บอร์ด เป็นต้น ส่งผลให้ซาวด์ของเพลงมีความหยาบดิบและปั่นป่วนอย่างน่าพึงใจ ซึ่ง Bowie ก็ชื่นชอบเป็นอย่างมาก เพลงอื่นๆ อย่าง Fantastic Voyage และ Red Money จากอัลบั้มเดียวกัน ก็ได้รับอิทธิพลจากไพ่เหล่านี้เช่นกัน
Bowie ประทับใจวิธีการนี้มากจนกลับมาใช้โอบรีคอีกครั้งในอีกสองทศวรรษต่อมา ระหว่างการทำอัลบั้ม Outside ในปี 1995 ซึ่งเขาร่วมงานกับ Eno อีกครั้ง โดยทั้งคู่ยังคงใช้ไพ่เหล่านี้เพื่อค้นหาไอเดียใหม่ ๆ และทิศทางในการเขียนเนื้อเพลงที่ไม่คาดคิด
Eno ไม่ได้เพียงแค่แนะนำ Oblique Strategies ให้คนอื่นใช้เท่านั้น เขายังคงใช้ไพ่เหล่านี้กับงานโซโล่และงานโปรดิวซ์ของตัวเองอย่างต่อเนื่อง ตลอดช่วงปลายยุค 70 เขาได้โปรดิวซ์อัลบั้มให้ศิลปินอย่าง Talking Heads และ Devo พร้อมนำแนวคิดจากไพ่โอบรีคเข้าไปในกระบวนการสร้างสรรค์ด้วย
David Byrne ฟรอนต์แมนของ Talking Heads เล่าว่า “การ์ดของ Brian ตลกดี บางทีก็มีประโยชน์” เขาได้เห็นไพ่เหล่านี้ถูกใช้งานจริงระหว่างการอัดเสียงอัลบั้ม Remain in Light โดย Byrne รู้สึกชื่นชมกับคำแนะนำที่กระตุ้นการคิดแบบอ้อม ๆ ของ Eno เช่น ไพ่ใบหนึ่งที่แนะนำให้โฟกัสแค่ “องค์ประกอบอย่างละชนิด” (only one element of each kind) ในการมิกซ์เสียง ซึ่งช่วยทำให้กรูฟของเพลงคมชัดยิ่งขึ้น แม้ว่าสมาชิกคนอื่นของวงจะยังรู้สึกกังขากับแนวทางนามธรรมของ Eno ก็ตาม
ส่วนวง Devo ซึ่งมีสไตล์ประชดประชันและเสียดสีมากกว่า กลับมีปฏิกิริยาที่ซับซ้อนมากขึ้น เมื่อ Eno ดึง Oblique Strategies ออกมาใช้ระหว่างการโปรดิวซ์อัลบั้มเปิดตัวของพวกเขาในปี 1978 Q: Are We Not Men?
สมาชิกวงรู้สึกว่าไพ่เหล่านี้มันชวนขำไปหน่อย “มันเซนเกินไปสำหรับพวกเรา” ตามคำพูดของ Gerald Casale ฟรอนต์แมนของวง “พวกเรามองว่าของพวกนี้มันเฟอะฟะ ดูลวง ๆ ลึกลับเก๋ ๆ พวกเราชอบอะไรที่ดิบ หยาบ รุนแรง แต่ Brian พยายามจะใส่ความงามเข้าไปในดนตรีของเรา” Casale พูดติดตลก เป็นการสะท้อนว่าไม่ใช่ทุกวงที่จะยอมรับเทคนิคเฉพาะตัวของ Eno ได้ในทันที
แต่ถึงอย่างนั้น การปะทะกันทางแนวคิดครั้งนี้กลับกลายเป็นแรงผลักดันที่ก่อให้เกิดพลังสร้างสรรค์ เพราะแม้ Devo จะต่อต้านแนวทางของ Eno ความพยายามของเขาในการใส่รายละเอียดแปลก ๆ อันงดงามลงไป ก็ส่งผลให้ซาวด์ของวงมีมิติที่หลุดพ้นจากความหยาบกระด้างเดิม ๆ
ในเวลาต่อมา Eno ยังคงใช้ไพ่โอบรีคกับศิลปินชื่อดังรุ่นใหม่ หนึ่งในตัวอย่างที่โดดเด่นคือการโปรดิวซ์อัลบั้ม Viva la Vida ของ Coldplay ในปี 2008 ซึ่งเขาเปลี่ยนห้องอัดให้กลายเป็นเวิร์กช็อปของไพ่โอบรีคอย่างเต็มรูปแบบ โดยแจกไพ่แบบสุ่มให้สมาชิกแต่ละคน และขอให้ทุกคนทำตามคำแนะนำในไพ่นั้นโดยไม่ต้องบอกกันว่าได้อะไร บางคนอาจได้รับคำสั่งว่า “สลับบทบาทเครื่องดนตรี” (Change instrument roles) ขณะที่อีกคนอาจได้ “ขยายเสียงที่เงียบที่สุด” (Amplify the quietest detail) ผลลัพธ์ที่ออกมาจากการแจมแบบนี้อาจดูวุ่นวาย แต่บางครั้งก็มีเวทมนตร์ซ่อนอยู่
“แน่นอน โอกาสที่คุณจะได้เพลงที่สมบูรณ์เลยทันทีอาจมีน้อย” Eno กล่าว “แต่โอกาสที่คุณจะได้ไอเดียบางอย่างกลับมาด้วย คุณจะคิดว่า ‘มันอาจจะไม่ใช่จังหวะกลองหรือโน้ตที่ถูกต้องเป๊ะ ๆ แต่ก็มีบางอย่างที่ดีอยู่ในนั้นนะ’” และสำหรับ Coldplay ไอเดียเล็ก ๆ เหล่านี้ก็นำไปสู่ไอเดียเพลงใหม่ และซาวด์ที่พวกเขาอาจไม่เคยค้นพบจากการแจมแบบปกติ
แนวทางของ Eno ที่ให้ความไว้ใจในคำสั่งที่ดูเหมือนไม่สมเหตุสมผลตามคำแนะนำในไพ่เหล่านี้ พิสูจน์แล้วว่าเป็นวิธีที่ทรงพลังในการเปิดทางให้ไอเดียใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นการช่วยให้ U2 มองเห็นข้อจำกัดที่อาจเป็นความสร้างสรรค์ได้เหมือนกัน หรือการปลุกให้วงอย่าง Coldplay หลุดจากสูตรเดิมของเพลงร็อกเวทีใหญ่ สำรับไพ่ใบเล็ก ๆ ที่เต็มไปด้วยกลยุทธ์การคิดเชิงนามธรรมของ Eno จึงมีอิทธิพลอย่างลึกซึ้งต่อกระบวนการสร้างดนตรีร่วมสมัยในระดับโลก
ความนิยมและอิทธิพลของ Oblique Strategies ต่อวงการดนตรี
สิ่งที่เริ่มต้นจากเทคนิคเฉพาะตัวในห้องอัดของ Brian Eno ได้ค่อย ๆ แพร่ขยายออกไปสู่กลุ่มนักดนตรี ศิลปิน และผู้สร้างสรรค์ในหลากหลายแขนงอย่างกว้างขวาง David Bowie ซึ่งเป็นผู้รับเอาแนวทางของ Eno ไปใช้อย่างจริงจัง จนกลายเป็นผู้เผยแพร่ Oblique Strategies ด้วยตัวเขาเอง
เทคนิคแหวกแนวที่ Bowie นำมาใช้ในอัลบั้มอย่าง Heroes ไม่ว่าจะเป็นการตัดท่อนเนื้อเพลง การวางโครงสร้างเพลงแบบดนตรีทดลอง ฯลฯ ได้กลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับศิลปินรุ่นใหม่อีกนับไม่ถ้วน ซึ่ง Bowie เองก็มักให้เครดิตว่าแนวคิดของไพ่สำรับนี้ช่วยผลักดันให้ทุกคนยอมปล่อยให้สัญชาตญาณนำทางดูบ้าง
ในช่วงทศวรรษ 1990 ขณะที่ Bowie ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงให้กับศิลปินรุ่นใหม่ เขาก็ถ่ายทอดวิธีใช้ไพ่เหล่านี้ให้พวกเขาด้วย เป็นการสานต่อจิตวิญญาณของสิ่งที่ Eno และ Schmidt สร้างไว้ Carlos Alomar มือกีตาร์ที่ร่วมงานกับ Bowie มากอย่างยาวนาน เคยเล่าว่าเขาเองก็กลายเป็นแฟนตัวยงของไพ่ชุดนี้เช่นกัน เขาประทับใจมาก ถึงขนาดนำไพ่โอบรีคไปติดไว้บนผนังในห้องเรียนของเขาเอง “เวลานักเรียนของผมคิดอะไรไม่ออก ผมจะให้เขาเดินไปที่ผนังนั้นทันที” เขากล่าว เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า หลักการของไพ่โอบรีคสามารถช่วยกระตุ้นกระบวนการคิดสร้างสรรค์ได้ในทุกสาขา ไม่ใช่แค่ในดนตรีเท่านั้น
ศิลปินในแวดวงร็อกและนิวเวฟวงอื่น ๆ ก็เริ่มนำไพ่สำรับนี้ไปใช้ด้วยตัวเอง วงโพสต์พังก์จากอังกฤษอย่าง Bauhaus เคยใช้ไพ่ชุดนี้เพื่อกระตุ้นไอเดียในการเขียนเพลง ขณะที่ฝั่งอเมริกา วงป๊อปสายหลุด The B-52’s ก็พกสำรับไพ่ไว้ในห้องอัดระหว่างทำอัลบั้มแรก โดยใช้มันเพิ่มลูกเล่นแปลก ๆ ให้กับเพลงป๊อปที่ไม่ธรรมดาของพวกเขา
Oblique Strategies ทำหน้าที่เป็นเครื่องมือสำเร็จรูปที่ศิลปินสามารถซื้อมาใช้เองได้โดยไม่ต้องมี Eno อยู่ด้วยเลย วงอินดี้ฝรั่งเศส Phoenix ถึงกับพูดติดตลกว่าหลังจากรู้ค่าโปรดิวซ์ของ Eno พวกเขาตัดสินใจซื้อสำรับไพ่ดังกล่าวมาใช้แทน และใช้เป็นแรงบันดาลใจให้กับอัลบั้ม Wolfgang Amadeus Phoenix ในปี 2009 อีกด้วย
เมื่อเข้าสู่ยุค 2000 อิทธิพลของไพ่สำรับนี้ก็ขยายไปทั้งในกระแสหลักและวงการทางเลือก การที่ Eno นำไพ่ชุดนี้มาใช้ร่วมกับวง Coldplay ทำให้แนวคิดดังกล่าวเข้าถึงวงดนตรีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดวงหนึ่งของโลก ขณะที่ Damon Albarn แห่ง Blur และ Gorillaz ก็เคยกล่าวว่าตนเองได้แรงบันดาลใจจากไพ่นี้ในการหลุดพ้นจากความจำเจในการแต่งเพลงเหมือนกัน
ความจริงที่ว่าในหน้าเว็บไซต์ขายสินค้าของ Eno ยังพูดถึงชื่อของ Bowie, Coldplay และ Albarn อย่างไม่เป็นทางการนัก ก็ยิ่งสะท้อนให้เห็นว่า Oblique Strategies ได้กลายเป็นแนวคิดที่เดินทางไปไกลกว่าที่ใครคาดไว้ในตอนเริ่มต้น
นอกเหนือจากวงการดนตรี ศิลปินต่างแขนงจำนวนมากก็ได้นำ Oblique Strategies มาใช้เป็นแรงกระตุ้นไอเดีย ตัวอย่างที่โดดเด่นคือ Laurie Anderson ศิลปินแนว performance art และนักดนตรีที่ขึ้นชื่อเรื่องแนวทางการสร้างสรรค์งานแบบ avant-garde ซึ่ง Anderson เคยพูดถึงการใช้ไพ่ของ Eno ในกระบวนการสร้างงานของเธอ และในสารคดีล่าสุดเกี่ยวกับ Eno ก็มีฉากที่เธอหยิบไพ่ใบหนึ่งขึ้นมา ซึ่งเขียนว่า “Gardening, not architecture” หรือ “ลองทำสวน ไม่ใช่ออกแบบสถาปัตยกรรม” Anderson สะท้อนว่าเพียงวลีสั้นๆ อย่างนี้ก็สามารถเปลี่ยนมุมมองของเธอได้อย่างสิ้นเชิง
คำแนะนำที่ว่า อาจต้องมองการสร้างงานศิลปะให้เหมือนการปลูกต้นไม้ ซึ่งต้องอาศัยความอดทน ความเป็นธรรมชาติ และการปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ มากกว่าการออกแบบที่ตายตัวแบบสถาปัตยกรรม การเปิดรับแนวคิดแบบนี้ ทำให้เธอปล่อยให้โปรเจกต์เติบโตอย่างเป็นธรรมชาติมากกว่าการบังคับให้มันเข้ารูปตามแผนที่วางไว้ นี่คือผลลัพธ์โดยตรงของความนามธรรมจากไพ่เพียงใบเดียว
อิทธิพลของไพ่ชุดนี้ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในหมู่ไอคอนแห่งวงการร็อก แต่ขยายไปถึงผู้กำกับภาพยนตร์ นักเขียน และนักออกแบบ ใครก็ตามที่เผชิญหน้ากับทางตันทางความคิดสร้างสรรค์ และ Oblique Strategies ก็ยังปรากฏตัวในสถานที่ที่คาดไม่ถึง เช่นในสตูดิโอของศิลปินทัศนศิลป์ ไปจนถึงสโมสรฟุตบอลในอิตาลีที่เคยทดลองสุ่มไพ่เพื่อหาแรงบันดาลใจเชิงกลยุทธ์ระหว่างการแข่งขัน ซึ่งตอกย้ำให้เห็นถึงความยืดหยุ่นและความสนุกของสำรับไพ่ชุดนี้ได้เป็นอย่างดี
หลังจากผ่านมากว่า 50 ปี Oblique Strategies ก็ได้กลายเป็นเครื่องมือที่มีสถานะคล้ายลัทธิเล็ก ๆ ในหมู่คนทำงานสร้างสรรค์ คำคมในไพ่หลายใบถูกอ้างอิงในบทเพลง ถูกพิมพ์ลงบนเสื้อยืด และนำไปดัดแปลงในรูปแบบอื่นๆ ทุกวันนี้ ศิลปินจำนวนมากก็ใช้ไพ่แนวเดียวกันหรือแอปที่คล้ายกัน ไม่ว่าจะเป็นสำรับไพ่คำถามสำหรับนักเขียน หรือไพ่งานออกแบบ ซึ่งล้วนสืบสายตรงกลับไปยัง Oblique Strategies ได้ทั้งหมด
ในการสัมภาษณ์หลายครั้ง Brian Eno ได้แสดงความประหลาดใจและยินดีที่ไพ่ของเขาเดินทางไกลเกินคาด เขาเคยกล่าวว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดไม่ใช่ตัวไพ่เอง แต่เป็นหลักการเบื้องหลังที่ยังคงมีพลังเสมอ “การท้าทายรูปแบบความคิดเดิม ๆ และเปิดรับความเป็นไปได้ใหม่ ๆ” ตามที่คำโปรยของผลิตภัณฑ์ได้ระบุไว้ แม้ข้อความในไพ่แต่ละใบจะมีการปรับเปลี่ยนเล็กน้อยในแต่ละรุ่น แต่สาระสำคัญยังคงไม่เปลี่ยนแปลง
และข้อความของ Eno เอง มันยังคงทันสมัยไม่ต่างจากวันที่ถูกคิดค้นขึ้นมา การที่ศิลปินทั้งรุ่นใหม่และรุ่นเก่ายังคงหยิบมาใช้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ก็พิสูจน์ได้เป็นอย่างดีถึงพลังที่ยืนยงของไอเดียรองที่ชวนน่าลังเลเหล่านี้
อ่านมาจนถึงตรงนี้ ใครรู้สึกอยากจับจองสำรับไพ่ Oblique Strategies นี้ ก็สามารถสั่งซื้อได้จากเว็บไซส์ของ Brian Eno ได้เลย https://enoshop.co.uk/shop ซึ่งราคาก็แรงเอาเรื่องอยู่ แต่ของมันต้องมีแหละ หรือทางหนึ่งคือมีสมาชิกบน Reddit คนหนึ่งนำไอเดียของการ์ดมาทำเว็บไซต์มินิมัลไม่แสวงรายได้ เพื่อให้ทุกคนเข้าถึงการ์ดเหล่านี้ได้โดยไม่ต้องเสียเงินเพื่อนำไปใช้สร้างสรรงานของตัวเอง
สามารถเข้าไปทดลองเล่นหรือใช้งานจริงได้ที่ https://ob-strat.netlify.app/


ชอบไปคอนเสิร์ตเพราะเป็นกิจกรรมที่ทำคนเดียวได้ และยังชอบแนะนำวงดนตรีใหม่ ๆ ผ่านตัวอักษรตลอดเวลา