คุยกับ แต๊งส์—จิตริน ผู้กำกับ MV เลือดใหม่ ผู้อยู่เบื้องหลังภาพของ Wadfah และศิลปินนอกกระแสหลาย ๆ คนในซีนตอนนี้

by McKee
287 views
แต๊งส์ จิตริน วุฒิพันธุ์ สัมภาษณ์ interview

ขอแนะนำให้รู้จักคอลัมน์ ‘COSMOS Creature’ เพราะในระบบนิเวศของจักรวาลนี้ ยังมีคนเบี้ยงหลังอีกมากมายที่ช่วยขับเคลื่อนซีนดนตรีในแบบของตัวเองอยู่ เราอยากส่งคลื่นความถี่ของพวกเขาไปทั่วกาแล็กซี่เป็นแรงบันดาลใจให้ทุกคนอีกทาง

วันนี้เราอยู่กับ แต๊งส์—จิตริน วุฒิพันธุ์ ผู้กำกับ MV เลือดใหม่ที่ฝากผลงานไว้กับศิลปินนอกกระแสหลากหลายวง ทั้ง LANDOKMAI และ FEVER หนึ่งในผลงานที่โดดเด้งที่สุดของเขาคือ MV สามตัวล่าสุดของ Wadfah แห่งค่าย ‘Smallroom’

เพราะผู้กำกับ MV ไม่ใช่แค่เติมเต็มภาพในจินตนาการให้กับเพลง แต่เป็นคนปลุกปั้นและฉายภาพลักษณ์เท่ ๆ ของศิลปินให้ชัดเจนในใจแฟนคลับทุกคนด้วย แต๊งส์จะมาเล่าถึงเบื้องหลัง MV หลาย ๆ ตัวที่เขาได้ทำ จากเด็กฟิล์มกลายมาเป็นผู้กำกับ MV ได้ยังไง

แต๊งส์—จิตริน วุฒิพันธุ์ (คนกลาง)

“เหมือนผมชอบเล่าเรื่องเพราะชีวิตมันชอบเจออะไรแปลก ๆ (หัวเราะ) จะเล่าเรื่องตัวเองเฉย ๆ ก็คงไม่ได้ เลยทำให้เป็นพล็อตหนังแล้วเอาไปเล่าให้คนอื่นฟัง พอเรียนมัธยมก็รู้สึกว่าตัวเองก็คงทำหนังได้มั้ง (หัวเราะ)”

การที่แต๊งส์ต้องไปตลาดกับยายทุกวันศุกร์สมัยเด็ก ๆ ทำให้ได้รู้จักหนังแปลก ๆ จากแผงขายซีดีหนังเถื่อน เลยได้ดูหนังที่ตัวเองไม่มีทางเข้าถึงได้แน่ กลายเป็นแรงบันดาลใจให้เขาสนใจในภาพยนตร์ด้วย “ชีวิตมีตั้งแต่เหตุการณ์ง่าย ๆ บวกความบังเอิญด้วย เช่นเพื่อนกำลังเล่าเรื่องอกหักให้ฟัง แล้วอยู่ ๆ ร้านก็เปิดเพลงอกหักขึ้นมาเลย” แต่บางอันก็ประหลาดเกินกว่าที่คนทั่วไปจะได้เจอ

“ล่าสุดผมไปดูโลเคชั่นถ่ายหนังธีสิสของตัวเอง เป็นบ้านร้างกลางป่าเหมือนหนัง slasher ฆาตกรไล่ฆ่าคน เดิน ๆ อยู่ตากล้องผมก็กรี๊ดขึ้นมา แล้วบอกทุกคน ‘มึงวิ่งวิ่งวิ่ง’ แล้วมีฝรั่งถอดเสื้อกล้ามโตวิ่งออกมาจากป่า พวกผมก็วิ่งขึ้นรถหนีเลย (หัวเราะ) มันน่ากลัวมาก แถมมีเพื่อนอยู่ด้วยแสดงว่าผมไม่ได้คิดไปเอง มันเลยยิ่งน่ากลัวไปใหญ่” โดยที่เจ้าตัวยืนยันด้วยว่าไม่รู้ฝรั่งคนนั้นเป็นใคร เกิดอะไรขึ้นต่อจากนั้น เพราะไม่ได้กลับไปที่นั่นอีกเลย

ส่วนแรงบันดาลใจทางด้านเพลง เขาบอกว่าได้มาจากพ่อเต็ม ๆ “แผ่นที่เปลี่ยนชีวิตผมเลยคือแผ่นซีดีที่พ่อผมไรท์เก็บไว้ฟังระหว่างจับรถ เราเปิดฟังทุกวันช่วงประถม มี The Blower’s Daughter ของ Damien Rice, 1973 ของ James Blunt หรือ Creep ของ Radiohead สมัยก่อนผมไม่รู้ความหมายของเพลง ด้วยคำว่า Creep เนื้อเพลงพูดถึง run นึกถึงหนัง slasher เลย ฟังแล้วก็วิชวลมาเอง (หัวเราะ)”

Please Be True ของ LANDOKMAI คือ MV ตัวแรกที่แต๊งส์ได้ทำทั้งที่ยังเรียนไม่จบ เหมือนเปิดประตูสู่เส้นทางผู้กำกับ MV “อันนี้ก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่งง ๆ ในชีวิตผมเหมือนกัน ผมมีเพื่อนเป็นตากล้องที่มาถ่ายงานให้ผมประจำชื่อ ‘ฟอร์ด’ ฟอร์ดเป็นแฟนเพลง LANDOKMAI มาตั้งแต่ก่อนเขาทำเพลงตัวเองอีก มีวันหนึ่งเขาปล่อยเพลงตัวเองออกมา แล้วพวกผมอยู่ปีหนึ่ง ฟอร์ดก็พูดขึ้นมาว่า ‘เชี่ย กูอยากทำ MV ให้ LANDOKMAI ว่ะ’ ตอนนั้นพวกผมเป็นเด็กไม่รู้เรื่องไม่มีคอนเนกชั่น ก็โม้ ๆ กัน (หัวเราะ) อยู่ ๆ Wadfah ก็ทักมาว่าอยากทำ MV รึเปล่า ตอนแรกวาดฟ้าจะให้ทำ MV เขา แต่เพลงมันไม่เสร็จซักที (หัวเราะ) เลยได้ทำให้ LANDOKMAI ก่อน” ซึ่งวาดฟ้าเองก็เป็นเพื่อนกับอูปิม เลยแนะนำแต๊งส์ให้กับอูปิมรู้จักอีกที

“ถ้าพูดแบบหยาบคายเลย คือผมค่อนข้างเหี้ยเลยครับ (หัวเราะ) มันเป็นงานแรกของเด็กปีหนึ่งที่ได้ทำ MV ให้ค่ายเลย ผมว่ามันแปลกมากสำหรับผมถ้ามาคิดตอนนี้ ผมไม่รู้ระบบไม่รู้อะไรเลย ผมเข้าไปขายในค่ายด้วยสไลด์ 4 หน้า มารู้ตอนหลังว่าผู้กำกับคนอื่นเขาเอาไปขายกัน 30 หน้า (หัวเราะ) ผมมีแต่มู๊ดบอร์ด ไม่มีเส้นเรื่องไม่มีอะไรเลย แค่บอกว่าบรรยากาศจะเป็นแบบนั้นแบบนี้ครับ (หัวเราะ)”

“เห็นโลเคชั่นแล้วก็คุยกับตากล้องว่าน่าจะประมาณนี้แหละ ผมทำงานด้วยสัญชาตญาณประมาณหนึ่งเหมือนกัน และเราได้โลที่ดีมาก ๆ ด้วย มันเป็นศูนย์วิจัยข้าวแล้วเป็นช่วงข้าวแห้งพอดีมันเลยเหมือนทุ่งในอังกฤษ กลายเป็นสนามเด็กเล่นของผมเลย ขับรถไปเจอตรงไหนก็จอดถ่าย ช่วงบ่ายก็ปล่อยฟอร์ดไปถ่ายเพิ่ม แล้วผมไปหาโลที่สวยมาถ่ายซีนฮุก ซึ่งมันไม่มีระเบียบมาก ๆ (หัวเราะ)” อ่านถึงตรงนี้แล้วทุกคนอย่าทำตามนะครับ

แม้จะเป็นงานแรก แต่ก็สามารถจบงานได้ภายในสองดราฟ พร้อมเกร็ดขำ ๆ ใน MV นี้ “ผมได้ฟีดแบ็กที่ดีมากเลยจากวง มีตีกันนิดหน่อยช่วง post-production ผมตัดกับวาดฟ้า แล้วตัดไว้เร็วมากวินาทีละคัตแบบพวกไฮเปอร์ แม่งกลายเป็น montage Evangelion เลย (หัวเราะ) พี่อูปิมทักมาบอกดูไม่ไหวอะ พี่จะอ้วก (หัวเราะ) มันเป็นเรื่องที่เด็กมาก ผมถ่าย 3 กล้องแล้วฟุตเยอะมาก มันสวยเกือบหมดเลย เลยยัดทุกอย่างเข้ามาเลย (หัวเราะ)”

แต่สิ่งที่สำคัญที่สุด ที่แต๊งส์ได้สัมผัสในฐานะคนทำ MV คือการได้เป็นส่วนหนึ่งของวงดนตรีอีกทางหนึ่ง “ผมค่อนข้างดีใจอย่างหนึ่ง จากการทำ MV นี้ เหมือนมันสร้างวิชวลให้ LANDOKMAI ประมาณหนึ่ง พอทำ merch อะไรขายก็มีบรรยากาศแบบนี้อยู่ เหมือนสร้างคาแรกเตอร์ให้วงดนตรีเลยเหมือนกัน”

“ตัวนี้เหมือนพลิกชีวิตเลยครับ” MV ตัวที่สองในชีวิตของแต๊งส์ที่ได้ร่วมงานกับรุ่นพี่ในฐานะ Co-Director คือเพลง NGLMD ของ Fever ที่เขาพูดตรง ๆ ว่าด้วยงบที่มีจำกัด ทำให้เขาต้องยกระดับการทำงานของเขาขึ้นมา “มันต้องวางบอร์ดทุกช็อตให้แม่น คิวแม่น กำกับต้องแม่น ผมทำ MV ตัวนี้ห่างจากตัวก่อน 2 เดือนเอง ผมก็ยังพลาดหลายอย่างอยู่ ซึ่งผมรู้สึกผิดเหมือนกัน เช่น เรื่องแอร์ไทม์ของสมาชิกในวงไอดอล เราจะคิดแค่ว่าช็อตนี้สวยมากไม่ได้ แต่จริง ๆ เรื่องนี้ก็ต้องคำนึงเหมือนกัน”

จนมาถึงงานของเพื่อนตัวเองบ้าง ซึ่งแต๊งส์บอกว่ากว่าจะได้ทำ Wadfah ก็เหมือนตัวเราสะสมประสบการณ์และมีความพร้อมแล้วประมาณหนึ่ง “มันมีหลายเพลงมากที่(Wadfah)ส่งให้ผมฟังแล้วผมไม่มั่นใจละว่ามันหายไปไหนแล้ว (หัวเราะ) ผมชอบมาก เชียร์ให้มันปล่อยเพลงทุกปี ผมนับถือมันมากที่เป็นคนที่ถ้าทำอะไรแล้วมันใส่เต็มเลย” ในที่สุด ทั้งคู่ก็ได้ร่วมงานกันใน I hate this city เพลงที่ Wadfah ได้เดบิวต์ภายใต้ค่าย ‘Smallroom’

“ค่อนข้างวุ่นวายมาก ๆ เพราะ pre-production ไปครึ่งทางละผมเกิดอุบัติเหตุ (หัวเราะ) รถคว่ำเดินไม่ได้ สุดท้ายก็นั่งรถเข็นไปออกกอง ผมไม่มั่นใจเหมือนกันว่าทำไม แต่คุยกับ Wadfah ว่าอยากให้ MV มีกระดาษ ๆ ว่ะ ถ้าเอามาซ้อน ๆ กันมันจะได้อารมณ์นั้นนะ”

โดยแรงบันดาลใจสำคัญของเพลงนี้ คือเพื่อน ๆ ของแต๊งส์ทุกคน “ทั้งผม วาดฟ้า ฟอร์ด เกือบทุกคนในกองเป็นเด็กต่างจังหวัดที่เข้ามาอยู่ในกรุงเทพกันหมด เราช่วยกันเค้นเอาความรู้สึกช่วงปีหนึ่งที่เพิ่งเข้ามาอยู่กรุงเทพกันใหม่ ๆ ออกมา ตอนนั้นรู้สึกยังไง ไม่ได้อยากให้ MV นี้มีเส้นเรื่องอะไร อยากให้คนที่เป็นแบบเราดูแล้ว มันมีความรู้สึกนี้อยู่”

และนี่คือ MV ที่แต๊งส์ชอบที่สุด “MV ทั้งสามตัวของ Wadfah เหมือนบันทึกตัวผมในช่วงเวลาต่าง ๆ ไว้ ถ้าในแง่ที่เอาไปเปิดให้คนอื่นดูบ่อย ๆ คือเพลง I hate this city ผมชอบเพลงมันมาก ๆ ผมจำได้ว่าคุยกับเพื่อนว่ามันเป็นเพลงที่อนุญาตให้ผมทำแบบ ‘Evagelion’ ได้ (หัวเราะ) ท่อนสุดท้ายที่มันเป็นโซโล่ยาว ๆ กูรอเพลงแบบนี้แหละจะได้ตัด montage ยาว ๆ (หัวเราะ)”

และเพลงล่าสุดอย่าง i’d probably die in my bed เองก็ไปสุดเหมือนกันในสไตล์ของแต๊งส์ “เพลงนี้มันเครียดมาก (หัวเราะ) ตอนแรกที่ผมฟังเพลงจบแล้วหันมามองหน้าฟอร์ดคือชิปหายละ ปกติคนจะติดภาพว่าผมไปขายงานจะอธิบายแบบคอนเซปชวลประมาณหนึ่ง i hate this city มันจะพูดถึงเมืองนี้ มันจะเกี่ยวกับกระดาษ ๆ เพราะอะไร แต่มาถึงเพลงนี้ผมไม่มีอะไรเลย (หัวเราะ) ผมฟังแล้วมันเป็นเด็ก ๆ ปล่อยพลังกันว่ะ ฟอร์ดถามทำไมวะ กูไม่รู้เหมือนกันว่ะ แค่รู้สึกอย่างนั้นกับเสียงอะ แล้วเราจะไปขายพี่รุ่ง Smallroom กันยังไงวะ (หัวเราะ) แล้วด่านแรกคือจะไปคุยกับ Wadfah ยังวะว่าเราจะปล่อยพลังกันนะเว้ย (หัวเราะ) สุดท้ายผมไปแบบขี้โม้เลยว่า Wadfah เท่พอแล้ว อยากให้เห็นมิติอื่นบ้าง (หัวเราะ)”

เหตุผลหนึ่งที่ใน MV พูดถึงดาวอังคารมาจากประสบการณ์ที่ส่วนตัวมาก ๆ ของแต๊งส์เหมือนกัน “หลาย ๆ อย่างใน MV แม่งไม่มีเหตุผลสุด ๆ (หัวเราะ) MV มันมาจากความรู้สึกล้วน ๆ แต่ถ้าถามว่าทำไมต้องดาวอังคาร พอเรียนจบแล้วโลกของผู้ใหญ่สำหรับผมคือดาวอื่นไปแล้ว MV นี้ค่อนข้างส่วนตัวมาก ๆ เหมือนกัน เพราะผมกำลังจะเรียนจบละ แรงบันดาลใจก็มาจากเพื่อนอีกนั่นแหละ เลยใส่เรื่องการไปอยู่ที่อื่นกันโดยไม่รู้ตัว”

เมื่อมานั่งตกผลึกกับแต๊งส์ดูแล้ว เขาบอกว่าฟอร์ดเพื่อนของเขามีส่วนที่ทำให้เขาค้นพบตัวเองด้วย “เอาจริงผมไม่เคยมีความคิดอยากจะทำ MV เลย ก่อนหน้านี้ ผมอยากเล่าเรื่องแต่ก็ไม่ได้นึกถึงว่ามันจะเป็นหนังหรือเป็นอะไร ผมอยู่กับฟอร์ดที่เป็นสายวิชวลมาก ๆ มันจะชอบเปิด MV ให้ผมดู ทำให้ผมค้นพบว่าผมชอบดู MV มาก ๆ โดยไม่รู้ตัว หนังที่ผมชอบก็จะชอบซีนที่มันมีดนตรีเข้ามา ชอบซีนนี้ของ ‘Evagelion’ ที่มันมีเพลง The End of Evangelion ชอบซีนนี้ของ ‘K-ON’ ที่มันวิ่งแล้วเพลงมันขึ้น เราเองอาจจะทำ MV ได้มั้ย เลยสนใจที่จะทำ”

หนึ่งใน MV ที่แต๊งส์กลับไปดูบ่อยที่สุดคือเพลง Kuroi Hitsuji ของ Keyakizaka46 “เป็น MV สุดท้ายของเมมเบอร์ที่ชื่อ เทะจิ ผมรู้สึกมันเพอร์เฟกมากในการที่ผู้กำกับ นักแสดงและทุกอย่างมันส่วนตัวมาก ๆ และยังเข้ากับเพลงมาก ๆ มัน emotional มาก ๆ พยายามตลอดเวลาคุยกับฟอร์ดว่าอยากทำ MV ให้ได้แบบนี้ ซึ่งมันยากมากและยังทำไม่ได้เลย”

ถ้ามีโอกาสได้ทำ MV แบบนี้ แต๊งส์บอกว่าน่าจะเหมาะกับเพลง ย้อน ของ Whal & Dolph มาก ๆ ด้วยความเป็นบัลลาดโหมหนัก ๆ แต่ศิลปินที่เขาอยากทำงานด้วยกลับเป็นศิลปินที่เหนือความคาดหมายของเรามาก

“ผมอยากทำกับ YOUNGGU (หัวเราะ) ให้ผมทำ MV ฟรีก็ได้นะ (หัวเราะ) ไม่มั่นใจเหมือนกันว่าทำไม ตอนแรกผมฟังเพลงเขาเพราะฮา ๆ ซักพักรู้สึกว่า ถ้าเขาทำคอนเสิร์ตเดี่ยวก็จะจ่ายตังไปดูอะ มันเพียวมากเลย ไม่รู้ทำไมเหมือนกัน”

เมื่อคุยถึงปัญหาค่าโปรดักชั่นหรือค่าตัวคนทำงาน MV ที่โดนกดมาแสนนาน แต๊งส์เองก็เคยประสบปัญหานี้เหมือนกัน ซึ่งตัวเขาและทีมก็แอบกังวลเหมือนกันถ้าต้องทำสิ่งนี้เป็นอาชีพหลัก “ผมโชคดีที่ทำกับ ‘Smallroom’ เนี่ยเขาแฟร์สุด ๆ แต่ต้องพูดตรง ๆ ว่าหลายค่ายก็ค่อนข้างไม่แฟร์กับคนทำงานมาก ๆ เคยทำ MV หนึ่งให้ pre-production 3 วัน (หัวเราะ) มันจะเป็นไปได้ยังไง ทั้ง MV ให้เวลาสัปดาห์เดียว (หัวเราะ) ผมทำเพราะเพลงและศิลปินน่าสนใจเท่านั้นเลย”

การเป็นคนทำงานหน้าใหม่ ก็ทำให้เจออุปสรรคของการทำงานเพราะไม่มีการกำหนดราคากลางให้กับงานสายนี้เลย “สมัยก่อนผมจะกลัวมาก ๆ เรื่องราคา เราเป็นใครวะไปเรียกราคา ตอนนี้เวลามีใครทักมาผมจะบอกเรทไปเลยว่าผมมีมาตรฐานประมาณนี้” นอกจากค่าตัวคนทำงานที่ต้องเหมาะสมกับงานแล้ว ก็เพื่อรักษามาตรฐานของงานให้ออกมาดีเท่าที่ควรด้วย ไม่ใช่แค่

“ต่อให้ไม่ถึงก็โอเคแต่ต้องให้ศิลปิน ให้ค่าย และให้ทุกคนรับรู้ว่าสิ่งที่ทำอยู่ไม่ปกติ ไม่ใช่แค่รับงานไป อีกฝั่งอาจจะไม่รู้จริง ๆ ว่าควรต้องจ่ายเท่าไหร่ในการทำโปรดักชั่น อาจจะคิดว่าจ่ายแค่นี้ก็ได้ MV แล้ว หน้าที่ของเราคือทำงานแล้วต้องบอกให้เขารับรู้ด้วย(เรื่องค่าตัว)ว่ามันสำคัญจริง ๆ”

เมื่อมองกลับมาในซีนหนังเอง ก็ประสบปัญหาซบเซาเหมือนกัน แต่แต๊งส์ไม่คิดแบบนั้น

“ช่วง 2-3 ปีมานี้ค่อนข้างน่าตื่นเต้นนะครับ ‘Blue Again’ หนังไทย 3 ชั่วโมงแล้วมันมีกระแสมา หรือมี ‘Face of Anne’ ออกมา มี ‘เธอกับฉันกับฉัน’ หรือแม้แต่ ‘OMG รักจังวะ ผิดจังหวะ’ เองก็ไปสำรวจในสัดส่วนที่น่าสนใจในหนัง ผมรู้สึกว่าหนังไทยมันมีคนทำที่น่าสนใจทำตลอดอยู่แหละ มีพื้นที่ให้เขาได้ออกมามากขึ้นในช่วงนี้ แต่ผมก็รู้สึกกลัวว่ามันจะอยู่ได้อีกนานแค่ไหน ทั้งผู้ชมและรายได้ก็แอบสวนทางกับหลาย ๆ อย่างเหมือนกัน ค่อนข้างกลัวเลยว่าเราจบไปแล้วจะเป็นยังไง”

ซึ่งส่วนตัวเขาก็ยังไม่ทิ้งทั้งหนังและ MV แน่นอน “ก็ยังอยากทำซีรีส์ทำหนังอะไรอยู่ ถ้ามีโอกาส แต่การทำ MV มันสนุกมากมากเลยเหมือนกัน ในแง่ที่ว่ามันทำตามอารมณ์ได้ 100% โดยไม่ต้องคิดถึงตรรกะอะไร ถ้าเป็นไปได้ก็ยังอยากอยู่ในซีนนี้”

สุดท้ายเรื่องเดียวที่แต๊งส์อยากฝากกับคนที่อยากเป็นผู้กำกับ MV คือลงมือทำงานเลย

“ผมว่ามันมีศิลปินไทยใหม่ ๆ เกิดขึ้นเยอะมากเลย ยังมีพื้นที่ให้คนทำงานรุ่นใหม่ ๆ อีกเยอะมาก ผมเชื่อว่าเพลงต้องการพลังงานวัยรุ่นเหมือนกันนะ อยากให้ทุกคนลองทำ MV ดู วงเพื่อน ๆ วงอะไรก็ได้ลองทำเลย สุดท้ายงานมันขึ้นไปบนเน็ตก็อาจจะได้อะไรกลับมา อาจจะค้นพบอะไรใหม่ ๆ ในแง่การทำหนังด้วย บางครั้งผมทำ MV จบก็มองโลกเปลี่ยนไปเลย มันได้อยู่กับเพลง และเพลงมันมีผลกับตัวเราและคนฟังมาก ๆ”

ติดตามงานต่อ ๆ ไปของ แต๊งส์ ได้ที่ instagram >> https://www.instagram.com/jittarinwu/

Flower.far เมื่อเมล็ด r&b พันธุ์ไทยเริ่มผลิบานสู่สายตาชาวโลกอย่างงดงาม

‘When The Sky is Not Blue’ อัลบั้มที่ 3 ที่บันทึกการเติบโตในวันที่ฟ้าไม่เป็นใจของ t_047

+ posts

ชอบไปคอนเสิร์ตเพราะเป็นกิจกรรมที่ทำคนเดียวได้ และยังชอบแนะนำวงดนตรีใหม่ ๆ ผ่านตัวอักษรตลอดเวลา

Related Articles

This website uses cookies to improve your experience. We'll assume you're ok with this, but you can opt-out if you wish. Accept Read More

Privacy & Cookies Policy