Abuse The Youth การกลับมารวมตัวกันอีกครั้งในรอบหลายปีพร้อมเพลงใหม่ เพราะ ‘พิธา’ ขอร้อง!?

by Malaivee
5.5K views
Abuse The Youth interview

หลังจาก Abuse The Youth กลับมารวมตัวกันในปี 2019 พร้อมกับจัดเต็ม 3 ซิงเกิ้ลให้หายคิดถึงทั้ง We Meet Again, We Are The Riot และ เธอลืมไปแล้ว แต่ด้วยสถานการณ์โควิดรวมถึงภาระหน้าที่ต่าง ๆ ของทั้ง 4 สมาชิกก็ทำให้ต้องเป็นอันยุติไป และแฟน ๆ ก็ได้แต่เฝ้ารอว่าเมื่อไหร่จะมีโอกาสได้ดูพวกเขาเล่นอีกครั้ง

จนก่อนเลือกตั้งในปี 2023 นี้ที่แคนดิเดตนายกของพรรคก้าวไกลอย่าง ทิม—พิธา ว่าที่นายกได้ให้สัมภาษณ์ว่าจะเอางบเศรษฐกิจสร้างสรรค์มา “ให้ Abuse The Youth กลับมา” และประจวบเหมาะกับงาน Gunge Queen #2 และ Blueprint Livehouse ที่ทางวงจะได้ไปเล่น เราก็เลยได้เห็นทั้ง 4 กลับมารวมตัวกันอีกครั้ง ซึ่งแน่นอนว่า The COSMOS ก็ไม่พลาดที่จะไปถามไถ่ถึงความเป็นไปของวง รวมไปถึงคำถามยอดฮิต “เมื่อไหร่จะปล่อยเพลงใหม่”

Abuse The Youth
สมาชิก Abuse The Youth (จากซ้ายไปขวา) จุ มิก ตูน ชาลี

สมาชิก Abuse The Youth
มิก—ประกาย วรนิสรากุล (ร้องนำ, กีตาร์)
ตูน—ศุภพงษ์ พรึงลำภู (เบส)
จุ—จุรีพร กมลธรรมกุล (กลอง)
ชาลี—ชาลี นิภานันท์ (กีตาร์)

อัปเดตเรื่องราวชีวิต กับเส้นทางอาชีพหลังจากปี 2019

มิก: ก็ทำงานเหมือนเดิมครับ พอช่วงโควิดแล้วเราไม่ได้เล่นวงด้วยกันก็แอบไปทำเพลงเองเล่น ๆ

ชาลี: ผมไม่ค่อยทำไรหรอก ผมนอนอยู่บ้านปวดหลังอย่างเดียวครับ (หัวเราะ) ของเราก็ไม่ค่อยมีอะไรทำงานทำร้าน มีร้านอาหารก็ยังทำอยู่ แล้วก็เพิ่งเปิดบริษัททำเพลงประกอบกับเพื่อนอีกคน ปีแรกกำลังรัน เหมือนเป็นช่วงที่หลาย ๆ คน อยู่ ๆ อยากกลับมาเล่นดนตรี เป็นอะไรที่ดีเหมือนกันนะแต่ไม่รู้ทุกคนคิดเห็นยังไง ทุกคนอยากเล่นกันรึเปล่าหรือยังไง

จุ: ช่วงนี้อยากกลับมาเล่นดนตรี เพราะก่อนโควิด จุตั้งใจจะไม่เล่นแบ็คอัปแล้ว กะจะเบรกยาวเลย เบรกไปได้ประมาณหกเดือนแล้วโควิดก็มาพอดี ก็คือยาวจริง ๆ ไม่ได้เล่นเลย ถึงจุดนึงก็รู้สึกว่าถ้าได้กลับมาเล่นมันก็สนุกดีเนาะ ช่วงก่อนหน้านี้ก็ทำเพลงเก็บ ๆ ไว้ ได้ฝึกกีตาร์เยอะขึ้นและทำไซด์โปรเจคต์อยู่อันนึง แต่ยังไม่ได้มีผลงานเร็ว ๆ นี้แหละ มีแต่งไว้เยอะแต่ยังไม่ได้อัด

ตูน: ส่วนผม ตั้งแต่เล่นครั้งสุดท้ายที่สยามก็รูดซิปกระเป๋าเบสปิดมาตลอด ผมก็มาทำเบียร์อย่างจริงจัง ไม่ค่อยได้จับเบสเท่าไหร่ก็เลยรู้สึกว่าคงไม่ได้เล่นแล้วมั้ง (หัวเราะ) (The Cosmos: มีวันงานแต่งพี่ตูนที่ได้กลับมาเล่น) อ๋อ ใช่ได้กลับมาเล่นงานแต่งอีกครั้งนึง ตอนนั้นกูกะว่าจะไม่เล่นแล้วนะ (หัวเราะ)

ชาลี: จะว่าไปตอนนั้นก็เป็นตัวจุดประกายเหมือนกันเนาะ ใช่มะ

จุ: จุดประกายอะไร เมย์ (ภรรยาของมิก) ยังโพสต์ในไอจีอยู่เลยว่าประกาศยุบวงแล้ว

มิก: กูก็ไม่เห็นรู้เรื่องอะไรเลย เมย์โพสต์ทึกทักเอาเอง

ชาลี: ตอนแรกคุยกันดิบดี น่าจะเป็นจุดดีที่จะกลับมา วันรุ่งขึ้นเมย์โพสต์ ยุบวงซะแล้วว เหี้ยอะไรของมึงเนี่ย งงไปหมดแล้ว (หัวเราะ) งงว่ากูไปคุยตอนไหน เมื่อวานยังบอกโอเคอยู่เลย

จุ: เขียนว่าอย่างเป็นทางการ (หัวเราะ)

ตูน: ขอบคุณเพื่อน ๆ มากที่มาเล่นให้งานแต่ง ถ้าเมื่อไหร่ที่เค้าตามผมไปเล่นผมก็ยินดีไปเล่น แต่ทีนี้ปีนี้ก็มีงาน อรอรีย์ ติดต่อมาก็เลยโอเค เพื่อน ๆ อยากเล่นเราก็ไปเล่นกัน แต่ก็รู้สึกว่ามึงก็เริ่มขยันซ้อมกันด้วย (หัวเราะ) ซึ่งเราก็มาซ้อมกันที่โรงเบียร์สหประชาชื่น ปกติไม่ได้เปิดให้ใครมาซ้อมนะครับ (หัวเราะ) (ชาลี: ถ้ามีรับมั้ย) ไม่รับโว้ยยย (หัวเราะ)

งาน Grunge Queen #2 ที่ Abuse The Youth เล่นกับอรอรีย์

ชาลี: จะว่าไปทำไมถึงมีงานที่ อรอรีย์ เค้ารู้ได้ไงว่าเราเล่น แล้วเราก็ไม่ได้เล่นกันมาตั้งนาน

ตูน: เค้าน่าจะชวนไปงั้นปะ มึงไปติดต่อเค้ามาใช่มั้ย (หัวเราะ)

มิก: เค้ามาติดต่อกู (หัวเราะ) ตอนนี้ทำอยู่อีกวง แล้วมือเบสที่เล่นก็เป็นมือเบสของวง Revive 90’s แล้วพี่ใหม่ นักร้องเค้าเป็นคนจัดงานนี้ แล้วเค้าเห็นน้องบีนเล่นให้กูด้วยเลยฝากมาถามว่าเล่นได้ป่าว สนใจป่าว ตอนแรกก็คิดเผื่อพวกนี้ว่ามันหายไปนานคงไม่ได้อยากเล่นแล้ว แบบขี้เกียจมานั่งรื้อฟื้น ก็เลยตอบว่าคงไม่เล่นหรอก แต่ว่าถ้าจ้างก็ได้นะ เลยมาถามดูว่าเค้ามีติดต่อมาอยากเล่นกันป่าว

ก็ไม่ได้คาดหวังอะไรนะ เสือกบอกว่าเล่น ๆๆๆ ดูท่าทางอยากเล่นก็เล่นก็ได้ ประกอบกับก่อนหน้านั้นประมาณหนึ่งอาทิตย์เองก่อนที่ไอบีนจะถาม กูไปหาไอ้ชาลีที่บ้านแล้ว มันก็เพิ่งบอกว่าอยากกลับมาเล่นกันจังเลย (ชาลี: มึงมาตอนไหนวะ ผิดบ้านรึเปล่า) มึงเนี่ย ชอบเป็นคนรื้อฟื้นตลอด

จุ: จริง เป็นตัวบิ้วเลยเนี่ย ชอบมาบิ้ว

ตูน: ตอนงานแต่ง จุรีพรบอกว่าวงอย่างเราถ้าเค้าอยากดูจริง ๆ ก็ไปเล่นให้เค้าดูหน่อยเถอะ

งานนี้มีความพิเศษอะไรบ้าง

ตูน: ค่อนข้างพิเศษครับ เพราะเขาให้เล่นตั้งชั่วโมงนึง (หัวเราะ) ก็พอมิกมันประกาศไปว่าอยากฟังเพลงอะไรกันบ้าง ก็พบว่าเพลงเราจริง ๆ ก็มีคนฟังเยอะเหมือนกันเนาะ มีคนอยากฟังงานในอัลบั้ม Under Skin ค่อนข้างเยอะเหมือนกัน

ชาลี: นี่ก็เลย text มาขอไรท์ซีดี จะลิสต์เพลงตัวเองไปลง Spotify (หัวเราะ)

ตอนนี้ไม่มีในสตรีมมิ่งหรอ

มิก: ไม่มีไง คนชอบมาถามว่าทำไมหาฟังในสตรีมมิ่งไม่ได้ ตอนนี้เริ่มลามมาเพลง ด้วยความจริงใจ หายไปไหนครับ ว่าจะลงเองแม่งเลยเนี่ย คิดว่าน่าจะเป็นเรื่องลิขสิทธิ์ ตอนนั้นที่ปล่อยเพลงมันมีเรื่องเปลี่ยนชื่อค่ายก็เลยหายไปเลย หายมานานละ แต่ บทเพลงกระซิบ ก็ยังมี

ตูน: MV ด้วยความจริงใจ ยังหายไปเลย

ชาลี: อ้าวหรอ มิน่าหาไม่เจอ โชคดีมีไฟล์ในเครื่อง ไม่งั้นแกะมาเล่นไม่ได้นะบอกตรง ๆ (หัวเราะ)

ทิม—พิธา อยากให้ Abuse The Youth กลับมา

มิก: จุดเริ่มต้นก็แค่นี้แหละ หลังจากนั้นก็มีเรื่องที่คุณพิธาพูดใช่มะ คนก็เลยคิดว่าเรากลับมาเพราะว่ากระแสคุณพิธาพูดถึงหรือเปล่า

ชาลี: เค้าใช้คำว่า ทำยังไงให้ Abuse The Youth กลับมา อ๋อ ต้องไปคุยกับเมียมิกก่อน (หัวเราะ) เพราะเมียมิกเป็นคนไล่ไป

ทุกคน: (หัวเราะ)

สรุปคือเริ่มต้นที่โชว์พี่อรอรีย์ก่อน แล้วพิธาถึงพูด พิธาไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องอะไรกับ Abuse The Youth กลับมาเลยใช่ไหม (หัวเราะ)

มิก: ต้องถามไอ้ตูน รู้สึกอยู่ในเฟรมเดียวกันบ่อย มึงนั่นแหละไปคุยอะไรกันหรือเปล่า (หัวเราะ)

ตูน: ไม่ได้เกี่ยวแต่ตอนนั้นก็ตกใจเหมือนกัน ผมจำได้ว่ามีคนส่งมาให้ดูก็นึกว่าจะพูดว่าฟังเฉย ๆ ไม่นึกว่าพูดว่าทำไงถึงจะกลับมา ทำให้รู้สึกว่าการกลับมาเล่นครั้งนี้พิเศษมากขึ้น น่าสนใจมากขึ้น

ชาลี: โทรถามดิ้ ว่าซื้อบัตรยัง (หัวเราะ)

ตูน: ฮัลโหล (ทำท่าคุยโทรศัพท์) ทิม! ทิม! (หัวเราะ)

ชาลี: เฮ้ย คุณมีเบอร์หรอ (หัวเราะ)

จุ: ตอนนั้นเค้าพูดชื่อวงผิดหรือเปล่านะ มีคนพูดหลายคนจนต้องกดกรอไปฟังว่าเอ๊ะ ยังไง

มิก: คนอื่นพูดชื่อวงผิดแต่เค้าพูดชื่อวงเราถูก ทั้งสิบยี่สิบปีที่ผ่านมาทุกคนเรียกกันผิดตลอด

เค้าเรียกผิดกันว่าอะไร

ตูน: อะบิ้วเดอะเย้าบ้าง

จุ: อะเบาต์เดอะยูท

ห่างหายกันไป 4 ปีคิดถึงการเล่นดนตรีกันไหม

ชาลี: จริง ๆ ก็เล่นอยู่เรื่อย ๆ นะ เอาจริง ๆ

มิก: ทุกคนเล่นอยู่เรื่อย ๆ มีแต่ไอ้นี่ (ชี้ตูน) ที่ไม่ได้เอาเบสออกจากกระเป๋าเนี่ย (หัวเราะ)

ตูน: จริง ๆ จะบอกว่าไม่คิดถึงก็ใช่แหละ (หัวเราะ) ไม่คิดถึง (หัวเราะ) (มิก: ไอ้เหี้ย เลือดเย็นเกิน) คือพอมาอยู่ร้าน ผมก็ได้ทำงานเบื้องหลังก็คือการ setup ให้กับนักดนตรีที่มาเล่นที่ร้าน เดี๋ยวเสียบแจ็คให้นะครับ เสียง eq เป็นยังไงบ้าง เอาเสียงอันนี้เพิ่มมั้ย จริง ๆ เวลามีนักดนตรีมาเค้าก็ชวนไปเล่นนะแต่ผมไม่ได้เล่นเลย ผมรู้สึกว่าผมเป็นคนเล่นดนตรีไม่เก่งอะ โชคดีที่ได้อยู่วงนี้ (หัวเราะ) ไม่กล้าเล่นกับคนอื่นเค้าเลย แต่ก็สนุกดีฮะ คิดว่าจะกลับมาเล่นกันก็สนุกดี มันอยู่ในกล้ามเนื้อไปละ กลับมาถึงก็เล่นได้เลยไม่น่าเชื่อ (หัวเราะ) แต่ว่า มึงจะซ้อมหนักกันเกินไปแล้ว เข้าใจไหม! (หัวเราะ)

มิก: อาทิตย์ละครั้งเนี่ยนะ (หัวเราะ)

ตูน: เมื่อก่อนอาทิตย์ละสองครั้งด้วย ครั้งละสามชั่วโมง เป็นเวลา 13 ปีแน่ะ ไอ้เชี่ย (หัวเราะ)

ชาลี: แต่ตอนงานแต่งมึง ไม่รู้อะ สำหรับกูมัน revive เหมือนกันนะ ความรู้สีกตอนเล่นตอนนั้นมันไม่ได้เล่นด้วยกันนาน พอมาเล่นด้วยกันมันก็บึ้มบั้มเหมือนกันนะ ก็เลยรู้สึกว่า เออมันยังมีเชื้ออยู่เล็ก ๆ วันนั้นเลยนั่งคุยกันว่าถ้าจะเล่นยังอยากเล่นอยู่ป่าว ตอนที่เลิกไปก็อารมณ์ burn out อะ ปะ แบบ อ่าห์ ว้าย เบื่อแล้ว มันนานมากเลย ไม่ค่อยไปไหน

ตูน: หมดมุกด้วยตอนนั้น ไม่รู้ว่าจะทำอะไรใหม่ยังไง แต่ตอนนี้ก็คือเล่นเพลงเก่ามันก็โอเค พอกลับมาเล่นแล้วเพลงเรามันก็ใช้ได้เหมือนกันนี่หว่า (ชาลี: เอ๊ย ชมตัวเอง) ไลน์เบสมันก็ดีเหมือนกันนี่นา ก็สนุกดีฮะ

Abuse The Youth

ถ้าสมมติต้องทำ collab ระหว่างวง Abuse The Youth กับงานของแต่ละคน

ชาลี: ก๋วยเตี๋ยวเนื้อรส Abuse The Youth แบบนี้เหรอ (หัวเราะ) (มิก: เนื้อเด็กเหรอ) อย่างเราเปิดบริษัททำเพลง มันก็โดยตรงอยู่แล้ว มันทำได้ แต่ถ้าเป็นในเชิงอื่นถ้าไม่ใช่ก๋วยเตี๋ยวเนื้อเด็กก็คิดไม่ออก (หัวเราะ) อย่างไอ้นี่ (ตูน) มันเป็นเบียร์มันเลยทำได้อะ ก๋วยเตี๋ยวเนื้อมันไม่ได้อะ รถได้มั้ย

จุ: จริง ๆ มีแพลนจะทำรายการเกี่ยวกับ Live Show อยู่อะที่เอารถคลาสสิคมาผสม อันนี้คิดไว้อยู่ คิดว่าถ้าทำออกมาเป็นรูปเป็นร่างจริง ๆ ก็อยากให้วงไปเล่น จะได้ collab กัน (ชาลี: Mad Max เลยอ่าเนอะ ยืนข้างหน้ารถแล้วเล่นดนตรีไปด้วย) แต่ยังบอก detail ไม่ได้ กลัวโดนก๊อป ก็แพลนไว้คร่าว ๆ ต้องรอชมค่ะ

ตูน: ของผมทำเบียร์รส Abuse The Youth เหรอ? ก็คงใช้ชื่อเพลงมาเป็นเบียร์มั้ง ก็ดูไม่ค่อยสร้างสรรค์เลย ทำอะไรดีวะ (หัวเราะ) (จุ: อยู่บนกระป๋องเบียร์ก็เท่นะ) แต่ผมว่าอยากจะเปิดคอนเสิร์ตบนหม้อต้มของผมอีกสักครั้งอยู่นะ จริง ๆ ไม่มีอะไรมาก เคยคิดว่าอยากเล่น industrial metal ในโรงเบียร์เพราะมันน่าจะตลกดี (หัวเราะ)

มิก: นี่ไง มึงก็ยก(หม้อต้ม) ไปงานวันที่ 22 เลยดิ

ตูน: เยดเข้ ไม่ได้หรอก (หัวเราะ)

ชาลี: ยกหม้อไปเนี่ยนะ (หัวเราะ)

มิก: เท่าที่ดูเราก็จะเป็นธุรกิจเกี่ยวกับพวกอาหาร อีเวนต์ซะส่วนใหญ่ แล้วก็มีชาของเมียด้วย ครบวงจร ก็อาหารของมึง (ชี้ชาลี) เครื่องดื่มกู เหล้าไอ้นี่ (ตูน) แล้วก็มีรถคาราวานของจุไป

ชาลี: กลายเป็นแหล่งรวม (หัวเราะ) จัดเฟสติวัลได้แล้วมั้ง

ตูน: เรียกว่ารถแห่ดีกว่า (หัวเราะ)

เห็นว่าเร็ว ๆ นี้ก็จะได้ไปเล่นที่ Blueprint Livehouse ด้วย

มิก: มี Wednesday อีกวงนึง คือตอนนี้ที่ทำอีกวงนึงอยู่คือมีเราแล้วก็มีบีน (มือเบส Revive 90’s) แล้วก็มีพุธ Wednesday ที่ตีกลองให้ ช่วงนี้ก็เลยเจอกันบ่อย แล้ววันก่อนพอพุธเห็นเรากลับมาเล่นงานนี้ มันก็เลยถามว่า สนใจไปเล่นที่ Blueprint มั้ยพี่ เดี๋ยวคุยให้ ก็เลยบอกว่า เออ ๆ เอา ฝากไปคุยให้หน่อย ก็เลยไปด้วยกันสองวงเลย

ชาลี: คือชวน(วงไปเล่น)ได้มั้ย ถ้าอยากให้เล่น รับปกติ หรือทำงานแล้วพอแล้ว กลับบ้าน เลิก เหนื่อยแล้ว แก่ (หัวเราะ)

มิก: ก็ได้ ถ้าถามกู กูก็ว่าได้ ถ้าไม่ติดอะไรก็ไปได้ ได้ก็ได้ ไม่ได้ก็ไม่ได้ เท่านั้นเอง

จุ: ที่เคยบอกชาลีแหละ ถ้ามีคนอยากดูก็ไป ไปเล่นให้เค้าดูหน่อย

ตูน: แต่จ้างบ้างก็ได้ เราจะได้ไปจ่ายค่า sound engineer ด้วย

มองการเติบโตของ Livehouse ในประเทศไทยอย่างไรบ้าง

ตูน: จริง ๆ ต้องย้อนไปถึงไลฟ์เฮาส์ของพี่ตาร์ พาราด็อกซ์ปะ เมื่อก่อนไลฟ์เฮาส์นั้นคือเสิร์ฟแต่โค้กปะ ขายแต่น้ำอัดลม จริง ๆ ก็ดูยังไปไม่ค่อยได้ ก็ต้องปิดไป กลายเป็นว่าไลฟ์เฮาส์ที่ไม่มีสปอนเซอร์หรือไม่มีเบียร์เลยก็อยู่ยากในสมัยนั้น

ชาลี: ในฐานะคนขายเบียร์คุณเล็งเห็นว่าควรต้องมี หรือยังไง

ตูน: ผมว่าก็มีได้นะ แต่ว่าเมื่อก่อนคือถ้าไม่มีสปอนเซอร์ การจัดการคอนเสิร์ตของวงอินดี้เองจะรอดค่อนข้างยาก จริง ๆ เราก็เล่นบ่อยในหลาย ๆ งานที่ช่วยการกุศลอะไรแบบนี้อะ แต่คือค่าสถานที่ยังไม่พอจ่ายเลย จะไปทำการกุศลได้ยังไง แล้วปัจจุบันพอมี Lido Connect หรืออะไรแบบนี้มาก็ดีนะ

ชาลี: แต่จริง ๆ ลิโด้น่าเล่นนะ

จุ: ลิโด้ดีตรงที่เค้า rotate วงเยอะอะ มีทั้งวงที่ดังมาก แล้วก็อินดี้แบบไม่ค่อยมีฐานแฟนเพลง มันก็มีพื้นที่ให้วงที่ไม่ดังด้วย ทำให้มีคนมาดู ติดตลาดแล้วด้วย

ตูน: แต่ผมก็มองว่าปัจจุบันคนก็คงจะเอนจอยกับดนตรีทางเลือกได้มากขึ้น แบบ culture เมื่อก่อนที่เราเจอคือ วงอะไรไม่เห็นรู้จักเลย ทำไมไม่หัดเล่นเพลงให้มันรู้จักบ้าง แต่เด็กรุ่นใหม่ที่โตมากับดนตรีที่หลากหลาย มันก็เริ่มโตพอที่จะมาดูคอนเสิร์ตได้แล้วไง ผมก็มองว่าเออ เนอะ ดูคึกคักขึ้นเนอะ อย่าง DECOMMUNE เป็นไงบ้าง ต้องถามชาลี เหมือนพอย้ายที่แล้วคึกคักขึ้นมะ

มิก: มันชอบมาก ถึงขนาดคราวที่แล้วไปนอนมา (หัวเราะ) คือตอนที่ทองหล่อจะเป็นไลฟ์เฮาส์อย่างเดียวใช่มะ แต่พอย้ายมาแล้วก็จะมา house band ด้วย

ชาลี: กดปิดเดี๋ยวนี้นะ!! (หัวเราะ) ไม่ค่อยได้ไปฝั่งข้างล่าง ไปแต่ฝั่งข้างบน แต่ก็ไม่ได้เล่นทุกวัน เพราะร้านก็เหมือนไม่ได้เปิดทุกวัน คือมันก็จะมีวันที่เป็นเฮาส์แบนด์ กับวันที่มีงาน แล้วตอนนี้ก็แยกเป็นสองชั้น ชั้นล่างเป็นไลฟ์ ชั้นบนดีเจ ข้างล่างก็ต้อง fill slot ให้เต็ม จะมีวงสุ่ม อารมณ์ไปติดต่อเด็กดนตรี แต่ไม่ได้บอกคนดูนะว่าวงไหนจะมา เหมือนกล่องสุ่มวงดนตรีอะ ถ้าจำไม่ผิดนะ แล้วก็มีอีเวนต์บ้าง ก็อย่างไลฟ์เฮาส์มันก็ไม่ควรมีไลฟ์แบนด์เนอะ น่าจะคล้าย ๆ Speakerbox เป็นบาร์

Abuse The Youth

อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงอะไรกับวงการดนตรีไทยในอนาคต หลังจากการเมืองเปลี่ยนขั้ว

ตูน: คือผมกำลังนึกว่าจริง ๆ ที่ผ่านมาเมื่อ 13 ปีที่แล้ว เราจะมีความคับแค้นใจที่ว่า ทำไมไม่มีเวทีให้วงอินดี้เล่นบ้างเลย หรือว่าไม่มีคลื่นวิทยุที่มันเปิดเพลงอินดี้เลย แล้วมันก็พัฒนามมาเรื่อย ๆ ใช่มะ แล้วคราวนี้อะ วันที่โลกเปิดออกหมด ทุกคนสามารถทำเพลงเองได้ ทุกคนโปรโมตตัวเองได้ ก็พบว่ามันเพลงตลก ๆ ออกมาเต็มไปหมดเลย (หัวเราะ) ก็สนุกดีนะ คือผมอยากจะบอกว่ามันก็คงไม่ได้อุดมคติมาก พอทุกคนมีโอกาสทำเพลงแล้วทุกคนจะทำเพลงคุณภาพ แล้วก็ความหลากหลายมันจะเพิ่มขึ้น แล้วเรื่องคุณภาพชีวิตนี่แหละ ที่นักดนตรีส่วนใหญ่ค่อนข้างลำบาก บางคนสอนตอนกลางวัน กลางคืนเล่นผับ ทำเพลงตัวเอง ไม่ได้หลับไม่ได้นอน ก็ยังอยู่ไม่ได้เลย ถ้ารัฐบาลใหม่เปลี่ยน มันต้องแก้เรื่องค่าครองชีพก่อน คนเรามันต้องท้องอิ่มก่อน ถึงจะมีกะจิตกะใจไปใช้ชีวิตได้เรื่องความสุนทรีย์ ถ้าเกิดเศรษฐกิจดีขึ้น ค่าครองชีพดีขึ้น คนก็คงจะเอนจอยกับมันมากขึ้น นักดนตรีก็น่าจะรายได้ดีขึ้นตามไป

จุ: มันก็ย้อนกลับไปเรื่องงบประมาณอีกอะ ถ้ารัฐบาลที่เค้าเห็นคุณค่าของศิลปะ ดนตรีมาก ๆ จริง ๆ งบประมาณก็จะมาฝั่งนี้เยอะอยู่แล้ว สิ่งที่อยากเห็นคือศิลปินไทยกับต่างชาติคอลแลบกันเยอะ ๆ ตอนนี้เราเห็นของ Whattheduck ทำ ก็จะไปคอลแลบกับศิลปินเกาหลี หลาย ๆ ชาติ เยอะมาก ๆ มันจะ educate คนในประเทศเราเองด้วย แล้วมันจะเพิ่มสีสันในการเล่นดนตรี มัน inspire คนให้มาเล่นดนตรีเยอะขึ้นด้วย ถ้างบประมาณมาเยอะ ก็เกิดอะไรแบบนี้ได้เยอะขึ้น เราอาจจะไป collab กับเค้าที่ประเทศของเค้า เค้าบินมา เราจะมีงบประมาณให้เค้าบินมา มาคอลแลบกัน ก็อยากให้มีงบประมาณตรงนี้

อย่างงบเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่จะเอา Abuse The Youth กลับมา (หัวเราะ)

ตูน: ไม่ต้องใช้งบประมาณเยอะก็ได้นะ (หัวเราะ)

ชาลี: ขอพูดเรื่องภาษีก็แล้วกัน แค่รู้สึกว่าถ้าการเข้ามาของรัฐบาลใหม่ซึ่งเราว่ากฎหลาย ๆ อย่างมันควรน่าจะเปลี่ยนให้ถูกต้องขึ้นอะ อย่างภาษีนำเข้าอะ หลัง ๆ คือชอบซื้อของไง เคยมีประเด็นนี้ไปคุยกับคนทางฝั่งที่เค้าอยู่ในฝั่งการเมือง เค้าบอกว่ามันก็เป็นไปได้ (ตูน: แบบดนตรีเป็นสินค้าฟุ่มเฟือยใช่มะ) แบบการปรับฐานภาษีให้มันสอดคล้องกับโลกปัจจุบัน หรืออะไรต่าง ๆ ถ้าอย่างสังเกตว่าบ้านเรา ค่าครองชีพก็ไม่ได้สูง รายได้ก็ไม่ได้เยอะ แต่ของมักจะแพง ทำไมคนชอบไปซื้อของที่เมืองนอก ทำไมเครื่องดนตรีไต้หวันถูกกว่าเครื่องดนตรีไทย ทั้ง ๆ ที่ค่าเงินใกล้ ๆ กัน บางทีอย่างเราใช้วิธีสั่งของเข้ามาจากต่างประเทศ สุดท้ายก็มาโดนภาษีที่มันแบบ ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจเจ้าหน้าที่มากไปนิดนึงอะ บางอย่างก็ไม่ make sense ทำไมไปตายเรื่องใต้โต๊ะ เราว่าควรจะปรับให้มันร่วมสมัยหน่อยอะ หลาย ๆ เรื่องยังล้าหลังอยู่

จริง ๆ เท่าที่ฟังที่เค้าคุยกันหลาย ๆ รอบคือ มันน่าจะเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นนะ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสวัสดิการเบื้องต้น อย่างที่เคยคุยกันว่าเออ นักดนตรีไม่เคยมีสวัสดิการเลย หรือย้อนไปเรื่องอาชีพทางเลือกแบบ sex creator ที่มันควรจะต้องมีสวัสดิการให้หรือเปล่าสำหรับงานที่มันไม่ได้อยู่ในระบบจริง ๆ แบบนี้อะ แบบนักดนตรีเองก็เป็นหนึ่งในนั้นที่ถูกดึงออกจากระบบ มึงไปหากินกันเอง ไม่มีสวัสดิการส้นตีนส้นตึกอะไรหรอก คนที่แรงเยอะกว่าเค้าก็อาจจะรอด คนที่แรงน้อยกว่า วันนึงก็อาจจะต้องวิ่งงานไปมา เราก็เห็นหลาย ๆ คน ที่เล่นดนตรีกลางคืนแล้วจบไม่สวย เมาแล้วขับอีก เราว่ามันไม่ค่อย make sense ในบ้านเราอะ เราก็คิดว่ามันน่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น ถ้าคนที่เข้าใจปัญหาเข้ามาแก้

อย่างตอนนี้คือทุกคน you are on your own อะ union นักดนตรีก็ไม่มี ใครที่ไหวหรือดิ้นได้ก็ดิ้นไป ใครที่ไม่ไหวก็แย่ไป โควิดก็เป็นตัวกระทุ้งหนึ่งดอกละ แล้วตอนนี้คนเริ่ม realise แล้วอะ คือเราพยายามย้อนกลับไปคิดถึงคำที่พิธาพูดอะ ว่า “ทำยังไงให้ Abuse The Youth กลับมา” คือเราตีความคำนี้ค่อนข้างเยอะนะ คือกูก็ไม่ได้ไปไหน (หัวเราะ) แต่คำว่ากลับมา คือเค้าพูดถึงเรื่องโครงสร้างหรือเปล่า เออ ทำไงให้คนที่ต้องการจะเป็นนักดนตรีแม่งอยู่ได้ในสังคมที่คนสนับสนุนให้ทำงานศิลปะ ทำให้สามารถมีชีวิตอยู่ได้ เราพยายามตีความอยู่ คือพอฟังเค้าพูดแล้วก็นึกถึงว่าการเปลี่ยนแปลงในการเมืองภาพใหญ่ก็อาจจะเป็นผลลัพธ์ที่ดีต่อวงการทั้งหมด รวม ๆ

ตูน: เรื่องลิขสิทธิ์ในการ publishing คือประเทศไทยเป็นประเทศที่ให้มาสเตอร์ด้วย ให้ publishing ด้วย แล้วจะพบปัญหาว่าศิลปินไม่สามารถเล่นเพลงของตัวเองได้ ภายใต้สังกัดค่ายใหญ่ ซึ่งตรงนี้มันก็ควรจะมีเรื่องคืนสิทธิ์ให้นักดนตรี ผู้แต่งเพลง หรือไม่

ชาลี: เรื่องนี้อาจจะต้องมาคุยกัน จริง ๆ ประเด็นเรื่องนี้ค่อนข้างลึก แต่เค้าชอบบอกว่า “ก็มึงเซ็นเองอะ” (ตูน: มึงมีช่องให้ไม่เซ็นไหมล่ะ ก็ไม่มีไง) คือเค้าไม่มีโอกาสให้เราได้ต่อรองด้วยอะ แต่เดี๋ยวนี้มันคงง่ายขึ้นด้วยระบบเศรษฐกิจสังคมตอนนี้ มันก็มีช่องทางมากมาย เมื่อก่อนเราต้องให้เค้าเท่านั้น คือมันก็มีข้อดีข้อเสียต่างกันไปแหละ แต่การเข้ามาของรัฐบาลใหม่มันก็น่าจะทำให้เกิด move อะไรบางอย่าง เพราะมันทำให้เกิดการถกเถียงกันถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน ซึ่งเราว่าเป็นสิ่งที่ดี เป็นการเคลื่อนไหวที่ดี

จุ: สุดท้ายยังไงก็ได้ ขอให้มันถกเถียงกันได้อะ ไม่ใช่คุณพูดอย่างเดียว เราฟังอย่างเดียว

ตูน: แบบ พูดแล้วช่วยผ่านสมองด้วยอะ (หัวเราะ)

มิก: เรามองว่ามันก็เรื่องปากท้องแหละ เรื่องพื้นฐาน แล้วมันจะนำไปสู่เรื่องอื่น คือเรามองว่าดนตรีตอนนี้กับตอนที่เราเพิ่งเริ่มทำเมื่อ 15 ปีที่แล้วมันก็ถือว่ามันเปลี่ยนไปมากนะ ซึ่งมันก็ไม่ได้เกิดจากรัฐบาลเปลี่ยนขั้วอะไรหรอก แต่มันเกิดจากสังคมเราที่มันค่อย ๆ เปลี่ยนไป เด็กมัธยมที่ฟังเราตอนนู้น ตอนที่เราเพิ่งฟังอัลบั้มแรก มันก็เริ่มไปหา inspiration อื่น ๆ แล้วมันก็เติบโตไปในแง่ของการเป็นคนฟัง แง่ของการเลือกเสพ มันก็เลยทำให้สังคมดนตรีมันเปลี่ยนไปด้วย มันก็ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับรัฐบาล แต่ถ้ารัฐบาลสามารถทำให้ปัญหาพวกพื้นฐาน ปากท้องอะไรแบบนี้มันดีขึ้นอะ มันก็จะช่วยผลักดัน อุ้มชูกันอะ เพราะมองว่าเรื่องดนตรีเป็นเรื่องของรสนิยม รัฐบาลมายัดเยียดอะไรให้คุณฟังมันก็ไม่ได้หรอก คุณต้องอินกับมันด้วยตัวเอง

ชาลี: แต่ถ้าได้การสนับสนุนจากภาครัฐ อย่างฝั่งหนัง ที่เค้าเคยเรียกร้องกัน ก็ดี เราว่ายังไงก็ดี มันเป็นการทำให้วงการมันมีแรงกระเพื่อมมากขึ้น แต่ถ้าถามย้อนกลับไปถึงเมื่อก่อน มันก็ไม่ถึงขนาดไม่มีนะ แต่มันก็ค่อย ๆ เติบโตขึ้น เราก็เลยไม่ได้มองว่ามันเกี่ยวกับรัฐบาลฝั่งไหน ๆ ไอ้ตอนที่ SXSW ที่เราไปกับ Yellow Fang กับ Chanudom อันนั้นก็เกิดในรัฐบาลก่อนหน้านี้ พูดถึงในความแฟร์นะ คือมันก็เกิดจากทางฟังใจ กับ NIA มันก็ไม่ใช่ว่าไม่มีเลย แต่ถ้ามันมีแบบนี้เพิ่มขึ้นมา มันก็เกิดการแลกเปลี่ยน ซึ่งมันเกิดผลดีต่อวงการอยู่แล้วอะ ถ้าเกิดรัฐบาลใหม่เค้าพร้อมสนับสนุนเรื่องนี้อยู่แล้ว เศรษฐกิจสร้างสรรค์ ก็เอาเลยฮะ มันก็น่าจะดีขึ้นได้

เรามองว่ามันเคยมีมูฟที่หลาย ๆ ฝั่งเคยทำอย่างที่ฟังใจเคยทำ Bangkok Music City เป็นงานโชว์เคส มันก็เกิดขึ้น และมีการแลกเปลี่ยนเหมือนกัน แต่ถ้ามีการสนับสนุนจากรัฐบาลและทำให้เรื่องนี้มันชัดเจนมากขึ้น บ่อยมากขึ้น วัดผลได้ซักหน่อย คือทำตามระบบที่ดีอะ เราว่าก็เป็นการสนับสนุนอยู่แล้ว ถ้าเค้าโปรพอเราว่างานต่าง ๆ มันก็เกิดขึ้นได้อยู่แล้ว คนไทยก็จัดงานได้อยู่แล้ว แล้วถ้าเป็นรัฐบาลที่เข้าใจเรื่องพวกนี้เค้าก็สนับสนุนได้อยู่แล้ว ซึ่งเราก็คาดหวังว่าถ้าเป็นรัฐบาลต่อไป (หัวเราะ) เค้าก็จะสนับสนุนในทางที่ทุกคนในวงการรู้สึกว่าโอเคอะ อย่างเวลาที่เราไปต่างประเทศ ยิ่งประเทศที่เราว่าเค้าก็ไม่ได้ร่ำรวยอะไรกว่าเรา แต่เค้าก็มีซีนที่ดีอะ ถ้ารัฐบาลมาแล้วเราแก้ได้ ก็จะช่วยกัน ก็หวังว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นอะเนอะ

สัญญากับทาง Whattheduck ยังมีอยู่ไหม

ตูน: ตอนนี้เรายังอยู่ Whattheduck เพราะเราไม่ได้ไปเซ็นยกเลิกอะไร แต่ไม่แน่ใจว่าสัญญาหมดอายุหรือยัง แต่ผมว่าก็โอเคนะ เค้าก็ดูแลเราค่อนข้างโอเค เข้าใจกันดี พยายามซัพพอร์ตจริง ๆ แต่ต้องถามเค้าแหละว่าเค้าอยากให้เราอยู่หรือเปล่า ไม่ใช่แบบ ออกไปก็ดีแล้วพวกนี้ (หัวเราะ)

มิก: คือที่ Whattheduck เป็นดีล Management เฉย ๆ เรื่องทำเพลงเราทำอิสระเลยอะ วันก่อนก็เพิ่งโทรไปคุยกับเค้า เล่าให้เค้าฟังว่าเราจะมีงานเล่นนะ เราอาจจะทำ merch ขายด้วย เค้าก็บอกว่า ทำได้เลย ตามสบายเลย แต่ถ้าอยากให้ช่วยอะไรก็บอกได้เลย เค้ายินดีช่วย หลัก ๆ ก็คือพีอาร์ คือตอนนั้นเราไม่ได้ตั้งใจจะหยุดนะ เรามีเพลงที่ตั้งใจจะทำต่อแต่ว่ามันดันติดช่วงโควิดพอดี ก็ทำอะไรไม่ได้ แล้วเราก็ไม่รู้มันจะไปจบเมื่อไหร่ ก็ถือโอกาสเบรกไปเลยละกัน ก็โทรไปบอกเค้าว่ามันเป็นแบบนี้ ผมเบรกก่อนนะ แล้วเดี๋ยวมองเห็นทิศทางอะไรแล้วค่อยว่ากัน แล้วมันก็มองไม่เห็นอะไรเลย ยาวว

ชาลี: อยู่ก็ไม่เห็นจะสร้างเงินให้ค่ายอะไรเลย (หัวเราะ)

เราจะมีโอกาสได้ฟังเพลงของ Abuse the Youth อีกไหม

จุ: อัดไว้หลายเพลงแล้วเถอะ ใช่ปะ

มิก: เราก็คุยนะ แล้วเราจะทำเพลงต่อหรือเปล่า หรือมาเฉพาะกิจ จะมาเล่นงานนี้แล้วก็เลิก ตอนนี้อะ ความเป็นไปได้ยังเป็นแค่มารวมกันเล่นเฉย ๆ ก่อน จริง ๆ เรามีเพลงที่อัดค้างไว้ยังไม่ได้ปล่อย ซึ่งก็สามารถเอาไปทำต่อได้ แต่ว่าอยากจะมองก่อนว่า ปล่อยแล้วยังไงต่อ คือเราก็ไม่ได้อยากปล่อยเพลงให้จบ แล้วหาย เลิกรากันไปอีก (หัวเราะ) รออีกกี่ปีอะ หกปีแล้วค่อยมาเจอใหม่งี้เหรอ เราทำเราก็อยากมีอะไรที่มันเป็นแผนการที่มัน long term หน่อยนึง ตอนนี้ก็ยังบอกไม่ได้ ดูทรงอยู่

ตูน: หัวล้านหมดแล้ว (หัวเราะ) แต่จริง ๆ ก็ปล่อย ๆ ไปก็ได้มั้ง อุตส่าห์ทำ

มิก: เนี่ย ๆๆ มึงก็มาแบบนี้ (หัวเราะ)

ชาลี: เค้าก็คาดหวังกัน ความต่อเนื่อง ความ consistency

ตูน: อาจจะต้องตกลงกัน เดี๋ยวนี้แก่แล้วเนอะ พอพูดคำว่าแก่แล้วขนลุกเหมือนกันเนอะ (หัวเราะ) เราอาจจะตกลงกันว่าปีนึงทัวร์กี่เดือนดี อาจจะไม่สามารถทำได้ตลอดปีเหมือนเมื่อก่อน อาจจะคุยว่างั้นเฉพาะช่วงหน้าหนาวเดี๋ยวเราออกทัวร์กัน เราก็จะมีเวลาประมาณครึ่งปีไปใช้ชีวิตของตัวเองแล้วอีกครึ่งปีมาทำดนตรี ลองแบบนี้มั้ย แต่ต้องตกลงกันก่อน แต่เพลงพร้อมปล่อย (หัวเราะ)

อัดไว้กี่เพลง

มิก: ประมาณ 2-3 เพลง

จุ: แต่ถ้าถามที่แต่งไว้น่าจะได้ 3 อัลบั้ม ที่ทำกันไว้

ตูน: ออกซีดีคู่ได้เลย (หัวเราะ)

ชาลี: ที่อัดดี ๆ นะ มี 2-3 เพลง ถ้าเดโม่อะมีเป็นตับเลย (ตูน: ชาลีบอก ฮาร์ดดิสค์จะเต็มละไอ้เหี้ย) ลบทิ้งไปหมดละไอ้เหี้ย (หัวเราะ)


ไปดูโชว์แรกของพวกเขาในรอบหลายปีได้ที่งาน Grunge Queen #2 อรอรีย์ DECOMMUNE ซื้อบัตร ที่นี่ และ Blueprint Livehouse พร้อมวง Wednesday ซื้อบัตร ที่นี่

ฝากติดตามไปกดดันเพื่อรอฟังเพลงใหม่ของ Abuse The Youth ด้วยกันที่ Facebook

Abuse The Youth
+ posts

มิว นักเขียนฟรีแลนซ์ (จ้างได้) ครูสอนกลอง มนุษย์รักษ์โลก และแม่ค้าร้าน Outer Space Music Shop

Related Articles

This website uses cookies to improve your experience. We'll assume you're ok with this, but you can opt-out if you wish. Accept Read More

Privacy & Cookies Policy