คุยกับ The Paradise Bangkok Molam International Band ถึงเบื้องหลังความม่วนของอัลบั้มล่าสุดของพวกเขา ‘Araya Lam’

by McKee
68 views
The Paradise Bangkok Molam International Band Araya Lam Maho Rasop Festival 2024

หลังจากที่ The Paradise Bangkok Molam International Band ได้ปลุกสัญชาตญาณการเซิ้งที่ซ่อนอยู่ในสายเลือดของทุกคน ผ่านโชว์สุดพิเศษและแขกรับเชิญมากมายในงาน Maho Rasop Festival 2024 ทุกต่างเห็นตรงกันว่า นี่ก็เป็นอีกหนึ่งโชว์ที่น่าประทับใจที่สุดในปีนี้เลยทีเดียว แม้พวกเขาจะได้ขึ้นเวทีใหญ่ ๆ มาแล้วทั่วโลก แต่นี่เป็นไม่กี่ครั้งที่พวกเขาได้ขึ้นเวทีใหญ่บนเฟสติวัลระดับประเทศในบ้านเกิดตัวเอง

กอปรกับการที่พวกเขาเพิ่งปล่อยอัลบั้มอันดับที่ 3 ออกมาในชื่อว่า Araya Lam (อารยะลำ) ซึ่งพัฒนาแนวทางดนตรีของวงไปอีกระดับ กับการหยิบจับซาวด์พื้นบ้านอีสานมาผสมกับแนวดนตรีร่วมสมัยหลากหลายแบบ จนทำให้เกิดเป็นกรูฟที่ไม่เหมือนใคร เรียกว่าสร้างอารยธรรมทางดนตรีของตัวเองออกมาได้จริง ๆ

Transmission วันนี้ เราพูดคุยกับพี่ปั้มและพี่นัท ตัวแทนจากวงที่จะมาเล่าเบื้องหลังอัลบั้มที่ 3 ของพวกเขาให้ฟัง พร้อมดนตรีที่ออกแบบมาอย่างละเอียดยิบทุกห้องเพลง รวมถึงมุมมองในฐานะศิลปินต่อการซัพพอร์ตซีนดนตรีของ CEA หรือภาครัฐที่น่าสนใจมาก

The Paradise Bangkok Molam International Band Araya Lam Maho Rasop Festival 2024

สมาชิก The Paradise Bangkok Molam International Band
คำเม้า เปิดถนน (หมอพิณ)
ไสว แก้วสมบัติ (หมอแคน)
ปั๊ม—ปิย์นาท โชติกเสถียร (หมอเบส)
นัท—ณัฐพล เสียงสุคนธ์ aka. Maft Sai (หมอฉิ่ง)
อาร์ม—ภูษณะ ตรีบุรุษ (หมอกลอง)
Chris Menis (หมอเคาะ)

นัท: Araya Lam เนี่ย เราอัดกันมาตั้งแต่ 2019 แล้วครับ แต่กระบวนการของอัลบั้มนี้นานขึ้นเพราะช่วงล็อกดาวน์ เรามีแพลนว่าจะปล่อยตั้งแต่ 2020 แล้ว ปกติผมทำ mix down ที่อังกฤษ จนเราขอหยุดพักไว้ก่อนเพราะไม่ใช่เวลาเหมาะสมที่จะปล่อยอะไรตอนนี้ เราเลยกลับมาสำรวจเพลงที่ทำกันใหม่ว่าจะพัฒนายังไงได้บ้าง เราใช้เวลา 2 ปีในการแก้ไขหรือดั๊บเพิ่มเติม และทำเรื่อง mix down ถึง mastering ใหม่ mix down เราใช้สตูดิโอที่ West London เอนจิเนียร์คือ Nick Manasseh ทำพวกซาวด์ดั๊บ เร็กเก เป็นคนที่เราใช้ mix down ทุกอัลบั้ม หรือบางโชว์เช่นที่ Wonder Fruit ให้มาช่วยทำดั๊บกันสด ๆ เลย

ก่อนหน้านี้มันเดินทางได้ มันก็ทำงานง่าย พอต้องทำงานรีโมตกันผมก็ต้องไปหาลำโพงรุ่นเดียวกับเขามาใช้ที่บ้าน เพื่อให้ได้ซาวด์ที่เขาฟังกับเราฟังเหมือนกัน แล้วเราแฮปปี้กับซาวด์แล้ว ยิ่งตอนตัดแผ่นเสียงต้องฟังเป็นร้อย ๆ รอบเลย ตั้งแต่การตัด plate ถ้ามีวินาทีนึงที่มีเสียง คริบ! ขึ้นมาก็ต้องตัดใหม่เลย เราก็ต้องฟังกับเครื่องเสียงรูปแบบอื่น ๆ บ้าง เพราะคนฟังเขาไม่ได้ฟังจากเครื่องเสียง Hi-End หรือสตูดิโอมอนิเตอร์ อาจจะเปิดบน turn table หรือดิจิทัลไฟล์ในรถ เราก็ต้องลองฟังทุกรูปแบบจริง ๆ

พอปี 2023 แล้วเราก็คิดว่าพร้อมที่จะปล่อยอัลบั้มนี้แล้ว แต่ก็มีแก้ไขเสียงดนตรีเอฟเฟคต่าง ๆ ที่เราใช้ไปเพิ่มนิดหน่อย เป็นอัลบั้มที่เราใช้เวลาปรุงแต่งหลังจากที่มันเสร็จแล้วเพิ่มเติมด้วย ใช้เวลาไปกับการทำปกอัลบั้มด้วย เพราะจริง ๆ ปกอัลบั้มจะเป็นงานแกะไม้ทั้งหมด ตอนแรกออกมาเป็นงานแกะไม้รูปหน้าทุกคน แต่อาจจะดูประหลาดนิดหน่อย (หัวเราะ) เราเลยไป mix media แกะรายละเอียดทุกอย่างด้วยงานไม้ผสมกับรูปถ่ายของพวกเรา จริง ๆ ยังมีบล็อกไม้อยู่เลย เพราะตั้งใจจะพิมพ์ปกให้กับทุกแผ่นเลย

นัท: Araya Lam มันคือเรื่องราวครับ ตั้งแต่อัลบั้มแรก 21st Century Molam เราต้องการที่จะสร้างแนวดนตรีใหม่ตีความว่าหมอลำในศตวรรษที่ 21 จะเป็นยังไง พออัลบั้มที่ 2 เราใช้เวลาที่ Studio Lam (บาร์ของ พี่นัท Maft Sai) เยอะ มีการแสดง เสพดนตรีกัน ได้ร่วมงานกับศิลปินอื่น ออกทัวร์ เราเลยตั้งชื่อว่า Planet Lam ดาวพระเคราะห์ลำ คือเราเดินทางเข้าไปในดาวเคราะห์ดวงเนี่ยและได้รับแรงบันดาลใจมากมายมา พอเราอยู่ในดาวดวงนี้มาซักพักละ เลยอยากสร้างอารยธรรมใหม่ซึ่งเป็นอารยธรรมของเราเอง เลยกลายมาเป็น Araya Lam

เราอยากให้มันมีซาวด์ดนตรีที่เป็นโลกคู่ขนานของอีสาน แต่ไม่ใช่อีสานที่เรารู้จัก มีเครื่องดนตรีอีสานแต่เล่นในรูปแบบอื่นมากกว่าอัลบั้มหนึ่งที่จะเป็นแบบดั้งเดิม มีกรูฟที่แตกต่าง อัลบั้ม Araya Lam เราอยากเริ่มต้นสร้างเสียงอื่น ๆ แรงบันดาลใจมาจาก afro funk มาถึง middle east sound มีแจ๊ส มีแนวดนตรีหลาย ๆ แนวที่เราเองชอบกันด้วย มาผสมกับซาวด์อีสาน มีเครื่องดนตรีมากขึ้น มีโปงลาง มีปี่ มีพิณ มีแคน มีแซน มีร้อง ให้มันมีรสชาติที่หลากหลายมากขึ้นในความเป็นวง จริง ๆ เราชอบหลากหลายแนว แต่ก่อนหน้านี้เราพยายามโฟกัสแค่เครื่องดนตรีหลักของอีสาน

ช่วงล็อกดาวน์ที่ผ่านมาผมก็ได้ฟังเพลงอะไรที่ปกติผมไม่ได้ฟัง ช่วงแรก ๆ มันกดดันมากผมเปิดพังก์ New York post-punk ฟัง สักพักผมเปิดแอมเบียนฟังเพราะอยู่บ้านเหนื่อยละ ก็เลยได้ไอเดียมาทำงานต่อกับสุดแรงม้าด้วย มีเพลงบางเพลงในอัลบั้มที่มีความเป็นแจ๊ส แอมเบียน อิเล็กทรอนิก กรูฟลอยขึ้นมาสนทนากับเครื่องดนตรีอื่น ๆ มันเป็นช่วงหลังจากที่เราอัดเสร็จก็ใส่ซาวด์ใหม่ ๆ เข้าไปด้วยกับอัลบั้มนี้ด้วย และเป็นเวอร์ชั่นที่เราอยากให้คนได้ลองฟัง

ปั้ม: สุดท้ายกระบวนการทำงานของเราเนี่ย เราทำงานเหมือนสร้างบทสนทนาขึ้นมา ผมคุยกับพี่ไสวกับพี่คำเม้าด้วยเครื่องดนตรี ในชีวิตประจำวันเราก็แลกเปลี่ยนวิถีชีวิตด้วยกัน เติบโตมายังไง คำเม้ามีความเชื่อยังไง ชอบไอติมรสอะไร เราเติบโตมาด้วยกัน พอครั้งนี้เรามีคนอื่นมาสร้างบทสนทนาด้วยกัน สร้าง sonic journey ที่เป็นการเดินทางของเสียงดนตรีด้วยบทสนทนาใหม่ ๆ

นัท: เพลงนี้มาจากพี่ไสวครับ เวลาไปต่างประเทศทุกคนจะเรียกพี่เขาว่า “ดอน” เพราะว่าเป็นผู้อาวุโสสุด มาดดี น่าเลื่อมใส (หัวเราะ) เขาให้เกียรติเรียกว่า “ดอนไสว” เราก็รู้สึกว่าเพลงไลน์ลำเพลินของพี่คำเม้ามีหลายเพลงแล้วที่เราทำมา เอาพี่ไสวมาทำเพลงลำเพลินบ้าง พูดถึงแบบไลน์ดั้งเดิม แต่ตัวเพลงเนี่ยเราได้แรงบันดาลใจมาจาก afro funk, latin funk เพลงนี้เราเล่นมา 7 ปีละ แต่เล่นเฉพาะโชว์ไม่เคยอัดเสียงไว้ มีหลายเพลงที่อยู่กับเรามานานละ แต่ไม่เคยอยู่ในอัลบั้มไหน พอเพลงนี้อยู่ในอัลบั้มนี้เราเลยเรียบเรียงใหม่ สมัยก่อนเวลาเล่นโชว์เนี่ยเพลงนี้ปั้มเล่นเบส แต่พออัดแล้วปั้มก็เล่นเบสและ overdue ทั้งกีตาร์ด้วย ก็เลยได้รสชาติอย่างอื่นเสริมเข้าไปมากขึ้น เราก็มานั่งถกกันว่าส่วนไหนในเพลงที่เราโอเคแล้วหรือส่วนไหนที่อยากเปลี่ยนแปลง เหมือนการซ้อมด้วยกันเรื่อย ๆ แต่เราได้ตรงที่เราลุยโชว์ด้วยเพลงพวกนี้ด้วย เราก็เลยพอเข้าใจอารมณ์เพลงว่ามันควรเป็นยังไง

ปั้ม: มันนานจนจำไม่ได้แล้วด้วยว่าตอนเริ่มทำมันทำยังไง (หัวเราะ) แต่จำได้แค่ว่าไลน์นี้มันเริ่มจากพี่ไสว แล้วผมกับอาร์มมือกลองต้องการอารมณ์ afro พอแจมกันก็เลยออกมาเป็นแบบที่ทุกคนได้ฟัง

นัท: ไม่ใช่ครับ ใจดำคือซินธ์ครับ คีย์บอร์ด จริง ๆ มีเสียง Chris ตะโกนด้วย ใส่ซินธ์ใส่เอฟเฟคแล้วตะโกน อ๊าาาา! ขึ้นมา (หัวเราะ) แต่อาจจะฟังไม่ออกว่าเป็นเสียงคนจริง ๆ

ปั้ม: Zud Rang Ma (สุดแรงม้า) ก็มีความเป็น post-punk ที่เกเรหน่อย ๆ (หัวเราะ) กีตาร์ใส่ fuzz มีความขบถหน่อย บอกพี่ไสวว่าเพลงนี้อยากให้พี่เป่าเหมือนคนกินยาบ้าเหมือน overdose หน่อย

นัท: ตอนแรกเราตั้งชื่อเพลงว่า “speed” เร่งสปีดเข้าไปแล้วมันดีด ๆ (หัวเราะ) (The COSMOS: แต่สุดแรงม้าเท่กว่าเยอะเลย) Tam Pu Thai (ตำปูไทย) นี่มาจาก drum machine ของ Chris ขึ้นมาก่อน แล้วเล่นกรูฟ backing track หลบไปหลบมากับซาวด์ที่สร้างขึ้นมา พอเราเล่นกรูฟขึ้นมาแล้วถอนออกมาด้วย ให้มันเล่นกับสเปซไม่ให้เพลงรกเกิน แล้วมีลูกศิษย์พี่คำเม้าเข้ามาเล่นโปงลางให้เรียกว่าลายภูไท มาผสมกับเพลงที่เราทำขึ้นมา

อีกเพลงคือ Pim Jai Lam Plearn (พิมพ์ใจลำเพลิน) เนื้อร้องเป็นเพลงเก่าของคุณพิมพ์ใจเขา แล้วเราเอาเพลงนี้มาเรียบเรียงดนตรีใหม่ เพลงนี้เรามี 2 เวอร์ชั่นด้วย เราเก็บอีกเวอร์ชั่นหนึ่งไว้ก่อนจะเป็นดนตรีดั้งเดิมกว่า เดี๋ยวได้ฟังเร็ว ๆ นี้ เพลงนี้เราได้แรงบันดาลใจจาก turkish funk อะไรพวกเนี่ย มีความเป็นหมอลำยุค 70 ที่เราเคยชอบ กีตาร์ใส่ fuzz มีเอฟเฟค มีความ funk rock เข้ามาผสมกับหมอลำ เพลงเนี่ยจริง ๆ เราอยากทำมานานละ แต่ไม่ได้มีนักร้องที่จะมาทำงานกับเรา ตอนนั้นได้ทำงานกับพิมพ์ใจเลยชวนมาอัดเสียงให้เราเพลงหนึ่ง (ปั้ม: เสริมว่าพิมพ์ใจเป็นนักร้องยุค 70-80 เพลงที่ดังช่วงยุค 80 จะซาวด์หวาน ๆ หน่อย) ตั้งแต่ สามพลังสาว ที่ทำกับพี่น้องเขา จะเป็นความเป็น roots molam ไม่ได้มีความเป็นฟังก์เหมือน ฉวีวรรณ หรือ อังคนางค์ สมัยก่อน พอได้ร่วมงานกันเสียงเขาก็ยังดีเหมือนเดิม เสียงเขาดีมาก

นัท: อย่างที่เกริ่นไปก่อนหน้านี้ว่า เพลงที่เราอัดในอัลบั้มนี้มันมีเยอะกว่าที่เราออก มันอาจจะมีอัลบั้มพิเศษ ผมกำลังคัดเลือกอยู่ว่ามีเพลงไหนที่ออกตามหลังจากอัลบั้มนี้เพิ่มเติมได้ อาจจะมีเวอร์ชั่นแปลก ๆ ที่เราเก็บไว้แต่ยังไม่เคยปล่อยด้วย (ปั้ม: มีสองอัลบั้มที่อยากแนะนำให้ฟัง นัท ทำงานที่ Wonderfruit เขาก็มีอัลบั้มพิเศษที่เขาเคยทำ) ผมรันเวที Molam Bus สองปีที่ผ่านมา ผมจะคิวเรตศิลปินที่มาเล่นเวทีนี้จะโฟกัสที่หมอลำและ world music จะมีตั้งแต่หมอลำพื้นบ้านไปจนถึงหมอลำ experimental เป็น club เป็นอิเล็กทรอนิกที่มีคอนเซปต์อีสานมาผสม แล้วผมก็จะทำ live recording ออกเป็นแผ่นเสียงร่วมกับ Wonderfruit ซึ่งโปรเจกต์นี้จะไม่มีดิจิทัล มีวงใหม่ ๆ วงจากสงครามโลกครั้งที่ 2 โปรเจกต์ใหม่ ๆ บางเพลงก็เอาสองศิลปินที่อยู่คนละกลุ่มกันมาทำอะไรด้วยกัน วงเองก็เคยทำช่วงปีแรก ๆ มีวงหลายรุปแบบเลย ตอนนี้มีขายแค่ Zudrangma Records ทดลองฟังบน IG หรือหน้าร้านได้เลย

นัท: เราไม่ได้ปิดกั้นนะครับ ว่าจะไม่ร่วมงานกับศิลปินอื่น ในขณะนี้เราก็มีเพื่อนมีพี่น้องในวงการก็เยอะเหมือนกัน เหมือนตัว Pardise Bangkok ฯ เองมันมีซาวด์อีกแบบหนึ่ง ถ้าเราไปทำโปรเกจต์ featuringกับคนโน่นคนนี่มันเป็นเรื่องของโชว์อะไรได้ แต่ถ้าอยู่ในอัลบั้มของเรา ผมรู้สึกว่าแต่ละอัลบั้มมีวิชั่นที่เคลียร์มากว่าเราต้องการอะไร ถ้ามีศิลปินอย่างพิมพ์ใจเข้ามาแล้วเข้ากับทิศทางที่เราต้องการก็พร้อมจะทำด้วยนะ แต่ถ้าร่วมงานกันแล้วมันดีสำหรับโชว์หนึ่งหรือคอนเซปต์หนึ่งแต่ถ้าไม่ใช่ในรูปแบบที่วงอยากนำเสนอ ก็อาจจะยังไม่ได้ทำ มันอยู่ที่จังหวะจริง ๆ

นัท: สำคัญนะครับ เป็นแพลตฟอร์มที่ศิลปินไปโชว์ได้ และมีคนดูที่พร้อมเปิดรับ อย่างที่เรารู้กันว่าเมืองไทยไม่ได้ไม่มีเฟสติวัล แต่งานที่โฟกัสกับดนตรีและคนฟังที่พร้อมจะไปเปิดใจฟังจริง ๆ ก็ไม่ได้มีเยอะ หลายงานก็มีแนวดนตรีที่ชัดเจนว่าป็อป ร็อก แต่ Maho Rasop มันหลากหลายแนวและโฟกัสที่คนไปเสพดนตรีจริง ๆ ไม่ได้แค่ไปเมา หรือไปปาร์ตี้ มันเป็นเฟสติวัลเดียวในกรุงเทพที่คนดนตรีจริง ๆ มารวมตัวกันอยู่เยอะ การได้เล่น Maho Rasop เนี่ย คือการได้ Showcase เพลงของเราให้กับคนที่ชอบดนตรีจริง ๆ

ปั้ม: CEA นี่ก็ซัพพอร์ตการเดินทางตอนเราไปเล่นที่อินเดียด้วยนะครับ เป้าหมายของ CEA ต้องการที่จะนำเสนอวงไทยไปในตลาดโลกใช่มั้ย จริง ๆ ตลาดระดับโลกก็มีหลาย segment มีหลายกลุ่ม (นัท: เวลาไปโชว์ต่างประเทศก็จะมี Music Festival ไปจนถึง Cultural Festival หรือระดับไลฟ์เฮ้าสหรือระดับมหาลัย) หน่วยงานของรัฐที่มีในต่างประเทศ ก็มีสถานทูต มีกงสุล หรือ ททท. (การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย) ถ้าสมมติ CEA เป็นเจ้าภาพที่นำเสนอศิลปินไทยไปต่างประเทศ และสามารถติดต่อกับสถานทูตที่ประเทศปลายทางได้ ต่อให้รัฐไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับตลาดดนตรีในประเทศนั้น ก็ให้สถานทูตก็ช่วยประสานงาน อำนวยความสะดวกให้ศิลปินทำงานได้ง่าย เรื่องเอกสาร ถ้า CEA สื่อสารกับกงสุลของ ททท. เข้าใจว่าศิลปินไทยคือทูตวัฒนธรรมของประเทศไทยให้ต่างชาติได้รู้จักเมืองไทยมากขึ้น การปฎิบัติการให้ความสะดวกเนี่ย น่าจะชัดเจนมากขึ้น ถ้าเซ็ตโกลไว้เลยว่าพวกเขาสำคัญ แพลนต่าง ๆ ก็จะเป็นอีกแบบหนึ่งเลย

นัท: สำหรับศิลปินรุ่นใหม่อาจไม่ได้มีปัญหาเรื่องโชว์หรือการเดินทาง แต่อาจจะมีปัญหาเรื่องวีซ่าตั้งแต่แรก ของพวกนี้มันกลายเป็นตัวสะกัดดาวรุ่นได้ตั้งแต่ยังไม่เริ่มเลย ถ้า CEA ช่วยเรื่องเอกสารได้ ก็ช่วยให้โปรดักซ์ของไทยมันสามารถไปโลดแล่นได้ทั่วโลก เรื่องประสานงานกับเฟสติวัลหรือสถานที่ต่าง ๆ ก็อาจจะเป็นเรื่องของทีมศิลปินก็ต้องพยายามติดต่อเองด้วย แต่ถ้ามีหน่วยงานที่ช่วยเรื่องนี้ได้ก็อาจจะผลักดันไปได้ไกลขึ้น

ปั้ม: แต่ละปีรัฐมีงบประมาณมากมายมหาศาล รัฐมีหน้าที่ใช้งบประมาณมาจัดจ้างงานที่คิดว่าจะดึงดูดนักท่องเที่ยวหรือกลุ่มเป้าหมายต่าง ๆ รัฐก็สามารถที่จะดึงผู้รู้จริงเข้าไปร่วมจัดงานที่รัฐเป็นเจ้าภาพ และเลือกวงดนตรีให้ตรงกับ segment หรือกลุ่มเป้าหมายจริง ๆ ที่เราต้องการดึงดูดเข้ามา ถ้าพูดภาษาการตลาด ตลาดไทยเขาเรียกว่า Hyperlocal โคตรจะโลคอลมาก ๆ เลย สิ่งที่คนไทยสนใจเนี่ยไม่ใช่สิ่งที่ต่างชาติจะสนใจเลย ยกตัวอย่าง อัลบั้มที่ Maft Sai เลือกเนี่ยมี 10 เพลง เพลงที่ดังในไทยอาจจะเป็นเพลงที่ 1 หรือ 2 (นัท: อาจจะไม่มีเลยก็ได้) แต่เพลงที่นัทเลือกไปเปิดให้ฝรั่งฟังอาจจะเป็นเพลงที่ 10 ก็ได้ คนละหน้ากัน สั้น ๆ คือตลาดคนไทยเนี่ยเป็นชาติที่เราเต้นด้วยปาก ถ้าเราร้องไม่ได้จะไม่เต้น แต่ในตลาดต่างประเทศ คนเขาเอนจอยกับไวบ์โดยรวม จังหวะ ซาวด์ การเคลื่อนไหว ไม่จำเป็นต้องเข้าใจเนื้อหา ถ้าหน่วยงานรัฐไม่ได้มีความเชี่ยวชาญที่จะเลือกวงมาจัด ก็ควรหาผู้เชี่ยวชาญจริง ๆ เข้ามารันเฟสติวัลหรือนำพาวงไทยไปสู่กลุ่มเป้าหมายที่เหมาะสม

นัท: วงที่ดังในเมืองไทยก็ไม่ได้แปลว่าคนต่างชาติจะชอบ บางวงที่ไม่ได้ดังเขาอาจจะชอบก็ได้ มันไม่ใช่การเลือกว่าเรารู้สึกวง 1 2 3 4 เลยเอาวง 1 2 3 4 ไปให้คนต่างชาติดู เราต้องลงมาฟังถึงคอนเทนต์ว่าแต่ละวงมีรูปแบบยังไงแนวเพลงแบบไหน ที่จะเข้ากับเป้าหมายที่ทำ ไม่งั้นมันก็เป็นแค่ another event ขึ้นมาเพื่อใช้งบประมาณกันแล้วไม่ได้ต่อยอดอะไร การจะขายดนตรีให้ต่างชาติมันไม่ใช่มีแบบฟอร์มขึ้นมา เพลงนี้วงนี้มีร้องเพลง ติ๊ก มีเนื้อหาแบบนี้ ติ๊ก ติ๊ก ๆๆ มันต้องรู้สึกถึงไวบ์เว้ย เพราะแต่ละกลุ่มที่เขา expert ในแต่ละแนวเพลง เขาอาจจะมีคอนเน็กชั่นในแต่ละประเทศด้วยซ้ำ มันสามารถต่อยอดอะไรได้เยอะกว่า และอยู่ในซีนที่ real จริง ๆ soft power จริง ๆ ไม่ใช่แค่ “for the sake ไปเล่นต่างประเทศ” แล้วบอกนี่คือ soft power ไปเล่นแล้วใครดู ใครดูอีกล่ะ หรือทำให้คนไทยในต่างประเทศดู ในสถานทูต อย่าอยู่กันเอง ไม่ได้ต่อยอดได้จริง ๆ


ติดตามข่าวสาร และความเคลื่อนไหวของวงได้ที่ Facebook และ Instagram

+ posts

ชอบไปคอนเสิร์ตเพราะเป็นกิจกรรมที่ทำคนเดียวได้ และยังชอบแนะนำวงดนตรีใหม่ ๆ ผ่านตัวอักษรตลอดเวลา

Related Articles

This website uses cookies to improve your experience. We'll assume you're ok with this, but you can opt-out if you wish. Accept Read More

Privacy & Cookies Policy