ชวน Everything But the Girl คุยเจาะลึกเบื้องหลัง ‘Fuse’ อัลบั้มใหม่ในรอบ 24 ปี

by Montipa Virojpan
488 views
Everything But The Girl Fuse interview

Everything But The Girl คือศิลปินดูโอ้จากอังกฤษที่มีความเคลื่อนไหวในช่วงปี 80s-90s ก่อนจะห่างหายไปเป็นเวลา 24 ปี แต่เมื่อเร็ว ๆ นี้พวกเขาก็ได้ปล่อยซิงเกิ้ล ‘Nothing Left to Lose’ ออกมา สร้างความฮือฮาให้แฟน ๆ ตั้งแต่ยุคนั้นและคนใหม่ ๆ ที่ย้อนกลับไปฟังเพลงของพวกเขา ได้ฤกษ์ตั้งตารออัลบั้มชุดที่ 11 ที่ใช้ชื่อว่า ‘Fuse’ ซึ่งจะออกมาให้ฟังกันเต็ม ๆ ในวันที่ 21 เมษายนนี้ เราเลยชวน Tracey Thorn และ Ben Watt มาถามไถ่ข่าวคราวและความเป็นไปกันใน Transmission

“ยังจำได้เลยว่าเช้าที่ ‘Nothing Left to Lose’ ถูกเปิดในคลื่นวิทยุในอังกฤษที่ปกติเราจะฟังกัน มันก็ถูกปล่อยทางออนไลน์ในเวลาเดียวกัน ตอนนั้นโทรศัพท์ที่อยู่ในมือของเราก็มีโนติเด้งเข้ามารัว ๆ คือเราได้รับเสียงตอบรับจากคนที่ได้ฟังมันครั้งแรกไปพร้อม ๆ กับเราแทบจะในทันที ตื้นตันมากเลยค่ะ ฉันไม่เคยมีความรู้สึกนี้มาก่อนเลย ตอนที่เราปล่อยเพลงกัน สิ่งที่เราได้รับเป็นอย่างแรกคือความเงียบ อัลบั้มของเราก็วางอยู่ในร้านอย่างนั้น รอให้คนมาซื้อ หวังที่จะได้ยินดีเจสักคนเปิดมันในวิทยุ หวังว่าแฟนเพลงจะชอบมัน แต่เราไม่มีทางรับรู้ได้เลย และนี่คือครั้งแรกที่เราได้รับเสียงตอบรับท่วมท้น ทุกคนคอมเมนต์กันมาเยอะมาก ‘ชอบจังเลย’ ‘ตื่นเต้นมาก ๆ เลย’ ‘ดีใจที่พวกคุณกลับมา’” — Tracy Thorn, Everything But The Girl

24 ปีที่ผ่านมานี้ พวกคุณทำอะไรกันมาบ้าง

เบ็น: เรามีลูกสามคน ตอนนี้ก็โตกันหมดละ ที่ผ่านมาเราทำงานแยกกัน ซึ่งบางคนก็คิดว่าหลังจากอัลบั้ม ‘Temperamental’ เราก็ไม่ทำอะไรอีกเลย แต่จริง ๆ เราไม่เคยหยุดทำงานและเริ่มยุ่งขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก ๆ แล้วช่วงตั้งแต่ ‘Temperamental’ มาจนถึงตอนนี้ มันก็ยาวนานกว่าเวลาที่เราทำ Everything But The Girl ด้วยกันซะอีก เทรซี่เขียนหนังสือเยอะมาก ผมก็เขียนหนังสือเล่มนึง ทำอัลบั้มเดี่ยว เทรซี่ทำเพลงประกอบหนัง แล้วเราก็มีส่วนร่วมในงานของกันและกันนิด ๆ หน่อย ๆ บางทีก็ช่วยให้กำลังใจอยู่ห่าง ๆ

แต่แล้วทุกอย่างก็ชะงักลงเพราะโควิดแบบที่หลาย ๆ คนก็ได้รับผลกระทบ เราต้องหยุดทำสิ่งที่เรากำลังทำอยู่ ผมกำลังจะได้ไปทัวร์งานเดี่ยวในปี 2020 เทรซี่ก็กำลังจะออกหนังสือเล่มใหม่ สุดท้ายแล้วเราต้องอยู่แต่ในบ้าน ช่วงที่ล็อกดาวน์กันเข้มข้นผมเองต้องกักตัวคนเดียวเพราะมีภาวะภูมิแพ้ตัวเอง แต่เราทั้งคู่รู้สึกว่าตัวเองเปลี่ยนแปลงไปมากจากประสบการณ์ในช่วงโรคระบาด

พอเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติช่วงปลาย 2021-2022 เรามองหน้ากันแล้วพูดว่า ‘เอาไงต่อ จะกลับไปทำงานเดี่ยว หรือทำอะไรที่คั่งค้างของตัวเองต่อไหม หรือมันถึงเวลาแล้วที่จะทำอะไรที่ต่างออกไป’ เทรซี่เป็นตัวตั้งตัวตีที่บอกว่าจริง ๆ เราน่าจะทำงานด้วยกัน ‘ถ้าไม่ใช่ตอนนี้ แล้วจะทำตอนไหน คิดว่าไง’ ซึ่งผมก็มองว่าน่าจะเป็นเวลาที่เหมาะสมแล้วล่ะ

เพลงส่วนใหญ่เพิ่งเขียนขึ้นเมื่อปีที่แล้วนี้เอง ใน press release เขียนผิดมาตลอดว่าเราเขียนเพลงตอน 2021 แต่อันที่จริงหลาย ๆ เพลงทำกันในปี 2022 แล้วก็อัด มิกซ์กันในปีนั้นเลย นั่นก็เป็นจุดเริ่มต้นให้เรามาอยู่ตรงนี้กันครับ

การทำเพลงในสตูดิโอเป็นยังไงบ้าง

เทรซี่: ตอนเราเริ่มทำเพลง เรากะทำสบาย ๆ ไม่พยายามกดดันตัวเองมากจนเกินไป หรือบางทีก็ทำเป็นเหมือนไม่ได้กำลังอัลบั้มกันอยู่ บางทีก็เลยรู้สึกเหมือนยั้ง ๆ มือ ไม่ทำอะไรประเจิดประเจ้อ ไม่ใช้ชื่อว่า Everything But The Girl ด้วยซ้ำ เราเคยตั้งชื่อโปรเจกต์นี้ว่า ‘Tren’ มาจาก Tracy กับ Ben เลยทำให้เรารู้สึกว่ามันเหมือนเป็นไซด์โปรเจกต์มากกว่า แต่สิ่งที่ฉันรู้สึกตอนที่เราเริ่มทำเพลงคือเราเตรียมวัตถุดิบกันมาก่อนจากที่บ้านก่อนจะไปเข้าสตูดิโอ โดยเบ็นจะร่างเพลงในคอม

วันแรก ๆ ที่เราเข้าไปที่สตูดิโอ เราเริ่มใส่เสียงร้องหลักเข้าไปแล้วก็เกิดรู้สึกตื่นเต้นขึ้นมาอีกครั้ง ตอนนั้นเองที่เราคิดว่า นี่คงต้องเป็น Everything But The Girl แล้วแหละ และมันก็จะต้องดีมาก ๆ แน่เลย จากนั้นเราก็เริ่มกระตือรือร้นกันมากขึ้น กล้าที่จะเผชิญกับความท้าทายตรงหน้า เรามองว่าสิ่งนี้น่าตื่นเต้นและดูเป็นไปได้

ทำไมตั้งชื่ออัลบั้มว่า ‘Fuse’

เทรซี่: ชื่ออัลบั้มมาตอนหลังเลย ‘Fuse’ มันมาจากการการที่เราอยากจะเก็บความเข้มข้นของความรู้สึกนั้นไว้ คือคำนี้มีสองความหมาย อันแรกหมายถึงเวลาเราจุดชนวนระเบิด เหมือนเป็นไอเดียที่เราเริ่มทำอะไรกับสิ่งที่เล็กมาก ๆ จนมันสำเร็จลุล่วงออกมา กับอีกความหมายคือการหลอม สองสิ่งผสานรวมกัน ซึ่งตอนที่เราตั้งชื่ออัลบั้มกันเราคิดว่า คำพยางค์เดียวคำนี้มีความหมายที่ทั้งเรียบง่ายและงดงาม และมันสามารถสรุปทุกสิ่งในโปรเจกต์นี้ได้

เราได้ฟัง ‘Nothing Left To Lose’ กันเป็นเพลงแรก พูดถึงเพลงนี้หน่อย และทำไมถึงปล่อยเพลงนี้ก่อน

เบ็น: ตอนที่เราทำอัลบั้ม เราทำมาแต่เพลงแอมเบียนต์ ไม่มีบีต อย่าง ‘Interior Space’ ‘When You Mess Up’ แล้วอัลบั้มก็เริ่มออกมาเป็นสไตล์ atmospheric downtempo ในช่วงแรก เหมือนว่าพอเราเริ่มมั่นใจมากขึ้น เราก็เริ่มทำเพลงเร็วขึ้น ใส่จังหวะเพิ่มเข้าไป แล้วผมก็พบว่าตัวเองกลับมาตกหลุมรักการโปรแกรมมิงบีตอีกครั้ง แล้วตอนที่เริ่มจะคุ้นเคยกับมันก็ได้จังหวะหรือทำนองที่ควรจะเป็นออกมา ซึ่ง ‘Caution To The Wind’ เป็นเพลงท้าย ๆ ของอัลบั้มนี้ที่เราทำ จากนั้นเราก็คิดว่าจะทำต่อได้อีกซักเพลงมั้ยนะ แล้ว ‘Nothing Left To Lose’ ก็เกิดขึ้น แล้วเหตุผลที่ผมชอบมันมากในทางดนตรีคือมันสามารถเก็บเกี่ยวเอากลิ่นอายของซาวด์เฉพาะตัวแบบที่พวกเราเป็นในช่วง 90s ออกมาได้ โดยสอดแทรกจังหวะและการเรียบเรียงเพลงในยุคอัลบั้ม ‘Temperamental’ เข้าไป ซึ่งเรามีความสนใจที่จะทำเพลงให้มันมีความเป็นวงของเรา แต่ไม่ลืมที่จะทำให้มันร่วมสมัยด้วย ซึ่งบีตที่ให้ความรู้สึกแบบ 2-step หรือ breakbeat แล้วไหนจะไวเบรโต เทรโมโลหนัก ๆ ในไลน์เบสนั่นอีก อะไรเหล่านี้ทำให้ผมมองว่ามันมีรสชาติของเพลงอิเล็กทรอนิกในยุคนี้อยู่

เทรซี่: ฉันว่าเพลงมันมีความรีบเร่งอยู่ (เบ็น: ใช่ เนื้อเพลงน่ะ) ตอนเราคุยกับผู้กำกับมิวสิกวิดิโอ เราบอกเขาว่า ‘คุณลองจินตนาการบรรยากาศของความหดหู่ในเพลงนี้สิ ความที่มันจะไม่ทันการ ความสิ้นหวังที่จะรู้สึกคอนเน็กกับใครสักคน’ แล้วไหน ๆ จะเป็นเพลงแรกของการกลับมาในรอบ 24 ปีแล้วเนี่ย มันก็ต้องสร้างอิมแพ็ก มันไม่ควรจะเป็นแค่ อุ๊ย กลับมาแล้ว ดีใจจังเลย แต่เราอยากให้ตัวของเพลงเองมีความน่าตื่นเต้นแบบที่คนฟังครั้งแรกแล้วจะว้าวไปกับมันด้วย ดังนั้นเรารู้สึกว่า เพลงนี้แหละเราค่อนข้างมั่นใจว่ามันจะเป็นเพลงแรกที่เราปล่อย

เบ็น: เหมือนกับว่ามันสามารถสื่อสารสิ่งที่เราหลงใหลออกมาได้ชัดเจน เราไม่ได้แค่ทำเอาสนุก ๆ เราอยากทำให้มันออกมาดีด้วย

เนื้อเพลง ‘Nothing Left To Lose’ ท่อน Kiss me while the world decay ได้แฝงนัยยะเกี่ยวกับการอนุรักษ์ธรรมชาติหรือเปล่า มีอะไรแบบนี้ในเพลงอื่นไหม

เบ็น: ผมว่าไม่มีนะ แต่ถามว่าท่อนนั้นเกี่ยวไหม… ก็ใช่แหละ เพลงนี้ผมทำเมื่อประมาณสองสามปีก่อน มันติดอยู่ในหัวนิดนึง แต่ถ้าเกี่ยวกับการอนุรักษ์ ผมก็มีส่วนในการพัฒนาอ่างเก็บน้ำชุมชนในลอนดอนตอนเหนือซึ่งเป็นแหล่งอุดมสมบูรณ์ที่เราควรรักษา แต่สิ่งนี้มันเป็นอะไรที่แยกขาดกับเพลงของเรา จริง ๆ ก็ไม่ได้เอามันมาโยงเพื่อจะใช้เป็นสื่อรณรงค์การอนุรักษ์ธรรมชาติขนาดนั้น ลองสังเกตโพสต์บนโซเชียลของผมจะมีทั้งแชร์เพลง ‘Run the Red Light’ แล้วก็แชร์เกี่ยวกับเรื่องคุณภาพน้ำ มันแค่เป็นความสนใจ ณ ตอนนี้ของผมแค่นั้นครับ ไม่ได้มีอะไรเกี่ยวกัน ไม่มีความหมายแฝงเรื่องการอนุรักษ์ครับ

ซิงเกิ้ลที่สอง ‘Run the Red Light’ ก็ได้ผู้กำกับคนเดียวกันมาทำ MV

เทรซี่: เราวางเพลงนี้ไว้เป็นเพลงที่สอง ซึ่งมันยากมากนะการเรียงเพลงในอัลบั้มเนี่ย แต่เรามองว่าถ้าเปิดมาด้วย ‘Nothing Left to Lose’ แล้วต่อด้วย ‘Run the Red Light’ มันถ่ายทอดไอเดียที่ค่อนข้างแข็งแรง มันนำเสนอจิตวิญญาณของสิ่งที่เรากำลังอยู่ ซึ่งเป็นสิ่งที่คนมองว่าเราทำได้ดี เพลงนี้เป็นเพลง downtempo ช้า ๆ หน่อย แล้วพอเรานึกถึงการทำ mv เราก็กลับไปหา Charlie Di Placido ที่ก็ทำเพลงแรกให้เรา บอกเขาว่า ‘อยากได้ mv เต้น ๆ อีกเพลง แต่คราวนี้เป็นเพลงช้านะ’ เราว่าแค่เริ่มมันก็เป็นไอเดียที่ท้าทายแล้วที่เอาการเคลื่อนไหวร่างกายมาช่วยถ่ายทอดอารมณ์ในเพลงให้เห็นภาพ เราค่อนข้างคิดเยอะกับมันนะ เพราะเราไม่อยากอยู่ในมิวสิกวิดิโอแล้ว ทำมาเยอะแล้ว ซึ่งเราก็มองว่ามันยากที่จะให้เราไปทำอะไรแบบเดิม ๆ และมันก็น่าเบื่อ ดังนั้นให้คนอื่นมาเต้นคงจะดีกว่า และนั่นคงทำให้เพลงมีชีวิตชีวากว่าด้วย

เบ็น: จริง ๆ แล้วเพลงนี้เป็นเพลงที่เก่าสุดในอัลบั้ม ก่อนหน้านี้ผมบอกว่าเพลงส่วนใหญ่เขียนขึ้นมาเมื่อปีที่แล้ว แต่ประมาณหน้าร้อนที่แล้วตอนที่เราทำไปได้ 2 ใน 3 ของอัลบั้ม เทรซี่บอกให้ผมเอาเพลงที่ทำ ๆ ไว้มาให้เธอฟังหน่อย ผมมีโครงเพลง มีเดโม่ที่อัดไว้ใน iPhone อยู่ เพลงนี้ก็เก่าละเขียนเมื่อหลายปีก่อน อันที่จริงผมตั้งใจจะให้เพลงนี้อยู่ในงานเดี่ยวของผม แต่จบงานไม่ได้ซักที เลยเปิดเพลงนี้ให้เทรซี่ฟังบนโต๊ะกินข้าวพลางคิดในใจว่า ‘ต้องฉิบหายแน่เลย’ แต่ปรากฏว่าเทรซี่ชอบมาก แล้วมันก็กลายมาเป็นเพลงในอัลบั้มนี้

เนื้อเพลงเป็นการที่ผมหยิบเอาช่วงชีวิตตอนที่เป็นดีเจทุก ๆ วันเสาร์อาทิตย์ช่วงต้นปี 2000s ซึ่งผมทำงานนี้มาเป็นเวลาค่อนข้างนาน มันก็จะทำให้เจอกับหลาย ๆ คนที่มาเที่ยวคลับ พอคุยกันเขาก็จะเล่าความฝันหรือเป้าหมายสิ่งที่อยากทำให้ผมฟัง เพลงนี้เกี่ยวกับคนตัวเล็กที่มีฝันที่ยิ่งใหญ่ คนที่หวังว่าวันนึงจะประสบความสำเร็จและกลายมาเป็นคนสำคัญ ผมชอบที่มันเก็บเกี่ยวเอาทั้งบรรยากาศและความน่าหลงใหลที่อัลบั้มนี้มีเอาไว้ได้หมด รวมไปถึงถ่ายทอดความรู้สึกเปราะบางของบางคน ที่สุดท้ายแล้วอาจจะไม่ประสบความสำเร็จเลยก็ได้

ผมไม่แน่ใจว่าคุณรู้จักเพลงของ Bruce Springsteen หรือเปล่า จากอัลบั้ม ‘Born to Run’ ชื่อว่า ‘Meeting Across the River’ ถ้าไม่รู้จักแนะนำให้ไปลองฟังกันนะครับ เพราะสำหรับผมแล้ว ไอเดียการเขียนเนื้อของเพลงนี้มีความใกล้เคียงกันมากกับที่ Springsteen เล่าเรื่องราวในเพลงนั้น เป็นเพลงที่ผมชอบเสมอมา เกี่ยวกับคนตัวเล็ก ๆ ที่อยากได้รับโอกาสที่จะได้ลองทำอะไรอีกสักครั้ง

รู้สึกยังไงที่ได้กลับมาทำงานด้วยกัน

เบ็น: ตอนที่เราเริ่มทำอัลบั้มนี้ จริง ๆ เรากังวลกันมากนะ เราทำงานแยกกันมา 20 กว่าปี แล้วเราก็เคยชินกับการตัดสินใจอะไรด้วยตัวเอง เรากลัวว่าถ้ากลับมาทำงานด้วยกันแล้วเราจะทะเลาะกัน หรือบางอย่างที่ทำอาจจะไม่เวิร์ก แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกลับกลายเป็นว่า การได้กลับมาร่วมงานกันมันเหมือนการได้ปลดปล่อยมากกว่า อย่างงานที่เราคิดไม่ออก บางทีการมีอีกคนมาช่วยคิดก็ช่วยให้เราจบงานได้ และส่วนมากเพลงในอัลบั้มนี้ก็เป็นการที่คนนึงเริ่มงานไว้ครึ่งนึง แล้วอีกคนก็มาทำให้มันน่าสนใจขึ้น หรืออาจจะเขียนอีกส่วนนึงขึ้นมาใหม่แล้วเราค่อยมาทำให้มันปะติดปะต่อกัน มันยิ่งทำให้รู้สึกว่านี่เป็นอัลบั้มที่เราสองคนทำมันขึ้นมาจริง ๆ

ตอนที่เริ่มทำอัลบั้มนี้กัน มีอะไรที่ตั้งใจจะเขียนออกมาอยู่แล้ว หรือว่าไอเดียผุดขึ้นมาระหว่างที่ทำเลย

เทรซี่: ฉันว่างานชุดนี้เป็นอะไรที่เราวางโครงสร้างมันไว้น้อยที่สุดแล้วนะตั้งแต่ที่เคยทำมา เพราะตั้งแต่เริ่มเราก็ไม่ได้ตั้งใจจะทำให้มันเป็นอัลบั้มด้วยซ้ำ หรือคิดว่ามันควรจะเป็นยังไง หรือติดตามผลว่าทำไปถึงไหนแล้ว เราไม่ได้บอกใครเลยว่าเรากำลังทำเพลงกันอยู่ แค่เริ่มเลย ไม่ได้มีความคิดว่าอยากจะสัมผัสประสบการณ์หรือมีความหลงใหลได้ปลื้มอะไรอีกจากการทำเพลงด้วยกัน อันที่จริงเราก็คิดมาตลอดว่ามันไม่น่าจะรอด ดังนั้นคงไม่มีใครอยากรู้ว่าเรากำลังทำอะไรกันอยู่ คงไม่มีใครสนใจว่าเราต้องพยายามแค่ไหน แต่เราก็ไม่ฝืนนะ ถ้าเราทำออกมาไหวแค่ 4 เพลงก็คงจะปล่อยแค่ EP แต่นี่มันคือการปลดปล่อยอะไรก็ตามที่จู่ ๆ มันก็โผล่ขึ้นมา มันมีบางเพลงที่เราทำกันไปได้ครึ่งทางแล้วหยุดอยู่แค่นั้นเพราะรู้สึกว่ามันไม่เวิร์ก มันเป็นอะไรที่แค่ มีไอเดียแบบนี้นะ ไหนมาลองดูซิว่าจะออกมาในรูปแบบไหน รูปแบบนี้ที่มันเป็นจิตวิญญาณของอัลบั้ม

คิดว่าแฟนเพลงที่ชื่นชอบงานเก่า ๆ จะชอบเพลงชุดใหม่ไหม

เบ็น: ผมว่าเวลาที่คุณทำเพลง อย่างแรกเลยคุณต้องไม่นึกถึงคนฟัง มันไม่ค่อยดีเท่าไหร่ที่มานั่งคาดหวังถึงผลลัพธ์ว่าเพลงจะทำงานดีไหม คนจะชอบไหม ผมว่าถ้าคุณอยากจะสร้างสรรค์จริง ๆ คุณแค่ต้องเชื่อมั่นในตัวเอง และอยากเล่าเรื่องอะไรก็ทำไปเลย คุณต้องแน่วแน่กับตัวเอง ตอนที่เราเริ่มโปรเจกต์นี้ เราพยายามจะไม่ไปตีกรอบอะไรมันเลย แล้วเราว่าอัลบั้มก่อนหน้าที่ทำไว้เมื่อนานมาแล้ว เราสามารถที่จะเป็นตัวเองได้เต็มที่เพราะเราเองก็ใหม่มาก

ตอนที่เรากลับมาทำเพลงกันอีกครั้ง สิ่งที่เกิดขึ้นคือเราพยายามทำให้เพลงของเรายังมีความเป็นตัวเราอยู่ ดังนั้นมันก็น่าจะทำงานกับคนที่ชอบสไตล์ของเราอยู่บ้าง เสียงของเทรซี่ ช่องว่างในการเรียบเรียงเพลงของเราที่เปิดโอกาสให้เสียงหรือคอร์ดใหม่ ๆ เข้ามา เราไม่มานั่งคิดว่า ‘โอ้ คนที่ชอบงานของเราในปี 80s จะชอบอัลบั้มนี้มั้ยนะ’ หรือคนยุคต้น 90s คนที่ชอบงานอิเล็กทรอนิกช่วงกลาง 90s จะชอบมันรึเปล่า เราก็ปล่อยให้กระบวนการต่าง ๆ เป็นไปตามธรรมชาติของมัน

พอลองมองย้อนกลับไปหลังจากที่เราทำอัลบั้มนี้เสร็จ เราก็คิดว่าบางทีเราอาจจะนำเสนอบางอย่างที่สามารถดึงดูดคนฟังหลาย ๆ กลุ่มได้ เพลงอย่าง ‘When You Messed Up’ หรือ ‘Run the Red Light’ มีความกลมกล่อมและมีเนื้อเพลงที่เพราะ มันมีความใกล้เคียงกับเพลงช้าที่เราเคยเขียน ๆ กันมา หรือ ‘Nothing Left To Lose’ กับ ‘Caution To The Wind’ ก็เป็นเพลงที่มีจังหวะ มีความเป็นคลับมิวสิกแบบที่เราเคยทำ แต่เราในฐานะคนแต่งเพลง การที่เราสองคนทำงานด้วยกันมาตลอดก็เชื่อว่าทุกเพลงที่เขียนมีซาวด์ที่ชัดเจน ลายเซ็นของ Everything But The Girl ยังคงแข็งแรงมาก ๆ อยู่

เทรซี่: ฉันว่าหัวใจของการทำงานคือศิลปินต้องเชื่อในตัวเอง เราโชคดีที่มีคนฟังติดตามผลงานมาอย่างยาวนาน ซึ่งแฟนกลุ่มนี้ก็ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงทั้งด้านสไตล์และทิศทางของเพลงมาก็เยอะ ดังนั้นเราค่อนข้างเชื่อในงานใหม่ของเรา เพราะมันเป็นสิ่งที่เราทำแล้วคนฟังก็น่าจะยังชอบอยู่ อย่างที่เบ็นบอกคือตอนเริ่มโปรเจกต์เราแค่ต้องเชื่อสัญชาตญาณของเรา และสุดท้ายแล้วถ้าเราชอบเพลงของเรา เราก็มีความคาดหวังให้คนฟังที่ชอบงานเราในอดีตจะชอบงานใหม่ของเราด้วย เพราะเพลงเหล่านี้ที่เราทำขึ้นมาไม่ว่าจะยุคสมัยนั้นก็เป็นเราทั้งนั้น

เบ็น: มองย้อนกลับไปตลอดชีวิตการเป็นวงของเรา ผมเข้าใจว่ามันมีเพลงหลากหลายแนวมากที่เราทำกันมา แต่ผมคิดว่ามันมีบางอย่างเกี่ยวกับการเขียนเพลงของเรา เสียงของเทรซี่ ไม่เกี่ยวกับว่าเราต้องทำเพลงกับวงออเคสตรา หรือเราใส่เสียงกีตาร์อะคูสติกเข้าไป มันเป็นอะไรบางอย่างที่มีความเป็นเราอยู่ ที่ยังเหมือนเดิมในทุก ๆ งานที่ออกมา

ตลอด 20 กว่าปีมานี้ มีอะไรในวงการดนตรีที่เปลี่ยนไปบ้างสำหรับคุณ

เทรซี่: หลายอย่างเปลี่ยนไปมาก ๆ เลยค่ะ ฉันว่าเราสองคนก็ได้ผ่านความเปลี่ยนแปลงอะไรหลายอย่างในอุตสาหกรรมดนตรีแบบค่อยเป็นค่อยไปมาโดยตลอดนะ ตั้งแต่ที่เราทำ Everything But The Girl กันมา 20 กว่าปี แน่นอนว่าเรารับรู้ถึงการเปลี่ยนแปลงที่มาถึงจากโซเชียลมีเดีย ได้รู้ว่ามันสร้างผลกระทบยังไงบ้าง เหมือนเป็นคนละโลก เทียบกันไม่ได้เลยค่ะ

ฉันว่าสิ่งที่รู้สึกได้ชัดมากสำหรับเราคือตอนที่เราปล่อย Everything But The Girl ในยุคโซเชียลมีเดีย เมื่อก่อนตอนเราปล่อยโซโล่โปรเจกต์ มันได้รับความสนใจประมาณนึง แต่ไม่เยอะเท่าตอนเรามีข่าวว่ากำลังจะปล่อยอัลบั้มนี้ แล้วก็มีความเคลื่อนไหวเกิดขึ้นบนโซเชียลมีเดียของเราทั้งอินสตาแกรม เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ พร้อม ๆ กันเต็มไปหมด มันน่าทึ่งมาก ยังจำได้เลยว่าเช้าที่ ‘Nothing Left to Lose’ ถูกเปิดในคลื่นวิทยุในอังกฤษที่ปกติเราจะฟังกัน มันก็ถูกปล่อยทางออนไลน์ในเวลาเดียวกัน ตอนนั้นโทรศัพท์ที่อยู่ในมือของเราก็มีโนติเด้งเข้ามารัว ๆ คือเราได้รับเสียงตอบรับจากคนที่ได้ฟังมันครั้งแรกไปพร้อม ๆ กับเราแทบจะในทันที ตื้นตันมากเลยค่ะ ฉันไม่เคยมีความรู้สึกนี้มาก่อนเลย ตอนที่เราปล่อยเพลงกัน สิ่งที่เราได้รับเป็นอย่างแรกคือความเงียบ อัลบั้มของเราก็วางอยู่ในร้านอย่างนั้น รอให้คนมาซื้อ หวังที่จะได้ยินดีเจสักคนเปิดมันในวิทยุ หวังว่าแฟนเพลงจะชอบมัน แต่เราไม่มีทางรับรู้ได้เลย และนี่คือครั้งแรกที่เราได้รับเสียงตอบรับท่วมท้น ทุกคนคอมเมนต์กันมาเยอะมาก ‘ชอบจังเลย’ ‘ตื่นเต้นมาก ๆ เลย’ ‘ดีใจที่พวกคุณกลับมา’

แต่ฉันก็รู้นะว่าโซเชียลมีเดียก็มีข้อเสียอยู่เหมือนกัน มันทำให้ศิลปินต้องกดดันและทำงานหนักขึ้นมาก เพราะต้องมีความเคลื่อนไหวตลอดเวลา ต้องปล่อยเพลง มีคอนเทนต์ตลอด แต่ขณะเดียวกันมันก็ได้สร้างคอมมิวนิตี แน่นอนไม่ใช่แค่ที่นี่แต่เป็นทั่วโลก เราได้เชื่อมต่อและบอกเล่าความรู้สึกกับคนมากมาย นั่นเป็นสิ่งที่น่าทึ่งมากค่ะ

เบ็น: การได้อ่านคอมเมนต์ใต้เพลงของเรา มันเป็นเหมือนให้คนฟังได้มีโอกาสได้เล่าเรื่องราวของเขาเองว่ารู้สึกเชื่อมโยงกับเพลงยังไง แล้วเราตื้นตันใจมากเวลาได้รู้ว่ามันส่งผลแตกต่างกันกับคนฟังแต่ละคนยังไงบ้าง เรื่องที่ส่วนตัวสุด ๆ ของเราอาจจะไปตรงกับชีวิตของใครสักคน และเมื่อรู้ว่าเพลงสามารถสร้างอิทธิพลกับคนคนนึงได้ เราก็จะยิ่งไม่ปล่อยมันเลยตามเลย มันสำคัญมากที่คนฟังสามารถแสดงความคิดเห็นว่ารู้สึกกับงานของเรายังไง และเราเองก็ต้องเคารพในจุดนั้น มันไม่สำคัญว่าจะเป็นเพลงเก่าหรือใหม่ เราโชคดีมาก ๆ แล้วที่ยังมีคนฟังงานของเรา และยิ่งถ้ามันมีความหมายกับคนฟัง มันยิ่งเป็นเรื่องที่สุดยอดไปเลยครับ

มีแผนจะกลับมาทัวร์ไหม

เทรซี่: จริง ๆ เราไม่ได้วางแผนอะไรเลย ตอนเราเริ่มทำเพลงเราตกลงกันว่า โอเค คงทำแค่อัลบั้มนะ ไม่ได้จะกลับมาแอ็กทิฟและต้องออกทัวร์คอนเสิร์ตแบบแต่ก่อนแล้ว มันเป็นสิ่งที่เราเคยอยากทำมาก ๆ แต่ตอนนี้ไม่ใช่อย่างนั้นแล้ว ฉันพบว่าเพลงที่เขียนมันมีความยากในการเอาไปเล่นสด และฉันก็ไม่ได้รู้สึกกระเหี้ยนกระหือรือที่จะต้องเอามันไปเล่นให้ได้

ฉันแทบไม่เห็นภาพตัวเองตอนนี้บนเวทีเลย ลองมองย้อนไปถึงสิ่งที่ตัวเองทำเมื่อก่อน ฉันนับถือตัวเองมากนะที่มีความปรารถนาแรงกล้าที่จะได้เล่นสด มีความกล้าที่จะเฉิดฉายบนเวทีแทนที่จะรู้สึกประหม่า และยังออกทัวร์คอนเสิร์ตหลายต่อหลายปี ถ้าจะกลับมาทัวร์ได้ ฉันจำเป็นต้องมีความอยากกระหายแบบนั้น เพื่อจะมากระตุ้นตัวเองให้ก้าวข้ามข้อกังขาในตัวเองที่มีอยู่ตอนนี้ให้ได้ แต่พอเริ่มอายุมากขึ้นความรู้สึกนั้นก็ค่อย ๆ หายไปทีละนิด ฉันไม่ได้อยากจะขึ้นเวทีไปแสดงต่อหน้าคนมากมายอีกแล้ว ฉันรักการทำเพลงในสตูดิโอ ที่ที่ฉันสามารถใช้ความคิดสร้างสรรค์และปลดปล่อยตัวเองได้เต็มที่ ฉันพบว่าการทำเพลงได้จากที่บ้านแล้วไปจบงานในสตูดิโอเป็นอะไรที่สนุกและตื่นเต้นมาก สำหรับอัลบั้มนี้ฉันว่าเพียงพอแล้วค่ะ

เบ็น: ในมุมมองของผม การกลับมาเล่นสดเป็นอะไรที่ยากขึ้นมากยิ่งผมมีภาวะแพ้ภูมิตัวเอง โดยเฉพาะช่วงยุคหลังโควิดเนี่ย ผมจะไม่โอเคมากถ้าเกิดว่าเราได้ไปเล่นในอารีนาใหญ่ ๆ แล้วเกิดต้องแคนเซิลทัวร์แบบกะทันหัน มันคงจะเกิดความยุ่งยากและน่าจะทำให้หลายคนไม่แฮปปี้ มันเป็นอะไรที่ไม่คุ้มเสี่ยง แต่ถ้าในมุมของความคิดสร้างสรรค์ ผมพบว่าการเล่นสดทำให้ศิลปินต้องย้อนกลับไปหางานเก่า ๆ เพราะแฟนเพลงคงจะอยากฟังเพลงฮิตของคุณ เขาอยากให้คุณเล่นเพลงที่เป็นเพลงโปรดของเขา ด้วยความเคารพครับ การที่กลับมาอยู่บนเวทีและเล่นเพลงฮิตจากเมื่อ 20 กว่าปีที่แล้ว ไม่ใช่สิ่งที่ดึงดูดใจพวกเราเท่าไหร่ อัลบั้มที่ผ่าน ๆ มาของเราได้รับความรักจากคนฟังมากมาย และเราเองก็ให้ความเคารพมัน แต่ในฐานะศิลปินเรารู้สึกตื่นเต้นกว่ากับการได้ทำอะไรใหม่ ๆ การได้เข้าสตูดิโอและได้ใช้ความคิดในการสร้างโปรดักชันใหม่ ๆ และมีซาวด์เอนจิเนียร์รุ่นใหม่ ๆ ที่กระหายจะร่วมงานกับเรา เราสนุกกับการได้สร้างดนตรีและเขียนเนื้อเพลงใหม่ ๆ ทำอะไรที่สดใหม่าตลอดเวลามากกว่า

เล่าถึงซิงเกิ้ลที่กำลังจะปล่อยพร้อมกับอัลบั้มให้เราฟังหน่อย

เบ็น: ‘No One Knows We’re Dancing’ เป็นเพลงกรูฟเบสที่เราทำเสร็จเป็นเพลงท้าย ๆ เลยมั้ง มันเป็นการวาดภาพผู้คนที่ผมพบเจอในช่วงที่ยังเล่นดีเจอยู่ตอนปลาย 90s ถึงต้น 2000s ทุกคลับเล็ก ๆ จะมีซันของมัน ก็คือจะมีตัวละครหน้าซ้ำ ๆ ที่แวะเวียนมาเจอกัน แล้วก็เริ่มทำความรู้จักกัน ผมพยายามเล่าเหตุการณ์นั้นให้เห็นภาพ เหมือนกับตอนที่ Lou Reed ในยุค 70s ที่เขาชอบไปนั่งที่มุมนึงของถนนในนิวยอร์กแล้วเขียนเพลงถึงคนที่เดินผ่านไปผ่านมา ผมอยากทำให้ภาพนั้น หรือสถานที่นั้นแจ่มชัดในเพลงของเรา ซึ่งมันสามารถนำเสนอความรู้สึกบางอย่างที่เอ่อล้นอยู่ในอัลบั้มของเรา ความรู้สึกที่เราโหยหาการกลับมาพบปะกันของผู้คน การเข้าสังคมกันอีกครั้ง ผมว่าเราทุกคนติดแหงกอยู่กับตัวเองนานเกินไปในช่วงโควิด เพลงของเราหลายเพลงในชุดนี้พูดถึงความโดดเดี่ยว แต่เพลงอย่าง ‘No One Knows We’re Dancing’ พูดถึงการมาเจอกันและได้ปาร์ตี้กันอีกครั้ง การมีปฏิสัมพันธ์กับคนที่คุณรู้จัก อันที่จริงอัลบั้มนี้มันเหมือนเป็นการพูดถึงโลกส่วนตัวและโลกข้างนอกไปพร้อม ๆ กัน มีทั้งเหงา ๆ อยู่แต่ในบ้าน กับได้ออกมาเที่ยวคลับ ธีมนี้มันถูกเล่าอยู่แทบทุกเพลงในอัลบั้มเลย

ให้วงเลือกอีกเพลงที่อยากแนะนำจากอัลบั้มนี้มาเล่าให้เราฟัง

เทรซี่: ‘When You Mess Up’ เป็นเพลงแรกที่พวกเราเขียนด้วยกันจริง ๆ ในอัลบั้มนี้ พอเราเขียนเสร็จก็มองหน้ากันแล้วบอกว่า นี่เป็นครั้งแรกในรอบ 22 ปีที่พวกเราได้จบเพลงด้วยกันเลยนะ (หัวเราะ) ซึ่งมันก็กลายเป็นเพลงที่มีความสำคัญอยู่เหมือนกัน เพลงนี้เกิดขึ้นตอนล็อกดาวน์ เบ็นเริ่มทำเพลงโดยเขาวาง iPhone ไว้กับขอบเปียโนแล้วอัดเสียงที่เขาเล่นอิมโพรไวส์ ไม่ได้ตั้งใจเขียนเป็นเพลงด้วยนะทีแรก แล้วพอเราจะเริ่มทำเพลง เบ็นก็เอาที่อัดสั้น ๆ อันนี้ให้ฉันฟัง ประมาณนาทีครึ่งเองมั้ง มันฟังดูไม่เหมือนใครดีและฉันว่ามันเพราะมาก ฉันก็เอามาเขียนเนื้อเพลง ซึ่งบางคนคิดว่าฉันพูดถึงลูก ๆ แต่อันที่จริงมันคือฉันเขียนถึงตัวเอง ให้คำแนะนำตัวเองในสิ่งที่ฉันเพิ่งคิดได้ แล้วก็เกี่ยวกับความอดทนและให้อภัยตัวเองตอนที่พัง ๆ ในช่วงนึงของชีวิตที่ไม่รู้จะต้องหันไปทางไหน หรือไม่รู้ว่าอะไรที่จะเข้ามาอิรุงตุงนังอีก

ชอบเพลงไหนที่สุดในอัลบั้ม

ทั้งคู่: เราชอบหมดเลย! (หัวเราะ)

ฝากถึงแฟน ๆ

เบ็น: ขอบคุณทุกคนมากครับ เราดีใจที่ได้รู้ว่ามีแฟนเพลงอยู่ในทั่วทุกมุมโลก ถ้าย้อนกลับไปในช่วง 80s ฟิลิปปินส์เป็นประเทศเดียวที่เราปล่อยซิงเกิ้ล ‘Cross My Heart’ และเพลงนั้นเป็นหนึ่งในเพลงโปรดของพวกเรา ซึ่งเราก็ได้รับความรักจากคนที่นั่นอย่างล้นหลาม รวมถึงคนอีกมากมายจากทั่วทุกมึมโลก

เทรซี่: มันน่าทึ่งมากที่ทุกคนได้มาพูดคุยกับเราในวันนี้ มันสุดยอดมากจริง ๆ ขอบคุณสำหรับทุกอย่างเลยค่ะ

อัลบั้ม ‘Fuse’ จาก Everything But The Girl เปิดให้พรีออเดอร์ได้แล้ววันนี้ https://ebtg.lnk.to/Fuse-PreOrder และจะพร้อมให้ฟังทุกช่องทางในวันที่ 21 เมษายนนี้

+ posts

อิ๊ก นักเขียนสายดนตรีที่เกือบจะต้องวางมือ แต่คงหนีไม่พ้นเพราะยังอยากพูดถึงวงและเพลงดี ๆ ต่อไปเรื่อย ๆ

Related Articles

This website uses cookies to improve your experience. We'll assume you're ok with this, but you can opt-out if you wish. Accept Read More

Privacy & Cookies Policy