มาฟังพวกเขาเล่าเบื้องหลัง ‘Chalawan Sound’ อัดแน่นซาวด์ 60-70s ที่ H 3 F หลงใหล

by Montipa Virojpan
1.6K views
H 3 F Chalawan Sound

H 3 F กลับมาแล้วในอัลบั้มที่ 3 ‘Chalawan Sound’ พร้อมกับการก้าวมาเป็นศิลปินเบอร์ล่าสุดของ NewEchoes ที่การเป็นศิลปินมีค่ายก็ไม่ได้ทำให้ตัวตนของพวกเขาเปลี่ยนแปลงไปแต่อย่างใดอย่างที่ใครเข้าใจ แต่เป็นเหมือนบัตรผ่านไปสู่การได้ทำอะไรในสิ่งที่ตัวเองอยากทำได้อย่างเต็มที่มากขึ้น รวมถึงการลับคมทางประสบการณ์การทำเพลง และเก็บวิชาเล่นสดมาจนได้ที่ ทำให้พวกเขากล้าที่จะลองถ่ายทอดซาวด์ช่วงยุค 60-70s ที่ชื่นชอบมานาน ออกมาเป็นเพลงกลิ่นอายเรโทรร่วมสมัยในแบบของพวกเขาเอง มาฟังพวกเขาทั้งสี่คนบอกเล่าเบื้องหลังการทำงานในอัลบั้มชุดใหม่ ที่ไม่ได้มีอะไรเกี่ยวข้องกับจระเข้สักนิด… เอ่า แล้วมันเกี่ยวกับอะไรกันแน่ เลื่อนลงมาอ่านกันในย่อหน้าถัดไปได้เลย 

ฟังอัลบั้ม ‘Chalawan Sound’ จาก H 3 F ได้แล้ว ที่นี่

H 3 F

ถ้าไม่เกี่ยวกับจระเข้ แล้ว ‘Chalawan Sound’ มันมาจากอะไร 

ก้อง: ความจริงชื่อมันเอาฮาเลย เราทำอัลบั้มนี้ไม่ได้คิดธีมกันเยอะ แต่ผมกับเพื่อน ๆ มองว่ามันจะออกไปในทาง 60-70s ที่มาคือวันนั้นไปเล่นคอนเสิร์ต ก็มีรุ่นน้องมาถามว่าอัลบั้มใหม่จะมารึยัง จะใช้ชื่ออะไร ผมก็ตอบไปฮา ๆ ว่า ‘Chalawan Sound’ แล้วน้องก็รีแอ็กแบบฮา แล้วดันชอบด้วย เราก็คิดว่า เอ้ย หรือว่าได้วะ น้องมันก็บอกว่าได้อยู่นะ เรารู้สึกว่าคำว่า ‘Chalawan Sound’ มันได้ aesthetic ของวงไทยยุค 70s อยู่ พวกฟังก์โบราณ ๆ คงหนีไม่พ้นกลิ่นนี้เท่าไหร่ แล้วก็ดูกวน ๆ ดีด้วย 

วิดิโอเปิดตัวก็เลยไปถ่ายที่ฟาร์มจระเข้

ก้อง: พี่จั๊มป์ พี่ในค่ายเขาก็คิดคอนเซ็ปต์นี้มาเลยว่า อะ ไหน ๆ มึงจะชาละวันแล้ว มึงชอบจระเข้ใช่มั้ย งั้นก็ไปฟาร์มเลยสิ เราก็แบบ เอาดิพี่ แล้วที่ดั๊บเสียงเข้าไปก็เหมือนรายการทีวีสมัยก่อน พยายามทำทุกอย่างให้เป็น 70s wannabe กัน 

ซาวด์ที่โดดเด่นในอัลบั้มชุดนี้

ก้อง: เครื่องเป่าก็มีมาตั้งแต่อัลบั้มแรก แต่อัลบั้มนี้เพิ่มออแกนเข้ามาเยอะมาก เข้มข้น เรากดกันเสียหลักเลย เป็นคัลเลอร์ที่ต่างจากอัลบั้มอื่นที่ไม่มีเลย เราทำทุกอย่างให้มันได้กลิ่นของยุคนั้น ผมชอบ Curtis Mayfield ฝั่งโซลฟังก์หน่อย ก็อยากลองทำเพลงแบบนี้มานานแล้วด้วย แต่ไม่เคยกล้าทำ (ปิง: หลายอย่าง มีเพิ่มพวกเพอร์คัสชันด้วย) ผมว่าวิธีอัดก็แก่นะ recording process เราไม่ได้อัดแบบเดิม ซาวด์เอนจิเนียร์ก็พยายามทำการบ้านว่าถ้าเกิด 60-70s อยากได้โทนอย่างนั้นต้องอัดยังไง พยายามใส่แต่ทุกอย่างที่เราเล่นเข้าไปในการอัด ไม่ใส่อะไรที่เราไม่เล่น ก็แอบสนุกที่ได้ลองทำอะไรแบบนั้น 

หม่อม: เหมือนพยายามทำให้เอาไปเล่นสดได้ด้วย

แม็กซ์: จริง ๆ วิธีการอัดแบบนี้มันก็เป็นเหมือนแนวซาวด์ของวงอยู่แล้ว

อะไรที่ทำให้ทีแรกไม่กล้าทำเพลงยุคนั้น

ก้อง: มันเป็นวุฒิภาวะในการเล่นดนตรีของเราเองมากกว่ามั้ง ที่ผ่านมาแค่ไม่มั่นใจในตัวเองทั้งสกิล ทั้งความเข้าใจ ความกล้าที่จะทำเพลงแบบนี้ออกมา เหมือนเราชอบคนนี้มาตั้งแต่เด็ก แต่ในสิ่งที่จินตนาการกับสิ่งที่เราอยากทำมันยังมีเส้นกั้นในการทำให้มันเป็นจริงได้อยู่ มันก็ต้องใช้เวลา แบบ โอเค เราคงเก็บประสบการณ์มามากพอแล้วมั้ง ตอนนี้ถึงเวลาทำอะไรที่ชอบแล้วหรือยัง ถ้าชอบก็ทำไปเลย ผมไม่เคยใช้เสียงร้องแบบนี้ก็ลองดู

ปิง: ใช่ อย่างเพลงที่เราเคยฟัง เหมือนคนพวกนั้นเป็นแรงบันดาลใจ เราชอบ John Mayer ชอบ Eric Claption แต่ไม่กล้าทำเพลงแบบนั้นเพราะกลัวทำแล้วจะทำไม่ถึง หรือด้วยปัจจัยหลายอย่าง แต่พอมาตอนนี้เราก็รู้สึกว่า ควรจะทำได้ตั้งนานแล้วนี่หว่า

วงเป็นศิลปินอิสระมาตลอด ทำไมตอนนี้ถึงมาอยู่ค่าย

แม็กซ์: ตังค์หมดครับ เอาจริงอัลบั้ม 3 พวกผมอยากโตขึ้นทั้งภาพและเสียง จากอัลบั้ม 1 กับ 2 ก็ลองมาเยอะ อัลบั้ม 3 เหมือนมีมิวสิกวิดิโอ ‘Cultivation’ มาก็ทำให้เรารู้สึกว่า เออ ต้องจริงจังขึ้น ไม่อยากกลับไปทำอะไรโฮมเมด (ก้อง: ทำมาเยอะแล้ว) มันก็ไม่ได้รู้สึกว่าจะโตแบบที่เราคาดหวังไว้

ปิง: จริง ๆ มันมีหลายเรื่อง เรื่องอัดอะไรด้วย เราทำกันเองมาเยอะพอแล้ว

ก้อง: ทำต่อเองก็ได้แต่มันเหนื่อยเกิน เพราะพวกผมต้องทำงานหาตังค์มาหมุน แล้วพูดถึง mv ‘Cultivation’ ตัวนั้นมันเป็นเหมือนตัวเปิดสไตล์เพลง ทิศทาง aesthetic ทั้งอัลบั้มเลย แล้วตอนนั้นก็จำได้ว่าช่วงอัลบั้ม 2 NewEchoes เคยมาคุยกับเรา แล้วเราปฏิเสธไปเพราะก็ทำกันเองมาครึ่งอัลบั้มแล้ว ก็ไม่อยากวุ่นวาย อยากให้มันจบไปในอัลบั้ม 2 แต่แล้วก่อนอัดอัลบั้ม 3 หลายเดือนเลย หลังกลับจากไต้หวัน คุยกับแม็กซ์ว่าไม่ไหว คิดว่าอัลบั้มนี้ถ้าอยากให้สุดต้องมีค่ายว่ะ ที่ตัดสินใจอย่างนั้นคือถ้าอิมเมจที่วงเราอยากไปต่อมันมีค่าใช้จ่ายเยอะมาก ๆ แล้วพวกผมทำได้ก็กลัวไม่สุด แล้วคิดว่ามันเหนื่อยเกินไป ตอนนี้รู้สึกแก่แล้วด้วยมั้ง จริง ๆ ยังไม่แก่หรอก แต่อยากเอาพลังไปทำอะไรที่เป็นเรื่องเป็นราวหน่อย ทิศทางของค่ายเขาก็เข้าใจในสิ่งที่เราทำ ไม่ห้ามอะไรเลย อันนี้ดีมาก ๆ 

H 3 F

พอเปลี่ยนวิธีการอัดแล้วเจอความยากไหม ได้ตรงกับที่หวังไหม

ก้อง: ผมว่าเครื่องดนตรีมันก็เท่าเดิมนะ แต่พวก accessories มันอาจจะเปลี่ยน วิธีการเล่นอาจจะต้องละเอียดขึ้น วิธีการเลือกของ อะไรมาแบบ พยายามปั้นซาวด์กัน 

แม็กซ์: ผมก็พยายามเลียนแบบจากเพลงยุค 60-70s ตามคอนเซ็ปต์อัลบั้มแหละ มันก็ไม่ได้ถึงขนาดเขาแต่ก็กลายมาเป็นแบบเราไปเลย ถ้าคาดหวังไว้ 100% ก็คงได้ 80-90% 

ก้อง: ผมว่าถามจากใจเรา ถามว่าชอบสุด ๆ ไหม ชอบสุด ๆ แล้ว แต่มันยังไม่เหมือนที่จินตนาการไว้ 100% แต่ก็ไม่ใช่ในทางที่ไม่ดีนะ แต่ความคาดหวังที่พวกเราตั้งกันไว้เอง เล็งไว้ร้อยแล้วอาจจะได้มาแค่ 89-90% ซึ่งเผลอ ๆ อีก 10% มาจากความประสาทแดกของเราเองด้วย เหมือนมันไม่ได้ยากเรื่องการอัด แต่อาจจะยากเรื่องการเพอร์ฟอร์ม เราพยายามเมคชัวร์ว่าใช่อย่างที่เราชอบจริง ๆ ไหม มันเป็นทุกอัลบั้มเลย ไม่ว่าจะทำอัลบั้ม 1 2 3 ตั้งอะไรไว้มันก็จะได้ไม่สุด ผมว่ามันเป็นในมุมของคนทำอยู่แล้วว่ามันจะเกลียดตัวเองนิดนึงอะผมว่า ลำบากใจตรงนั้นมากกว่า

แม็กซ์: เอาจริงนะ ถ้าเราไปทำอัลบั้ม 4 แล้วกลับมาฟังอัลบั้ม 3 เราอาจจะแหยงก็ได้

ตอนนี้มองกลับไปที่ ‘Family Product’ หรือ ‘UNEMPLOYMENT’ แล้วรู้สึกยังไงบ้าง

หม่อม: ณ ตอนนั้นก็โอเคนะ แต่มาตอนนี้มันจั๊กจี้

ก้อง: โอ้โห สุด ๆ ทุกอย่าง ร้องเหี้ยอะไรของมึงเนี่ย แต่ถามว่าภูมิใจไหม เรารักเพลงพวกนั้นมากนะ เพราะมันก็พาเรามาตรงนี้ได้ มันแค่เหมือนเจอรูป hi5 ตัวเองอะ

แม็กซ์: ถามว่าตอนนั้นเราภูมิใจกับรูป hi5 ที่เราลงไหม โห ก็โคตรภูมิใจ (หัวเราะ) ตามวัย 

Track by Track

ก้อง: พวกผมเหมือนเป็นพวกที่ทำอัลบั้มจบปุ๊บแล้วก็หาอะไรทำต่อทันที ดังนั้นมันจะเหมือนส่งไม้ต่อไปเรื่อย ๆ อยู่แล้ว อย่าง ‘Chalawan Funk’ ก็เป็นไอเดียที่คา ๆ กันเอาไว้ตั้งแต่อัลบั้ม 2 ไม่เคยหยิบเอามาทำเป็นเรื่องเป็นราวกัน จนเราทำ ‘Cultivation’ ต่อ ก็รู้สึกว่า เออ ได้ว่ะ

แม็กซ์: พอย้อนกลับไปดูเพลงที่อยู่ในสต๊อกก็รู้สึกว่า เอ้ย แม่งก็ใกล้เคียงกับอันนี้นี่หว่า กลิ่นเดียวกัน ดนตรีมันชัด แต่มีแค่เพลงเดียวที่มันแตกต่าง ก็คือ ‘Catwalk’ มันจะไม่แก่มาก มีความดิสโก้อยู่

Chalawan Funk 

ก้อง: ผมคิดว่าผมอยากทำดนตรีแบบนี้ ด้วยสไตล์ของฟังก์เนื้อเพลงมันจะไม่ใช่ตัวเด่น เหมือนจะเป็นแค่ไวบ์หรือบรรยากาศของเพลงกำหนดด้วยคำอะ ว่ามึงแฮฟฟัน มึงเรโทร ปลดปล่อยความรู้สึกนั้นได้ งั้นเราก็เขียนเป็นแค่ก้อนอารมณ์นั้นดีกว่า แล้วความตั้งใจคือให้เป็นแค่ไวบ์เลย ไม่ใช่ให้อินกับเนื้อเพลง หรือรู้สึก ถ้ารู้สึกก็ดี แต่เมนโฟกัสคือเป็นเพลงแรกของอัลบั้ม อยากให้ได้กลิ่นของธีมมากกว่า แต่วิธีคิดเนื้อเพลงให้เข้ากับดนตรีอาจจะมีคนทำได้ แล้วทำได้เยอะด้วย ผมแค่ไม่สามารถ เนื้อเพลงก็เลยไม่มีอะไรเลย บอกแค่ว่าเราอย่าเพิ่งหมดหวังในความรักของเราเอง คือมันตรงไปตรงมามาก

So Long

ก้อง: ด้วยเพลงมันเป็น doo-wop 60s เพลงเก่า ๆ ที่ผมชอบยุคนั้นเขาก็ติดเขียนแบบ cheeky มาก มันจะเว่อร์ ๆ ไปเลย มันกวนตีนได้ ขี้เล่นได้ เราเลยแบบ อะได้ ลองแบบนี้ดูละกัน ผมก็อยากแต่งเพลงแอบรักฮา ๆ ซักอันนึง ลองดูว่าเล่นกับอะไรแบบนี้ได้ไหม ส่วนตัวก็รู้สึกว่าได้ เมโลดี้ เนื้อร้อง คอร์ดมันไปด้วยกัน เวลาร้องมันก็แฮปปี้ กวนตีนดี พยายามให้เป็นเพลงแอบรักในมุมที่อยากติดตลกในหลาย ๆ ประโยค หลาย ๆ คำพูด

Remembering You 

ก้อง: มันเป็นเพลงเศร้า พูดถึงคนที่ไม่อยู่แล้ว ไม่ได้เป็นคนรักที่จากเราไปแต่คือคนที่ไม่ได้หายใจแล้ว เป็นครอบครัว เป็นอะไรมากกว่า ก็ลองเอาโน่นนั่นนี่มาจากคนรอบตัวที่ช่วงนั้นเจอบ่อย ๆ เหมือนกับคนเหล่านั้นเขาต้องมีกระบวนการคิด วิธีการที่เขาจะรับมือกับการสูญเสียคนในครอบครัวไปยังไง จัดการกับความรู้สึกยังไง ส่วนใหญ่ที่ผมเจอคือเขาทำอะไรไม่ได้แหละ แต่เขาจะคิดว่าถึงตัวเขาไม่อยู่แล้ว เขาก็จะอยู่ในความทรงจำเรา ผมก็เลยคิดว่าถ้าวันนึงในครอบครัวมีใครเป็นอะไรขึ้นมาก็คงเสียใจอยู่ดี แต่อาจจะไม่ได้หมดหวังขนาดนั้นเพราะผมรู้สึกว่าเขาอยู่กับเราอยู่แล้ว

Catwalk 

แม็กซ์: จริง ๆ เพลงนี้ใหม่สำหรับพวกเรา พวกเอเลเมนต์ต่าง ๆ ในเพลง คีย์บอร์ดตัวนึงที่ตั้งอยู่ในห้องที่เราจะซ้อมเฉย ๆ แล้วปิงหยิบมาเล่น

ก้อง: ตอนจะซ้อมอะ ภูมิถือกีตาร์เข้ามาละ ผมก็ถือกีตาร์เข้ามา ไอ้ปิงก็แบบ เอ่า กูไม่เล่นละ หยิบคีย์บอร์ดมากด

ปิง: เพราะรู้สึกว่าวันนั้นที่ทำเพลงอะ ภูมิก็เป็นคนเล่นกีตาร์อยู่แล้ว ก้องก็เล่นกีตาร์ แล้วถ้าผมหยิบมาอีกอันนึงมันก็จะยากในการแบ่งงานกัน คงเป็นกีตาร์ฮีโร่เลย ผมก็เลยรู้สึกว่าถ้ามันมีคีย์บอร์ดก็ลองมากดเล่นไหม แล้วมันเป็นคีย์บอร์ดอะไรก็ไม่รู้ ของ Nissin Cup Noodle 700 บาท (ก้อง: แต่มันต่อเข้าลำโพง ได้เสียง แว้ง ๆๆ อยู่นะ) ก็คือเสียงตอนแรกในเพลงเลยเป็นเสียงคีย์บอร์ดอันนี้ กับท่อนหลัง ๆ ที่กดย้ำ ๆ มันก็แปลก เพราะพวกเราไม่เคยใส่อะไรแบบนี้เข้าไปเลย

แล้วเวลาเล่นสดใครจะกดคีย์บอร์ด 

ปิง: ไม่รู้ (หัวเราะ)

ก้อง: ยังไม่เคยเอาไปเล่นสดเลย เดี๋ยวค่อยคิดอีกทีว่าจะทำยังไง ไม่งั้นเดี๋ยวบนเวทีมีกีตาร์สามคน (หัวเราะ) แต่ตอนทำเพลงนี้ชิลนะ วันแรกก็แทบจะเป็นรูปเป็นร่างเสร็จแล้วอะ ตอนเขียนเนื้อเพลงผมนัดเขียนกับภูมิทีหลัง เรายังไม่ได้คิดเลยนะว่าเพลงนี้จะเกี่ยวกับอะไร แต่ชอบไวบ์หมดแล้ว แล้วมันมีประโยคนึงที่ภูมิร้องมาว่า ‘Whatever you want, whatever you need’ ที่ร้องเปิดมาเลย รู้สึกว่าเข้าปากมากเลย เก็บไว้ก่อนได้ไหม เวลาคน mumble ออกมาบางทีมันก็ได้เลย เราก็รู้สึกว่าอันนี้ได้แล้ว ไม่ต้องทำให้มันยากเกินไป แล้วก็ไม่อยากทำให้มัน specific จัด ๆ แล้วตอนผมตั้งชื่อเดโม่ในโทรศัพท์เวลาอัดเสียงใน iPhone ผมตั้งชื่อว่า ‘Catwalk’ เพราะมันมีความรู้สึกเหมือนเพลงเดินแคตวอล์ก เดินแบบอะ แล้วตอนหลังก็นึกถึงเรื่องคนเดี๋ยวนี้เขาทำอะไรก็ได้เพื่อให้สังคมยอมรับ ซึ่งเราจะเจอการกระทำที่เบียว ๆ ฮา ๆ ไม่เข้าที่เข้าทางที่เราชอบเห็นกันบ่อย ๆ แล้วผมรู้สึกอยากแซวมันนิดนึง ด้วยสองประโยคนั้นที่ภูมิร้องมาเราก็เอามาสร้างเป็นเรื่องเล่าประมาณนี้ว่า ‘Give me all your love’ แต่ไม่มันใช่ความรักแบบนั้น มันคือ ‘I need your attention’ กูต้องการแสงมาก แบบ โอเค งั้นเราเล่นอย่างนี้เลย สร้าง narrative มาจากสองประโยคแรกแล้วเล่นกับเรื่องที่อยากเล่า กับชื่อ ‘Catwalk’ มันก็ฮาดี

ทำไมชวนภูมิมาเล่นด้วย

ก้อง: ส่วนตัวชอบเพลงภูมิอยู่แล้ว แล้วก็เห็นหน้าค่าตากันมานาน เล่นดนตรีกันมาตั้งแต่ผมยังอยู่วงเก่า แล้วก็ชอบมันเขียนเนื้อด้วย เราเลยถามว่าแจมสักเพลงไหม อยากเล่นกีตาร์ให้มึงร้อง มันก็บอกเอาดิ เราก็งงเหมือนกัน ฮาดี โฟลวจนรู้สึกว่าชุ่ยปะวะ นี่กูเผาปะเนี่ย (แม็กซ์: แบบเพลงที่ได้มาคือชอบมากแล้ว) แต่มันดี ครีเอทิฟมาก

Tonight เห็นบอกว่าเป็นหนึ่งในเพลงที่ชอบที่สุดในอัลบั้ม

ก้อง: ผมชอบเพราะว่าเป็นเพลงที่น่าจะได้เล่นกีตาร์หนำใจด้วยคอร์ดมัน ด้วยสไตล์ของเพลง มันเหมาะกับการที่ผมจะไปยืนเล่นกีตาร์ อยากโซโล่ คันอะ แต่ว่าเนื้อเพลงชอบเหมือนกันเพราะเป็นเพลงสุดท้ายที่แต่งเพลงในอัลบั้ม ฟุ้งซ่านอยุ่ช่วงนั้น เนื้อเพลงจะพูดถึงความเป็นวัยทองวัยรุ่นสูง หลายคนที่เรารู้จักที่ทำงานสายครีเอทิฟทุกคนมัน struggle กับความคิดนี้มาก แล้วเราเองก็รู้สึก ศิลปินเขา struggle กับความที่ต้องเชื่อในแพชชันเขาเพื่อที่จะไปสู่สิ่งที่หวังไว้ ผมว่าคนวัยเราตอนนี้ก็รู้สึกกันเยอะ ถึงมันจะดูไม่คิดอะไรเลยเรื่องนี้แต่จริง ๆ เขาเครียดแล้วก็คิดเยอะกันมาก หรือบางทีการจะตกตะกอนออกมาเป็นคำพูดอะไรบางทีมันก็มีราคาที่ต้องจ่ายเยอะเหมือนกัน

แล้วเราก้าวผ่านความรู้สึกแบบนั้นมาได้ยังไง

ก้อง: ก็ไม่ทำยังไง ใช้ชีวิตต่อไป มีโกลต่อไป อันนี้ส่วนตัวผมแค่รู้สึกว่าหลับ ตื่นมา แล้วก็ไปต่อ บางทีทำอะไรไม่ได้ มันไม่มีคำตอบให้ในตอนนั้นหรอก

แม็กซ์: ถ้าเป็นผมก็ฟังเพลง มันก็ต้องมีมุมของตัวเองให่ได้บ้าบ้าง รั่ว ดูดปุ๊น ดูคอนเสิร์ต เล่นกับแมว บางทีอะไนแบบนี้มันก็เป็นเซฟโซนของเรา 

หม่อม: มันก็มีช่วงให้คิดแหละ แต่เดี๋ยวตื่นมาแล้วมันก็ลืมอยู่ดี ก็ต้องใช้ชีวิตต่อไป

ก้อง: เป็นกำลังใจให้ทุกท่านที่อาจจะได้อ่านบทสัมภาษณ์นี้ เราก็ไม่รู้เหมือนกันว่าจะทำยังไงเวลาเกิดความรู้สึกแบบนี้ (หัวเราะ)

Cultivation 

ก้อง: ทรงการทำงานเหมือนตอนทำกับภูมิเลย ชิลมาก นัดมาวันแรกก็ได้เลย 

แม็กซ์: จริง ๆ จะได้อีกเพลงนึงแต่เราไม่เอาเพราะมันฝืนเกิน 

ก้อง: อีกเพลงมันเป็นเพลงที่พยายามจะมีตัวตนโดยไม่มีสาเหตุ เหมือนอยากเอาชนะตัวเองว่าอยากได้สองเพลง แต่มันไม่ได้ จริง ๆ มันได้แหละ แต่มันฝืนไป มันไม่หนุก

หม่อม: แต่พี่เบนมาวันแรกเหมือนเซนส์เขาดีมากเลย เมโลดี้อะไร คำพูด ได้หมดเลย 

ก้อง: เหมือนเขา mumble คำออกมาเยอะ แล้วก็มีวันนึงเขาคุยกับผม บอกชอบคำว่า ‘Cultivation’ แบบเขาไปเจอมา แล้วเพลงนี้เขาเขียนเนื้อหนักกว่าผมอีก ผมเขียนแค่เวิร์สเดียวแล้วที่เหลือเขาซัดหมดเลย อย่าง ‘Catwalk’ พูดเรื่องคนที่ต้องการเรียกร้องความสนใจ แต่ ‘Cultivation’ เล่นกับคนที่เชื่อโดยไม่ตั้งคำถาม บางทีเราปล่อยให้บางความคิดความเชื่อมันครอบงำเรานานแค่ไหนก็ไม่รู้โดยที่เราไม่เคยตั้งคำถามกับมันบ้างเลยหรอ เนื้อเพลงไม่ได้ออกมาในเชิงชี้หน้าสอน แต่ narrative เขาเป็น double meaning อ่านหนึ่งครั้งแต่เราจินตนาการได้สามเรื่องเลย ผมชอบวิธีที่เขาเล่นประโยค เล่นคำ ยิ่งท่อนแร็ปสุดท้ายอะ เขาเป็นคนเขียนเนื้อปั่นไปในทางที่เท่ (หม่อม: เสียงเขาโคตรเท่ด้วย) เข้าใจใช้คำ ใช้คำน้อยแต่ลีดให้เราคิดต่อได้เยอะมาก แล้วชอบคอนเซ็ปต์ที่เขาเล่าด้วย เท่ครับ

Red Not Blue 

ก้อง: เป็นเพลงที่ผมมีโอกาสได้แต่งเพราะสองปีก่อนมันมีงานรำลึก 6 ตุลา เขาติดต่อมาถามว่าอยากร่วมแคมเปญแต่งเพลงไหม ตอนนั้นผมปากแซ่บเรื่องการเมืองหนัก หัวร้อน ผมแบบ ได้ ไม่เคยแต่งเพลงแบบนี้มาก่อนเลย ถ้าฟังมาทั้งหมดจะเจอเพลงรักชิล ๆ ไม่ได้พูดเรื่องคอขาดบาดตาย แล้วพอได้โปรเจกต์นี้มาปุ๊บก็ตื่นเต้นมากเพราะต้องไปเล่นงานรำลึก ก็ลองแต่งดู แต่งเต็มที่ เต็มความสามารถ ตั้งใจแต่งมาก มันเป็นความโกรธอะไรส่วนตัวด้วย เราเศร้าเสียใจเวลาไปหาอ่านก็ยิ่งดาร์กเข้าไปใหญ่ ก็พยายามเล่าเรื่องคน 6 ตุลาตรง ๆ พยายามเขียนให้รำลึกถึงเพื่อให้ยังรู้ว่า เลือดมึงไหลออกมาไม่ใช่สีอื่นต่างจากกูเลย พูดด้วยความโกรธแหละว่าทำไมคนเราไม่เห็นคนเท่ากัน เป็นการเขียนให้เกียรติกับเขาเหล่านั้นที่อุดมการณ์ของพวกเขาอะ คนรุ่นเรายังสานต่ออยู่เลย ท้ายเพลงผมเขียนให้มันเข้ากับชื่อแคมเปญเขาว่า ‘พบกันเมื่อฟ้าสาง’ เพราะคืนวันที่ 5 ตุลากับเช้ามืด 6 ตุลา วันนั้นมันเป็น prime time ว่าเขาจะโดนล่อแล้ว ผมก็เอาตรงนั้นมาขยายความ กลายเป็นว่าผมมานั่งมองเพลงนี้ว่าถ้าไม่ใช่เหตุการณ์ 6 ตุลา มันก็เทียบได้เป็นหลายเหตุการณ์เลย ไม่ว่าจะเทียนอันเหมิน หรืออะไรก็ตามแต่ เคสคล้ายกันเลย ผมรู้สึกรักเพลงนี้เหมือนกันนะเพราะมันทำให้ผมกล้าพูดเรื่องอะไรแบบนี้มากขึ้น

มีเพลงไหนในอัลบั้มที่ชอบเป็นพิเศษอีกไหม

แม็กซ์: ผมชอบ ‘Get Back’ รู้สึกว่ามันค่อนข้างที่จะลงตัวกับการเล่นด้วย แล้วเล่นแล้วรู้สึกว่าโอเคกับมันมาก เหมือนผมชอบเพลงช้าด้วยมั้ง ชอบเพลงที่ไม่ได้เร็วมากแล้ว ส่วนตัวเป็นคนฟังเพลงช้า ๆ ไปแล้ว ก็เลยชอบ ‘Get Back’ ที่เข้าใจง่าย ร้องตามได้ง่าย ๆ 

หม่อม: ผมชอบ ‘So Long’ ชอบเมโลดี้ที่ฟังได้ง่าย ๆ แล้วสามารถติดหูเราได้เลย 

ปิง: ผมชอบ ‘Chalawan Funk’ ครับ เพราะตอนที่ทำเพลงนี้ไม่ได้คิดว่ามันจะออกมาเป็นในรูปแบบนี้เหมือนกัน เพราะส่วนตัวผมชอบ Santana แล้วการทำเพลงนี้เหมือนได้เอาอะไรที่เป็น Santana พวกเพอร์คัสชันมาอยู่ในนั้น ได้เป็นเพลงของพวกเราสักที มันสนุก

H 3 F

พอ H 3 F พูดเรื่องการเมืองเยอะมากขึ้น มันกระทบกับงานของเราบ้างไหม 

ก้อง: ก็ไม่โดนอะไรนะ ด้วยแวดวงที่เราอยู่มันก็ไม่ได้เมนสตรีมจ๋าเลยไม่ได้ส่งผลในวงกว้าง

คิดว่า pop culture ส่งผลอะไรกับการเชปความคิดหรือชี้นำอะไรให้สังคมได้ขนาดไหน

ก้อง: ผมว่าได้ แล้วผมรู้สึกว่าเป็นหน้าที่ของศิลปินที่จะทำอะไรเพื่อสังคมที่เขาอยู่ด้วย เพราะผมว่าสังคมที่มันเจริญแล้ว ศิลปินจะกล้าเล่นตลกกับทุกเรื่อง เขาจะกล้าพูดในสิ่งที่เขาควรจะพูดได้ ผมว่าพวกความคิดแบบอำนาจนิยมเก่า ๆ มันก็อยู่แฝงมากับการควบคุมศิลปะว่ามึงต้องเสพอะไรไม่เสพอะไร รู้สึกอะไรไม่รู้สึกอะไร การที่ pop culture เรากล้าพูดเรื่องที่กว้างมากขึ้น หรือเรื่องที่คนไม่กล้าตั้งคำถามมากขึ้น มันอาจจะ offend หลาย ๆ คน หรือไม่ offend ใครเลย ผมรู้สึกว่าคนมีสิทธิที่จะพูด แล้วคนที่เป็นศิลปินอะ คุณทำมันออกมาในงานได้ รู้สึกอะไร อยากทำอะไร ก็หยิบมาใส่ในเพลงของเราได้โดยที่ไม่ต้องรู้สึกว่าเพลงวงผมจะต้องพูดแค่เรื่องนี้หรือธีมนี้เท่านั้น ผมรู้สึกว่ามันสบายใจและมันกว้างกว่า สมมติผมเป็นคนฟังแล้วสังคมทุกวันนี้ศิลปินมันกล้าแต่งเพลงอะไรแบบนี้ออกมาเยอะขึ้น ผมว่าแม่งยิ่งกว่าส่งผลอะ มันเชปวิธีคิดคน คนเสพอะไร กินอะไรเข้าไป มันก็เป็นอย่างนั้น ถ้าสังคมเรามันไม่แพร่หลายในการเสพศิลปะหรือสร้างศิลปะอะ ความคิดคนมันจะไม่กล้าลองผิดลองถูกอะไรเลย โคตรสำคัญเลย

พูดถึงโปรเจกต์ Sloppy Groove กันหน่อย มีหลายวงดนตรีมากที่อยากเล่นเพลงออริจินัลของตัวเอง แต่ทำไมเราถึงยังเล่นวงคัฟเวอร์อยู่ 

ก้อง: ยังอยากเล่นคัฟเวอร์อยู่ ชอบด้วย รู้สึกว่าได้เล่น เพราะถ้าได้เล่นแค่งานวงก็คงเฉาตายนิดนึง (หม่อม: เพราะเราก็เริ่มมาจาก Sloppy Groove ก่อน) เราก็เริ่มมาจากการเล่นร้านเนี่ยแหละพี่ ก็เหมือนได้ซ้อมกันด้วย

H 3 F

หลังจากนี้มีแพลนอะไรอีกบ้าง

ก้อง: เดี๋ยวมีไปเล่นญี่ปุ่น สิงคโปร์ แล้วก็ไต้หวันครับ หมดก็อยากเก็บอินโด ฟิลิปปินส์ เกาหลี แล้วก็อยากทำอัลบั้มใหม่แต่ขอพักแปปนึง อยากลองไปทัวร์ฝั่งที่ไม่ใช่ South East Asia ดูบ้างครับถ้ามีโอกาส

วงพูดมาตลอดว่าที่ทำเพลงภาษาอังกฤษเพราะมันทำให้ไปได้ไกลกว่าในประเทศ ตอนนี้ยังคิดเหมือนเดิมไหม

ก้อง: คิดเหมือนเดิมครับ มัน break the barrier ได้จริง ไม่ใช่แค่เรื่องภาษาด้วย อย่างตอนนั้นค่ายนึงเขามาคุย เขาก็มี offer มาแล้วดีลมันก็ดีในบริบทนั้น ๆ แต่โกลที่อยากได้กับสไตล์การทำงานที่อยากทำมันไม่ตอบโจทย์กันเลย แต่ NewEchoes สบายใจกว่า ตอนส่งอัลบั้มนี้ 10 เพลงให้เขาฟัง ผมก็คิดแล้วว่าถ้าเป็นค่ายอื่นต้องมีผู้หลักผู้ใหญ่มาจูงมือกูล้านเปอร์เซนต์ ไม่มีสิทธิ์ตัดสินใจอะไรเองได้ 100% แน่ ๆ อันนี้ค่ายไม่ยุ่งเลย ผมก็ตกใจเหมือนกัน เอาเล้ย เอาดิ ก็ช็อก ๆ ก็มันดี สนุก

ในบรรดาประเทศที่ไปเล่นมา ชอบที่ไหนมากที่สุด

ก้อง: ไปไต้หวันกับฮ่องกงมา (หม่อม: ที่ฮ่องกงคนเพิ่งเคยมาดูมันก็มี) ก็น่าจะชอบไต้หวัน ฮ่องกงมันเป็นโชว์เคสอะ ไม่ได้บอกว่ารักไต้หวันมากกว่านะ แต่คือมีคนซื้อบัตรมาดูเรา 

แม็กซ์: คนโคตรจอยอะ ทำขนมมาให้ด้วยนะ (ก้อง: น่ารักมาก ร้องได้ทุกเพลง จอยกว่าคนไทย ผมช็อกเลย) รอบนี้มีคนส่งสตอรี่ เมสเสจอะไรพิมพ์มาในโพสต์ของวง บอกว่ารออยู่ที่ไต้หวันนะ แบบ คนที่นั่นเขาอินเราจัด 

ตอนที่ไปทัวร์มีวีรกรรมอะไรกันบ้าง

หม่อม: ไปไต้หวันครั้งแรก ผมน่าจะกินเบียร์เยอะ (ก้อง: ไม่น่าจะอะ เยอะมาก) แล้วผมไปกระโดดใส่พุ่มไม้ แต่ตอนนั้นผมไม่รู้ตัวแล้วนะว่าทำอะไรแบบนั้นอะ ภาพตัดไปแล้ว 

แม็กซ์: แล้วผมก็ตื่นมาเว่ย ในห้องแบบมีกิ่งไม้ใบไม้อะไรเยอะแยะวะ แล้วเห็นมันตื่นมาถลอกทั้งตัวเลย

ปิง: หน้ามีแผลด้วย (หม่อม: กิ่งไม้ทิ่มอะ) แล้ววันนั้นผมไม่ได้อยู่ด้วย ผมตกเครื่อง พาสปอร์ตหมดอายุ ไม่รู้ว่าเวลาจะบินพาสปอร์ตมันต้องอย่างน้อย 3 หรือ 6 เดือนเนี่ยแหละ แล้วก็วันเดียวกันกับที่หม่อมโดดพุ่ม พี่เอ็กซ์เขาก็อยู่วง ทำของหาย

หม่อม: เหมือนเขาลืมแว่นตกไว้

แม็กซ์: แล้วเราไปเล่นอีกเมือง ค่อยกลับมา แว่นยังอยู่ที่เดิม

ก้อง: เขาไม่มีโจรอะ ไม่มีคนเก็บขยะด้วยตรงนั้น 

แม็กซ์: แต่ไต้หวันนี่คือชอบมากเลยนะ เดินได้ชิล

หม่อม: เหมือนญี่ปุ่นเลย 

ปิง: สะอาดด้วย 

แม็กซ์: แต่ตอนนั้นที่เราไปซ่ากันที่เกาสง มันก็คือเชียงใหม่ของบ้านเขาอะ 

ก้อง: น่ารักดี เหมือนไปนั่งไอริชบาร์แบบเคาน์เตอร์ไม้ ป้าเขาน่ารักดี ชวนคุย เปิดเพลงวงในร้านอีก อะไรก็ไม่รู้

ตั้งแต่อัลบั้มแรกมาจนถึงตอนนี้ สิ่งที่เราได้เรียนรู้ในฐานะการเป็นนักดนตรีคืออะไรบ้าง 

แม็กซ์: เรื่องการทำเพลง เราฟังในฐานะนักดนตรีที่มันมีเลเวลอะ อย่างเช่นสมมติผมเลเวลนี้ แล้วผมฟังเพลงอย่างเดียวไม่ได้ทำดนตรี ก็จะไม่รู้เลยว่ากว่าจะได้โพรเซส กว่าจะได้ซาวด์ที่เราต้องการ แม่งต้องใช้ความเชี่ยวชาญหรือความรู้อะไรขนาดไหน พวกเราเลยมองไปถึงอัลบั้ม 1 EP หรืออัลบั้ม 2 แล้วรู้สึกไม่ชอบมัน เพราะ ณ ตอนนี้อะ ในปัจจุบัน เรารู้มากกว่าตอนนั้นแล้ว เราก็จะมีความรู้สึกว่า ‘เหี้ยเอ๊ย อยากกลับไปแก้ว่ะ’ อะไรแบบนั้นมากกว่า เป็นเรื่องชั่วโมงบินที่ต้องเก็บเกี่ยวเรื่องความรู้ โทนเพลง อะไรแบบนี้

ปิง: เหมือนตอนเราทำอัลบั้มแรก เครื่องไม้เครื่องมือเราก็ใช้เท่าที่มี เราก็รู้เท่านั้น แต่พออัลบั้มสองสาม ทำมากขึ้น เหมือนเราเข้าใจเครื่องมือนั้นมากขึ้นกว่าตอนที่รู้จักมันครั้งแรก ก็รู้สึกว่าเรามีประสบการณ์ในการทำดนตรีที่มันดีมากขึ้น ในการไมค์กิ้งเราก็รู้จักการเลือกใช้ไมค์ หรือว่าเลือกใช้ฮาร์ดแวร์ต่าง ๆ เข้าใจมันมากขึ้น 

หม่อม: วิธีการเล่น การนำเสนอออกมาในแบบของตัวเอง ก็ตั้งใจมากขึ้น กล้าเล่นมากขึ้น 

ก้อง: ของผมก็ไม่ต่างกับคนอื่น คิดว่าตัวเองอาจจะมีวุฒิภาวะทางการเล่นดนตรีมากขึ้น วุฒิภาวะในการฟังว่าอันนี้ดีกว่า ในรสนิยมของตัวเอง แล้วก็แจมกันมากขึ้น การตัดสินใจเลือกอะไรกัน เห็นตรงกันไปในทิศทางเดียวกันมากขึ้น

H 3 F

ฝากผลงาน 

แม็กซ์: ขอฝากมิชลุยครับ (หัวเราะ) ล้อเล่น ฝากผลงานอัลบั้มที่สามของพวกเราครับ ‘Chalawan Sound’ มีทั้งหมด 10 เพลง ก็เพลงที่พวกเราประกอบสร้างกันมา บางเพลงก็เนิ่นนาน บางเพลงก็แปปเดียว บางเพลงก็ได้มาแบบที่งง ๆ แต่พวกเรารู้สึกแฮปปี้มาก เรื่องซาวดก็ตั้งใจทำกันมาก ๆ ครับ

ก้อง: หวังว่าทุกคนจะมีความสุขกับอัลบั้มของพวกเรานะครับ 

ฟังอัลบั้ม ‘Chalawan Sound’ จาก H 3 F ได้แล้ว ที่นี่

+ posts

อิ๊ก นักเขียนสายดนตรีที่เกือบจะต้องวางมือ แต่คงหนีไม่พ้นเพราะยังอยากพูดถึงวงและเพลงดี ๆ ต่อไปเรื่อย ๆ

Related Articles

This website uses cookies to improve your experience. We'll assume you're ok with this, but you can opt-out if you wish. Accept Read More

Privacy & Cookies Policy