‘ชาวดนตรีเชียงใหม่’ กลุ่มคนที่อยากเห็นเชียงใหม่เป็นเมืองดนตรีที่ยั่งยืน

by Montipa Virojpan
800 views

เชียงใหม่ เมืองใหญ่อีกแห่งหนึ่งของไทยที่ได้ชื่อว่าเป็น ‘เมืองดนตรี’ เพราะนอกจากจะมีซาวด์พื้นบ้านอย่าง ‘โฟล์กเมืองเหนือ’ ของตัวเองแล้ว ยังมีร้านดนตรีสดและนักดนตรีอยู่มากมาย เป็นเช่นนั้นอยู่หลายสิบปี นักท่องเที่ยวที่มีความชื่นชอบในดนตรีจึงเลือกเชียงใหม่ให้เป็นจุดหมาย และการท่องเที่ยวที่มีดนตรีมาข้องเกี่ยวก็เริ่มได้รับความนิยมขึ้นเรื่อย ๆ เห็นได้จากร้าน งานดนตรีและมิวสิกเฟสติวัลที่เกิดเพิ่มขึ้นในเชียงใหม่ทุกปี

แต่อันที่จริงแล้ว เชียงใหม่ก็มีปัญหาที่ถูกซุกไว้ใต้พรมนานเป็นสิบ ๆ ปีเหมือนกัน นั่นคือจะทำยังไงให้คนในสายอาชีพดนตรีสามารถหารายได้อย่างเป็นธรรม รวมถึงต่อยอดความสามารถจากสิ่งนี้ได้อย่างยั่งยืน และยังมีอีกหลายคนที่ไม่รู้ว่าเชียงใหม่มีศิลปินที่ไม่ได้เล่นแค่เพลงคัฟเวอร์แต่ทำเพลงของตัวเองเหมือนกัน แล้วทำได้ดีด้วย 

COSMOS Creature เลยถือโอกาสพูดคุยกับคนในอุตสาหกรรมดนตรีเชียงใหม่ทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลัง ที่มารวมตัวกันเป็นกลุ่ม ‘ชาวดนตรีเชียงใหม่’ ด้วยความตั้งใจที่อยากให้อุตสหกรรมดนตรีเชียงใหม่อยู่ได้ด้วยตัวเอง และมีอำนาจในการต่อรองกับนายทุนและภาครัฐมากขึ้น เพื่อการสร้างโมเดลธุรกิจและสนับสนุนความสามารถของศิลปินได้ในระยะยาว โดยตัวแทนที่มีแบ่งปันเนื้อหาการประชุมครั้งที่ผ่าน ๆ มากับเราคือ เอิง จาก TEMPO.wav และ เฟนเดอร์ จาก Solitude is Bliss/ View From the Bus Tour ชื่อที่เราคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี

ชาวดนตรีเชียงใหม่

กลุ่ม ‘ชาวดนตรีเชียงใหม่’ เกิดขึ้นมาตอนไหนและใครเป็นตัวตั้งตัวตี

เฟนเดอร์: มันเกิดขึ้นมาจากความตายของพี่เอก พี่เอกเป็นมือแซ็กคนนึงในเชียงใหม่ เล่นประจำหลาย ๆ วง หลาย ๆ ที่ เล่น North Gate ด้วย แล้วเวลาไปไหนเขาจะติดแซ็กของเขาไปเล่นดนตรีด้วย ถ้าไม่มีคนให้ไปเล่นแกก็จะไปหาที่เป่าของแก บางทีลานท่าแพ บางทีดอยสุเทพ 

เอิง: เล่นทุกที่ ทุกแนวดีกว่า แบบว่าไม่ได้จำกัดความเลยว่าตัวเองเล่นแซ็กต้องอยู่กับชาวแจ๊ส เป็นคนของสาธารณะจริง ๆ อยู่เชียงใหม่ต้องได้เจอพี่เอก ทุกที่

เฟนเดอร์: คนไม่เคยมาเชียงใหม่ก็เคยเจอแก (ยิ้ม) เสร็จแล้วพอแกเสียไป มันก็มีปรากฏการณ์ที่ชาวนักดนตรีเชียงใหม่มารวมตัวกันที่งานศพพี่เอก มีทั้งที่บางคนรู้จักกันดี บางคนรู้จักกันแต่ก็ไม่เคยทำอะไรด้วยกัน บางคนเห็นหน้ากันเฉย ๆ รู้ว่าอยู่เชียงใหม่มานานแต่ไม่เคยได้รู้จักกันมาก่อน บางคนก็บาดหมางกันมาแล้วอะไรแบบนี้ ซึ่งถ้ารวมก็เป็นพันสองพันคน (เอิง: เป็นเฟสติวัลได้เลย) ความเศร้าโศกเยอะ วันเผาก็มีอาสาหมู่บ้านมาคุยว่า เกิดมาไม่เคยไปงานศพที่คนเยอะขนาดนี้มาก่อน งานสส.ยังไม่เยอะขนาดนี้ แล้วเล่นดนตรีแข่งพระสวดด้วย (หัวเราะ) หลังจากแกเผาสองอาทิตย์มั้ง ก็มีงานรำลึกเขาครั้งแรก ก็มีคนดนตรีมาร่วมคล้าย ๆ งานศพแหละ แต่จัดเป็นงานรื่นเริงเล่นดนตรีแล้วให้คนเข้ามาดูด้วย จบจากงานนั้นยังรู้สึกว่าอยากคุยอะไรกันสักอย่าง ก็ไปต่อกัน

เอิง: ที่บ้านที่พี่เอกเช่าไว้ตรงท่าแพ แถวถนนราชดำเนินซอย 1 เป็นที่ที่ทุกคนจะมานั่ง ๆ นอน ๆ พักผ่อนได้ หรือจัดงานดนตรีได้

เฟนเดอร์: เราไม่เคยไป เพิ่งไปวันนั้นครั้งแรก แล้วก็มีคนทักว่า ถ้าพี่เอกไม่ตายคงไม่ได้เห็นอะไรแบบนี้ เหมือนคนที่ปกติเคมีน่าจะไม่เข้ากันก็มารวมตัวกัน แล้วพี่เอกเขามีฟังก์ชันแบบไหนถึงทำให้เรามาเจอกันได้ แล้วก็ได้คุยกันว่าช่วงเวลาที่ผ่านมาที่เราไม่ได้เจอกัน มันคืออะไรที่ทำให้รวมกันไม่ได้

เลยเปรียบเทียบกันว่าถ้าพี่เอกเป็นเชียงใหม่ แล้วเชียงใหม่ขาดอะไรถึงทำให้คนดนตรีรวมตัวกันไม่ได้ คนก็มีความ specialized มีชั่วโมงบิน มีประสบการณ์ของตัวเองในวงการที่เกี่ยวกับดนตรีเยอะแล้ว แต่ทำไมเชียงใหม่ถึงยังใช้คำว่า ‘เมืองปราบเซียน’ ในแง่ดนตรี แล้วก็มีคนพูดให้ฟังว่าในโมเดลเมืองดนตรีอย่างเช่นพอร์ตแลนด์ โอเรกอน ที่อเมริกาเนี่ย หรือที่อื่น ๆ เขามีขาของคนท้องที่ที่อยู่ในอุตสาหกรรมและระบบนิเวศดนตรีประมาณนี้ แต่เชียงใหม่เราไม่มีอะไรแบบนี้

‘เมืองปราบเซียน’ หมายถึงยังไง 

เฟนเดอร์: ง่ายมาก ไม่มีอำนาจในการปกครองตัวเอง ไม่ได้รับการกระจายอำนาจมาจากกรุงเทพ ฯ เลยไม่สามารถหาทุน หรือออกแบบพัฒนาเมืองด้วยตัวเองได้ ก็คือสถานการณ์เหมือนกันทุกจังหวัด แต่เชียงใหม่มันชัดเพราะว่าเป็นหัวเมือง ข้ออ้างที่จะบอกว่ามันขาดก็ชัดกว่าจังหวัดอื่น มีอยู่ทางเดียวก็คือไปแบบตัวใครตัวมัน มันเป็นแบบนั้นมาโดยตลอด

ก็เลยปิ๊งกันขึ้นมาว่านี่อาจจะเป็นภารกิจสุดท้ายของพี่เอกว่า กูอุตส่าห์รวมพลให้พวกมึงขนาดนี้แล้ว ให้พวกมึงมาคุยกันซะ สงสัยถึงเวลาแล้วมั้ง มันอาจจะช้าแต่ก็ให้เริ่มทำซักที มาคุยกันว่าอะไรที่เราขาด ตั้งเป้าหรือว่าสร้างวิสัยทัศน์ที่มันชัดมาก ๆ หรือว่าเราตั้งอะไรคล้ายสมาคมดี แต่ไม่อยากใช้คำว่าสมาคมเพราะเรามีอคติแบบเก่าอยู่ เวลาได้ยินคำว่าสมาคมแล้วเราก็จะขนลุกกัน ถ้าไม่แก่ก็เป็นผักชีโรยหน้า หรือไม่ก็มียศฐาต่าง ๆ สุดท้ายมันก็คงจะเป็นกลุ่มอะไรสักอย่าง แต่เราเอาเรื่องแอ็กชันมาก่อนที่เราจะเขียนว่าเราคืออะไร หลักการ โครงสร้าง มันคือยังไง เราเริ่มทำเลย

เดือนแรกเรารวมคนมาแล้วนั่งประชุมกันให้ได้จุดอ่อน ข้อด้อย สถานการณ์ของแต่ละกลุ่ม ทั้งกลุ่มจัดงาน กลุ่มศิลปิน กลุ่มซัพพลายเออร์ เอนจิเนียร์ แมเนจเมนต์ กลุ่มเจ้าของสถานที่ เราอยากจะได้ยินปัญหาที่มีร่วมกัน ครั้งแรกส่วนตัวก็รู้สึกว่าตื่นเต้นมาก ๆ เพราะไม่เคยเห็นคนแต่ละกลุ่มมาอยู่รวมกันแบบนี้ มีคนทำงานพัฒนาเมือง ช่วยเหลือแรงงาน เป็น NGO เข้ามาร่วมด้วย เมื่อก่อนมันจะแยกขาด นักดนตรีก็คือนักดนตรี NGO ก็เป็น NGO พวกเจ้าของร้านก็เป็นบอสไป ไม่เคย normalize การอยู่ด้วยกันว่าคุณก็คือส่วนหนึ่งในทั้งหมดทั้งมวลนี้เหมือนกัน แล้วแต่ละคนพอเล่าถึงข้อจำกัดของตัวเอง ก็เลยสรุปสิ่งที่เราขาดออกมาได้ชัด ๆ ว่า เราขาดเรื่องแหล่งทุน กฎหมาย การจัดการ มาร์เก็ตติ้ง เวิร์กช็อป อัพสกิล ทำให้รู้ว่างานหลาย ๆ งานที่อยู่ในอุตสาหกรรมนี้มันคืองานจริง ๆ จะได้เอาไปบอกพ่อแม่ว่าอันนี้เป็นงานได้นะ ไม่ใช่แค่หนูชอบศิลปินคนนี้ หนูเลยไปช่วยงานเขา 

เอิง: ปัญหามันเยอะ แต่เหมือนมันเป็นบทสนทนาที่คุยกันในวงเหล้า วงเล็ก ๆ เฉพาะกลุ่มกันมานานแล้ว วันนั้นเหมือนวงบำบัด ทุกคนได้มาแชร์ปัญหากัน ศิลปิน มนุษย์ซาวด์ ผู้ฟังต้องเจอกับอะไร มันแทบจะไม่ต้องใช้เวลามาก สรุปกันในครั้งแรกครั้งเดียวแล้วคือทุกคนอยู่ในหน้าเดียวกันหมดเลย

สิ่งที่หลายคนทำอยู่ อย่างกลุ่ม Stereo Sapiens เกิดจากการรวมกันของศิลปินเป็นหลัก การแบ่งพาร์ตความเป็นศิลปินกับการต้องจัดงานมันเป็นสมองคนละซีก แล้วพอคนในทีมเป็นศิลปินหมดเลยมันก็มีปัญหาเรื่องการจัดการ แม้กระทั่งการพีอาร์ตัวเอง พอมาเป็นสื่อก็ไปต่อลำบาก AR ในจังหวัดมีอยู่แค่ 2 คน อย่างคนทำซาวด์ก็จะบอกว่าช่วงหน้าพีค ไฮซีซัน ซาวด์เอนจิเนียร์ขาดมาก ไม่รู้ที่อื่นเป็นด้วยไหม แต่เชียงใหม่หากันยากมาก มันเป็นเมืองมหาลัย และเท่าที่สัมผัสกันมามันก็มีคนสนใจด้านดนตรีเยอะ แต่มันไม่มีภาพของอุตสาหกรรมดนตรีหรือระบบนิเวศที่ชัดเจน บางทีศิลปินหรือคนนอกวิชาชีพเขาก็ไม่รู้ว่าจะไปที่ไหนถ้าเขาอยากจะไปต่อในสายนี้

เฟนเดอร์: เหมือนไอเดียนี้มันฝังอยู่ในความคิดความอ่านของคนที่อยู่ในวงการเชียงใหม่ แต่มันไม่ได้พูดออกมาสักที เหมือนทุกคนจมอยู่ในภวังค์ของความไม่กล้าหวังอะไรอีกแล้วมานาน

เอิง: ตอนนี้เหมือนว่าทุกคนอยากให้ลุยเหอะ ทำเหอะ

แต่ ‘ปราบเซียน’ ในมุมเราคือ ผู้จัดดังที่ไม่ใช่คนเชียงใหม่ขึ้นมาจัด แต่บัตรขายไม่ออก

เอิง: คนนอกที่เข้ามาจัดงานมักจะมีคำถามว่าโปรโมตได้ที่ไหน โปสเตอร์ไปติดที่ไหนใด ๆ ต้องไปเจาะเด็กกลุ่มไหน ข้อมูลพื้นฐานพวกนี้ถ้าเราสร้างจาก user จริง ๆ จากการที่คุณอยากรู้ ถ้าคุณเป็นผู้จัดเราจะอยากรู้อะไร ช่องทางการเข้าถึงกลุ่มไหนมันอยู่ตรงไหน ลิสต์ที่ติดโปสเตอร์บางกลุ่มที่เป็นผู้จัดเซียน ๆ หน่อยเขาก็เริ่มมีแล้วนะ มันแค่ต้องเอามาพูลกันเอง

เมืองกำลังโต การท่องเที่ยวดีขึ้น แต่วงการดนตรีไม่โตขึ้น

เอิง: นักท่องเที่ยวเยอะขึ้นมากทุกปี ๆ แต่ค่าตัวนักดนตรีไม่เพิ่ม

เฟนเดอร์: เชียงใหม่ใช้คำว่า ‘เมืองดนตรี’ มานานแล้วถ้าเคยได้ยิน แต่เมืองมันไม่ได้ส่งเสริมคุณภาพชีวิตให้กับคนสร้างสรรค์จริง ๆ มันคือหนึ่งงานจบแล้วก็ตัวใครตัวมัน คุณภาพสถานที่เพอร์ฟอร์มไม่ได้ดีขึ้น เพราะไม่ได้เกิดจากวงจรที่ดีสักที ไลฟ์เฮาส์ไม่มี ประกวดวงดนตรีก็หาย ไม่มีเวทีเปิดหมวกที่ดี แต่ตอนนี้เป็นสิ่งที่พี่ชา Harmonica Sunrise เขาเริ่มทำอยู่ คนรุ่นใหม่ก็ไม่มี คนที่ทำอยู่แล้วก็ไม่สามารถพัฒนางานตัวเองให้ลึกกว่าเดิม

เอิง: ทุน เราจะไปหาทุนที่ไหนวะ หรือว่าสกิลแบบพูด outside in นิดนึง ความเป็นนักธุรกิจมันไม่มี มันก็ไปต่อลำบาก มันไม่ยั่งยืน ทำ ๆ ไปแล้วสุดท้ายจะปราบเซียนด้วยข้อจำกัด ความถึงเพดานบางอย่าง หรือ resource บางอย่างที่เราไม่รู้จะไปหาที่ไหน

เฟนเดอร์: ในมุม original music ส่วนตัวคิดว่าเชียงใหม่ขาดมาตรฐานการคอมโพสที่สูง มันยังไม่มีสถานที่หรือมาตรฐานที่สูงพอ ทำให้คนรู้สึกว่าเราทำพื้นฐานตรงนี้ให้ดีก่อน ค่อยไปต่อยอดตัวเอง แม้แต่เทคนิค คุณภาพการอัด การสร้างสตูดิโอที่อัดเสียงมาตรฐานได้อย่างเบสิกที่สุดในห้องนอนตัวเอง มันยังไม่เกิดการกระจาย แต่ละคนเหมือนคลำทางกันมาเองตั้งแต่ 0

เอิง: คนทำเพลงหรือทำซาวด์เอง งมกันมาเองจนศักยภาพมาถึงจุดนึงแล้ว ของมันมีอยู่แล้ว แต่มันไปต่อไม่ได้ ขาดการต่อยอด

เฟนเดอร์: หมายถึงศิลปินน่ะอยากจะต่อยอด แต่มันไม่มีกลุ่มที่เป็น specialist ที่จะเอากูไปต่อยอดให้ แบบมีคนสร้างระบบให้แล้ว เรคคอร์ดเสร็จก็เอาไปทำต่อให้ ตอนนี้เหมือนศิลปินทำมาโดยรวมแล้วในจุดนึง แต่กูยังต้องทำเองอีกหรอวะ ก็ต้องใช้เวลาดันงานตัวเองต่อแทนที่จะไปโฟกัสเรื่องเพอร์ฟอร์ม หรือว่าเรื่องการอัดงานต่อไป

คนเชียงใหม่ไม่ยอมจ่ายเงินให้ดนตรี

เฟนเดอร์: ตอนนี้ก็ยังเป็นอยู่ 

เอิง: เรามีดนตรีสดเป็น default อันนี้เป็นเรื่องการเปลี่ยนทัศนคติบางอย่างมันต้องใช้เวลา ตอนนี้อาจจะถึงจุดที่มันดีขึ้นบ้างแล้ว

เฟนเดอร์: ตอนนี้ดีขึ้นแล้ว แต่มันอาจจะต้องคิดว่าทำยังไงให้คนใน ecosystem นี้ว่าอันนี้มันคือคีย์แหละ การทำเวทีสาธารณะให้เกิดขึ้นให้ได้ ถึงทำให้เกิดผลขึ้นมาทันทีไม่ได้ แต่ถ้าเห็นความจำเป็นแล้วช่วยกันทำให้มันเกิดผลแบบนี้ในอนาคต แล้วก็มีความสนับสนุนในใจ อย่างน้อยก็คงไม่ตั้งคำถามว่าจะทำไปทำไม

เอิง: เหมือนเราลดช่องว่างระหว่างศิลปินกับคนฟัง การสื่อสารอาจจะทำผ่านเวทีสาธารณะก็ได้ หรือเปิดหมวกก็ได้เพราะมันมีอิมแพคโดยตรง ร้านอาจจะจัดให้ช่องว่างตรงนั้นลดลง คนอยากฟังก็ได้มาฟัง คนอยากคุยก็ได้คุย หรือแม้กระทั่งสื่อเอง มันมีสื่อที่ออกมาจากเสียงของเชียงใหม่ได้บ้างไหม หรือสื่ออื่นที่อยากมาขยี้เรื่องของศิลปินมากขึ้น มันก็ลดช่องว่างได้

เฟนเดอร์: ลดช่วงเวลาด้วย ตอนนั้นเราพูดถึงเรื่อง archive เชียงใหม่มีศิลปินที่คนรู้จักกันก็คือ จรัล มโนเพ็ชร เขาไอคอนนิกมาก ๆ แต่เรารู้จักชีวประวัติเบื้องลึกของเขาไหม ก็ไม่ เพราะว่าเราขาด archive ยกตัวอย่างเราเป็นยุค 2000s แต่กลายไปเป็นแฟน The Beatles ได้ไง คือเขามี archive เยอะมาก ชัดเจน เหมือนเราต้องเผื่อพื้นที่ให้แฟนที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอีก 5 ปีถึงแม้ว่าวงจะไม่ทำแล้ว หรือไม่ได้แอ็กทิฟบ่อยเท่าเมื่อก่อน มันสามารถอินหรือตกหลุมรักได้เหมือนวงใหม่ที่เพิ่งเกิดต่อหน้าต่อตาเด็กคนนั้นได้ด้วยการทำ archive เป็นบันทึกทางสื่อเอาไว้ 

เอิง: เหมือน time capsule เก็บเอาไว้ เราอาจจะต้องเปลี่ยน conscious listener ให้กลายเป็น music citizen  ชอบคำนี้มากการตระหนักถึงคุณค่าของดนตรีใด ๆ เป็นเรื่องที่ไม่ใช่เรื่องของคนใดคนนึง ต้องทำกันทั้ง ecosystem

คนเชียงใหม่ไม่ฟังเพลงที่คนเชียงใหม่ทำ

เฟนเดอร์: เพิ่งคุยเรื่องนี้กันไป การสร้างดีมานด์ทางวัฒนธรรม คือการทำสารคดี ทำมีเดียขยี้ ให้มันเชิดชูนิดนึง แต่ทีนี้พอพูดเรื่องไม่ยอมจ่าย พี่ชาก็ยกตัวอย่างมาว่าเราชินว่าดนตรีมันคือของแถม เราไปกินเหล้ากันแล้วได้ดนตรีเป็นของแถม ไม่จำเป็นว่าต้องชอบไม่ชอบวงนั้น

เอิง: บางคนไม่รู้นะว่า Solitude is Bliss มาจากเชียงใหม่ มีคนถามว่าจะมาเล่นเชียงใหม่เมื่อไหร่ 

เฟนเดอร์: กูขี่รถร่อนรอบคูเมืองประจำ

เอิง: ก็เป็นสาเหตุที่เกิด Chiang Mai Original นั่นแหละ สิ่งที่พี่ชาเคยพูดคือประมาณว่าหลายคนไม่รู้ว่าศิลปินในร้านเหล้าของเชียงใหม่เป็น original musician ทำเพลงกันหมดเลย ไม่ได้เล่นแต่คัฟเวอร์ ซึ่งอาจจะไม่ใช่เรื่อง common ในเมืองอื่น ๆ ก็ได้ เลยเกิดเป็นมูฟเมนต์ขึ้นมาว่า Chiang Mai Original นอกจากจะเล่นดนตรี เป็นนักดนตรี เขาก็เป็น artist ด้วยนะ ซึ่ง value creation ต่อเมือง ต่อบรรยากาศ ทุกอย่างมันคูณเข้าไปอีกเยอะมากนอกเหนือจากแค่นี้

เฟนเดอร์: เราไปเรื่องพื้นที่สาธารณะอย่างท่าแพล่าสุด ก็มีเด็ก ๆ อาจจะมีเพื่อนมันลากมาแค่คนเดียว แต่มันก็มาเป็นกลุ่มใหญ่ แล้วใส่ชุดนักเรียนมากันเลย แล้วสิ่งที่เราเข้าใจคือ มันแบบ โห เชียงใหม่มีแบบนี้ด้วยหรอวะ คนนี้คือศิลปินหรอ มันเหมือนเรามองข้ามจุดเชื่อมตรงนี้ไป 

เลยเป็นอีกสาเหตุที่ทำให้วงเชียงใหม่ระหกระเหินมาเล่นที่กรุงเทพ ฯ หรือไปสร้างชื่อที่ต่างประเทศก่อนถึงจะได้รับการยอมรับหรือเปล่า เช่น Solitude is Bliss, Yonlapa

เฟนเดอร์: เรื่องนี้มองว่าจำเป็นนะในบริบทที่รัฐเรายังไม่กระจายอำนาจ เพราะโครงสร้างเรายัง decentralize ไม่ได้ สิ่งที่จะทำได้ก่อนคือวัฒนธรรม สร้างดีมานด์ทางวัฒนธรรมที่เป็นส่วนภูมิภาคให้ได้มากขึ้น ถ้าจะสร้างตรงนั้นได้ก็ต้องผ่านสเต็ปนี้ เอาข้างในไปทำให้ข้างนอกยอมรับก่อนแล้วทำให้เกิดดีมานด์ข้างใน หรือในระยะไกลคือให้เด็กที่อินเพลงเชียงใหม่จากจังหวัดอื่น ๆ ภาคกลาง ภาคใต้ อีสาน แล้วแต่ มันรู้สึกอยากมาอยู่เชียงใหม่ เพราะว่าเห็นศิลปินที่ชอบมาจากเชียงใหม่เยอะ มันก็สามารถดึงให้ทรัพยากรคนมาอยู่ที่เชียงใหม่จะได้สร้างแรงกดดัน มาตกระกำลำบากร่วมกัน จะได้ช่วยการพัฒนาเมืองอีกที 

เอิง: เราย้ายมาอยู่เชียงใหม่เพราะเพลงนะ ความที่อยู่ดี ๆ รู้ว่าเขาอยู่นี่กันหมดเลยหรอวะ พวกศิลปินที่เรามีเพลงอยู่ในเพลย์ลิสต์ ก็เลยมา สนิมหยก View From the Bus Tour ใน Soundcloud

คนเชียงใหม่ที่อยู่ตอนนี้ก็ไม่ใช่คนเชียงใหม่แท้ ๆ ได้เอาวัฒนธรรมจากที่อื่นมาให้นิเวศตรงนี้ด้วย 

เฟนเดอร์: เนี่ยก็คนเชียงราย มาเชียงใหม่เพื่อจะมาทำเพลงเมื่อสิบปีก่อน หลาย ๆ ร้านก็คนต่างประเทศมาเปิด แต่ก็มีคนโลคัลมาเที่ยวด้วย ไม่ใช่แค่นักท่องเที่ยว โดยเฉพาะวัยรุ่นที่อยากจะคูล ไปกันเต็มเลย แล้วก็เด็กวัยรุ่นคูล ๆ ในกรุงเทพ ฯ สมัยก่อนเรามี Cheeze กันใช่มะ แต่เชียงใหม่ไม่มี แต่มีวัยรุ่นคูล ๆ เยอะมาก ถ้าสมมติว่าเรามีมีเดียที่สร้างขึ้นมาได้ทั้งดนตรี แฟชัน มันก็จะทำให้เด็กอยากจะถ่ายทอดตัวตนมากขึ้น ซึ่งเราถ่ายทอดตัวเองนั้นเด็กก็ต้องสนับสนุนสิ่งที่ตัวเองเห็นว่ามีมูลค่า 

เอิง: บางทีเป็นเรื่อง outside-in นะ อย่างตอนนี้เราที่เราเริ่มสื่อสารการมีอยู่ของมีนิเวศดนตรีแบบนี้ เราก็สามารถสื่อสารไปสู่ข้างนอกได้ สร้าง demand ให้เขาอยากเข้ามา การมีอยู่ของตรงกลางตรงนี้ (กลุ่มชาวดนตรีเชียงใหม่) มันเชื่อมทุกคนเข้าด้วยกัน เพราะหลาย ๆ อย่างมันถูกทำมาเป็น silo เยอะมาก หมายถึงทุกคนทำกันเองอยู่คนเดียว มันก็น่าจะดีถ้าทุกคนได้เห็นว่ามีใครทำอะไรบ้าง ได้มาเจอกันบ่อย ๆ เราเลยมีเหตุว่าจะทำยังไงก็ได้ให้ได้เจอกันทุกเดือน ทำให้มันต่อเนื่อง

ตอนนี้รู้สึกว่าไม่ค่อยมีมูฟเมนต์แบบ Minimal Records ที่มาทัวร์กรุงเทพ ฯ หลายปีก่อน แล้วทุกคนรอจะได้ฟังเพลงหรือมาดูโชว์ของวงจากค่ายนี้เสมอ

เฟนเดอร์: ในอนาคตเราคิดว่ามันจะมีกลุ่มคนทำเพลงที่สถานะเหมือน Minimal สมัยก่อนเพิ่มมากขึ้น เพราะว่ามันจะ crave ไม่ใช่แค่เด็ก ๆ แต่ผู้ใหญ่ด้วย เขาจะมองหาคุณภาพและการตกผลึกในงานตัวเองมากขึ้นกว่าเดิม แล้วอันนี้ไม่นับถึงคอมมิวนิตี ในวันนึงเขาเองก็จะต้องการระบบที่มันซัพพอร์ตมาก ๆ ยังไงก็ต้องมี ไม่บริษัทก็ค่ายเพลงที่จะเข้ามาซัพพอร์ตเรื่องเอกสาร หรือภาษีอะไรต่าง ๆ นานา เพราะว่าการเป็น indepentdent ไม่ได้ตั้งบริษัทอะไรมันจะยากชิบหายเลยพอมีเรื่องพวกนั้นเข้ามา แล้วถ้ามีคอมมิวนิตีตรงกลางเพื่อมาแชร์กันได้ เหมือนดัน เอามาโชว์กันว่าที่ฉันทำเพลงของฉัน ที่คุณภาพมันได้ขนาดนี้เพราะฉันทำแบบนี้ แล้วพอมันเกิดการแชร์ตรงกลางนี้แล้วเด็กคนนั้นก็จะเอาวิธีนั้นไปทำงานให้ได้คุณภาพที่ดีขึ้นในแบบของมัน 

เอิง: มองว่าซีนอินดี้มันใหญ่ขึ้นด้วย 10 กว่าปีที่แล้วมันอาจจะเหมือนว่า niche กันอยู่ประมาณนี้ แต่ตอนนี้ซีนอินดี้มันมีทั้งฮิปฮอป แร็ปเปอร์ แม้กระทั่งอินดี้โฟล์กอย่างเขียนไขและวานิชเขาก็ไปสร้างชื่อแล้วมาบูม เกิดเป็นมูฟเมนต์โฟล์กขึ้นมาอีก แต่ละค่ายเพลงก็อาจจะมีความสนใจในแนวดนตรีที่ชัดเจนขึ้น และโฟกัสเป็นเรื่อง ๆ ไป (เฟนเดอร์: โฟล์กมีกลุ่มเยอะมาก มีเขียนไข มีพี่บอย พี่เรืองฤทธิ์ พี่สายกลาง สุดสะแนน) Minimal ก็เติบโตในแบบของตัวเอง แต่นิเวศมันใหญ่ขึ้น ซีนมันใหญ่ก็มีผู้เล่นเพิ่มขึ้นด้วย คิดว่าเป็นธรรมชาติที่เขาก็มีโฟกัสของเขามากขึ้น เน้นเป็นโปรโมเตอร์เต็มตัว (เฟนเดอร์: ก็ดีที่ตรงนี้มีคนที่ถือเสาเรื่องนี้ไปเลย แลกเปลี่ยนวงระหว่างไต้หวันเชียงใหม่) อย่าง LABB Fest เขาก็เอา delegates ของต่างประเทศมาดูวงที่เชียงใหม่ มี music showcase ที่คอนเน็กกับซีนดนตรีในเอเชีย เขาก็เน้นเรื่องนี้ไปเลย เยี่ยมเลยนะ เป็นสิ่งที่ส่งต่อกันได้ 

คิดว่าปัญหาทั้งหมดทั้งมวลนี้ ‘ชาวดนตรีเชียงใหม่’ จะแก้ไขได้ยังไงบ้าง

เฟนเดอร์: เราตัดเรื่องกำลังจ่ายและการกระจายอำนาจออกไปก่อน อันนั้นเป็นตัวแปรใหญ่ เพราะฉะนั้นถ้าจะทำให้คนรู้สึกว่าต่อตรงกับดนตรีมากขึ้นโดยไม่มีเงื่อนไขว่ากูจ่ายค่าอาหารหรือค่าเหล้าไปแล้ว ก็ต้องเพิ่มเวทีสาธารณะหรือเวทีอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ร้านเหล้ามากขึ้น คือถ้าคุณจ่ายก็ต้องจ่ายมาเพื่อดนตรี ไม่ใช่เพื่ออย่างอื่น ควรมีพื้นที่เปิดหมวก แล้วก็ไลฟ์เฮาส์ทั้งหลาย เวทีสาธารณะสำหรับการประกวดวงดนตรีมัธยม การมี common space มากขึ้น 

ก่อนหน้านี้เราไม่มี common space ถ้าเรามีก็เชื่อว่าเด็กจะได้มาจอยกัน เรายังไม่ทันพูดถึงเรื่องดนตรีด้วยซ้ำ เด็กได้มีที่มานัดเจอหน้ากัน เด็กต่างโรงเรียนได้เจอกันโดยไม่ใช่เวลาเรียน ไม่ใช่เวลาร้านเหล้า ไม่ใช่ห้าง มีกิจกรรมตรงกลาง เด็กมันก็จำได้แล้วว่าอีเวนต์ดนตรีหรือวัฒนธรรมแบบนี้จะทำให้เรามาเจอกันได้ เพราะฉะนั้นมันเหมือนเราปลูกเมล็ดพันธ์ุไว้ในใจคน ถ้าเด็กมันได้ฝังเข้าไปในหัวใจแล้วว่ามันมีมูลค่าทางวัฒนธรรมนี้ อีกหน่อยถ้าเขา appreciate งานอะไรสักอย่างนึง เขาจะตัดสินใจจ่ายได้ง่ายโดยไม่มีข้อสงสัย อันนี้ก็เป็นอีกขานึงที่ต้องพัฒนาไปคู่กับโครงสร้างอื่น ๆ ต้องลองหาผลข้างเคียงที่มันจะตามมาในอนาคตเหมือนกัน

แล้วก็ต้องเพิ่มพื้นที่ดนตรีกลางวันด้วย เพราะว่าเมื่อก่อนมีเวทีประกวดดนตรีเยอะ แล้วเด็กจะไปรวมกันอยู่ตรงนั้น ตอนนี้ไม่มีเลย ตั้งแต่ยุคโควิด หลังนั้นมาก็หายไปหมดเลย กลายเป็นว่าเด็กถูกดันให้เป็นชายขอบไปซะงั้น เพราะผู้ใหญ่มองว่าเด็กมันมีโซเชียล มีโลกของมันแล้ว มันอยู่ของมันได้แหละ เลยมองข้ามพื้นที่ของเด็กพวกนี้ไปเลย รายการเด็กในทีวีแม่งก็ไม่มี เลยรู้สึกว่ามันมีแต่ร้านเหล้า แล้วมันมีเด็กที่อยากจะเสพ อยากจะเอาตัวเองไปมีประสบการณ์กับอีเวนต์หรือโชว์ต่าง ๆ อีกเยอะมาก แล้วตอน View From the Bus Tour ปล่อยอัลบั้ม ก็ทำ listening party ที่ร้านเหล้า เสร็จแล้วก็มีเด็กมาอยู่หน้าร้าน เข้าไม่ได้ มาส่อง ๆ อยากเข้าแต่อายุไม่ถึง เลยลองอีกที ไปจัดหลังมช. ที่ร้านสักร้านนึง จัดกลางวันวันอาทิตย์ตั้งแต่บ่ายสอง เด็กมากันอย่างเยอะ ขายดีกว่าที่ร้านเหล้าอีก ก็เลยเห็นชัดเจนว่าเด็กมันไม่มีที่ไป มันไม่มีตัวเลือก มันอยากจะ approach แต่มันไม่มีที่ให้เด็ก

เราต้องสร้าง demand ทางวัฒนธรรมจากส่วนภูมิภาคให้สูงขึ้น แล้วเราก็เลยรู้สึกว่า อันนี้สำหรับเราคนเดียวนะ เป็นทางและเครื่องมือที่แข็งแรงมาก ๆ ที่ตอบจุดประสงค์ของเราที่อยากจะ decentralize และสร้างแรงกดดันในการกระจายอำนาจออกมาจากส่วนกลางด้วยวัฒนธรรม แล้วถ้าสร้าง ecosystem ได้จริง ๆ จะดีมาก เราพูดเรื่องนี้กันมาเยอะแล้ว ถ้ามันแข็งแรงขึ้นเราจะมีอำนาจต่อรองได้เยอะขึ้น เรียกร้องให้ถนน มีระบบขนส่งสาธารณะได้มากขึ้น จัดการโครงสร้างภายใน เพราะว่าพอ demand ทางวัฒนธรรมเยอะขึ้น มันก็ดึงนักท่องเที่ยวที่อยากเสพวัฒนธรรมเข้ามาได้เยอะขึ้น มองแบบดิบ ๆ เลย นอกจากภาพที่เขาเห็นอย่างนั้นแล้วก็ต้องมีข้อมูลทางสถิติด้วยว่า ตั้งแต่ที่กูทำมาเนี่ย ตัวเลขของนักท่องเที่ยวเพิ่มเข้ามายังไง ความต้องการในการใช้จ่ายเงินมันเป็นยังไง นอกจากเรื่องเกี่ยวกับดนตรีแล้ว ร้านชำ งานคราฟต์ ของฝากในเชียงใหม่มีเปอร์เซ็นต์เติบโตตามมาจากแอ็กชันพวกนี้ยังไง

การมีข้อมูลทางสถิติและ metadata จะทำให้นายทุน ภาครัฐ ยอมจ่ายในราคาที่เหมาะสมและสนับสนุนเราได้ในระยะยาวจริงไหม

เอิง: ก็มีเวนิวหลัก ๆในเชียงใหม่ที่พยายามจะพุชบาร์แล้วเหมือนกัน เขากึ่ง ๆ พัวพันกับความเป็นนักดนตรี เป็นศิลปินที่รันกันมานาน ก็คุยกับร้านพวกนี้ เขาพร้อมที่จะซัพพอร์ตอยู่แล้ว แต่บางทีเขาเองก็มีปัญหาของตัวเองอย่างเช่นมาตรฐานเสียง มันมีหลายเรื่องที่สามารถต่อรองได้ให้คุณภาพเพิ่มขึ้น อันดับแรกแน่ ๆ ก็มีเรื่องค่าแรงนักดนตรี 

เฟนเดอร์: นอกจากข้อมูลเชิงสถิติก็มีข้อมูลเชิงความคิดเห็นด้วย อย่างเช่น townhall ที่คุยกันครั้งก่อน ๆ ซัพพลายเออร์ได้บอกความในใจ บางทีเราเอาเครื่องลงไปแล้วร้านบอกว่าทำไม่ดี แต่ความจริงแล้วมันคือข้อจำกัดของร้านที่ร้านไม่ยอมทำอะคูสติกรูมให้ดี หรือใช้เครื่องที่มีอยู่แล้วให้มันแมตช์กับเครื่องเขา แล้วเขาก็ถามว่าต้องทำยังไงบ้าง หลังจากนั้นเขาก็ไปปรับเลย นี่ก็เป็นตัวอย่างที่ดีว่าบางทีเรามีข้อมูลตรงกลางแล้วมันไม่ใช่ว่าเขาไม่อยากพัฒนา แต่เขาไม่รู้เฉย ๆ ว่าในมุมของมึงเป็นอย่างนี้หรอ ตอนนี้กูเข้าใจละ 

เอิง: Metadata หมายความว่าต้องใหญ่ ขั้นต่อไปคือตัวคูณ 4-5 อย่างในนิเวศนี้ที่มีเป็นทั้งนักดนตรี คนฟัง เวนิว ซาวด์ ซัพพลายเออร์อะ มันควรจะถูกรวมกันใน directory หรืออะไรบางอย่างที่คนทั่วไปเข้าถึงได้ หรือถ้าสื่อหรือใครอยากเอาข้อมูลตรงนี้ไปตีแผ่ต่อ marketeer คนไหน broker คนไหนอยากจะมาสเกาต์​ศิลปินใด ๆ ในนิเวศนี้ ก็สามารถเอาข้อมูลนี้ไปใช้ได้

เฟนเดอร์: ศิลปินต่างประเทศมาเชียงใหม่แล้วอยากไป featuring กับศิลปินหรือใช้ที่จัดอีเวนต์ ก็สามารถมาเซิร์ชตรงนี้ได้ นักท่องเที่ยวที่มาเชียงใหม่อยากรู้ว่าวันนี้มีวงเล่นที่ไหนบ้าง ก็สามารถดูปฏิทินของเมืองได้เลย มีเว็บไซต์แล้ว https://chiangmaioriginal.com/ ที่จะรวม metadata ใด ๆ 

เอิง: ซื้อโดเมนไว้นานแล้ว ก็ไม่รู้ว่าพวกเราเติบโตไวไหมนะ แต่เรื่องเหล่านี้มันถูกพูดคุยกันมาเป็นสิบปีแล้วเพิ่งมารวม เลยเร็วรึเปล่า ขี้อยู่ที่ปลายตูด ต้องเอาออกละ (หัวเราะ) ที่บอกว่าทุกคนมีปัญหาร่วม คิดว่าโฟกัสคือเรื่องมาร์เก็ตติ้งก่อน การเป็นกระบอกเสียง การจะโปรโมตอะไรได้สิ่งแรกที่ต้องมีก็คือ directory น่าจะเป็นหมุดก่อน แล้วช่วยกันปูให้มันมีอะไรเป็นรูปธรรมขึ้นมา ผ่านดาตาหรือใด ๆ ก็เป็น on-going อยู่ แล้วก็มีเรื่องการขาย ทำหน้าที่ขายยังไง เหมือนเป็น broker gateway นิดนึง เวลาเข้ามาเชียงใหม่ มีเฟสติวัลที่อื่นที่ไหนอยากมาจัดที่เชียงใหม่ต้องไปหาใคร อย่างงานเทศกาลศิลปะใหญ่จากกรุงเทพที่เพิ่งมาเชียงใหม่ปีนี้ เขาก็ไม่รู้ว่าจะไปถามใครนะ ต้องพุ่งไปที่บุคคลใดบุคคลหนึ่งที่อาจจะรู้ คิดเพราะฉะนั้นเป้าหมายปีแรกคือการสื่อสารให้คนภายในได้รับรู้ว่าถ้ามาเชียงใหม่ มาทำงานดนตรี ควรต้องมาหาใคร

สเต็ปต่อไปเร็ว ๆ นี้ของ ‘ชาวดนตรีเชียงใหม่’ จะทำอะไรบ้าง

เอิง: มีชาเลนจ์ประมาณว่า ทำไปเรื่อย ๆ แบบไม่เรื่อย ให้รู้สึกว่ามีหมุดหมาย ไม่งั้นความเคลื่อนไหวมันจะเนือยและจางหายไปกับกาลเวลาเหมือนที่ผ่าน ๆ มา

เฟนเดอร์: เดือนมกราคมจะมีเวิร์กช็อปคนเบื้องหลัง ซาวด์เอ็นจิเนียร์ กับสายทำ AR Manager จากกรุงเทพ ฯ แล้วก็เอาคนจากอุตสาหกรรมตรงกลางมาแชร์ มช. ก็จะให้ศิลปินไปเล่นในมหาลัยได้แล้ว รอคนจะมาเป็นทีมกลางทำแคมปัสได้ยังไง เราเองก็โหลดแล้ว

เอิง: การเวิร์กช็อปจะทำเป็นครั้ง ๆ ไป เพราะว่าจริง ๆ เร็ว ๆ นี้น้อง ๆ ที่อยู่ในชมรมดนตรี มช. เขาอยากเวิร์กช็อปเรื่องซาวด์มากเลย รีเควสต์มาเลยเรื่องการเป็นศิลปินต้องเริ่มยังไง ทำเพลงเอง solo artists ต้องทำยังไง มิกซ์เพลง (เฟนเดอร์: Music D.I.Y. 101) ความต้องการนี้ส่งต่อมาจากมอส ศิลปินอีกคนที่ทำห้องซ้อมแถวหลังมอเขาเองก็เจอเด็ก มช. เยอะ ก็ได้ข่าวเรื่องนี้มาว่ามันมีคนที่รอจะเรียนรู้สกิลพวกนี้อยู่เพื่อที่จะต่อยอดได้ 

เฟนเดอร์: สิ่งนี้น่าจะทำได้ในเร็ว ๆ นี้ แต่ถ้าสมมติในอนาคต การก่อตั้งสมาคมตรงกลางเมื่อไหร่ เราคงมีการตั้งบริษัทต่าง ๆ นานา แต่โมเดลที่มองไว้ก็คือมาส่งเสริมบุคคลเนี่ยแหละ อยากให้การสนับสนุนเข้ามา ทำยังไงก็ได้ให้กลุ่มสามารถอยู่ได้ด้วยตัวเองก่อน

เอิง: ตอนนี้มีพวกนักลงทุนหลายคนที่อินกับซีนดนตรีอยู่แล้วที่เขารอมาจ่ออยู่ ฉะนั้นน่าจะดีเพราะหลายคนก็มีโปรเจกต์ที่พร้อมจะ kickstart นานแล้ว แต่มันยังไม่ยั่งยืน รวมถึง Chiangmai Original เองด้วยที่เป็นอย่างนั้น มีทั้ง angel investor แล้วก็นักลงทุนจริง ๆ อย่างน้อยตัว Chiangmai Original น่าจะมีแนวทางที่ชัดเจนขึ้น

เฟนเดอร์: อย่างงานโฮะที่กำลังจะจัดถ้าสำเร็จลุล่วงไปได้โดยไม่มีดราม่าอะไรก็น่าจะเป็นการเริ่มที่ดี เป็นเครดิตที่ใหญ่อยู่นะ 

เอิง: เป็นมหกรรมที่รวมวงเชียงใหม่ 66 วง 11 วัน ตรง One Nimman พี่ชากับทีมเป็นตัวตั้งตัวตีตรงนั้น เน้นเอาดนตรีไปชนกับผู้คนในงาน Chiang Mai Secret ที่จัดอยู่แล้วของวันนิมมาน ครั้งนี้เป็นรอบที่ 3 แล้ว นอกจากนี้ ถ้าอยากมาเชียงใหม่ มีเทศกาลเปิดหมวก วันที่ 8-11 ธันวาคมที่ผ่านมา ช่วงนั้นอีเวนต์เยอะมาก 

เฟนเดอร์: ถึงใครจะบอกว่าสุดท้ายก็มาออกันที่ high season หน้าหนาวงี้ กูว่าก็ดีแล้ว หมายถึงจุดเริ่มทำหน้าหนาวก็ดีแล้ว ค่อยไปจัดฤดูร้อน ฤดูฝน ว่าเราจะทำโมเดลไหนได้อีกที่จะมาเสริมตรงนี้ได้

นี่ก็ถือว่าเป็นหมุดหมายที่ดีที่คนในวงการดนตรีเชียงใหม่ร่วมมือร่วมใจกันหาทางออกให้กับปัญหาที่มีมาเป็นสิบ ๆ ปี เราเองก็หวังว่าแวดวงดนตรีของพวกเขาจะดีขึ้นอย่างที่หวังและทำให้ทุกฝ่ายแฮปปี้ได้ในเร็ววัน

ส่วนใครที่สนใจติดตามความเคลื่อนไหวของ ชาวดนตรีเชียงใหม่ สามารถดูได้ที่กลุ่มเฟซบุ๊ก และสามารถเข้าชม live stream townhall การประชุมของกลุ่มได้ทุกเดือน สำหรับเดือนธันวาคมจะมีขึ้นในวันที่ 27 ธันวาคม เวลา 15.30-17.30 ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ ที่นี่

อ่านต่อ

Ryuji Noda ผู้ก่อตั้ง Music Lane Festival เพราะเชื่อว่า Music Showcase จะพาศิลปินไปได้ไกลเท่าที่ดนตรีจะพาไปได้
SYNAP [home/lab] คอมมิวนิตีคนรักดนตรีไฟฟ้า ชุบชีวิตย่านนางเลิ้งให้มีชีวิตชีวา

+ posts

อิ๊ก นักเขียนสายดนตรีที่เกือบจะต้องวางมือ แต่คงหนีไม่พ้นเพราะยังอยากพูดถึงวงและเพลงดี ๆ ต่อไปเรื่อย ๆ

Related Articles

This website uses cookies to improve your experience. We'll assume you're ok with this, but you can opt-out if you wish. Accept Read More

Privacy & Cookies Policy