คุยกับ ปูม-เฮอร์ Seen Scene Space อีกหนึ่งทีมที่เติมความหลากหลายของดนตรี ให้กับ Maho Rasop Festival

by McKee
2.1K views
Maho Rasop Seen Scene Space Poom Her Interview

ถ้าใครไปงาน Maho Rasop Festival มาตั้งแต่ปีแรก คงจะตราตรึงกับเสียงกรีดร้องและความเดือดดาลในดนตรีของ Deafheaven ส่วนปีต่อมาก็สนุกไปกับพลังวัยรุ่นแบบ Neo-Kawaii ของ CHAI และปีที่แล้วก็ได้ไปมอชกับทุกคนกับความไฮป์ของ Haru Nemuri ทุกโชว์ล้วนถูกพูดถึงในฐานะ “เซอร์ไพรส์โชว์” ที่สร้างสีสันให้กับงานนี้จนกลายเป็นกระแสบนโซเชียลผ่านทุกภาษา

ซึ่งโชว์เหล่านี้ก็เป็นการเลือกโดยผู้จัดที่เรารักอย่าง Seen Scene Space หนึ่งในสามปาร์ตี้ของ Maho Rasop ที่เอาใจคนรักการฟังเพลงสายเอเชียสายฉีกเจ๋ง ๆ มาตลอดเวลา โดยเลือกจากวงที่เขาชอบก่อนเสมอและอยากให้คนอื่นได้ดู

COSMOS Creature วันนี้เราอยู่กับ ปูม—ปิยสุ โกมารทัต และ เฮอร์—รติภัทร โกมารทัต เจ้าของ Seen Scene Space ที่เก็บประสบการณ์จากการไปเฟสติวัลมาทั่วโลก เพื่อกลับมาสร้างเทศกาลดนตรีในบ้านตัวเองให้ดีขึ้น และอยากเห็นความหลากหลายทางดนตรีในเทศกาลดนตรีไทยมากกว่านี้

ปูม—ปิยสุ โกมารทัต และ เฮอร์—รติภัทร โกมารทัต เจ้าของค่าย Parinam Music และ Seen Scene Space

Maho Rasop จัดมาสามครั้งแล้ว ภาพมันเหมือนกับที่คิดไว้ตั้งแต่แรกรึยัง

ปูม: ใช่เลย มันเป็นสิ่งที่อยากให้เป็น ทั้งสามปาร์ตี้ก็ต่างถนัดในงานของตัวเอง ตอนแรกเราก็คิดว่าวงเอเชียจะไม่มีใครพูดถึงรึเปล่านะ จากกระแสตอบรับจากคนดูและผู้ร่วมงาน ทีมงานด้วยกันเองก็ดี หลายครั้งที่ผ่านมาวงเอเชียก็กลายเป็นตัวขโมยซีนด้วยซ้ำ (หัวเราะ) จุดแข็งของมหรสพมันคือความหลากหลายอยู่แล้ว มี SSS เข้าไปด้วยมันก็กลมกล่อมขึ้น

ครั้งที่ 4 จะแตกต่างจากครั้งก่อนยังไงบ้าง

ปูม: จะดีขึ้นกว่าเดิมด้วยครับ พวกเราทั้งสามปาร์ตี้เริ่มเข้าใจละว่าแฟน ๆ มหรสพต้องการอะไร ทุกคนคาดหวังอะไร อะไรดีอะไรไม่เวิร์ค เริ่มเห็นข้อดีข้อเสียของเวนิลและเครื่องเสียงต่าง ๆ

เฮอร์: ทุกคนพยายามอุดรอยรั่วเรื่องไลน์อัพและด้านโปรดักชั่นต่าง ๆ ได้มากขึ้นเรื่อย ๆ การจัดการอะไรด้วย

อย่างตอน CHAI หรือ Haru Nemuri คือเราคาดการณ์ไว้แล้ว

ปูม: เอาจริง ที่ผ่านมาไม่เคยคิดไว้เลยว่าเอาวงนี้มาดีกว่าจะได้เซอร์ไพรส์ตาแตกในงาน เอาวงนี้ดีกว่าจะได้ซีนชัวร์ ๆ แต่เราเลือกจากวงที่เราชอบทั้งนั้น อย่าง CHAI เนี่ย เคยพา Gym and Swim ไปเล่นด้วยกันที่ญี่ปุ่น เราก็เล็งมานานละว่าอยากเอามาไทยให้ได้ จากการที่เราเป็นนักฟังเพลงนักไปคอนเสิร์ต หรือตอนเราพาวงในค่าย Parinam Music ไปทัวร์ต่างประเทศ กับงาน Showcase Festival อะไรงี้ ทำให้ได้เจอวงน่าสนใจมากมาย อย่าง Haru Nemuri ก็เป็นอีกคนที่แฟน ๆ SSS ขอมา เราก็สงสัยว่าทำไมคนขอเยอะ เลยได้ไปฟังเพลงดูโชว์ของเขา ก็ชอบมาก และคิดว่าโชว์เขาต้องเข้ากับ Maho Rasop แน่นอน

เฮอร์: เหมือนพี่ปูมไปดูไลฟ์โชว์มาแล้วชอบมาก อยากให้คนอื่นได้ดูด้วย

ปีนี้ก็มีวงประมาณนี้อีกแน่นอน

ปูม: ด้วยความที่ปีนี้เราพอรู้แล้วคนคาดหวังวงแนวไหน เราเอาวงไหนมาแล้วโดนคนแน่ ๆ ไม่ใช่แค่ฝั่งเรานะ คุยกับทีม Have You Heard? กับทีม Fungjai ก็จะอารมณ์แบบ วงนี้แหละ ถ้าเราปล่อยไลน์อัพมาก็น่าจะมีรีแอ็คชั่นแบบ “เชี่ย วงนี้มาด้วยหรอ” เราก็ตีความเองนะตามประสบการณ์

Haru Nemuri จาก Maho Rasop 2022

แอบสปอยด์หน่อยว่าฝั่ง SSS เอาวงประเทศไหนมาบ้าง

ปูม: แน่ ๆ ก็ญี่ปุ่น กับเกาหลี ส่วนไต้หวันเกือบมีละ ยังไม่คอนเฟิร์ม อาจจะมีสิงคโปร์กับอินโดกำลังคุยอยู่ ยังไม่คอนเฟิร์ม สำหรับคนที่ชอบ CHAI กับ Haru Nemuri หรือ Elephant Gym อะไรเงี่ย น่าจะโดนแน่นอน ฝั่งตะวันตกก็อาจจะมี เราก็เป็นสายเซอร์ไพรส์แบบไม่ตั้งใจ มาหมดแล้วทั้ง Deafheaven หรือ Crack Cloud ปีที่แล้ว รอติดตาม

No Party For Cao Dong จะมีโอกาสกลับมามั้ย

ปูม: น่าจะอีกแป๊ปหนึ่ง หรือไปงานอื่นของ SSS ครับ (หัวเราะ)

เราเห็น Maho Rasop โคกับ Clockenflap ด้วย กำลังจะเกิดอะไรขึ้น

ปูม: ด้วยความที่มันจัดวันเดียวกัน เสาร์อาทิตย์เดียวกันเลย ศิลปินที่มาเอเชียหรือกำลังทัวร์อยู่เนี่ย อาจจะมาทั้งสองงาน มีความครอสจักรวาลกันอยู่ เพราะฉะนั้น ไม่ต้องไป Clockenflap ก็ได้ (The COSMOS: อนุมานได้เลยว่าวงที่จะมา Clockenflap จะมางานนี้แน่นอน) ใช่เลย

ครั้งนี้ก็กลับไปจัด ESP Park ติดใจอะไรที่นี่

ปูม: ด้วยบรรยากาศครับ ทีมเราชอบกันเองด้วย แล้วก็ฟีดแบ็กจากคนที่มาปีที่แล้ว มันให้บรรยากาศแบบเฟสติวัลต่างประเทศจริง ๆ เพราะมันไม่ได้มีตึกรามบ้านช่องแถวนั้นเยอะ คนอาจจะต้องเดินทางนิดนึง แต่ก็ไม่ถึงกับข้ามจังหวัดไกล ๆ เราตั้งใจดูแลเรื่องโปรดักชั่นเสียงและแสงให้สุดด้วย มันก็มีความเวิร์คตรงนั้นด้วย เพราะแถวนั้นไม่มีชุมชนอยู่ก็จัดเต็มได้เลย

มีบางฟีดแบ็กจากปีที่แล้วที่เราพอจะแก้ปัญหาได้แล้วบ้าง

ปูม: มันมีบั้คที่เกิดขึ้นว่าซอยทางเข้าก็แคบนิดนึง ปีนี้เราจะเพิ่มชัตเตอร์บัส ก็คุยกันหลาย ๆ แบบว่ามันจะเป็นรถรับส่งยังไง แล้วเราก็ยังมีบริการรถตู้รับส่งจากในเมือง จะปรับปรุงแล้วทำให้จริงจังมากขึ้น เพราะมันดูเวิร์ค คนที่ใช้บริการก็แฮปปี้ดี อาจจะเพิ่มจุดรับส่งมากขึ้น ต้องคอยติดตามประกาศจากเรานะครับ ส่วนใครเอารถมาก็มีที่จอดรถเหมือนเดิม แต่เผื่อเวลานิดนึง จะขอความร่วมมือชุมชนชาวบ้านแถวนั้น

SSS ก็เป็นผู้จัดไม่กี่เจ้าที่เอาวงเอเชียมา ตอนนี้พวกเขามองซีนดนตรีเรายังไงบ้าง

ปูม: มันมีหลายยุคเนอะ ยุคแรก ๆ ของ SSS ถอยหลังไปประมาณ 5-10 ปีที่แล้ว เขาก็ยังมึน ๆ อยู่นะว่าเป็นประเทศใหม่ ๆ ที่เขาไม่ค่อยมา อย่างตอนแรกที่ชวน The fin. หรือ Lucky Tape มา เขาก็งงว่ามีแฟนอยู่ในประเทศนี้ด้วยหรอ เขารู้สึกแปลกใหม่กับการเล่นที่ไทยมาก ๆ แต่ศิลปินเกาหลีเขาน่าจะคุ้นแล้วเพราะฐานแฟนเขาเยอะ มันมีงานหนึ่งที่เราจัดชื่อ The Lucky Black Sunset ที่มี Lucky Tape, The Black Skirt และ Sunset Rollercoaster สามวงนั้นก็มาแบบงง ๆ เหมือนกันว่าทุกคนก็มีแฟนเพลงหมดเลย

แต่มา 5 ปีหลังช่วงที่เรามี Maho Rasop มีงานนู้นงานนี้ ทุกคนก็เริ่มรู้ละว่า Bangkok เป็นที่หมุดหมายหนึ่งที่ทุกคนควรมา ตอนนี้มีแต่วงอยากมาเล่นที่ไทย แถมเขายังรู้จักวงไทยกันเยอะขึ้นด้วยนะ

ทำไมวงใน SEA ถึงยังไม่ได้เดินทางมาบ้านเราซักที

ปูม: หลัก ๆ ก็ด้วยคนฟังและสื่อ เหมือนวงไทยจะไปดังที่ประเทศเพื่อนบ้านก็ยากหน่อย แต่ยุคนี้มันสตรีมมิ่งแล้วเนอะ ทุกอย่างเข้าถึงง่ายขึ้น มีเพลย์ลิสต์ต่าง ๆ ที่พาเราไปสู่อะไรใหม่ ๆ มีให้ตามบนโซเชียลต่อ ช่วง 4-5 ปีนี้มันค่อนข้างเปิดแล้ว อย่างก่อนหน้านี้รายการทีวีก็ไม่ค่อยมี ยูทูปสมัยก่อนก็แนะนำแต่วงฝรั่ง ไม่รู้จะไปเจอวงเอเชียได้ยังไง

ทำมามา 5 ปีแล้ว เทรนด์ของ Music Festival มันเปลี่ยนไปบ้างมั้ย

ปูม: ก่อนมี Maho Rasop คนก็อาจจะเคยไปแต่งานเฟสไทย ๆ พอมาเป็น International Music Festival ก็ต้องปรับตัวและสร้างความคุ้นเคยให้กับทุกคนเหมือนกัน เราต้องสื่อสารเยอะมากว่างานมิวสิคเฟสจริง ๆ เป็นยังงี้ทุกคนต้องเจอสิ่งนั้นสิ่งนี้ ไม่ใช่แค่ดูดนตรีอย่างเดียวละจบ ต้องเดินไปเวทีตรงนั้นตรงนี้ ทำกิจกรรมตรงนั้นตรงนี้ เหมือนมาใช้ชีวิตไว้ที่งานทั้งวัน ตอนนี้ก็คิดว่าดีขึ้น มีงานเฟสติวัลให้เลือกมากมาย ก็เลยเกิดไลฟ์สไตล์แบบใหม่ขึ้นด้วย ทุกคนเริ่มเข้าใจมากขึ้น 

เฮอร์: การที่แต่ละเวทีเล่นเวลาเหลื่อมกัน เป็นเรื่องปกติ แรก ๆ คนจะงงว่าทำไมไม่ให้เวทีนี้เล่นจบก่อน มีคนไม่เข้าใจ หรือมาเจอแต่วงไม่รู้จักเพื่อให้ทุกคนได้ลองฟังอะไรใหม่ ๆ ด้วย ชอบเวลาตารางออกมาแล้วทุกคนก็ทำตารางของตัวเองมาแชร์กันว่าจะไปดูอะไรบ้าง ทุกคนก็เริ่มเข้าใจแล้วว่ามันจะเป็นแบบนี้แหละ

The Drum และ CHAI จาก Maho Rasop 2019

หนักใจมั้ย ที่เรามีเฟสติวัลเยอะขึ้น มีคู่แข่งเยอะขึ้น

ปูม: ช่วงก่อนหน้านี้ก็หนักใจครับ ที่มีอีกงานจัดชนเรา ตอนนี้มีหลาย ๆ งานก็จริง แต่กลับมองเป็นข้อดี ทำให้บ้านเราดูยิ่งใหญ่ขึ้นในแง่ของซีนมิวสิคเฟสติวัล ทุกงานเขาก็มีเอกลักษณ์ของตัวเอง ที่มันไม่เหมือนกันเลย อย่าง Maho Rasop ก็มีเอกลักษณ์ที่ชัดเจน มีความแปลกประหลาดกว่าชาวบ้านที่คนอื่นไม่ทำ (หัวเราะ) งานอื่น ๆ เขาคงจะเลือกวงที่คนไทยชอบมา แต่พวกเรามองกลับด้าน คือพยายามหาอะไรใหม่ ๆ ที่คิดว่าคนไทยน่าจะชอบมาให้ดูมากกว่า (The COSMOS: Maho Rasop อาจจะเป็นงานแรกที่เอาวงจีนมาเล่นด้วยซ้ำ) ใช่ ๆ (หัวเราะ)

เรากำลังจะมีรัฐบาลใหม่ อยากให้เขามาซัพพอร์ตตลาดตรงนี้ยังไงบ้าง

ปูม: เคยไปคุยกับเพื่อน ๆ ประเทศใกล้เคียง มาเลเซีย, สิงคโปร์, ไต้หวัน, เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ทุกที่ที่เขาจัดเฟสติวัลจะได้รับการสนับสนุนอะไรบางอย่างจากรัฐทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นงบประมาณ หรือความสะดวกรวดเร็วในการจัดงาน อย่าง Clockenflap เนี่ย รัฐบาลฮ่องกงให้จัดงานในสวนสาธารณะกลางเมืองเลย ทั้งที่ไม่ควรได้จัดเพราะเต็มไปด้วยตึกและคนอยู่อาศัย แต่เขามองระยะยาวว่าการมีงานอย่างงี้ในเมือง มันสร้างอะไรบางอย่างให้กับเมือง ทั้งการท่องเที่ยว ทั้งเศรษฐกิจหมุนเวียนให้คนมา เหมือนเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกที่จัดกลางเมืองเหมือนกัน แค่อันนี้มันเป็นดนตรีเฉย ๆ

การสนับสนุนจากภาครัฐที่ง่ายที่สุดเลยคือช่วยให้จัดงานได้ง่ายขึ้น ไม่ต้องวุ่นวายกับการขออนุญาตนู่นนี่นั่น มีปัญหาอะไรก็ช่วยเคลียร์ ถ้ามันทำให้สิ่งนี้เป็นวาระของประเทศหรือเมืองนั้น น่าจะพาไปด้วยกันได้ อันนี้เพิ่งคิดได้เลยว่าพอมันเทียบกับอีเว้นต์กีฬาแล้วเห็นภาพมากๆ 

เฮอร์: คือบางอีเว้นท์เราเห็นว่าสามารถปิดถนนเส้นหลักๆ หลายเส้นได้เลย อันนั้นน่าจะเคลียร์ยากกว่างานดนตรีด้วย ทำไมยังปิดได้ อำนวยความสะดวกได้ 

ถ้าใช้ที่สาธารณะได้ อยากใช้ที่ไหนจัดงาน

ปูม: เคยคิดเล่น ๆ ว่าถ้าสวนลุมพินีจะมีความ Clockenflap มาก ๆ เพราะมันคือใจกลางเมืองจริง ๆ มีความเขียว ๆ รถไฟฟ้าใต้ดินหรือลอยฟ้าก็มาได้หมด มีโรงแรมอยู่รอบ ๆ ด้านด้วย ecosystem ตรงนั้นคือครบ ออกมามีผับให้ไปเที่ยวต่อด้วย เหมือน Primavera Sound ผับต่าง ๆ ในเมืองก็จะจัดงานดนตรีล้อไปด้วย ไลฟ์เฮ้าส์ต่าง ๆ ก็จะเกิดขึ้นมากมายเลย

ฝากถึงคนที่ยังไม่กดบัตร Early Bird หน่อย

ปูม: บัตร Early Bird คือจังหวะสุดท้ายที่ทุกคนจะได้จ่ายเงินด้วยราคาไม่แพง ก่อนที่เราจะได้เห็นไลน์อัพแรก เพราะถ้าเห็นแล้วจะต้องอยากซื้อแน่ ๆ แนะนำให้กดไว้ก่อนเลย ถ้าเป็นแฟน Seen Scene Space แฟน Have You Heard แฟน Fungjai ก็ควรซื้อเลย เพราะงานนี้ตอบโจทย์แฟนทั้งสามเจ้าแน่นอน

เฮอร์: ถ้าใครเป็นแฟนเพลงสายเอเชีย ควรซื้อเลย ซื้อสิครับ ซื้อสิ (หัวเราะ)


‘Maho Rasop Festival 2023’ เปิดด้วยเฮดไลเนอร์อย่าง Interpol วงร็อกจากอเมริกาที่หลายคนรอคอย พร้อมปล่อยไลน์อัพ Batch แรกเร็ว ๆ นี้พร้อมเพิ่มราคาบัตร จับจองประสบการณ์ระดับโลกด้วยบัตร Early Bird ในราคา 3,990 บาท ซึ่งถูกที่สุดแล้วตอนนี้ ซื้อได้ที่ https://cutt.ly/9wtP89Rg

และติดตามข่าวสารของงานได้ที่ Facebook และ Instagram

+ posts

ชอบไปคอนเสิร์ตเพราะเป็นกิจกรรมที่ทำคนเดียวได้ และยังชอบแนะนำวงดนตรีใหม่ ๆ ผ่านตัวอักษรตลอดเวลา

Related Articles

This website uses cookies to improve your experience. We'll assume you're ok with this, but you can opt-out if you wish. Accept Read More

Privacy & Cookies Policy