นิชิมูระซัง ผู้ก่อตั้ง FEVER ที่สร้าง Live House ด้วยความเคารพต่อศิลปินและคนดูหมดหัวใจ

by McKee
1.9K views
Nishimurasan FEVER Live House interview

ท่ามกลาง Live House ที่มีจำนวนมากมายราวกับดอกเห็ดเต็มโตเกียว ‘FEVER’ กลับเป็นที่ที่นักฟังเพลงหลายคนพูดถึงระดับต้น ๆ ด้วยไลน์อัพศิลปินเจ๋ง ๆ มากมายทั้งไทยและต่างชาติ โดยเฉพาะศิลปินไทยตัวจี๊ดทั้งหลายที่แวะไปโชว์ที่นี่กันอย่างไม่ขาดสาย ทั้ง Safeplanet, Zweed n’ Roll และล่าสุด Soft Pine

ไม่แปลกใจที่มันจะยืนเด่นอย่างท้าทายมาได้หลายสิบปี เพราะเบื้องหลังคือการทุ่มเททั้งกายและใจของ Hitoshi Nishimura (ฮิโตชิ นิชิมุระ) เจ้าของ FEVER เขาสร้างที่นี่ขึ้นมาด้วยความรักในการจะได้ดูโชว์ของศิลปินที่เขาชอบล้วน ๆ โดยเชื่อว่า ศิลปินและคนดูต้องมาก่อน Live House ถึงจะอยู่ได้

COSMOS Creature วันนี้ ได้รับเกียรติจากนิชิมุระซังสละเวลามาคุยกับชาว The COSMOS ระหว่างกำลังมาเที่ยวเมืองไทย ว่าการมี Live House เป็นของตัวเองมันสนุกขนาดไหน

นิชิมุระซัง เจ้าของ FEVER

เข้ามาทำ Live House ได้ยังไง

ตอนเด็ก ๆ ผมเคยไปดูโชว์ที่ Live House แล้วประทับใจ โตไปก็อยากทำงานที่นี่

วงแรกที่ได้ดู

เป็นวงพี่สาวของเพื่อน เรียกว่า Girl Band เสียดายที่วงไม่ได้แอคทีฟแล้ว

เริ่มทำงานที่ Live House ได้ยังไง

ที่ Live House กำลังรับสมัคร part-time พอดีก็เลยไปสมัครครับ ซึ่งทุกทีจะมีงานอยู่แค่ 2 แบบ คืองานเกี่ยวกับซาวด์ และงานอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ซาวด์ ซึ่งผมต้องทำทุกอย่างที่ไม่เกี่ยวกับซาวด์เลย

ทำอยู่กี่ปี กว่าจะได้เลื่อนเป็นผู้จัดการ

ผมทำงานที่แรกที่ Shelter ตอนอายุ 19 ปี ใช้เวลาประมาณ 4 ปีก็ได้เป็นผู้จัดการตอนอายุ 23 ปี เพราะเมเนเจอร์ที่เคยรับผมเข้าทำงาน part-time ต้องย้ายไปทำงานที่ส่วนอื่นของบริษัท ซึ่ง Shelter เป็นส่วนหนึ่งของบริษัทใหญ่ที่ดูแล Live House หลาย ๆ แห่ง ผมเลยยกมือว่าอยากเป็นเมเนเจอร์ครับ ก็เลยได้เป็นครับ (ยิ้ม)

พอเป็นผู้จัดการต้องรู้เรื่องซาวด์ไหม

ไม่จำเป็นต้องรู้เรื่องระดับ Sound Engineer ครับ แต่ต้องคุยกับ Sound Engineer ทุกวันว่าวันนี้วงนี้มาเล่น ซาวด์จะต้องออกมาเป็นยังไง

หน้าที่หลัก ๆ ของผู้จัดการคืออะไร

ลองนึกภาพสามเหลี่ยมที่แต่ละด้านที่มีไลฟ์เฮ้าส์ ศิลปินและคนดู หน้าที่ของผู้จัดการคือดูแลทั้งสามด้านของสามเหลี่ยมให้มันสมดุลกัน ทั้งเรื่องโชว์และเรื่องหลังบ้าน ต้องทำให้แฟร์ต่อกันมากที่สุด

ทำไมถึงเลือกมาเปิด Live House ของตัวเอง

ตอนที่ผมเป็นผู้จัดการ Shelter บริษัทก็จะคอยถามว่า อยากไปทำงานตรงส่วนอื่นดูบ้างมั้ย ซึ่งบริษัทมองว่าอายุผมที่มากขึ้นก็ต้องรับผิดชอบงานมากขึ้นไปด้วย แต่ผมชอบงานที่ Shelter มาก เลยออกมาสร้าง Live House ของตัวเองดีกว่า

วงแรกที่เอามาเล่นที่นี่คือวงอะไร

ช่วง soft open ส่วนใหญ่ก็จะเป็นวงเพื่อน ๆ กันครับ ก็ชวน Moles วง lo-fi สามชิ้นมาเล่น ส่วนตอนที่เปิดอย่างเป็นทางการแล้ว ก็ได้ 200MPH กับ Lostage มา

Live House ส่วนใหญ่ศิลปินจะต้องซื้อบัตรมาขายต่อเพื่อเป็นค่าตัว แต่การแบ่งค่าบัตรที่ FEVER ไม่เหมือนใคร

Live House ทุกที่ในญี่ปุ่นจะแบ่งเป็นวันธรรมดากับวันหยุดเสาร์อาทิตย์ก็จะได้เรทต่างกัน ถ้ามีคนมาดูเยอะศิลปินก็จะยิ่งได้ส่วนแบ่งเยอะ ซึ่งเป็นขั้นบันไดไปเรื่อย ๆ ตั้งแต่ 30% จนไปถึง 60%-70% ซึ่งศิลปินไม่ต้องไปขายบัตรเอง

จริง ๆ ในโตเกียวเองก็มีหลายระบบ ระบบขายบัตรให้ศิลปินไปขายต่อเองก็ยังมีใช้อยู่สำหรับ Live House ที่เล็กหรือความจุน้อย ซึ่งถ้าไม่ใช้วิธีนี้เขาก็จะอยู่ไม่ได้ หรือศิลปินอยากจัดงานเองแต่ไม่มีเงินเช่า ที่ FEVER เองก็ยังปรับเปลี่ยนระบบตามความต้องการของศิลปินด้วย ว่าระบบไหนโอเคกับศิลปินที่สุด

สำหรับนิชิมุระซัง การจะทำให้ Live House อยู่ได้นาน ๆ ต้องทำยังไง

เรื่องเงินเรื่องกำไรยังไงก็จำเป็นอยู่แล้ว แต่อย่างแรกก็ต้องมีศิลปินดี ๆ มาที่ Live House ของเราก่อน แล้วคนดูจะตามมาเอง ถ้า Live House ให้บรรยากาศการดูโชว์ที่แตกต่างไม่เหมือนใคร เดี๋ยวเรื่องเงินเรื่องกำไรก็จะตามมาเอง

มีศิลปินคนไหนที่มาเล่นที่นี่ตั้งแต่ยังไม่มีชื่อเสียงจนตอนนี้ดังแล้ว

ถ้าวงที่มาเล่นตั้งแต่ไม่มีชื่อเสียงจนดังแล้วก็ Suchmos จริง ๆ เขามาจากจังหวัดคานากาวะ แต่คนที่โยโกฮาม่าแนะนำให้ผม ซึ่งตอนมาเล่นก็มีคนมาดูแค่ 5-10 คนเอง แต่ตอนนี้น่าจะไปอารีน่าได้แล้ว (ยิ้ม)

ประสบการณ์การทำ Live House มาหลายสิบปี บอกอะไรเราบ้าง

เราต้องมีระยะห่างกับศิลปินให้พอดี ไม่ทำตัวอยู่เหนือกว่าศิลปิน แต่ต้องปฎิบัติกับเขาเหมือนเป็นคนเท่ากัน Live House ไม่ได้ใหญ่กว่าศิลปิน มีศิลปินหลายคนที่ขอคำแนะนำกับผมก็ต้องสื่อสารออกไปอย่างระวัง

วง tricot ที่ถ่ายไว้โดยคนดู

วิธีแนะนำศิลปินสไตล์นิชิมูระซัง

เวลาแนะนำจะคิดเสมอว่าเราไม่ได้ถูกต้องทุกอย่าง ผมจะบอกก่อนเสมอว่านี่คือความคิดส่วนตัวของผม แต่ไม่ได้บอกว่าทุกคนคิดแบบเดียวกับผม

เหตุการณ์ใน Live House ที่นิชิมุระซังประทับใจที่สุด

หลังจากเพิ่งทำ FEVER ก็มีวงโปรดของผมชื่อ Hi-Standard ซึ่งเขายุบวงไปแล้ว แต่มือกีตาร์ Ken Yokoyama มาเล่นที่ FEVER ซึ่งเป็นวันแรกที่คนเข้ามาดูเต็ม 300 คน ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่ท่อน้ำเสียแตก ออฟฟิศซึ่งอยู่ชั้นล่างก็เต็มไปด้วยของเสีย (หัวเราะ) ซึ่งผมชอบเค็นซังมาก ก็ขอสตาฟขึ้นไปดูซักเพลงหนึ่งละกัน จังหวะที่ขึ้นไปเค็นซังก็กำลังแจ้งคนดูเรื่องห้องน้ำอยู่ แต่พอเห็นผมเขาก็บอกว่า “นิชิมุระซังสู้ ๆ นะ” เป็นเรื่องดีในเรื่องร้ายครับ (ยิ้ม)

ช่วงโรคระบาดที่ผ่านมาน่าจะเป็นช่วงที่ยากลำบากสำหรับทุกคนมาก ตอนนั้นเกิดอะไรขึ้นบ้าง

ตอนช่วงแรก ๆ ที่ทั่วโลกเข้าใจแล้วว่าโรคระบาดครั้งนี้คือเรื่องใหญ่ ซึ่งในญี่ปุ่นเนี่ย จุดที่เริ่มระบาดเยอะ ๆ คือเริ่มมาจาก Live House แห่งนึง แล้วสื่อก็เอาข่าวนี้มาลงทำให้คนที่ไม่ได้อยู่ในธุรกิจดนตรีก็เริ่มมองว่า Live House เนี่ยแหละทำให้โรคแพร่กระจาย รัฐบาลญี่ปุ่นก็สั่งปิดหมดเลย ทำให้ FEVER ต้องปิดสามเดือน ตารางโชว์ก็หายไปเลย ต่อมารัฐบาลบังคับให้ Social Distance คนต้องห่างกันอย่างน้อย 1 เมตร แล้ว FEVER มีแคปแค่ 300 คน ทำให้เข้าได้แค่ 20 คน แน่นอนไม่มีกำไร (หัวเราะ) หลังจากนั้นก็ค่อย ๆ ผ่อนคลายให้คนเข้าได้ 30% 40% 50% ตามลำดับ

แต่เราคิดไว้แล้วว่าเหตุการณ์นี้น่าจะอีกยาว เลยเปิดช่องยูทูปเพื่อรับบริจาคเงินผ่าน Live Session (ในไทยไม่มี) แต่ช่องยูทูปนั้นต้องมีคนติดตามอย่างน้อยหนึ่งพันคน ซึ่งช่องของเรามีไม่ถึง ผมจึงออกแถลงการขอความช่วยเหลือ แล้วก็มีคนมากดติดตามสองหมื่นคนทันทีภายในเวลาไม่นาน (ยิ้ม) จึงรับบริจาคได้

และรายได้อีกทางหนึ่งก็คือ ทำ Merch ของร้านขายเพื่อให้แฟน ๆ ช่วยกันอุดหนุนเพื่อให้ Live House ยังอยู่ต่อไปได้ ลงทุนซื้อเครื่องทำเสื้ออิ๊งเจ็ทเพื่อทำเสื้อขายด้วย

ธุรกิจ Live House ในญี่ปุ่นเปลี่ยนไปมากน้อยแค่ไหนหลังโรคระบาด

ในความรู้สึกผมไม่ค่อยแตกต่างครับ ที่ญี่ปุ่นมี Live House อยู่เยอะมาก แต่ไม่มีความเป็นคอมมูนิตี้ ทำให้รวมตัวกันไปคุยกับภาครัฐได้ยาก Live House แต่ละแห่งก็ต่างคนต่างอยู่กัน ซึ่งข้อดีคือแต่ละที่ก็จะมีเอกลักษณ์ของตัวเอง แต่พอต้องการเรียกร้องอะไรก็จะไม่มีกำลังมากพอให้นักการเมืองรับฟัง

FEVER มีวิธีคัดศิลปินมาเล่นที่ร้านยังไงบ้าง

งานที่เราจัดเองจะไม่ค่อยมีเกณฑ์อะไรมาก แต่อย่างที่บอกว่าก็ต้องเลือกวงดี ๆ ไว้ก่อน ผมจะดูแค่ว่างานวันนี้ดีหรือไม่ดี น่าสนใจหรือไม่น่าสนใจ

นิชิมุระซัง ฟังเพลงของวงไทยวงไหนอยู่บ้าง

ช่วงนี้ผมฟัง Soft Pine เพราะพวกเขาเพิ่งมาเล่นครับ (หัวเราะ) จริง ๆ ผมมีร้านกาแฟใกล้ ๆ ชื่อ RR ก็เปิดเพลงไทยวนไปเรื่อย ๆ เพลงที่เปิดบ่อย ๆ ก็จะเป็นของ Stoondio ครับ

ถ้าอยากไปเล่น Live House ที่ญี่ปุ่นต้องทำยังไง

ถ้าอยากมาเล่นที่นี่น่าจะไม่ยาก อยากเล่นที่ Live House ไหนให้ติดต่อไปเลย ถ้าที่นั่นไม่ได้ใหญ่มากก็อาจจะได้รับคำตอบรับง่ายกว่า ถ้าอยากเล่นต่อหน้าคนเยอะ ๆ และอยากให้ได้ผลลัพต์ที่ดี ก็ต้องมีวงญี่ปุ่นที่มีชื่อเสียงมาโชว์ด้วย ศิลปินก็ต้องติดต่อวงญี่ปุ่นที่อยากให้มาเล่นโชว์ด้วย ก็จะยิ่งเรียกคนมาดูได้เยอะ

มีคำแนะนำอะไรให้คนที่อยากจะเปิด Live House ของตัวเองบ้าง

การสร้าง Live House ที่ญี่ปุ่นกับที่ไทยก็อาจจะแตกต่างกันนิดหน่อย แต่มันจะลำบากมาก ๆ เหนื่อยมาก ๆ แต่คำแนะนำของผมคือยังไงก็ต้องมี passion แรง ๆ ตอนที่ผมสร้างที่นี่ขึ้นมาก็กู้เงินทั้งธนาคารและรัฐบาลด้วย ประมาณ 96 ล้านเยน (ตีเป็นเงินไทยประมาณ 24 ล้านบาท) ถ้ามี passion ยังไงก็ทำได้ครับ (ยิ้ม) ดีที่ยังไม่ถึง 100 ล้านเยนนะ (หัวเราะ)


Live House FEVER อยู่ตรงข้ามสถานี Shindaita สามารถติดตามไลน์อัพที่กำลังจะเกิดขึ้นได้ที่ fever-popo.com
หรือติดตามพวกเขาได้บน Facebook, Instagram และ Twitter

ขอบคุณ Ginn (dessin the world, Faustus) ในฐานะล่ามด้วยครับ
สามารถติดตามจินซังได้ที่ dessin the world ที่ Facebook และ Instagram
และวงร็อกสามชิ้น Faustus ได้ที่ Facebook และ Instagram

นิชิมุระซัง เจ้าของ และ อุระโมโตะซัง (มาสเตอร์) ผู้จัดการ
+ posts

ชอบไปคอนเสิร์ตเพราะเป็นกิจกรรมที่ทำคนเดียวได้ และยังชอบแนะนำวงดนตรีใหม่ ๆ ผ่านตัวอักษรตลอดเวลา

Related Articles

This website uses cookies to improve your experience. We'll assume you're ok with this, but you can opt-out if you wish. Accept Read More

Privacy & Cookies Policy