Music Showcase สำคัญกับศิลปินทุกคนขนาดไหน ให้ พาย—ปิยะพงษ์ เป็นคนตอบ

by McKee
722 views
พาย ปิยะพงษ์ Py Piyapong music showcase Axean Festival Lucfest JATAYU Phum Viphurit Fuji Rock

คนไทยอาจจะคุ้นเคยกับ Music Festival มากขึ้น หลังจาก 2 ปีที่อัดอั้นมาทำให้ในไทยเองก็มีเฟสติวัลเกิดขึ้นมากมายเกือบจะตลอดทั้งปี และอีกหนึ่งเทรนด์ที่โลกกำลังผลักดันจริงจัง แต่คนไทยอาจจะยังไม่เข้าใจคือ Music Showcase หลายคนอาจมองว่ามันก็คือเฟสติวัลเหมือน ๆ กันรึเปล่า แต่ความจริงแล้วไม่ใช่เลย

Music Showcase คือพื้นที่ที่คัดเลือกศิลปินรุ่นใหม่เจ๋ง ๆ มาเจอกับคนในอุตสาหกรรมดนตรีจากทั่วโลก เพื่อต่อยอดความเป็นไปได้ทางดนตรีของพวกเขา บางคนอาจได้ไปเล่นเฟสติวัลระดับโลก บางคนอาจได้เซ็นสัญญากับค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ ที่ผ่านมาก็มี SXSW (South by Southwest) ที่สร้าง Headliner ระดับโลกขึ้นมามากมาย หรือ LUCfest ที่รวบรวมวงเจ๋ง ๆ จากทั่วเอเชียมาไว้ที่งานนี้ แต่ใครจะรู้ว่าจริง ๆ บ้านเราก็มี Music Showcase เหมือนกัน

COSMOS Creature วันนี้เราอยู่กับ พาย—ปิยะพงษ์ หมื่นประเสริฐดี Co-founder ฟังใจ และ Bangkok Music City งาน Music Showcase ที่ทะเยอทะยานและมาก่อนกาล ล่าสุดเขายังเป็นหนึ่งใน Co-founder ของ AXEAN Festival ซึ่งเป็น Music Showcase ที่สิงคโปร์ แต่ก็ยังแบ่งเวลามาเพราะอยากอธิบายให้ทุกคนเข้าใจ ว่า Music Showcase สำคัญกับศิลปินทุกคนยังไง

Music Showcase คืออะไร

พี่พายเริ่มจากเปิดเลคเชอร์คลาสพิเศษให้เราฟัง ว่าเทศกาลอะไรก็ตามที่มีดนตรีเป็นส่วนประกอบ สามารถแบ่งออกเป็นเป็นสองประเภทใหญ่ ๆ ประเภทแรกก็คือ Commercial Festivals ที่มีจุดประสงค์หลักเป็นเชิงการค้าที่มุ่งเป้าหมายไปที่ผู้ชมเป็นหลัก มีรายได้จากการขายตั๋ว ขายสปอนเซอร์ เน้นจำนวนคนหรือยอดตั๋ว อีกทั้งเล็งการทำกำไรเป็นหลัก ประเภทที่สองคือ Non-commercial Festivals ซึ่งอาจมีจุดเริ่มต้นจากการไม่คำนึงถึงผลกำไร แต่อาจจะเน้นคอนเซ็ปต์เป็นหลัก อย่างเช่นการปฎิเสธระบบทุนนิยมอย่างงาน Burning Man ที่สร้างกฎว่าห้ามใช้เงินซื้อของในงาน แต่ให้นำของมาแลกเปลี่ยนกันหรือแม้แต่ทำงานต่างตอบแทนให้กับคนอื่นในงาน

แต่เจ้าคำว่า commercial นี้ ก็เป็นคำที่ทำให้สับสนพอควร เพราะโดยความหมายของคำแล้วมันหมายถึงในเชิงการค้า ซึ่งงาน Music Showcase ส่วนใหญ่ก็มีการขายบัตรนี่นา แถมบางงานอาจแพงมากด้วย อย่าง SXSW ที่ปีแรกตั๋วราคาแค่ 10 เหรียญ แต่ตอนนี้ 800 ถึง 1,200 เหรียญ หรืออย่าง Burning Man ที่มีคอนเซ็ปต์ตั้งแต่ต้นว่าเป็นการแสดงการต่อต้านระบบทุนนิยม แต่ตอนนี้ถ้าอยากเข้างานต้องมีจ่ายเงินอย่างน้อย 500 ถึง 1,000 เหรียญ แต่เอาเป็นว่านิยามในมุมมองของการจัดงานเทศกาล มันหมายถึงงานที่เน้นศิลปินที่ผู้ชมต้องการ แล้วในทางตรงกันข้ามที่เรียกว่าหรือ non-commercial festival ก็คืองานที่ไม่ได้เน้นความต้องการของผู้ชม แต่อาจจะเป็นตัวศิลปิน ค่ายเพลง หรือนักธุรกิจดนตรีที่มาดูการแสดงดนตรี อย่างงาน Music Showcase ที่เปิดโอกาสทางธุรกิจให้กับศิลปิน เป็นต้น

นอกจากวิธีแบ่งสองประเภทด้านบนแล้ว เทศกาลที่มีดนตรีเป็นส่วนประกอบของงานก็อาจแบ่งได้เป็นอีก 2 กลุ่มใหญ่ ๆ ซึ่งกลุ่มแรกคืองานที่เน้นแนวเพลงกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเป็นหลัก อย่างเช่น Hellfest ของฝรั่งเศส หรือ Wacken Open Air ของเยอรมนีที่เน้นแนวเมทัล อีกกลุ่มคือเน้นไลฟ์สไตล์เป็นหลัก ยกตัวอย่างเช่นงาน Woodstock หรือ Coachella อยู่ แล้วก็ยังมี Fuji Rock หรือ Big Mountain ที่เรียกว่าเป็น Camping Festival ที่นอกจากมีประสบการณ์การตั้งเต็นท์ ก็ยังมีกิจกรรมอื่น ๆ ให้ทำในงานอีกมากมาย ซึ่งทั้ง 4 ประเภทของงานเทศกาลที่พูดถึงนี้ สามารถมา plot เป็นชาร์ต 2×2 matrix แบบนี้ได้ โดยงานเทศกาลหนึ่ง ๆ อาจมีส่วนผสมของคอนเท้นต์และประสบการณ์ที่หลากหลาย ไม่ได้มีเพียงมิติเดียวก็ได้

แล้วถ้าลอง search คำว่า showcase ใน Google Image ภาพที่ขึ้นมาก็คือตู้โชว์ ซึ่งในเชิงธุรกิจและอุตสาหกรรม งาน showcase ก็คืองาน Expo หรืองานแสดงสินค้านั่นเอง โดยหน้าที่ของ organizer ก็คือจัดสรรพื้นที่ และคัดสรรธุรกิจกับสินค้าที่น่าสนใจมาแสดงในงาน ซึ่งก็จะเป็นแบบนี้ในแทบทุกอุตสาหกรรม แต่สำหรับอุตสาหกรรมดนตรี ถ้าเอาศิลปินมาขายของในบูธ มันก็ไม่สามารถเห็นศักยภาพทั้งหมดของเขาได้ จึงได้มีการเปลี่ยนบูธเป็นเวทีแทนนั่นเอง โดยหน้าที่ของผู้จัดงานก็คือ คัดเลือกศิลปิน จัดสถานที่ แล้วก็เชิญผู้ซื้อที่เรามักเรียกว่า delegates ให้มาที่งาน โดยหวังว่าจะเกิดการ matching ที่เขาจะทำงานร่วมกันต่อได้

งาน Music Showcase ในโลกตะวันตกที่อุตสาหกรรมดนตรีแข็งแกร่งนั้น ปฏิบัติกับศิลปินและค่ายเพลงเหมือนกับคนเช่าบูธในอุตสาหกรรมอื่นนั่นแหละ ก็คือให้จ่ายค่าเช่าเวที เครื่องเสียง อุปกรณ์ต่าง ๆ รวมทั้งจ้างทีมงานเอง มันเป็นการลงทุนที่สูงมาก แถมคู่แข่งก็มีอีกเป็นร้อย บอกตามตรงแล้ว โอกาสที่วง ๆ หนึ่งจะเจอ delegate ที่สนใจ และพาให้เราประสบความสำเร็จไม่ได้สูงเลย

แต่แล้วพี่พายก็ได้ยกตัวอย่างงานเทศกาลดนตรีอินดี้ อย่าง Fat Fest หรืองานโคตรอินดี้ยุคแรก ๆ ที่ตอนนั้นแต่ละวงไม่ได้ไปเล่นเพราะอยากได้เงิน แต่เป็นเพราะต้องการพื้นที่ในการแสดงออกทางดนตรีต้องการมีแฟนเพลง ต้องการถูกมองเห็น โดยอาจยังไม่รู้ว่าวงดนตรีตัวเองจะกลายเป็นอาชีพหรือธุรกิจอย่างไรเลย แต่แค่อยากไปเล่นเพราะความรักในดนตรีต่างหาก

โอกาสใน Music Showcase อาจมีค่ามากกว่าเงิน

พี่พายบอกว่า แต่ละวงควรต้องนึกย้อนกลับไปเสมอว่าเราเริ่มเล่นดนตรีเพราะอะไร แล้วก็แนะนำว่าต้องมองไปข้างหน้าให้ออกว่ามีเป้าหมายอะไร มี goal อะไร แล้วการจะไปเล่นงาน showcase ก็ต้องรู้ว่าไปเพื่ออะไร กับคาดหวังว่าจะได้อะไรกลับมาบ้าง อย่างเช่น ถ้าไปเพื่อหาโอกาสเล่น festival ใหญ่ ๆ ก็ต้องศึกษาว่ามีคนที่เป็นเจ้าของเฟสติวัลหรือ curator ของเฟสติวัลนั้นมาไหม แล้วเราจะทำยังไงให้เขามาดูเราเล่น แถมทำยังไงให้เขาคิดว่าเราเจ๋งกว่าอีกร้อยวงที่มาเล่นในงานเดียวกันได้

พี่พายยกตัวอย่างวง 3 พี่น้อง The Note ที่มีทัศนคติคิดบวกมาก ว่าถ้ามีใครชวนไปเล่นเมืองนอก เขาก็จะไปเพราะเป็นโอกาสที่จะได้ทำให้เพลงของตัวเองไปได้ไกลขึ้น ทำให้ได้เจอผู้คนใหม่ ๆ แล้วก็ได้ไปเที่ยวในที่ ๆ ไม่คิดว่าจะได้ไปด้วยตัวเอง พวกเขาให้คุณค่ากับประสบการณ์มากกว่าเรื่องค่าจ้าง ซึ่งการไปเล่น showcase เองก็เช่นกัน มันคือการเปิดรับประสบการณ์ใหม่ ๆ แต่พี่พายก็บอกด้วยว่า เราจะเป็นฝ่ายรับอย่างเดียวไม่ได้หรอกนะ เราต้องเป็นฝ่ายที่สร้างประสบการณ์ให้กับคนอื่นด้วย จะทำยังไงให้คนอยากมาดูเรา กับจะชวน delagates ให้อยากมาดูเราได้ยังไง และต่อให้เขาไม่ได้ชอบการแสดงของเราที่สุด แต่เราก็อาจกลายเป็นเพื่อนที่ดีต่อกันจนวันหนึ่งวนกลับมาทำงานด้วยกันก็ได้

เหมือนกับตอนที่ Coldplay ไปเล่นงาน showcase ที่ชื่อว่า In The City ที่เมือง Manchester แม้จะมีคนดูแค่ 12 คน แต่หนึ่งในนั้นเป็นแมวมองของ Universal ซึ่งสนใจแล้วมาหยิบนามบัตรของวงไป โดยต่อมาเธอโทรคุยกับวงและพยายามให้ค่ายเซ็น แต่ค่ายก็ไม่สนใจ ซึ่งแม้จะล้มเหลวแต่เธอก็ยังคงช่วยเหลือวงมาโดยตลอด จนพวกเขาได้เซ็นสัญญากับค่าย Parlophone ซึ่งเธอก็ยังคงทำงานอยู่กับ Coldplay จนถึงวันนี้ เพราะฉะนั้นเราควรต้องใส่ใจในเรื่องความสัมพันธ์กับคนอื่นเวลาไปเล่นงาน showcase ด้วย เพราะโอกาสของเราอาจไม่ได้เกิดตอนนั้น แต่มาเกิดทีหลังก็ได้ แล้วนอกจาก delegates เราก็สามารถเป็นเพื่อนกับศิลปินคนอื่นก็ได้ เพื่อจะได้สร้างโอกาส collab กัน ซึ่งจะทำให้ได้ฐานแฟนเพลงกลุ่มใหม่ ๆ 

เพราะฉะนั้น การไปเล่นงาน showcase มันขึ้นอยู่กับว่าเราว่าเราจะไปสร้างประสบการณ์อะไร จะได้เจอกับใครบ้าง แล้วเราจะสร้างคุณค่าจากมันได้อย่างไร

อีกหนึ่งข้อมูลสำคัญที่พี่พายอยากให้ทุกคนเข้าใจ คือประเภทของนักธุรกิจดนตรีมีอยู่หลากหลาย และมีหน้าที่แตกต่างกันในการสร้างความสำเร็จต่ออาชีพของศิลปิน เป็นห่วงโซ่ที่ขาดกันไม่ได้ และศิลปินควรต้องรู้จักคนเหล่านี้ไว้ด้วย

หนึ่งคือประเภท “ฉันมองหาศิลปินมาโชว์” ซึ่งอาจเป็นเจ้าของเฟสติวัล เป็น festival curator เป็นเจ้าของ venue อย่างไลฟ์เฮ้าส์หรือร้านเหล้า ซึ่งทำหน้าที่จ้างศิลปินมาเล่นในงานตัวเอง 

ประเภทที่สองคือ “ฉันช่วยให้ศิลปินถูกจ้าง” อย่างเช่น booking agent ที่ไม่ได้หาศิลปินมาเล่นในงานตัวเอง แต่หาศิลปินไปเล่นให้งานคนอื่น แล้วหักเปอร์เซ็นต์เอา 

ประเภทที่สามคือ “ฉันช่วยศิลปินขายสินค้าหรือบริการ” ซึ่งก็คือคนกลางอย่างพวก music publisher, distributor แพลตฟอร์มสตรีมมิ่ง หรือร้านขายซีดีแผ่นเสียง

ประเภทที่สี่คือ “ฉันช่วยวงหาแฟนเพลง” ซึ่งก็คือ PR และสื่อทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นนิตยสาร เพจดนตรี Journalist รวมถึงนักเขียนวิจารณ์เพลง 

และห้าคือ “ฉันช่วยพัฒนาอาชีพศิลปิน” ไม่ว่าจะเป็น A&R ผู้จัดการศิลปิน โปรดิวเซอร์ หรือค่ายเพลง

พี่พายย้ำว่า ไม่ใช่ทุกคนที่จะมี delegates อยากซื้อตัวหรือจ้างไปเล่น คือถ้าคุณเก่งมาก ก็อาจจะมีคนแย่งกันเซ็นสัญญาอยากจ้างคุณ แต่ถ้าไม่ได้เก่งขนาดนั้นแต่นิสัยดี ทำงานด้วยง่าย และสามารถพัฒนาได้ต่อ ก็อาจจะมีโปรดิวเซอร์เห็นแววและแนะนำให้เราปรับปรุงเรื่องอะไรบ้าง หรือแนะนำให้ไปเจอคนอื่นที่เหมาะสมกว่าก็ได้

เพราะคน ๆ หนึ่งคนอาจไม่ได้สวมหมวกใบเดียว แถมบางคนอาจจะไม่ได้ทำเรื่องนั้น ๆ โดยตรง แต่มี connection กับคนที่ทำให้วงไปต่อได้ เพราะฉะนั้น นอกจากจะมองว่า Showcase มันคืองานอุตสาหกรรมที่เป็น Trade Show แต่อีกมุมมองหนึ่ง มันก็คือตลาดของความสัมพันธ์ของมนุษย์ ที่เราสามารถไปสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับมนุษย์คนอื่นได้

Phum Viphurit และ Jatayu คือตัวอย่างที่เติบโตมาจาก Music Showcase

พี่พายยกตัวอย่างวง Jatayu ฟังก์ร็อกอินเดียจากงาน AXEAN ปีที่แล้วที่ เล่นเพลงแนวอินเดียใต้ เหมือนลูกทุ่งหมอลำของบ้านเขา แล้วผสมกับฟังก์และร็อก ซึ่งจากประสบการณ์ที่ได้คุยกับผู้จัดการของเขาที่เป็นมือกลองของวงด้วย เขาเป็นคนที่ persistent และ consistent (กระตือรือร้นในการติดตาม) กับมีความเป็นมืออาชีพมาก ๆ เขาเขียนอีเมลมาแนะนำตัว แนะนำเพลง และติดตามงานสม่ำเสมอ ใช้ภาษาที่รู้เรื่อง แล้วเวลาขอ materials อะไรก็ส่งมาให้ได้ทันที ซึ่งแม้พี่พายจะยังไม่ได้ชอบเพลงของเขา แต่ชอบลักษณะนิสัยและวินัยในการทำงานเลยยินดีให้โอกาสดู 

ซึ่งหลังจบงานไป ประมาณ 3-4 เดือน delegate ของงานที่ชื่อ Johnnie Moylett จาก Fuji Rock อีเมลมาบอกว่าเขาเลือกวงนี้ไปเล่นนะ กลายเป็นวงม้ามืดไปเลย

ซึ่งวงนี้เป็นตัวอย่างที่ดีมากในเรื่องความ professional ทั้งการเขียนอีเมล การพูดคุย การติดตามงาน การเตรียม package ข้อมูล รูปถ่าย และ materials อื่น ๆ ที่พร้อมส่งได้ตลอดเวลา

อีกตัวอย่างที่ไม่ไกลคือ Phum Viphurit ที่พี่พายจะพูดถึงเสมอ ว่าได้ติดตามมาตั้งแต่ช่วงแรก ๆ อย่างตอนที่ปล่อยซิงเกิ้ลแรกใน YouTube ผ่านไป 3 เดือน เห็นว่ามีคนดูแค่ 3 หมื่นวิวเอง จนเหมือนดูท่าจะไปไม่รอด แต่กลับมีคนได้ไปฟัง แล้วเอาไปปล่อยใน Reddit ทำให้คนต่างประเทศได้รู้จัก จนอัลกอริทึมนำพาไปให้ถึงหูคนที่เป็น

ตัวแปรสำคัญอย่าง Weining (เหว่ยหนิง) co-founder ของงาน showcase ชื่อ LUCfest ที่ไต้หวัน และผู้จัดการต่างประเทศของภูมิในปัจจุบัน ซึ่งเธอได้ชวนภูมิไปเล่นในปีแรกที่จัดงานเลย และด้วยความที่งานไม่เป็นที่รู้จัก แถมงบก็น้อย แต่เธอก็เห็นถึงศักยภาพของภูมิ เธอจึงออกค่าตั๋วเครื่องบินกับที่พักให้ โดยงบที่มีนั้นเพียงพอจะจ่ายให้มาได้แค่คนเดียวเท่านั้น แถมไม่มีค่าจ้างด้วย 

พี่พายประทับใจมากที่ได้เห็นน้องภูมิถือกีตาร์เดินไปกลับระหว่าง venue กับโรงแรม แถมมาโดยไม่รู้จักว่างาน showcase คืออะไรด้วยซ้ำ แต่ก็เล่นไปอย่างดีที่สุด โดยสถานที่แสดงของเขาเป็นไลฟ์เฮาส์ใต้ดิน เล่นกีต้าร์และร้องคนเดียว แต่ตกใจมากที่มีผู้หญิงมากรี้ดหน้าเวทีอยู่ประมาณ 20 คน แล้วไกล ๆ มี Delegates ที่ยืนกองข้างหลังเต็มไปหมด มีทั้งแมวมอง และเจ้าของ festival ระดับโลกที่เหว่ยหนิงเชิญมา ซึ่งพอเขาได้ยินว่าเป็นคนไทย ก็กรูกันเข้ามาถามพี่พายว่าช่วยแนะนำให้หน่อยได้ไหม อยากชวนให้ไปเล่นงานของเขา ซึ่งบอกได้เลยว่าถ้าภูมิปฏิเสธไปเล่น LUCfest เพราะไม่มีค่าจ้าง เขาจะมีโอกาสได้ไปต่อในงานเทศกาลใหญ่ ๆ หรือไปทัวร์ต่างประเทศได้ไหม

สิ่งที่ทำให้ภูมิมีแต้มต่อมากกว่าคนอื่นนอกจากพูดภาษาอังกฤษได้ ก็คือภูมิเป็นคนที่น่ารักมาก พี่พายเล่าต่อว่าพอภูมิเล่นเสร็จ ก็ไปต่อที่งาน after party ซึ่งพี่พายก็เดินไปแนะนำกับภูมิว่าต้องทำอะไรต่อไป พร้อมพาไปแนะนำคนนั้นคนนี้ที่อาจจะต่อยอดให้ภูมิได้ แต่แค่แนะนำไปคนสองคน ภูมิไปคุยต่อเองกว่าสิบคน  สามารถจบงานด้วยตัวเองได้แม้ไม่มีผู้จัดการมาด้วย เพราะตัวภูมิคือ marketing ที่ดีที่สุด

แล้วพี่พายก็ย้อนกลับมาเรื่องจุดเริ่มต้นของการเล่นดนตรีของแต่ละคน มันก็เหมือนงาน

Showcase ที่เติบโตมาจากซีน DIY ที่วงดนตรีเริ่มจากการจัดงานที่เล่นให้เพื่อนดู เล่นไปเรื่อย ๆ จนเพื่อนชวนเพื่อนคนอื่นมาดู จนเก่งขึ้นแล้วก็จัดงานให้แมวมองมาดูเพื่ออยากจะเซ็นเข้าค่าย แต่การทำ Showcase Festival มันคือการจัดงานใหญ่ที่รวมวงแบบนี้เข้ามาเยอะ ๆ และผลักดันให้สิ่งนี้เกิดขึ้นภายในระยะเวลาสั้น ๆ จนกลายเป็น Business

ก่อนจะทิ้งคำถามถามง่าย ๆ ว่า “แล้วมึงเล่นดนตรีไปทำไม” 

พาย: ถ้ามึงเล่นดนตรีเพราะอยากรวยตั้งแต่วันแรก ก็โชคดีนะน้อง โชคดี ๆ (หัวเราะ) กูเชื่อว่าส่วนใหญ่เราเริ่มเล่นดนตรีเพราะเราชอบฟังดนตรี จนอยากเล่นเอง อยากแต่งเพลง แล้วก็เล่นให้คนอื่นดู แค่นั้นเอง ไม่ใช่เพราะเงินทอง แต่ถ้ามึงลืมว่าจุดเริ่มต้นมึงมาจากไหน แล้วก็ผิดหวังซ้ำ ๆ เพราะไม่สำเร็จไม่รวยซักกะที มันก็จะเจ็บไปเรื่อย ๆ เอาจริงไม่รู้จะพูดยังไง เดี๋ยวโดนทัวร์ลง ไอ้สัส (หัวเราะ)

ล่าสุด พี่พาย ก็กำลังจัดงาน AXEAN Festival งาน Music Showcase ที่ยิ่งใหญ่ในประเทศสิงคโปร์มีสปอนเซอร์จากภาครัฐอีกด้วย โดยมีเป้าหมายก็คือขยายความเป็นเอกลักษณ์ของดนตรีเอเชียให้ทั่วโลกเข้าถึง และแน่นอนว่ายังคัดเลือกศิลปินไทยไปที่งานนี้อีกด้วย ใครสนใจอย่าลืมไปติดตามงานนี้ที่ Facebook https://www.facebook.com/axeanfestival และ Instagram https://www.instagram.com/axeanfestival/

+ posts

ชอบไปคอนเสิร์ตเพราะเป็นกิจกรรมที่ทำคนเดียวได้ และยังชอบแนะนำวงดนตรีใหม่ ๆ ผ่านตัวอักษรตลอดเวลา

Related Articles

This website uses cookies to improve your experience. We'll assume you're ok with this, but you can opt-out if you wish. Accept Read More

Privacy & Cookies Policy