CAN วงจากเยอรมนีที่ทำให้เสียงของ Krautrock ดังไปทั่วโลก

by Montipa Virojpan
498 views

CAN วงดนตรี experimental rock จากเยอรมนีที่เริ่มมีชื่อเสียงในปลายยุค 60s ทำให้โลกได้รู้จักกับแนวเพลงใหม่ ๆ อย่าง ‘Krautrock’ ซึ่งก็ไม่น่าเชื่อว่าวงที่เคยถูกปฏิเสธจากค่ายเพราะว่าเพลง ‘ยากไป’ จะกลายมาเป็นอีกหน้าประวัติศาสตร์ของดนตรีร็อกและอิเล็กทรอนิกที่มีความสำคัญมากที่สุดบทหนึ่งที่เคยเกิดขึ้นบนโลกใบนี้

ส่วนเพลงข้างล่างนี้หลายคนน่าจะเคยได้ยินมาบ้างในหนังและซีรีส์หลายเรื่อง

ส่วนผสมอันแปลกประหลาดของ CAN เกิดขึ้นเมื่อปี 1968 ในอพาร์ตเมนต์แห่งหนึ่งเมืองโคโลญ เยอรมนี จากการรวมตัวของนักดนตรีที่มีพื้นหลังที่ต่างกัน เริ่มด้วยมือเปียโนคลาสสิก Irmin Schmidt ผู้เป็นเจ้าของห้องนั้นและ Holger Czukay ได้มาเจอกับมือกลองแจ๊สสายบีบ็อพและฮาร์ดบ็อพ Jaki Liebezeit ร่วมด้วย David C. Johnson นักประพันธ์เพลงอิเล็กทรอนิกชาวอเมริกันที่ต่อมาได้เล่นฟลุตและเป็นซาวด์เอนจิเนียร์ให้กับวง และมือกีตาร์ Michael Karoli ที่อายุเพียง 20 ปี (เด็กกว่าคนอื่นๆ ร่วม 10 ปี) ส่วน Malcolm Mooney อดีตนักร้องดูว็อปและเพื่อนประติมากรชาวอเมริกัน ที่ตอนนั้นอยู่ในระหว่างการท่องเที่ยวทั่วเอเชียและยุโรปเพื่อแสวงการตื่นรู้ทางจิตวิญญาณ (และส่วนนึงก็เพื่อหนีการเกณฑ์ทหารช่วงสงครามเวียดนาม) มาเยี่ยมเออร์มินพอดี ก็ได้จับพลัดจับผลูมาเป็นสมาชิกอีกคนของวง

CAN

เดิมที เออร์มินและโฮลเกอร์เคยเรียนดนตรีกับนักประพันธ์คนสำคัญของดนตรีตะวันตกสมัยใหม่อย่าง Karlheinz Stockhausen (ที่ทดลองเอาแนวคิดแบบคลาสสิกมาผสมผสานกับอิเล็กทรอนิกเป็นคนแรก ๆ) จึงได้อิทธิพลมาจากเขาอยู่ไม่น้อย ตอนที่เออร์มินใช้ชีวิตที่นิวยอร์กในช่วงปี 1966 ก็ได้พับกับนักดนตรีมินิมัลอวองการ์ด ศิลปินกลุ่ม Fluxus และได้ฟังเพลงของ The Velvet Underground จึงทำให้ได้รับแรงบันดาลใจและแนวคิดส่วนนึงมาจาก John Cale และเพื่อนศิลปินคนอื่น ๆ ส่วนโฮลเกอร์ที่ต่อมาเป็นครูสอนดนตรีก็สนใจในโครงสร้างและวิธีการสร้างเพลงเพลงหนึ่งขึ้นมามากกว่าจะพยายามนำเสนอไปเพียงแนวใดแนวหนึ่ง เมื่อเขาได้ฟังเพลง ‘I am the Walrus’ ของ The Beatles ที่นักเรียนในคลาสของเขาเปิดฟัง ก็ทำให้เขาเริ่มสนใจเพลงไซเคเดลิกร็อกและเริ่มเปิดใจฟังวงเอ็กซเพอริเมนทัลร็อกอื่น ๆ (Frank Zappa รวมถึง VU เราจะได้ยินซาวด์ใกล้ ๆ กันนี้ใน ‘Father Cannot Yell’ แต่เขาก็เอาวิธีคิดมาปรับใช้ในแบบของตัวเองได้แบบไม่เหลือเค้า) ส่วนแจ็คกี้ผู้เคยเล่นดนตรีกับศิลปินทรัมเป็ตแจ๊สในตำนาน Chet Baker มาแล้วก็คิดค้นแพตเทิร์นกลอง motorik 4/4 ซึ่งแทบจะสวนทางกับไอเดียฟรีแจ๊สที่เขาได้รับมา ส่งผลให้เขากลายเป็นมือกลองร็อกฝีมือหาตัวจับยากอีกคน 

ตอนแรกเริ่มพวกเขายังไม่ค่อยมีเงิน แต่ก็โชคดีที่ได้รับการสนับสนุนจากนักสะสมงานศิลปะคนหนึ่งที่เช่าห้องเปล่า ๆ ในปราสาท Nörvenich เพื่อเซ็ตอัพสตูดิโออย่างง่าย ๆ ขึ้นมาและเรียกมันว่า Inner Space (ก่อนที่จะได้ชื่อในปัจจุบัน พวกเขาเกือบจะใช้ชื่อวงเป็นชื่อเดียวกับสตูดิโอ แล้วมัลคอล์มก็เพิ่ม The Can เข้าไป แต่สุดท้ายก็มาลงที่ CAN เฉย ๆ ซึ่งแจ็คกี้เล่าขำ ๆ ว่า C.A.N. ย่อมาจาก ‘Communism, Anarchism, Nihilism’) แม้วงต้องหาวิธีถ่ายทอดซาวด์ออกมาให้ได้ตามต้องการด้วยการทดลองกับข้อจำกัดของทั้งสภาพแวดล้อมและอุปกรณ์ (ใช้เครื่องอัดแบบ 2 แทร็ค, พื้นผิวที่ทำให้เกิดการสะท้อนเสียง, ฯลฯ) ระหว่างนั้นเองพวกเขาก็สนุกกับการได้ค้นพบวิธีการทำเพลงที่ ‘แปลก’ ขึ้นเรื่อย ๆ และนั่นก็ทำให้อัลบั้ม ‘Prepared To Meet Thy Pnoom’ ที่เกือบจะได้เป็นงานชุดแรกอย่างเป็นทางการของวงไม่เคยถูกปล่อยที่ไหน เนื่องจากถูกปฏิเสธจากทุกค่ายเพลงเพราะว่ามันฟังยากและประหลาดจนเกินไป ภายหลังเดวิดเองก็ถอนตัวจากวงไปเนื่องจากทิศทางเพลงของวงเริ่มออกไปในทางร็อกมากขึ้น (ต่อมาในปี 1981 อัลบั้มถูกปล่อยออกมาในชื่อ ‘Delay 1968’ และชื่อ ‘Pnoom’ กลายมาเป็นแทร็คที่ 2 ของชุดนี้ ส่วนเพลงอย่าง ‘Thief’ ก็เคยถูกเอาไปปล่อยในคอมพิเลชัน ‘Electric Rock’ ในปี 1970 และ Radiohead ก็หยิบเพลงนี้มาคัฟเวอร์ในการแสดงสดปี 1998 ด้วย)

จนกระทั่งในปี 1969 ก็มีค่ายที่ให้โอกาสพวกเขาได้นำเสนอสิ่งใหม่ให้กับโลกด้วยการปล่อยอัลบั้มชุดแรกอย่างเป็นทางการ ‘Monster Movie’ ถือเป็นอัลบั้มมินิมัลไซเคเดเลียสุดแหวกที่อาจนับได้ว่าเป็นหนึ่งในต้นตำรับของเคราต์ร็อก (ตอนนั้นยังไม่มีชื่อเรียกเพลงแนวนี้) และเพลงอย่าง ‘Yoo Doo Right’ ก็เป็นงานยาว 20 นาทีครึ่งที่พวกเขาค้นหาความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ให้กับซาวด์ที่ทั้งลื่นไหลและลงตัว ซึ่งความยาวขนาดนี้อันที่จริงก็ถูกทอนมาให้อยู่ในขนาดพอดีคำแล้วจากเซสชันการอิมโพรไวส์กว่า 6 ชั่วโมง

ปี 1970 มัลคอล์ม นักร้องนำผู้ที่สมาชิกวงให้คำกล่าวขานว่าเป็นคนที่มีความสร้างสรรค์และมีพรสวรรค์ด้านจังหวะ ก็ประสบกับภาวะ mental breakdown ทำให้เขาต้องออกจากวงและบินกลับอเมริกา วงจึงต้องหานักร้องนำคนใหม่มาแทนเขา วันนึงโฮลเกอร์กับแจ็คกี้ก็ได้พบกับวัยรุ่นฮิปปี้จากคานากาวะ Kenji ‘Damo’ Suzuki ที่มาเล่นดนตรีเปิดหมวกอยู่หน้าคาเฟ่แห่งหนึ่งในมิวนิกและอยากชวนมาร้องในโชว์ ในหนังสือ Short History of Can ของโฮลเกอร์เขียนไว้ว่า “ผมบอกเขาว่า ‘พวกเราเป็นวงร็อกทดลองแล้วกำลังจะมีคอนเสิร์ตคืนนี้ บัตรขายหมดเกลี้ยง’ ดาโม่ตอบว่า เขาไม่มีธุระสำคัญอะไร งั้นทำไมจะไปช่วยร้องไม่ได้ล่ะ” ส่วนทางดาโม่ให้สัมภาษณ์กับอีกสื่อว่า “ตอนนั้นวงไม่ได้บอกเลยว่าต้องทำอะไรบ้าง ผมแค่ต้องขึ้นไปบนเวที แล้วจะทำอะไรก็ทำ” ในหนังสือเล่มเดียวกันโฮลเกอร์เล่าสถานการณ์ต่อมาในคืนนั้นว่า “คนเต็มเวนิวเลย ตอนแรกดาโม่ก็งึมงำ ๆ เหมือนพระสวดอยู่หรอก แต่แปปนึงเขาก็แปลงร่างเป็นซามูไรบู๊ระห่ำ คนดูช็อกแล้วเดินออกจากฮอลกันเกือบหมดเลย” ใช่ การร้องของเขาผสมผสานไปด้วยภาษาญี่ปุ่น อังกฤษ รวมถึงคำที่คิดขึ้นมาเอง การอิมโพรไวส์นี้กลายเป็นเสน่ห์ส่วนนึ่งที่ทำให้ตำนานของ CAN ได้เริ่มต้นขึ้นอย่างเป็นทางการ

จากการรวมตัวในปีนั้น ดาโม่ได้มีส่วนร่วมในบางเพลงของอัลบั้มปี 1970 ที่ชื่อ ‘Soundtracks’ เพราะบางเพลงได้มีการบันทึกเสียงของมัลคอล์มไปแล้ว ก่อนที่อัลบั้มชุด ‘Tago Mago’ จะออกมาในปี 1971 และเป็นงานแรกที่เขาได้รับหน้าที่ร้องนำเต็มตัว ปลายปีนั้นเองที่วงก็ย้ายไปตั้งสตูดิโอใหม่ที่โรงหนังเก่านอกเมืองโคโลญ พวกเขาใช้ที่นอนเก่าของทหารจากปี 1500 มาบุผนังเพื่อทำเป็นซาวด์พรูฟ โดยไมเคิลพูดติดตลกว่า “ฟูกพวกนี้เป็นแรงบันดาลใจให้กับพวกเราเลยแหละ เราถูกรายล้อมไปด้วยความฝันสุดวาบหวิวนับล้าน และเป็นไปได้ว่าเคยมีสเปิร์มอยู่บนนั้นด้วย!”

ปี 1972 อัลบั้ม ‘Ege Bamyası’ ที่นอกจากจะมีปกโดดเด่นเป็นรูปกระป๋องสุดไอคอนิกเขียนว่า ‘CAN’ และมีกระเจี๊ยบกับมะเขือเทศปรากฏอยู่บนนั้นจนทำให้เป็นที่จดจำมาจนถึงทุกวันนี้แล้ว ก็ยังมีเพลงอย่าง ‘Spoon’ ที่ได้ขึ้นชาร์ตเพลงฮิตในเยอรมนีและเป็นเพลงประกอบมินิซีรีส์ทริลเลอร์ Das Messer ที่ออกฉายในช่วงปีนั้น ในอัลบั้มนี้ยังมีเพลงดังเหนือกาลเวลาอย่าง ‘Vitamin C’ ที่ไปปรากฏอยู่ในหนังและซีรีส์ยุคใหม่หลาย ๆ เรื่อง ส่วน ‘I’m So Green’ เป็นเพลงที่ทำให้ผู้เขียนได้รู้จักกับพวกเขาผ่านอัลกอริธึมของ YouTube ซึ่งต่อมาก็เป็นจุดเริ่มต้นให้ลองสำรวจวงคล้าย ๆ กันวงอื่น ๆ อย่าง Kraftwerk, The Silver Apple และ Neu!

ไม่นานพวกเขารวมถึงวงจากเยอรมนีวงอื่น ๆ ก็มีทัวร์ในยุโรป ก่อนที่จะถูกสื่ออังกฤษจำนวนนึงเรียกรวม ๆ กันว่าเป็น ‘Krautrock’ ตอนแรกโฮลเกอร์คิดว่านั่นเป็นคำเหยียดเพราะอาจจะรังเกียจพวกเขาที่มาจากประเทศแพ้สงคราม แต่ภายหลังเขาก็เข้าใจว่านี่น่าจะเป็นคำเรียกอย่างชื่นชม (และเป็นมุขเหมือนเวลาเรียกผักดอง sauerkraut) เพราะสุดท้ายคนอังกฤษต่างให้การต้อนรับวงอย่างพวกเขาและรู้สึกว่านี่คือสิ่งใหม่ CAN มียอดขายอัลบั้มในอังกฤษถึงหลักหมื่นซึ่งถือว่าเป็นความสำเร็จงดงามของแนวดนตรีทางเลือกในสมัยนั้น

เมื่อชื่อของ CAN ติดลมบน และปล่อย ‘Future Days’ ออกมาในปี 1973 ก็เกิดเรื่องไม่คาดคิด เมื่อดาโม่ตัดสินใจออกจากวงไปเพื่อแต่งงานและอุทิศตนให้กับศาสนาในการเป็นพยานพระยะโฮวา ความพยายามในการหานักร้องนำคนใหม่ของวงก็ล้มเหลวเพราะคงไม่มีใครแทนเขาได้แล้วจริง ๆ ไมเคิลและเออร์มินจึงผลัดกันมารับหน้าที่ร้องนำแทนในหลายอัลบั้มต่อมา (‘Soon Over Babluma’ [1974]) ก่อนจะชวน Tim Hardin มาร้องในช่วงสั้น ๆ และได้อดีตสมาชิกวง Traffic ทั้งมือเบส Roscoe Gee และมือเพอร์คัสชัน Rebop Kwaku Baah มาร่วมวงในช่วงที่ทำอัลบั้ม ‘Landed’ (1975) ซึ่งสื่อดนตรีรายสัปดาห์ของอังกฤษ Melody Maker ขนานนามพวกเขาว่าเป็น “วงร็อกสุดล้ำของโลก” ในปี 1976 พวกเขาก็มีอัลบั้ม ‘Flow Motion’ และ ‘Unlimited Edition’ ที่เป็น extended version ของ ‘Limited Edition’ (1974) อัลบั้มรวมงานที่ไม่ได้ปล่อยตั้งแต่ปี 1968 ที่ทำออกมาเพียง 15,000 ก๊อปปี้

หลังจากที่ได้รอสโคมาเสริมวงแล้วนั้น ใน ‘Saw Delight’ (1977) โฮลเกอร์ก็เลิกเล่นเบสและมารับหน้าที่สร้าง ‘ซาวด์พิเศษ’ ให้กับวง เขามีความสนใจในการสร้างเสียงจากสื่ออื่น ๆ อย่างวิทยุคลื่นสั้น รหัสมอร์ส เครื่องบันทึกเทป และอีกหลายสิ่งจึงทำให้เพลงของวงยิ่งมีองค์ประกอบใหม่ ๆ เพิ่มเข้ามา แต่ขณะเดียวกันก็เป็นช่วงที่ความสัมพันธ์ของวงที่สั่นคลอนมาได้ระยะหนึ่งมาถึงปลายทาง โฮลเกอร์เล่าว่าจุดเริ่มต้นของ CAN ตอนแรก ทุกคนเป็นส่วนหนึ่งของวง เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันจริง ๆ เพราะเริ่มกันมาด้วยสภาพแวดล้อมที่จำกัดมาก ๆ แต่พอเริ่มประสบความสำเร็จ สามารถซื้อเครื่องมัลติแทร็คได้ ก็เป็นเหมือนจุดเริ่มต้นของจุดจบของวงด้วย พอคนนึงอยากได้ยินเสียงกีตาร์ อีกคนอยากได้ยินเสียงเบสมากกว่า กลายเป็นว่าทุกคนเริ่มวิจารณ์ซึ่งกันและกันว่าใครทำอะไรไม่เข้าหู จนเขาตัดสินใจออกจากวงไปในทัวร์สุดท้ายก่อนที่จะทำอัลบั้ม ‘Out Of Reach’ และอัลบั้มรวมเพลงฮิต ‘Cannibalism’ (1978) จะปล่อยออกมา แต่แล้วโฮลเกอร์ก็กลับมาช่วยอัดอัลบั้ม self-titled ‘Can’ (1979) ซึ่งเป็นงานชุดสุดท้ายที่เขามีส่วนร่วม

แม้ว่าจะไม่ได้มีผลงานออกมาเป็นชิ้นเป็นอัน แต่สมาชิกวงจากยุคอัลบั้ม ‘Monster Movie’ ก็กลับมารวมตัวกันเป็นระยะ ๆ ในปี 1986 พวกเขาบันทึกเสียงร่วมกันในเพลง ‘Last Night Sleep’ เพื่อประกอบภาพยนตร์เรื่อง Until the End of the World ของ Wim Wenders ก่อนจะออกอัลบั้ม ‘Rite Time’ ในปี 1988 โดยเอาเสียงที่บันทึกไว้เมื่อนานมาแล้วของมัลคอล์มนักร้องนำคนแรกมาอยู่ในอัลบั้ม พวกเขาร่วมงานกันเป็นครั้งสุดท้ายในปี 1999 เพื่อบันทึกเพลงเวอร์ชันคัฟเวอร์ของ The Third Man Theme ที่ประกอบหนังปี 1949 ชื่อเดียวกัน ส่วนดาโม่เองก็เดินทางไปทั่วโลก ทำค่ายเพลงและออกผลงานร่วมกับศิลปินไซเคเดลิกอันเดอร์กราวด์รุ่นใหม่จากประเทศต่าง ๆ และมีทัวร์ในชื่อ Damo Suzuki’s Network

จากแนวดนตรีที่ไม่มีชื่อเรียกและถูกหันหลังให้ ไปจนถึงการถูกสื่อต่างชาติแปะป้ายว่าเป็น ‘เคราต์ร็อก’ ที่เจ้าของภาษาเองก็ไม่เข้าใจว่ามันหมายถึงอะไร กลายเป็นว่าในยุคหลังทุกคนมีความเข้าใจตรงกันว่าคำนี้หมายถึงวงเยอรมันตะวันตกยุคปลาย 60s ถึงต้น 70s ที่มีลักษณะร่วมกันด้วยการผสมผสานอิทธิพลจากดนตรีไซเคเดลิกร็อก อิเล็กทรอนิก ฟรีแจ๊ส มีการเรียบเรียงเพลงแบบอวองการ์ด ดนตรีคลาสสิกร่วมสมัย และปฏิเสธไม่ได้ว่าการแสวงหารูปแบบใหม่ ๆ นี้เกิดขึ้นจากการถูกกดทับและปิดปากเงียบจากช่วงหลังสงครามมาอย่างยาวนาน พวกเขาทำทุกอย่างสวนทางกับค่านิยมของสังคมและต่อต้านการเมือง ต้องยอมรับว่าส่วนหนึ่งของมูฟเมนต์นี้ก็ส่งผลให้เบอร์ลินกลายมาเป็นหนึ่งในแนวหน้าของวงการศิลปะ ดนตรี และวรรณกรรมมาจนถึงยุคปัจจุบัน 

และสำหรับ CAN เอง พวกเขามีอิทธิพลกับศิลปินทั่วโลกหลายต่อหลายคนทั้ง David Bowie, Talking Heads, Joy Division หรือแม้แต่ Johnny Rotten จาก Sex Pistols ส่วน Pete Shelley แห่งวง Buzzcocks เคยให้คำนิยมว่าเขาคงไม่เริ่มเล่นกีตาร์ถ้าไม่ใช่เพราะ Marc Bolan และ Michael Karoli จาก CAN และเป็นที่รู้กันว่า Mark E. Smith นักร้องนำของวง The Fall ก็เป็นแฟนตัวยง มีเพลงชื่อ ‘I Am Damo Suzuki’ ในอัลบั้ม ‘This Nation’s Saving Grace’ (ต่อมามาร์กมีโปรเจกต์ Von Südenfed ที่ทำร่วมกับสมาชิกวง Mouse On Mars ซึ่งได้รับอิทธิพลจากเคราต์ร็อกเป็นอย่างมาก)

ปี 1997 อัลบั้ม ‘Sacrilege’ ที่มีศิลปินอย่าง Brian Eno, A Guy Called Gerald, Pete Shelley, Sonic Youth, U.N.K.L.E. และอีกมากมาย นำ 15 เพลงที่โด่งดังของวงในยุค 60-70s มารีมิกซ์ ซึ่งงานพวกนี้ก็มีอิทธิพลให้กับซีนเทคโน แอมเบียนต์ และแดนซ์มิวสิกในยุคหลังอีกทอดหนึ่ง ซึ่ง Andrew Weatherall โปรดิวเซอร์ที่เคยได้รับการติดต่อให้มารีมิกซ์ในอัลบั้มเดียวกันแต่ปฏิเสธไปเล่าติดตลกว่า เขาชอบรีมิกซ์งานคนอื่น แต่กับวงนี้เขาไม่มีวันจะทำแน่ ๆ เพราะทุกอย่างมันถูกสร้างออกมาอย่างสมบูรณ์แบบโดยพวกเขาแล้ว ไม่มีอะไรสามารถเพิ่มเข้าไป หรือเอาออกไปเพื่อให้มันดีกว่านั้นได้อีก เพลง ‘There There’ จากอัลบั้ม ‘Hail to the Thief’ ของ Radiohead ได้แรงบันดาลใจจากเพอร์คัสชันที่ถูกเอามาซ้อนหลาย ๆ เลเยอร์และดังขึ้นไปจนถึงจุดไคลแม็กซ์ของเพลงแบบที่ CAN ชอบทำ

ปี 2001 Michael Karoli เสียชีวิตจากการต่อสู้กับโรคมะเร็งมาอย่างยาวนาน

ต่อมาในปี 2003 วงได้รับรางวัล Lifetime Achiefment ซึ่งเป็นรางวัลทรงเกียรติที่สุดรางวัลหนึ่งของเยอรมนีจาก Echo Awards โดยมี Herbert Grönemeyer กล่าวสุนทรพจน์ยกย่องวง มี Brian Eno ทำภาพยนตร์สั้นอุทิศให้กับวงส่งเข้ามาฉายในงาน ส่วน John Frusciante มือกีตาร์ Red Hot Chili Peppers ที่ได้รับเกียรติเป็นผู้มอบรางวัลให้กับวงก็กล่าวแสดงความเคารพและชื่นชมต่อหน้าสมาชิกของวงในตำนานนี้ด้วย

Jaki Liebezeit และ Holger Czukay เสียชีวิตในปี 2017 แจ็คกี้ได้รับการกล่าวขานว่าเป็น ‘หนึ่งในมือกลองไม่กี่คนที่เราเชื่อได้สนิทใจว่าความฟังกี้มันฝังในสมองของเขาอยู่แล้ว’ ส่วนโฮลเกอร์ถูกขนานนามว่าเป็นผู้บุกเบิกการใช้แซมเพิล (จาก ‘Monster Movie’ ที่มีซาวด์แทร็คหนังเรื่องต่าง ๆ ในยุคนั้นถูกเอามายำรวม) เป็นผู้ออกสำรวจ world music ก่อนที่นิยามนี้จะแพร่หลาย ชีวิตหลัง CAN เขาก็ยังทำเพลงประกอบภาพยนตร์และสร้างผลงานแอมเบียนต์อีกมากมายจนกลายมาเป็นหนึ่งในผู้ที่ทรงอิทธิพลในดนตรีแอมเบียนต์ยุคหลัง

Damo Suzuki ตรวจพบมะเร็งลำไส้ใหญ่ตอนอายุ 33 ปีและรักษาตัวมาตั้งแต่ช่วงปี 90s ก่อนจะตรวจพบอีกครั้งในปี 2014 ซึ่งแพทย์แจ้งว่าเขามีโอกาสเพียง 10% ที่จะรอดชีวิต ในปี 2022 มีสารคดีเกี่ยวกับการต่อสู้โรคมะเร็งและความสัมพันธ์ของดาโม่กับภรรยาออกมาโดยใช้ชื่อว่า Energy: A Documentary about Damo Suzuki วันที่ 9 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาเขาเสียชีวิตในวัย 74 ปี

Irmin Schmidt และ Malcolm Mooney ยังมีชีวิตอยู่ในวัย 86 และ 84 ปีตามลำดับ และบันทึกการแสดงสด ‘Can Live In Paris 1973’ จะได้รับฟังพร้อมกันในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ และนี่คือบันทึกการแสดงสดครั้งแรกที่มีเสียงของดาโม่ ซึ่งเป็นหนึ่งในโชว์สุดท้ายของเขาร่วมกับวง

จากคำกล่าวของโฮลเกอร์ เขาบอกว่าการแสดงสดต่างหากที่ทำให้ CAN แสดงศักยภาพออกมาได้ดีเยี่ยมที่สุด ไม่ใช่เสียงบันทึกในอัลบั้มแต่อย่างใด “เมื่อพูดถึงการต้องแสดงสดครั้งใหญ่จากการที่ไม่ได้เตรียมอะไรเลย พวกเราถนัดในการทำอะไรแบบนี้มาก เราขึ้นไปบนเวทีแบบไม่มีอะไรเลยในหัว และใครก็ตามที่ขว้างหินใส่เรา เราจะคว้าหินก้อนนั้นและปามันกลับไป และนั่นคือจุดเริ่มต้นของคอนเสิร์ตของเราล่ะ”

ทีมงาน The COSMOS ในฐานะแฟนเพลงของวง ขออุทิศบทความ COSMOS Theory ตอนนี้เป็นการแสดงความเคารพต่อศิลปินที่เป็นแบบอย่างและสร้างคุณูปการให้กับวงการดนตรีทั่วโลก

อ้างอิง
https://www.loudersound.com/features/krautrock-communism-and-chaos-the-anarchic-story-of-can
https://www.theguardian.com/music/2024/feb/10/rock-singer-damo-suzuki-dies-aged-74
https://www.theneweuropean.co.uk/brexit-news-can-the-influence-the-german-rock-band-in-modern-music-20774/
https://www.spoonrecords.com/history/can.php

อ่านต่อ

Zulu ฮาร์ดคอร์อายุน้อย ผู้ไม่คล้อยตามธรรมเนียมสังคม
Attention please! ทำไมใคร ๆ ก็รัก New Jeans?

+ posts

อิ๊ก นักเขียนสายดนตรีที่เกือบจะต้องวางมือ แต่คงหนีไม่พ้นเพราะยังอยากพูดถึงวงและเพลงดี ๆ ต่อไปเรื่อย ๆ

Related Articles

This website uses cookies to improve your experience. We'll assume you're ok with this, but you can opt-out if you wish. Accept Read More

Privacy & Cookies Policy