Ford Trio รู้สึกให้สุด ฉีกทุกกฎดนตรี เพราะไม่อยากอยู่กับที่ซ้ำเดิม

by Montipa Virojpan
359 views
Ford Trio interview

Ford Trio คือวงดนตรี 3 คน ประกอบไปด้วย ฟอร์ด (ร้องนำ/กีตาร์) หมอ (เบส) และ เจมส์ (กลอง) จุดเริ่มต้นของทั้งสามคนค่อนข้างเป็นไปในทางจับพลัดจับผลูเพราะคลิกกันด้วยสไตล์ดนตรีและวิชาเรียน มากกว่าจะเป็นการรู้จักกันมาตั้งแต่เด็กจนเล่นได้เข้าขาแบบวงดนตรีอายุน้อยในต่างประเทศ แต่กระนั้นแล้วความกลมกล่อมในบทเพลงของพวกเขาที่ผสมผสานทั้งป๊อป กรูฟ ฟังก์ ร็อก บลูส์ รวมไปถึงดนตรีพื้นบ้าน เนื้อเพลงที่ผิดแผกไปใจวงดนตรีอื่น ๆ ในรุ่นราวคราวเดียวกัน และการแสดงสดของพวกเขาที่รับส่งพลังงานกันได้ดีราวกับว่าสมาชิกวงคุ้นเคยกันมานาน ทำให้เราตื่นหูตื่นใจจนไม่ปฏิเสธว่า Ford Trio เป็นอีกหนึ่งวงที่น่าจับตามองสุด ๆ และวงก็ได้ปล่อยซิงเกิ้ลใหม่ให้ได้ฟังกันแล้ว ใครที่ยังไม่รู้จักพวกเขาเราขอชวนให้แง้มอ่านกันในบทสัมภาษณ์นี้ก่อนกลับไปฟังเพลงอื่น ๆ ของพวกเขากันต่อ

Ford Trio เจอกันในวิชารวมวง โดยวิชานี้มีจุดประสงค์เพื่อที่จะได้เข้าใจดนตรีแนวต่าง ๆ ในสาขาดนตรีเชิงพาณิชย์ที่อาจารย์พิซซ่า วงพราว เป็นหัวหน้าสาขา

“เวลาเข้ามหาลัยใหม่ ๆ เราต้องมีความโชว์พาวนิดนึง” หมอเล่า “ผมโพสต์คลิปตัวเองเล่นคีย์บอร์ดเพลง Stevie Wonder ในเฟซบุ๊ก แล้วผมน่าจะเป็นเพื่อนกับฟอร์ดในนั้น ฟอร์ดเลยมาสะกิดผมที่คณะถามว่า ‘นาย ๆ ชอบ Stevie Wonder หรอ’ เราก็เลยคุยกันแล้วก็ฟอร์มวงด้วยกัน”

“เซนส์ฟังเพลงเราคล้ายกัน ก็เลยชวนกันมาทำวงดู การแจมทำให้รู้สึกว่าเราเล่นด้วยกันได้” ฟอร์ดเล่า

ตอนนั้นวงของพวกเขายังเป็นการฟอร์มวงเล่นงานมหาวิทยาลัย งานส่งอาจารย์ ฟอร์ดเองที่ทีแรกร้องเพลงเป็นหลัก แต่พอเพื่อนในวงเล่นกีตาร์ไม่ได้ดั่งใจภายหลังเขาจึงหัดเล่นกีตาร์เอง ซึ่งแนวเพลงที่มีอิทธิพลจากการเรียนกีตาร์ ณ ตอนนั้นก็คือบลูส์ เขาจึงเอาเทคนิคที่ได้เรียนมามาใช้ในริฟฟ์ของบางเพลงในช่วงแรก ส่วนตำแหน่งมือกลอง เจมส์ที่อยู่คนละวงก็มาช่วยตีให้เพราะมือกลองในรุ่นมีน้อย แต่ไป ๆ มา ๆ พวกเขาก็เล่นด้วยกันบ่อยจนกลายมาเป็น Ford Trio ในที่สุด

ฟอร์ด: ที่มาของชื่อวงคือตอนนั้นเราจะไปส่งงานของมหาลัยแล้วนึกชื่อวงไม่ออก ช่วงนั้นเราชอบเพลงของ John Mayer ทีแรกเขาเป็นศิลปินป๊อป Billboard แล้วเขาอยากพิสูจน์ตัวเองว่าเขาเป็นนักดนตรี เป็นมือกีตาร์บลูส์จริง ๆ เลยไปฟอร์มวงเป็น John Mayer Trio ขึ้นมา แล้วพวกผมก็ชอบกันมาก เพลงที่ทำกันในช่วงแรก ๆ ก็ได้ reference มาจากตรงนี้ เลยเอามาตั้งชื่อล้อเป็น Ford Trio ครับ

หมอ: มันไม่ได้มีการตัดสินใจเกิดขึ้นว่า ‘เชี่ย ทำวงกันเว่ย’ แต่มันเป็นยุคที่ทุกคนเริ่มอัดเพลงกัน เรามีเพลงแล้วก็ชวนเพื่อนในรุ่นมาอัดให้

ฟอร์ด: เหมือนในรุ่นทุกคนต้องแต่งเพลงหมดอยู่แล้ว พอทุกคนมีความเป็นนักแต่งเพลงในตัวก็อยากที่จะเอาเพลงตัวเองไปเล่นสดในงานของคณะหรืองานเพื่อน ๆ ต่างมหาลัย อย่างวง Story and Feel. ก็เป็นวงรุ่นเดียวกัน มาจากจุดเริ่มต้นเดียวกัน

Discography

‘Rain Therapy’

ฟอร์ด: EP ชุดแรก ตอนนั้นผมเริ่มเล่นกีตาร์จากการแกะเพลง ฟังเพลงของ John Mayer แล้วผมเอาสไตล์การเล่นของเขามาปรับ คิดว่าเล่นได้ประมาณนี้ ดังนั้นเพลงมันจะมีความ reference ถึง John Mayer ชุด ‘Ultimatum’ สไตล์การแต่งเพลงก็จะ based on ดนตรี โซล ฟังก์ ร็อก มีเนื้อร้องทำนองไทยที่ตอนนั้นผมก็อินพวกเพลงจาก Bakery วง The Begins หรือ บอย โกสิยพงษ์ เหมือนกับว่าเรารู้จักอะไร input มาแบบไหน เราก็พูดไปแบบนั้น ยังไม่มีการโปรดิวซ์องค์รวมมากมาย

ชุดนี้มีไฮไลต์เป็นเพลงที่ผมได้ไปทำกับ Varis วินเป็นรุ่นน้องที่เจอกันในคณะ ผมชื่นชอบในสไตล์เขาแล้วแนวเพลงเราก็คล้าย ๆ กัน ตอนนั้นวินก็ทำวงมาได้ประมาณนึง พอเจอกันก็ ‘เฮ้ย ลองสักเพลงดีกว่าว่ะ’ แจมกันหนุก ๆ เป็นเพลง ‘ให้เธอ’ ชุดนั้นจะมี 6 เพลงกรุบกริบ

หมอ: เป็นชุดที่ทำตอนเรียนมหาลัยด้วย ปีสาม ปีสี่ ก็จะมีความเด็กของมันอยู่

‘Ford Trio’

หลังจากชุด ‘Rain Therapy’ เราก็สังเกตได้ถึงความแปลกประหลาดในโครงสร้างของเนื้อเพลงของวง ที่เราไม่เคยเห็นวงในพูดเรื่องราวเหล่านี้ในโทนแบบนี้มาก่อน

หมอ: เพราะว่าชุดแรกเราตั้งใจทำเพลงป๊อปขาย แต่มันขายไม่ออกครับ

ฟอร์ด: ก็เลย โอเค แบบนี้กูคงไม่ถนัดนะ… ช่วงที่เริ่มอัลบั้ม Ford Trio เป็นช่วงที่ผมเริ่มส่งธีสิสของสาขาของผม การแต่งเพลงมันจะอยู่ในกรอบ academic มาก ๆ แล้วผมก็เลยรู้สึกว่ามันเก็บกด อยากแต่งเพลงที่มันแปลก ๆ หรืออะไรก็ได้ตามใจ เซอร์ ๆ บ้างบางที เลยตั้งใจว่าชุดนี้เนื้อเพลงจะเอาแหวก ๆ เลย เพื่อที่เราจะทลายกรอบตัวเองไปเลยว่าต่อไปนี้เราจะใช้คำไหนกับดนตรีแบบไหนก็ได้

เจมส์: เหมือนฟอร์ดลองทำลายวิธีเขียนเรื่องรัก ๆ ใคร่ ๆ ไปเขียนเรื่องอะไรก็ได้มากขึ้น ดนตรีก็เหมือนกัน มันเหมือนเราทำมา 6 เพลงแล้ว มันถึงจุดที่ ‘ช่างมันเถอะ’ เราไม่ต้องไปทำตามอย่างนั้นอย่างนี้แล้ว เอาแบบคิดอะไรออกก็ทำ ตอนทำชุดแรก ทุกคนฟังแบบเดียวกัน Stevie Wonder, John Mayer แต่พอมาชุด ‘Ford Trio’ นี้มันอยู่ในช่วงที่แต่ละคนก็แยกไปฟังอะไรที่หลากหลายมากขึ้น ได้เรียนรู้ ได้ฟังอาจารย์ในมหาลัย ไปโดนอิเล็กทรอนิก ไปโดนการแต่งเพลง high concept แบบใหม่ ไปเรียนการอะเรนจ์สตริง ทำให้เรามีของหลากหลายแนวมากขึ้น เหมือนเป็นการลองทำเพลงแบบ trio ผนวกเข้ากับแนวดนตรีแนวอื่นไปเรื่อย ๆ เพื่อดูความเป็นไปได้ของการเล่นเครื่องดนตรี 3 ชิ้น กลอง เบส กีตาร์ พอไปผสมกับอย่างอื่นแล้วมันจะเป็นอะไรได้บ้าง ซึ่งผลลัพธ์ของอัลบั้มนี้ก็ทำให้เราเจอวิธีการใหม่ ๆ ผมเลยคิดว่าจุดนี้ทำให้อัลบั้มมีความวาไรตี้ กล้าที่จะใส่ กล้าที่จะทดลอง แล้วก็มีความอินดี้ด้วยมั้งผมว่า ทำลายขนบของดนตรี r&b ความฟังกี้ที่จะต้องมีเครื่องดนตรีแค่นี้ ไม่มีซาวด์อิเล็กทรอนิก หรือว่าไลน์กีตาร์ที่ต้องจัดจ้านขนาดนั้น ไม่มีซาวด์ซินธิไซเซอร์ โอเคมันอาจจะมีเพลงที่เป็นฟังกี้ ฟังก์ร็อกขนบเดิมอยู่ในนั้น แต่พอฟังไปเรื่อย ๆ ก็จะคิดว่า ‘โอ้ นี่ใช่เพลงฟังก์รึเปล่า’ อยู่ในอัลบั้มเดียวกัน แล้วผมคิดว่าอัลบั้มแรก ๆ มันง่ายมากเสมอเพราะเราสามารถทำอะไรที่เป็นตัวเราจริง ๆ แค่เราได้พรีเซนต์ตัวเราออกมา

ฟอร์ด: ส่วนคอนเซ็ปต์เนื้อเพลงจะเกี่ยวกับสังคมปัจจุบันที่เราเจอ หรือผ่านในโซเชียลเน็ตเวิร์ก แล้วเราก็ตั้งคำถามว่าแบบนี้มันได้เหรอ ฟีลคนพูดจะเป็นความรู้สึกประมาณนี้

หมอ: ส่วน Episode ที่แบ่งออกมามันคือชุดเพลงในอัลบั้มเต็มที่เราทยอยปล่อย เราแบ่งเพลงเป็น 1 2 3 ให้มันอัปเดต ไปรวมเป็นอัลบั้ม ‘Ford Trio’

ฟอร์ด: จริง ๆ คือมีเงินไปอัดกลองแค่ 3 เพลง พี่วินเขาคิดให้ถูก ๆ เสร็จ 3 เพลงปุ๊บก็รวมปล่อย ค่อยอัดชุดต่อไป แล้วหลังจากที่เราจบอัลบั้ม ‘Ford Trio’ เราก็ออกไปเล่นสดกันเยอะพอสมควรเลยครับ ทีนี้มันเหมือนว่าเรารู้แล้วว่าเราต้องการที่จะทำโชว์แบบไหน เราชอบดนตรีกรูฟ ๆ ฟังก์ ๆ โชว์ของพวกเรามันคือโชว์ของวงที่เพลงไม่ดัง ดังนั้นมันต้องทำให้คนสนุกโดยที่เขาไม่ต้องร้องเพลงตามก็ได้ มันน่าจะเกี่ยวกับเอเนอร์จี้การเรียงเพลงครับ เราเห็นทรงแล้วว่า เฮ้ย ตอนนี้วงเรามันขาดเพลงประมาณนี้ ๆ ในโชว์อยู่ พอเราอยากมีเพลงแบบนี้เพื่อไปเสริมโชว์ด้วย ก็เลยทำเพลงแบบ ‘YMO’ ที่เป็นเพลงเร็ว ฟังก์จัด ๆ เลย เข้ามาเสริม และมันก็เลยเป็นโทนของดนตรีใน ‘Ouch’ ด้วย

‘Ouch’

หมอ: วงจรของชีวิตนักดนตรีคือการทำอัลบั้มเพื่อไปปล่อยที่งาน Cat Expo เราเอาอัลบั้มชุดนี้ไปขาย แล้วเป็นปีแรกที่เราได้เล่น Cat Expo พอดีว่าเจ้าของค่าย CrazyMondae เดินมาดูพอดี ‘วงนั้นมันบ้าอะไรเนี่ย’ แล้วหลังจากนั้นประมาณครึ่งปีเขาก็ติดต่อมา ชวนเราเข้ามาทำเพลงด้วยกันในชุด ‘Ouch’ เป็นช่วงที่เราเรียนจบออกมาแล้ว แล้วพบเจอกับความเป็นจริง

เราจบมาจากคณะดนตรีที่โดนไม่ให้เล่นดนตรี ทั้งที่มันไม่ได้มีงานเยอะอยู่แล้ว แล้วพอมีโควิดก็ไม่มีงานเยอะกว่าเดิม ทำวงก็ไม่มีคนฟัง ก็เลยเป็นความอัดอั้นน้อยใจที่เกิดขึ้นในช่วงของการทำอัลบั้มมา มันก็เลยกลายมาเป็นสารตั้งต้นของ EP ‘Ouch’ พอเรามีค่าย เขาก็คอยซัพพอร์ต มีคนมาชี้แนะเรื่องความหลากหลายของซาวด์ ก็จะมีความโหวกเหวก ฉูดฉาดของดนตรีมากขึ้น คนก็น่าจะติดภาพจำไปแล้วว่าเราเขียนเนื้อเพลง negative กวนตีน เป็นสไตล์ของวงเราไปแล้ว (ฟอร์ด: มันเข้ามือ) แล้วก็ EP ชุดนี้ ผมเข้ามามีส่วนร่วมในการแต่งเนื้อเพลงมากขึ้น ก็จะมีองค์ประกอบใหม่ ๆ ที่วงเราเริ่มทำได้มากขึ้นในชุดนี้ แล้วเรื่องคุณภาพอะไรก็พัฒนาขึ้น แล้วลามไปสู่เรื่องโชว์ที่ทำให้โชว์เรามีความสนุกมากขึ้น แล้วก็สดใหม่ EP นี้ก็ค่อนข้างประสบความสำเร็จในการจำกัดความความเป็นวงครับ

หลังจากที่เข้าค่ายมาเป็นยังไงบ้าง

ฟอร์ด: สำคัญเลยคือซัพพอร์ตเรื่องค่าใช้จ่ายในการทำเพลง ทำให้พวกเราสามารถไปใช้สตูดิโอได้อย่างไม่ต้องคิดมาก เมื่อก่อนคิวนึงต้องอัดสามเพลง เดี๋ยวนี้ก็จะคิดง่ายขึ้น เราอยากได้ซาวด์ของที่นี่ ก็ไปที่นี่ เราอยากได้คนนี้มาอัดเพอร์คัสชัน ก็ได้มาอัด เราอยากได้อะไรก็สามารถที่จะคิดและทำให้เป็นจริงได้มากขึ้นในเรื่องโปรดักชัน แล้วก็มีพี่เหลิม (Seal Pillow, Gym and Swim) เข้ามาอย่างที่หมอบอก แนะนำเรื่องความเป็นไปได้ที่วงสามารถเป็นไปได้ แบบว่า บางทีแกแนะนำด้วยประสบการณ์ของแกแล้วเราก็มาปรับใช้กับเรา ก็เหมือนกับว่าจาก Ford Trio มีหัวสมองเดียว พอมีค่ายปึ้บเหมือนกับว่ามันมีอีกหัวสมองนึงคอยคิดว่า เฮ้ย บางทีคุณมากไปในจุดนี้ บางทีคุณเพิ่มตรงนี้ได้ ดีครับ ก็เหมือนมีผู้ใหญ่มาช่วยดูเรื่องงาน

อัลบั้มต่อไป

หมอ: หลังจากที่เราเสร็จชุด ‘Ouch’ เราก็โชคดีที่ได้มีโอกาสไปเล่นที่ญี่ปุ่น เป็นงานงานนึง ชื่อ Tokyo Beyond Festival ครับ พอเรารู้ว่าเราจะได้ไปเล่น พี่เหลิมก็แนะนำว่าถ้าไปเล่นที่ญี่ปุ่นเฉย ๆ บางทีมันอาจจะไม่อิมแพค ถ้าเราร่วมงานกับคนญี่ปุ่นเป็นการเบิกทาง ให้เรามีชื่ออยู่ในสากลโลกของเขาก่อน เราเลย pitching กันว่า featuring กับวงไหนดี อาเหลิมก็เลยเสนอมาว่าที่เป็นไปได้ก็มี Helsinki Lambda Club ก็คือเป็นวงอินดี้แนว ๆ เขาเรียกว่าเป็นอัลเทอร์เนทิฟร็อก แต่พอผมฟังก็จะเปรียบเทียบเขาเป็น Summer Dress ดีไหมนะ มีความป๊อปบ้าง ฟังยากบ้าง เป็นวง up and coming ประมาณแสนสตรีมต่อเดือน เป็นครั้งแรกที่เรา featuring กับวงที่เราไม่เคยเจอหน้ามาก่อนเป็นครั้งแรก ค่อนข้างตื่นเต้นที่จะทำงานกัน

แล้วเรื่องกลิ่นอายของอีสานจริง ๆ เราโดนพี่เหลิมไซโคใส่มานานแล้ว คือยุคหลัง ๆ ในฝั่ง world music ก็จะมีความ local เอาซาวด์ท้องถิ่นมาเล่น เช่น วง Khruangbin เขาจะมีวิธีการเล่นกีตาร์ที่หยิบยืมมาจาก Thai surf หรือ Thai funk สมัยก่อน เราก็ลองเอาพื้นฐานดนตรีเป็นกรูฟ ฟังก์เหมือนเดิม แล้วเอากีตาร์ข้างบนให้มันมีสิ่งนี้มากขึ้นจะได้ไหมนะ ออกมาเป็น ‘เปล่าเลย’ ซึ่งมันแต่งเป็นไทยล้วนมาก่อน แล้วพอมีต้องร่วมงานกับคนญี่ปุ่น เราก็เอาไปให้เขาแต่งเนื้อท่อนหลังมา ก็โอเคเลย แล้วก็กลายเป็นเพลง top streaming ของเราไปเรียบร้อย

ฟอร์ด: สไตล์ที่มันมีความเป็นหมอลำขึ้น ก็คือผมฟังแนวดนตรีประมาณนี้อยู่แล้วด้วย ตอนแรกพอเราเพิ่งทำอัลบัมชุด ‘Ouch’ เสร็จ เราติดฟังก์จัด แบบ ‘กูคือฟังก์ ๆ’ ก็เลยไม่ยอมเล่นครับ แต่แล้วทีนี้ ก็ได้คุย ๆ กัน ทำเพลงทำไปทำมา รู้สึกว่าลองเล่นไปสักเพลงนึงแล้วติดใจ ชอบ พอมันเป็นเมโลดี้อะไรที่เยอะ แล้วก็ด้วยความที่ผมเล่นกีตาร์จากบลูส์มันก็จะมีทางนิ้วของบลูส์เข้าของผมอยู่ ไม่ได้เป็นอีสานเพียว ซึ่งทำให้ได้ซาวด์ว่า เฮ้ยมันจะอีสานแล้วหรอวะ ก็เหมือนมีอีกด้านนึงถ่วงอยู่ ก็เลยชุดนี้กีตาร์หรือว่าซาวด์จะมีเรฟไปทางวง Kruangbin, Thai surf, Thai funk มากขึ้น

หมอ: หลังจากกลับจากญี่ปุ่น มันก็มีการอันล็อกในการทำเพลงบางอย่างจากพวกเรา มันก็น่าจะได้มองเห็นในอัลบั้มนี้ครับ ธีมของชุดต่อไปเราอยากจะให้มันมีความเอเชียตุ่ย ๆ ก็คือบอกได้ว่ามันน่าจะอยู่ในเอเชียนี่แหละ แต่ไม่สามารถ pin point ได้ว่ามันอยู่ที่ไหน

‘Hatsudai’

ฟอร์ด: มาจากเราไปเล่นญี่ปุ่น สนุกมาก ประทับใจกับย่านที่ไปอยู่ เพื่อนที่ได้เจอ แล้วย่านนี้มันไวบ์มาก ผมชอบมาก ใช่เลย สโลวไลฟ์ ชิล

หมอ: มันติดชิบุย่า แต่มันไม่มีอะไรเลย เป็นเหมือนคล้าย ๆ พญาไทเรามั้ง มันอยู่ระหว่างความใหญ่โตแต่ไม่ค่อยได้มีอะไร

ฟอร์ด: ตกกลางคืนอะครับ คิดว่าเดินไปซื้อของซูเปอร์มาเก็ตแล้วมีแต่ของดี ๆ อะครับ กลับมาแล้วรู้สึกว่า โห มีความสุขจังเลยวะ การอยู่ย่านนี้ ตื่นเช้ามาผมเดินไปหากาแฟกิน ก็โห เมืองเขาสวย ร้านกาแฟก็ดี ผมประทับใจ กลับมาก็พยายามจะขึ้นเพลงใหม่เพลงนึง เพราะว่าจะต้องทำอัลบั้มให้เสร็จ ไปเจอ material เก่าของตัวเองที่เคยทำไว้ เป็นแนวกีตาร์ที่เมโลดี้มันได้เอาใช้ขึ้นกับเพื่อนดีกว่า ผมก็จับเพื่อนมานั่งอยู่ในห้องซ้อม เราจะทำเพลงอันนี้ มาคิดไอเดียเพลง ‘Hatsudai’ กัน แล้วก็ออกมาเป็นแบบนี้ครับ

เส้นทางต่อไปของวงจะเป็นอย่างไรต่อไป รับฟังกันได้เลยที่เพลงนี้

+ posts

อิ๊ก นักเขียนสายดนตรีที่เกือบจะต้องวางมือ แต่คงหนีไม่พ้นเพราะยังอยากพูดถึงวงและเพลงดี ๆ ต่อไปเรื่อย ๆ

Related Articles

This website uses cookies to improve your experience. We'll assume you're ok with this, but you can opt-out if you wish. Accept Read More

Privacy & Cookies Policy