FORD TRIO พูดถึง EP ล่าสุด ‘YANT’ กับซาวด์ Neo-Thai Funk ที่ถ่ายทอดจุดยืนทางดนตรีของพวกเขาได้ชัดเจนที่สุด

by McKee
55 views
FORD TRIO YANT EP Neo Thai Funk Pluk Sek Service Thailand

FORD TRIO กลับมาอีกครั้ง พร้อม EP ใหม่ล่าสุดในชื่อว่า YANT สื่อถึงโน๊ตดนตรีแต่ละตัวที่ร้อยเรียงกันออกมาเป็นยันต์เพื่อสะกดความลังเล และปลุกตัวตนใหม่ที่กล้าเดินหน้าต่อไปในทิศทางดนตรีใหม่ ๆ แบบ Neo-Thai Funk ที่พวกเขานิยามกันขึ้นมาเอง เป็นผลงานที่กลั่นออกมาจากสองปีเต็ม ๆ ของการออกเดินทางออกไปเจอผู้คนทั่วเอเชีย เพื่อตามหาว่าพวกเขาเป็นใครบนเวที และซีนดนตรีนี้

บทสัมภาษณ์นี้เลยไม่ได้มีแค่เบื้องหลังการทำเพลง แต่เต็มไปด้วยประสบการณ์ตรงจากสนามจริง ทั้งเรื่องโชว์ การทำเพลง และการทำงานเบื้องหลังอันหนักหน่วง ส่งต่อความรู้และความสนุกให้กับศิลปินรุ่นใหม่สามารถหยิบไปใช้ได้เลยแบบไม่มีกั๊ก เตรียมตัวให้พร้อมใน Transmission นี้ เพราะพวกเขาคือวงที่กล้าลอง กล้าสร้างสิ่งใหม่ให้ดนตรีไทยด้วยมือของตัวเอง

FORD TRIO YANT EP Neo Thai Funk Pluk Sek Service Thailand

สมาชิก FORD TRIO
ฟอร์ด—กษิดิศ ตนาภิชาติ (กีต้าร์, ร้องนำ)
หมอ—สมิทธิ์ สกุลแก้ว (เบส)
เจมส์—ณัฐพล อินทร์หนู (กลอง)

ฟอร์ด: ตั้งแต่ชุดคุณพระ ที่ได้ออกไปทัวร์หลาย ๆ ที่ก็รู้สึกว่าเติบโตขึ้นทางดนตรีมากขึ้นครับ เพราะว่า audience มันไม่ใช่แค่กลุ่มเดิมแล้ว มันกลายเป็นคนที่เราไม่รู้จักเลย อย่างคนญี่ปุ่น คนจีน คนไต้หวัน หรือแม้แต่คนอีสาน มันหลากหลายมากครับ ก็เลยทำให้แนวดนตรีที่เราเอาไปเล่นให้เขาฟัง ค่อย ๆ เปลี่ยนไปเรื่อย ๆ

เรื่องเพลงอะไรพวกนี้ ก็รู้สึกว่าวิธีการทำงานมันเปลี่ยนไปด้วยครับ เราเริ่มคำนึงถึงภาพรวมของงานมากขึ้น ว่ามันควรจะออกมาเป็นยังไงดี ในฐานะที่เป็นวง FORD TRIO คือมันไม่ใช่แค่ทำเพลงไปเรื่อย ๆ แล้ว แต่เราจะเริ่มคิดแล้วว่าวงของเราควรจะพูดอะไร ซาวด์ควรจะเป็นแบบไหน วิธีทำงานควรจะเดินไปทางไหน รวมถึงโชว์ก็ควรจะหน้าตาเป็นยังไงด้วย เราเรียกได้เลยว่ามันเป็นช่วง coming of age จริง ๆ เป็นช่วงที่เราตัดสินใจว่า เราจะเป็นแบบไหน เราจะพูดยังไง ตอนนี้เราเริ่มซีเรียสกับเรื่องพวกนี้มากขึ้นครับ

หมอ: เราก็เดินทางมาถึงจุดที่ goal ที่เราเคยตั้งไว้มันสำเร็จไปในระดับนึงแล้ว สำหรับผมก็คือ ได้ไปเล่นต่างประเทศ ได้ทำเพลงที่อยากทำ แล้วมันก็เป็นไปได้จริง พอมาถึงตอนนี้ อายุเราก็ 27 พอดี มันเหมือนเป็นช่วงที่หลายคนก็ไม่ได้วางแผนไว้ชัดเจนว่า จะเอายังไงต่อ ผมเลยรู้สึกว่ามันเป็นจังหวะที่เหมาะเจาะกับการกลับมาคิดเรื่องดนตรีใหม่ ๆ ด้วย มันเป็นจุดที่น่าสนใจเหมือนกันครับ

ตอนนี้มันก็เป็นช่วงอายุวงที่ ถ้าเป็นวงอื่นบางวงก็ดังไปแล้ว หรือไม่ก็เงียบหายไปเลยก็มี แต่ของเรามันยังอยู่ อยู่ในจังหวะที่ยังไม่สุด แต่ก็ยังไม่หายไปไหน เป็นช่วงที่ต้องคิดจริง ๆ ว่า เราจะวางตัวเองไว้ตรงไหนในวงการดนตรีดี แต่ก็ดีนะครับ อยู่มา 8 ปีแล้ว (หัวเราะ)

เจมส์: ผมว่าปีนี้มันเป็นปีที่ชัดเจนเลยว่า FORD TRIO ไม่น่าใช่วงหน้าใหม่แล้วครับ มันผ่านช่วงนั้นมาสักพัก จนตอนนี้ถ้าใครยังเรียกเราเป็นวงหน้าใหม่ ผมก็เริ่มเขิน ๆ ละ เพราะงั้นหลายอย่างมันเหมือนกับการปักหมุดว่าเราคือใครในซีนดนตรีนี้ ผมรู้สึกว่าวิธีคิดเราเปลี่ยนไปเลยนะ เราพยายาม shape ตัวตนของเราให้ชัดที่สุด

ถ้าจะบอกว่า Fortio เป็นวงอินดี้ ก็เป็นวงอินดี้ที่จริงจังกับการเป็นอินดี้ในแบบของตัวเอง คือเราไม่ได้พยายามเข้าไปหาคนอื่นแล้วนะ แต่เราพยายามทำให้คนอื่นเข้าใจและยอมรับว่าตัวตนของเราเป็นแบบนี้จริง ๆ ผมกล้าพูดเลยว่าตอนนี้เราไม่ได้ทดลองแล้วว่าจะเป็นอะไร

อ่านต่อ: Ford Trio รู้สึกให้สุด ฉีกทุกกฎดนตรี เพราะไม่อยากอยู่กับที่ซ้ำเดิม

หมอ: ส่วนตัวผมตอนก่อนเข้าค่าย เขาก็บอกว่าจะพาเราไปประเทศโน่นประเทศนี้ แล้วก็ได้ไปจริง ๆ หลายประเทศ จนรู้สึกว่าประเทศที่เราอยากไปมันเริ่มครบแล้ว แล้วพอถึงจุดนั้น มันก็จะมีคำถามตามมาทันทีว่า แล้วก้าวต่อไปคืออะไร? เราจะตั้งเป้าอะไรต่อดี? แล้วเป้านั้นมันเป็นไปได้จริงรึเปล่า? ซึ่งตรงนี้แหละที่มันน่ากลัวอยู่เหมือนกัน

แต่พอเราถอยกลับมาคิดอีกที ก็รู้สึกว่า โอเค เราลองกลับมาทำในสิ่งที่เรายังเข้าใจอยู่ดีกว่า ทำดนตรีในแบบที่เราเข้าถึงมันได้ พัฒนาในขอบเขตที่เราควบคุมได้ ไม่ต้องไปมองอะไรที่ไกลเกินจนเราหลุดจากตัวเอง มันทำให้เรารู้สึกอุ่นใจขึ้นนะ อย่างน้อยเรายังทำเพลงที่เรารู้ว่าเราทำไปเพื่ออะไร มันเหมือนย้อนกลับไปช่วงก่อนหน้าที่เราจะกล้าคิดด้วยซ้ำว่าเราจะได้ไปเล่นต่างประเทศจริง ๆ

พอกลับมาโฟกัสตรงนี้ มันชัดขึ้นนะ ว่าเราอยากให้ดนตรีของเราเป็นยังไง ถึงปีนี้เรายังไม่ได้ปล่อยอะไรเต็ม ๆ ออกไป แต่แค่ที่เริ่มทำก็เริ่มเห็นผลดีบางอย่างกลับมาแล้ว มันทำให้เรารู้สึกว่า “เออ เป็นไปได้นะเว้ย” ก็ภูมิใจครับ

ฟอร์ด: ยังไม่ได้เล่น Big Mountain เลยครับ (หัวเราะ) งานกาชาด

หมอ: ตอนนั้นเป็นช่วงที่ผมไปเล่นกับวง Mong Tong ที่งาน GIMA ที่ไต้หวันครับ ก็เป็นช่วงที่ได้ใช้เวลากับคุณชิเยอะ ผมก็ถามเขาว่า มีอะไรแนะนำวงเราบ้างมั้ย? เขาก็บอกว่าวงเขาโกงเพราะเขานิยามแนวดนตรีของตัวเองขึ้นมาเอง แล้วเขาก็ทำให้มันชัดตั้งแต่แรก ทั้งเรื่องแนวทางและสโคปของวง เขาพูดประมาณว่า ถ้าอยากตั้งอะไรขึ้นมาเอง ก็ต้องชัดเจน แล้วก็ต้องมีแก๊งที่จะมาร่วมกันผลักดันตรงนี้ไปด้วยกัน

ตอนนั้นผมเลยกลับมาคิด เพราะช่วงนั้นเรายังใช้คำว่า Thai Funk อยู่ ซึ่งมันก็มีปัญหานิดนึง เพราะว่า Thai Funk ที่คนอื่นเข้าใจ กับ Thai Funk ที่เราทำ มันไม่ได้ใกล้เคียงกันเท่าไหร่ เราก็เลยเริ่มถามตัวเองว่า จริง ๆ แล้วเราทำอะไรกันอยู่ ก็เลยลองคุยกับคุณชิว่า แล้วถ้าผมลองนิยามคำว่า Neo Thai Funk ขึ้นมา เพราะมีศิลปินนิยามแนว Neo Shibuya-kei ขึ้นมาแล้วเขาจะทำอะไรก็ได้

พอผมบอกคุณชิว่า ถ้าผมใช้คำว่า Neo Thai Funk คุณว่าไง เขาก็บอกว่าเจ๋งดีนะ เขาบอกว่าถ้าจะเอาจริงก็ต้องทำให้มันแข็งแรง ต้องมี commitment อะ และถ้าอยากให้มันกลายเป็น movement จริง ๆ ก็อาจจะต้องมีหลายวงมารวมกัน เป็นเหมือน wave ว่าพวกเราคือ Neo Thai Funk อะไรแบบนั้น

จริง ๆ ต่อให้คนอื่นไม่เรียกว่า Neo Thai Funk ผมก็รู้สึกว่าตอนนี้มีหลายวงที่เริ่มใช้กลิ่นแบบนี้กันมากขึ้น โดยที่ไม่รู้สึกเขินแล้วนะ อย่างเพื่อนผมในวง Réjizz เอง เขาก็เริ่มเอา beat หรือ sample ที่มีกลิ่นไทย ๆ มาใช้เยอะขึ้น แล้วใช้แบบมั่นใจด้วย เราเคยคุยกันเหมือนกันว่า เออ ทำไมเดี๋ยวนี้พอเอาความเป็นไทยมาใส่ มันไม่รู้สึกเขินเหมือนเมื่อก่อนแล้ว บางทีมันอาจจะถึงยุคที่สิ่งเหล่านี้โอเคแล้วก็ได้ แม้แต่กับคนที่เคยวิจารณ์เรามาก่อนก็ตาม หรือเขาอาจจะตายไปแล้วก็ได้ (หัวเราะ)

เมื่อก่อนมันยากกว่านี้จริง ๆ รู้สึกว่าจะหยิบมาก็เขินจริง หยิบมาก็แบบว่าอะไรอย่างเงี้ย พอเรามันถึงจุดที่เราหลาย ๆ วงมันไปต่างประเทศ เราเริ่มมองตรงกันว่าแบบว่า การเอาหยิบสิ่งนี้มาใช้มันไม่ใช่เรื่องน่าเกลียดอะไร (ฟอร์ด: ตั้งแต่มีวง Khruangbin นั่นแหละ) แล้วหลาย ๆ วงในต่างประเทศก็เริ่มแบบ การกลับไปมองที่รากเหง้าของดนตรีอะ เริ่มเป็นสิ่งที่เท่หรือว่าเป็นสิ่งที่แบบว่ายอมรับได้นะครับ เช่น Yussef Dayes ที่เค้าแบบกลับไปแอฟริกันของตัวเองอะไรอย่างงั้น

มันก็เท่ดีที่พอมองกลับ กลิ่นความเป็นไทยนิดหน่อยหรือว่ากลิ่นความเป็นเอเชียอาคเนย์ตุ่ย ๆ มาใช้ ให้คนรู้ว่าเราแบบว่าทำอะไรกันอยู่ เพื่อที่จะแตกต่างกับชาวบ้านยังไง

ฟอร์ด: ตอนทัวร์คุณพระ มันจะมี Mong Tong, FORD TRIO และ JPBS ใช่มั้ยครับ Mong Tong เคยบอกว่าดนตรีของเขาอ่ะ มีความเป็น genre ของมันเอง แล้วตอนที่ท้งสองมัน performance นะครับ โอ้โห เพลงมันเป็น genre ของตัวเองจริง ๆ อ่ะ ผมก็คิดขึ้นมาว่ามึงเป็นเจ้าลัทธิของแนวดนตรีของพวกมึงมาก ๆ เลย แล้วก็ทำให้ผมแบบเกิดไอเดียขึ้นมาว่า เห้ย จริง ๆ แล้วอะ เราก็เป็นเจ้าลัทธิของแนวของเราได้เหมือนกัน

หมอ: พอเราทำชุดที่แล้ว เราได้จับเครื่องดนตรีไทยจริง ๆ เราก็รู้สึกว่า เออ เราไม่ได้รู้จักมันขนาดนั้นแหละ ตอนแรกผมก็กังวลอยู่เหมือนกันนะว่า เราจะหยิบสิ่งนั้นมาใช้ได้จริงเหรอ ในเมื่อเรายังไม่ได้รู้จักมันลึกขนาดนั้น แต่พอได้ทำจริง ๆ ผมจะเริ่ม source มาจากพวก sample หรือบางทีก็แค่เมโลดี้ง่าย ๆ จากดนตรีไทย แล้วเราก็หยิบมันมาใช้ในแบบที่เราเข้าใจ มันก็สามารถออกมาเป็นผลงานได้เหมือนกัน

ผมไม่ได้อยากนิยามว่าสิ่งที่ทำอยู่คือ contemporary art หรืออะไรแบบนั้นนะครับ ผมแค่รู้สึกว่า เราทำในสิ่งที่ได้รับแรงบันดาลใจ แล้วมันก็ได้ผล มันใช้ได้จริง โดยที่ไม่จำเป็นต้องไปอิงหรือแบกความเป็นไทยเยอะขนาดนั้น ซึ่งเมื่อก่อนอาจจะทำแบบนี้ไม่ได้ เพราะตอนนั้นมันยังรู้สึกว่าเป็นสิ่งที่แตะไม่ได้เลยด้วยซ้ำ

เจมส์: ก็เหมือนที่เพื่อนบอกครับ การได้มาเล่น ได้เห็นกระบวนการทำงานของเขาแบบจริงจัง อย่าง Mong Tong ตอนซาวด์เช็กเล่นชุดนึง แต่พอเล่นจริงก็ต้องเปลี่ยนไปใส่อีกชุดนึง หรือแม้กระทั่งตอนเจอกันตอนเช้าจะเป็นชุดอะไรก็ตาม แต่ถ้าสัมภาษณ์หรือออกสื่อเขาก็ต้องเปลี่ยนไปเป็นอีกชุดนึง เพื่อให้คนเชื่อว่าเขาเป็นตัวตนแบบนั้นจริง ๆ อะ ผมรู้สึกว่า เขาคิดทั้งหมดเนี่ยในหัว เป็นกระบวนการที่ครบจบในตัวเองเลย

เราก็จะรู้สึกว่า หรือการเป็นวงดนตรีที่จะพรีเซนต์แนวดนตรีอะไรสักอย่าง มันต้องมี presentation ที่แข็งแรงพอสมควร เพื่อให้คนเชื่อทั้งหมด เพราะว่าดนตรีจริง ๆ แนวดนตรีมันแทบจะผสมรวมกันหมดแล้ว แต่การกำหนดอะไรบางอย่างด้วยตาหรือด้วยภาพลักษณ์บางอย่าง อาจจะง่ายกว่าสำหรับการนำเสนอ ผมรู้สึกว่าสิ่งที่ได้จาก Mong Tong กับ JPBS ก็คือเรื่อง presentation ที่ผมว่าทั้งคู่ค่อนข้างคมเลยครับ

ฟอร์ด: เปรียบเทียบกับเมื่อกี้ที่ผมพูดถึงเรื่องเจ้าลัทธิอะไรอย่างงี้ใช่มั้ยครับ จาก culture ที่เราโตมา วัดก็จะต้องมีผ้ายันต์ เป็น merchandise ของเขาอะไรอย่างเงี้ย ผมรู้สึกว่า ดนตรี ตัวโน้ต นี่แหละคือยันต์ของเรา

เจมส์: ฟอร์ดคิดขึ้นมาว่าอยากใช้คำว่า “ยันต์” ซึ่งตอนแรกที่ผมได้ยิน ผมว่ามันเจ๋งดีนะ มันเป็นคำที่อ่านได้ทั้งภาษาไทยแล้วก็ภาษาอังกฤษ มันมีความ common บางอย่างที่พอใครได้ยินก็เข้าใจร่วมกันได้ แล้วมันก็เป็นคำที่ง่าย แต่ทรงพลัง การทำอัลบั้มชุดนี้ มันคือการที่เราเอาสิ่งที่เราเชื่อ สิ่งที่เรากลัว สิ่งที่เราไม่มั่นใจ มาแปลงให้กลายเป็นสิ่งที่เรากล้าทำ ยันต์ในที่นี้มันคือเครื่องป้องกันความกลัวของเรา คือเครื่องยืนยันว่านี่คือสิ่งที่เราทำจริง ๆ

ถ้าวันข้างหน้า เราทำอะไรแล้วเกิดความลังเลไม่กล้าทำ เราแค่หันกลับมามองอีพีนี้ก็พอ เพราะนี่คืออีพีที่เรากล้าสุดแล้ว กล้าจนถึงขั้นตั้งชื่อแนวดนตรีของตัวเองขึ้นมา กล้าทำกระบวนการอะไรบางอย่างของเราเองขึ้นมา เพราะงั้น ยันต์มันก็อาจจะไม่ใช่แค่เรื่อง visual หรือ conceptual อย่างเดียว แต่มันมีในพาร์ตของจิตใจของพวกเราด้วยครับ

ฟอร์ด: คือ EP นี้อะครับ วิธีการทำงานของวงจะเปลี่ยนไปนิดนึง หมอจะเป็นคนขึ้นดนตรีมาก่อนเลยเพื่อให้เรารู้ว่าโครงเพลงจะเป็นประมาณไหน พอแจมกันต่อในห้องซ้อมก็เริ่มกลายเป็นเดโมขึ้นมาครับ แล้วช่วงนั้นพวกผมดันมีทัวร์ที่ญี่ปุ่นกับจีนพอดี ก็เลยได้เอาเพลงที่มันเพิ่งแจมเสร็จนี่แหละ ไปเล่นเลย เอาไปเจอคนจริง ๆ ดูว่า เออ เพลงใหม่ที่เราทำคนฟังเขารีแอคยังไงบ้าง

พอเอาเพลงไปเล่นในโชว์มันเหมือนได้เดินทางอะครับ มันค่อย ๆ เปลี่ยนไปเรื่อย ๆ เราเคยเอาไปเล่นแล้วรู้สึกว่า เฮ้ย อันนี้เวิร์คนะ แต่อันนี้ไม่ค่อยเวิร์คเท่าไหร่ หรือไม่ได้ผลตามที่เราคิดไว้ เราก็ค่อย ๆ ปรับ ค่อย ๆ เปลี่ยนตามที่เจอบนเวทีเลยครับ เราเอาเพลงพวกนี้ไปเล่นกันจนรู้สึกว่า โอเคละ รู้สึกดีที่จะเล่นมันแล้ว ก็เริ่มเข้ากระบวนการโปรดักชัน

อัลบั้มนี้มีเพื่อนมาช่วยโปรดิวซ์ให้ด้วยครับ ก็คือพี่ บุ๊ค Noise Figure เขาเป็นคนวางแผนว่าจะอัดเสียงกันยังไง ทุกอย่างในเพลงจะเป็นยังไง ส่วนพวกผมก็แค่โฟกัสกับการเล่นดนตรี อัดเครื่องดนตรีของเราให้เต็มที่ แล้วให้เพื่อนเป็นคนออกแบบภาพรวมของเพลงทั้งหมด เราก็คอยดู คอยเสนอ คอยตรวจอะไรแบบนั้นครับ มันเลยเป็นกลิ่นใหม่ในการทำเพลงของพวกผมเหมือนกัน

ฟอร์ด: ‘หมอนลาว’ เพลงนี้หมอเป็นคนคิดขึ้นมา

หมอ: เพลงนี้เป็นเพลง Instrumental เพลงเดียวของเราเลยครับ ผมเริ่มจากไอเดียของเมโลดี้ที่มีกลิ่นไทยนิดนึง คล้าย ๆ ทำนองระนาด แล้วเอามาเล่นแบบหมุน ๆ อะไรอย่างเงี้ยครับ ตอนทำผมก็พยายามคิดให้มันไม่ฟังดูเหมือนดนตรีที่เราเคยทำมา อยากให้มันเกิดจากสิ่งใหม่ ๆ เลย จังหวะก็เลยมีความไม่ปกติหน่อย ๆ เพื่อให้รู้สึกต่าง แล้วก็ลองเอามาแจมกับเพื่อนดู ว่าเพื่อนจะตีความหรือใส่อะไรเข้าไปยังไง

ซึ่งพอเอามาแจมกัน มันก็พัฒนาไปได้ต่อเรื่อย ๆ จนกลายเป็นเหมือนธีมของชุดนี้ไปเลย ส่วนชื่อเพลงก็มาจากเรื่องส่วนตัวเลยครับ คือช่วงที่ผมแต่งเพลงนี้ แฟนผมเขามีหมอนเน่าใบหนึ่งที่แบบติดตัวตลอด แล้วมันก็ค่อนข้างโทรมแล้วอะ วันนึงเขาทำหมอนหายพอดี ผมก็ต้องรีบออกไปช่วยหา เลยตั้งชื่อไฟล์ไว้ว่า “หมอน” แล้วก็เติมคำว่า “ลาว” เข้าไป

ฟอร์ด: ตอนแรกมันจะมีความสับสนนิดนึงนะครับ ว่า หมอน หรือ มอญ อะไรอย่างนี้ คือบ้านผมเนี่ยจะมีหมอนอิงหมอนสามเหลี่ยมที่จริงแล้วมันมีอีกชื่อเรียกนึงว่าหมอนลาวครับ โอเค เพื่อความไม่กำกวม งั้นใช้ชื่อว่าหมอนลาวไปเลยดีกว่า ตอนแรกจะเป็นหมอนอิงมันก็ต้องดูไม่ค่อยใช่ พอหมอนลาว ดูมี visual มาแล้ว อ๋อ เป็นลายอย่างงี้นั่นเอง

หมอ: ไม่ได้มีการเหยียดประเทศอะไร ซึ่งมันก็เป็นเพลงที่เราเอามาใช้เปิดโชว์อยู่เรื่อย ๆ แล้วมันก็มีข้อดีตรงที่มันมีช่องให้เรา improvise ได้ค่อนข้างเยอะ แล้วสิ่งนี้มันก็ส่งผลไปถึงชุดนี้เลยครับ เพราะว่าใน EP นี้ เราก็จะมีสเปซสำหรับการ improvise ค่อนข้างเยอะเหมือนกันทั้งในแง่ของการเล่นสด และในแง่ของการวิเคราะห์ หรือการคิดโครงสร้างเพลงด้วยครับ ซึ่งเราก็ไม่อยากไปติดว่า เฮ้ย ต้องเล่นแบบนี้เป๊ะ ๆ เท่านั้นนะ มันจะมีท่อนที่บางทีก็สาดมั่วไปเลย แล้วก็รอกันว่าใครจะกลับเข้าเพลงก่อน (ฟอร์ด: ถึงแม้จะมีเดโมที่เริ่มมาจากหมอก็จริง แต่ทุกคนก็พยายามหาพื้นที่ของตัวเองมาแจมเข้าไป)

หมอ: เราไปเจอกันที่โอกินาวาพอดีครับ แล้วก็ค่อนข้างถูกคอกันเพราะชอบอะไรเหมือนกัน เค้าก็ทักมาเราก็ชอบดนตรีของเค้า พอได้คุยกันก็เลยอยากคอลแลบกัน เราก็เริ่มขึ้นเมโดมาก่อน แล้วฝั่งเค้าก็ทำต่อ ด้วยความที่เค้าเป็นวงที่ค่อนข้างกึ่งอิเล็กทรอนิกส์ Ableton อะไรอย่างเงี้ย เค้าส่งดนตรีกลับมาทำอะไรที่ทำให้เราต้องออกจากคอมฟอร์ตโซนเลยครับ

แต่มันก็ดีนะ เราคิดว่าไหน ๆ แล้ว ลองดูหน่อย มันจะมีการยืดหดจังหวะที่ต้องใช้คอมพิวเตอร์จัดการ พอมาอยู่ในมือเราแล้วเราจะจัดการยังไง โปรเซสการทำงานกับเพลงนี้ก็เป็นการส่งไฟล์กันทางออนไลน์ครับ ซึ่งก็สนุกมาก เพิ่งเจอวงที่คุยกันง่าย ทำอะไรแล้วก็เข้าใจกันดี ไม่ต้องอธิบายเยอะ

ตอนเริ่มต้น เพลง Mujina มีแค่ดนตรีไว้แล้ว แล้วก็มาแจมกันต่อในห้องฟอร์ด ฟอร์ดก็เขียนเนื้อว่า I can’t find my way, Now I’m on my own เหมือนกำลังหลงทาง ตอนนั้นมันมีไอเดียเกี่ยวกับเรื่องผีด้วย ผมก็เลยถามเขาว่า ในญี่ปุ่นมีผีอะไรที่มันแบบพาคนหายไปในป่าบ้างมั้ย เค้าก็บอกว่ามีตัวนึงชื่อ Mujina ซึ่งเป็นผีที่มีความสามารถในการแปลงกาย คล้าย ๆ ตัววอมแบท แปลงกายหลอกคนเข้าป่าได้ งั้นใช้คอนเซปต์นี้เลยแล้วกัน แล้วให้เขาเขียนเนื้อฝั่งญี่ปุ่นต่อไป มันก็เลยออกมาเป็นเพลงชื่อ Mujina

มันรีเลทกันดีด้วย เพราะว่าเขาเองก็เป็นวงที่เคยอยู่ในวงการมานานแล้วเปลี่ยนแนวเหมือนกัน ผมไปเสิร์ชเจอตั้งแต่พวกเขาเป็นวงเร็กเก พอได้คุยกันเขาก็เข้าใจเราเยอะเลย มีประโยคนึงที่ผมจำได้ เขาบอกว่าวงเราเหมือนเป็นครอบครัว เพราะวงเขาเองก็อยู่กันเป็นครอบครัวเหมือนกัน อยู่ด้วยกัน 4 คนในบ้านเช่าหลังเดียวกันเลย

หมอ: เพลงรีบบอกมันเกิดขึ้นมาจากนิสัยส่วนตัวของผมครับ คือผมจะชอบจดคำที่มันคล้องเสียงกัน ตอนนั้นผมไปฟังเพลงของ Satoko Shibata แล้วเขามีท่อนที่มันฟังดูเหมือนชื่อรองเท้า Reebok หรืออะไรแบบนั้น ผมก็จดไว้เหมือนกัน แล้ววันนึงก็ได้เมโลดี้ขึ้นมา เป็นลิฟกีตาร์กับไลน์เบสมีความกึ่งไทยอยู่ในนั้น มันจะโยน ๆ หน่อย (ทำมือเซิ้ง) ผมก็แต่งเนื้อแล้วเอาคำนั้นมาใช้

มันก็เลยกลายเป็นคอนเซปต์ว่ามีอะไรให้รีบบอก ง่าย ๆ เลย แล้วเราก็ค่อยขยายความออกไปเรื่อย ๆ ตอนแรกมันดูเหมือนจะไม่มีอะไรด้วยซ้ำ เป็นเพลงที่ดูไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งตอนที่เอามาแจมแล้วเกิดท่อนตรงกลางขึ้นมา เลยลองเว้นให้มันมีพื้นที่ ให้มันบิลด์ขึ้น มีการร้องแบบสวดหน่อย ๆ พอเพลงมันออกมาแล้วก็รู้สึกว่า เออ ถ้าอยู่คนเดียวคงแต่งแบบนี้ไม่ได้เลย มันเลยกลายเป็นเพลงที่มีท่อนตรงกลางที่ค่อนข้างเป็นไฮไลต์ เห็นชัดทั้งในโชว์และในเพลง ก็เลยเป็นหนึ่งในซิงเกิลที่อยากให้คนลองฟังดู แล้วมันก็บังเอิญด้วยที่คอนเซปต์ของเพลงนี้มันไปในทางเดียวกับเพลง KON LA KON พอดี

หมอ: พูดถึงเรื่องการเปลี่ยนแปลงและการยอมรับความเปลี่ยนแปลง ส่วนรีบบอกก็พูดถึงการที่ถ้ามีอะไรต้องพูดออกมาให้เร็ว มันเลยกลายเป็นคอนเซปต์ที่พูดถึงสิ่งเดียวกันในอีกมุมนึง ทำให้ EP นี้ไปในทิศทางเดียวกันเยอะขึ้นครับ เพลงนี้ผมได้เดโมมา แล้วมันก็มีหลาย ๆ อย่างที่เราใส่ความเป็นไทยไว้ แล้วผมก็ซ่อน ๆ ไว้ อย่างจังหวะที่คล้าย ๆ มงแซะ แซะมง ตะลุ่มตุมมง แล้วก็เอาดนตรีมาให้ฟอร์ดแต่ง แล้วอยู่ ๆ ก็ได้คำว่า “คน แต่ละคน เนี่ย คนละคน… เชี่ย คนละคน!” ทำแล้วจบในวันเดียวด้วย รู้สึกว่ามันใหม่ ทั้งในแง่ของจังหวะ ทั้งวิธีการเล่น

ฟอร์ด: เพลงคนละคนเนี่ย เป็นเพลงแรกที่เกิดขึ้นใน​ EP นี้เลย เหมือนวันนั้นตอนเช้าผมน่าจะฟัง ติ๊ก ชีโร่ เพลง รักไม่ยอมเปลี่ยนแปลง อะ แบบ “เปลี่ยนตัวเองใหม่เป็นคนละคน จะเปลี่ยนยังไง ทำไมรักยังอยู่เหมือนเดิม” แล้วมันติดหัวมา อย่าง KON LA KON นี่ มันก็มี approach ใหม่ ๆ เกิดขึ้น คือเหมือนเราตีความเพลงนี้ในเชิงคอนเซ็ปต์มากขึ้น มันพูดถึงการเปลี่ยนแปลง การยอมรับการเปลี่ยนแปลงใช่มั้ยครับ เราก็เลยพาดนตรีให้มันเปลี่ยนไปด้วยเลย แต่ว่าจริง ๆ แล้วแกนมันยังอยู่ในนั้นนะ

ฟอร์ด: แมงดานี่ จริง ๆ ถ้าไม่ติดเรื่องชื่อเพลงที่เป็นเพราะความกวนตีนของพวกเรานะครับ มันเป็นเพลงที่เราอยากขอบคุณใครสักคนหนึ่งนั่นแหละครับ อย่างพวกเราเนี่ย ใช้ชีวิตเป็นนักดนตรีกันเลยใช่มั้ยครับ สิ่งที่ผมทำอยู่มันไม่ได้ร่ำรวยอะไรเลย พ่อแม่พี่น้องอาจจะต้องมาเลี้ยงดูรอวันที่ผมมีเงิน มันเหมือนเป็นการยืมชีวิตของคนอื่นมาใช้ด้วยซ้ำ ถ้าเรายืมชีวิตเขามาใช้ก็แสดงความขอบคุณซะหน่อย

หมอ: ผมไปเอาเพลงของศิลปินชื่อ วรงค์ มุกดา มาทำแซมครับ แล้วเอามาขยายเป็นเพลง ตอนนั้นเรามองว่าเราขาดเพลงป๊อป ผมก็เลยแต่งเพลงป๊อปแล้วส่งกลับมาว่าชื่อเพลงแมงดา เชี่ย เราจะมีเพลงป็อปที่ชื่อเพลงแมงดาจริง ๆ หรอวะ (หัวเราะ) มันจะมีท่อนสุดท้ายเกิดขึ้นมา หลังจากที่เรามาแจมกัน โดยมีแซ็กเข้ามาด้วยครับ

เจมส์: มันก็เกิดขึ้นเพราะว่าเราไปทัวร์จีน โดยที่ปกติคนที่เล่นเป็นแบ็กอัพให้เราคือโจที่เป็นมือกีตาร์ แต่ตอนนั้นโจต้องไปเล่นกับ Alec Orachi ฟอร์ดก็เลยมีไอเดียว่า ไม่อยากชวนมือกีตาร์ไปทัวร์ เพราะว่ามันเหมือนได้อะไรเดิม ๆ ไม่ได้ลองอะไรใหม่ ๆ นึกได้เราเคยโชว์ด้วยกันโดยที่มีแซกโซโฟนมาด้วยยุคนึง ตอนสมัยที่เรายังเรียนไม่จบ ซึ่งภูชิตก็คือคนที่เป่าแซกโซโฟนใน outro ของเพลงแรกของฟอร์ดครับ ก็เลยชวนเขากลับมา รู้สึกดีมากที่เขายอมกลับมาเล่นด้วย

หมอ: ซึ่งเหมือนตอนแรกแมงดาอ่ะ มันจะไม่มีท่อนนี้นะ แต่พอเราพามาทัวร์ก็ต้องคิดแล้วว่า จะทำยังไงให้ภูชิตมีสปอตในเพลงนี้ แล้วมันก็เลยเกิดขึ้นมาเป็นท่อนโซโล่แซ็ก สุดท้ายกลายเป็นว่าเพลงนี้มันต้องมีท่อนแซกแหละ เลยกลายเป็นส่วนหนึ่งของเพลงใหม่ไปเลย Neo-Thai Funk มีแซ็กก็ไม่ผิดอะไร เรารู้สึกว่าเรากลับไปเปิดทางให้กับเครื่องดนตรีอื่น ๆ ด้วย ไม่จำเป็นต้องอยู่แค่ในกลอง กีตาร์ เบสก็ได้แล้วนะ

ฟอร์ด: ภูชิตคืออยู่กับ FORD TRIO มาตั้งแต่เพลงแรก ในอัลบั้มแรกก็มีโซโล่ของครูภูชิต แล้วก็ในอีพีล่าสุดก็มีด้วย ผมอยากจะชวนให้ฟังเลยว่า ตั้งแต่ ยุคแรก, ยุคกลาง แล้วก็ ยุคล่าสุด ว่ามันมีการเปลี่ยนแปลงของสำเนียงของภูชิตด้วย ผมว่ามันดีมากเลยนะ ตอนที่อัดเพลงแมงดาเราก็อัดกันสด ๆ 4 คนเลย ฟอร์ด, เจมส์, หมอ กับภูชิต ท่อนที่ได้ยินกันอยู่ตอนนี้คือโซโล่เทคยาว ที่ไม่มีการตัดต่อหรือแก้อะไรเลย (หมอ: แถมอัดไปสามเทคไม่เหมือนกันเลย) มันคือเสน่ห์ของการอัดรวมอะครับ

ฟอร์ด: มันเริ่มจากตัว Live Session ก่อนครับ ผมก็คิดแบบง่าย ๆ แบบของผมอีกแล้ว ว่ามียันต์ปุ๊บ แต่มันก็น่าจะขลังนะถ้าเรามีพิธีปลุกเสก เลยกลายมาเป็น Pluk Sek Session เลยไปขอค่ายว่าอยากจะทำ Live Session ครับ (หัวเราะ) เราอยากให้ทุกคนเห็นวิชั่นของอัลบั้มนี้ การเล่นสดจะเป็นยังไง การแต่งตัวจะเป็นยังไง ภาพรวมของเราจะเป็นยังไงให้มันออกมาทั้งหมดใน Live Session นี้เลยครับ ก็จะมีภูชิตมาเป่าแซก กับการเต้น Performance ของสาวกสามคน

พอเราได้อัด Live Session ปุ๊บ เรารู้สึกว่า โห อันนี้มันได้เลยนะ ทุกคนควรจะได้ดูสิ่งนี้แบบสด ๆ ไม่ใช่แค่ผ่านจอ เลยเกิดเป็น Pluk Sek Service ขึ้นมาครับ เราต้องการจะให้ปลายทางของปลุกเสกเซอร์วิส ทำให้คนรู้สึกว่าได้รับการปลดปล่อย เหมือนการเข้ารับพิธีให้รู้สึกสบายใจที่ได้มาเข้าร่วม ซึ่งมันก็จะมีพาร์ตของการยอมรับตัวตนเอย การปลดปล่อยความกล้า เพื่อที่ปลายทางก็คือทุกคนได้มาเต้นสุดเหวี่ยงไปด้วยกัน

เจมส์: สารตั้งต้นก็คือเราอยากจะเอาปลุกเสกเซสชั่นไปเสิร์ฟให้คนดูเลย แต่คำถามคือ ทำยังไงให้มันไม่รู้สึกว่าเป็นคอนเสิร์ตแบบปกติ เราก็เลยพยายามหาโน้ตsinvวิธีการคิดที่มันต่างจากเดิมนิดนึง โดยการที่เราเอาเพื่อนที่อยู่กับ FORD TRIO มาตั้งแต่ต้น มาช่วยกันคิดโชว์ จากที่ว่าถ้าเป็นคอนเสิร์ตปกติ เราจะมีเซ็ตลิสต์ แล้วทุกคนก็จะฟอลโล่ไปตามนั้น ไฟก็ออกแบบตามเซ็ตลิสต์ วิชวลก็ออกแบบตามเพลง แต่ครั้งนี้ เราเอาทุกคนมาคิดรวมกันตั้งแต่แรกเลย ให้เหมือนเป็นทีมครีเอทีฟร่วมกัน ประชุมเซ็ตลิสต์ ประชุม art direction ประชุมครีเอทีฟของโชว์ให้ทุกคนมีสิทธิ์มีเสียงในมุมของตัวเอง

มันจะไม่ใช่แค่ทำดนตรีแล้วเอาอย่างอื่นมาเสริม ถ้าท่อนนี้ไฟอยากแสดงอะไร ดนตรีก็ต้องออกแบบมาให้เข้ากับไฟ หรือถ้าแดนเซอร์อยากเต้นยังไงดนตรีก็อาจจะต้องปรับจังหวะหรือเปลี่ยนโครงสร้างให้รับกับสิ่งนั้นด้วย อีกอย่างนึงคือ เราพยายามหาวิธีนำเสนอโดยที่ยังคงเป็นวงดนตรีแบบ jam band ไม่ใช่วงที่เป็น full production แบบที่วงอื่นใช้กัน เราจะ improvise อย่างอื่นได้มั้ย ไม่ใช่แค่ดนตรี แต่ improvise วิชวล ไฟ การเต้นได้มั้ย กลองไม่ต้องคอยเสริมกีตาร์แต่เสริมแดนเซอร์ได้มั้ย

เราพยายามจะคิดให้มันไม่ใช่คอนเสิร์ตให้ได้มากที่สุด จนกลายเป็นชื่อนี้ เพราะมันคือการบริการที่เรานำปลุกเสกเซสชั่นไปเสิร์ฟให้กับคนดูถึงที่

หมอ: เหมือนมันเป็นของแถมมากกว่าเนอะ เหมือนเราลองมาคิดโชว์ว่าแบบทำอะไรเพิ่มได้บ้าง พอคิดไปคิดมา เราจะเอากิจกรรมที่มันดูเหมือนจะเป็นศาสนามาใส่ยังไงได้บ้าง แต่ถ้ามันทำให้เป็นศาสนาไปเลยก็อาจจะเท่ดีเหมือนกัน ก็เลยลองดู แต่อันนี้ก็ยังไม่สปอยด์ละกันครับ

หมอ: พอเราผ่านปลุกเสกเซสชั่นมา มันก็รู้สึกว่าเพลงเราพอเอาไปประกอบกับ situation บางอย่าง มันจะมีภาพของอะไรซักอย่างขึ้นมา ถ้าเรามองดนตรีเป็นมากกว่าแค่เสียงแต่เป็นภาพเพิ่มขึ้นด้วย ทำให้ผมเปิดแนวคิดใหม่ขึ้นมาเยอะเหมือนกัน อย่างตอนนี้ผมก็ไปศึกษาว่าตอนเขาลุยไฟกันที่ภาคใต้เขาฟังเพลงอะไรกัน หรือแบบว่าตอนแข่งเรือเค้าฟังเพลงแบบไหน ผมเริ่มนึกถึงเหตุการณ์ก่อน ผมก็เลยรู้สึกว่าแนวทางต่อไปเราอาจจะเริ่มไปทางวิชวลมากขึ้น

แล้วเรื่องของดนตรีพอเราเริ่มมีแซกโซโฟนมีอะไรที่เปิดความเป็นไปได้มากขึ้น มันก็เหมือนต้องให้เซ็ตมันนิ่งก่อน อยากลองเอาไปเล่นต่างประเทศดูบ้าง ดูว่าผลตอบรับมันจะเป็นยังไง พวกเราอาจจะเป็นคนที่เบื่อง่ายด้วยมั้งครับ (หัวเราะ) บางวงอย่างเช่น Summer Dress เค้าอาจจะอยู่ในจังหวะนี้ไปอีก 3–4 ปีเลย แต่ของพวกเรานี่สองปีก่อนยังเป็น Childish Gambino อยู่เลย (หัวเราะ) แล้วตอนนี้เราก็เปลี่ยนไปอีกแล้ว เปลี่ยนเร็วมาก

บางทีก็รู้สึกเหมือนกันว่า คนจะตามเราทันมั้ยนะ แต่ว่าทุกครั้งที่เราเปลี่ยน เราได้เจอคนใหม่ ๆ ได้เจอประสบการณ์ใหม่ ๆ แน่นอนว่าก็มีคนที่ขอถอยห่างออกมาหน่อย เพราะว่าไม่เข้าใจสิ่งที่เราทำ แต่ผมว่าการที่เราเปลี่ยนมันก็ทำให้เราได้พาอะไรใหม่ ๆ ไปถึงคนที่ยังตามเราอยู่ด้วย ซึ่งตรงนี้ก็รู้สึกดีนะครับ ดีที่เรายังเป็นวงที่กล้าทำอะไรใหม่ ๆ อยู่ตลอด

ฟอร์ด: เราก็ยังสนุกกับการทำดนตรีที่มันแปลกใหม่สำหรับเรา พยายามหาอะไรใหม่ ๆ ของตัวเองอยู่ด้วยครับ พอได้ทำแบบนั้น มันก็ทำให้เราสนุกกับการทำงานไปเรื่อย ๆ น่ะครับ

หมอ: ผมคิดว่า EP นี้น่าจะเป็นตรงกลางของอัลบั้ม Let Them Kid See และ KHUN PRA! 東福 ทำให้คนเข้าใจความเป็น FORD TRIO มากขึ้นด้วย คือจริง ๆ แล้ว FORD TRIO ไม่ได้ฮาร์ดคอร์แบบ KHUN PRA! 東福 แล้วก็ไม่ได้ติดเล่นอะไรที่เกิดเบอร์อย่างเดียวเหมือน Let Them Kid See

FORD TRIO มันมีแง่มุมที่เป็นอะไรแบบนี้อยู่เหมือนกัน คือสามารถเลือกทำอะไรที่กวนตีนได้ตลอดเวลาไม่จำเป็นต้องขออนุญาตทุกครั้ง แต่ก็ไม่ได้ทำแบบไร้ขอบเขต ทีนี้พอมาถึง EP นี้ ผมคิดว่า next step หรือ อัลบั้มหน้า จะเป็นอะไรที่ค่อนข้างท้าทายพวกเรา เพราะเหมือนเราใช้ไพ่ในมือไปหมดแล้ว คราวนี้ก็เลยรู้สึกว่า โอเค แล้วเราจะทำอะไรต่อดี ผมว่าอัลบั้มถัดไปนี่แหละ จะเป็นจุดที่ต้องใช้พลังคิดเยอะพอสมควรว่าพวกเราจะไปทางไหนกันต่อ

หมอ: อย่างตอนผมไปไต้หวัน ไปเล่นงาน GIMA ซึ่งเป็นงานประกาศรางวัลของที่นั่น เราก็รู้สึกเลยว่าที่ไต้หวันเค้ามีการสนับสนุนจากภาครัฐที่ชัดเจน เห็นได้ตรงหน้าเลย คือมันเป็นรูปธรรมมาก ๆ พอเรามองกลับมาที่ไทยก็แอบอิจฉาเหมือนกันนะ แต่ขณะเดียวกัน ผมก็มีโอกาสได้เจอเพื่อนที่เวียดนาม เค้าก็พูดว่า “เฮ้ย บางคนในไทยได้ทุนไปต่างประเทศด้วยเหรอ เจ๋งจัง” ซึ่งสิ่งที่เรากำลังได้อยู่นี่ มันก็คือหนึ่งในสเต็ปที่เริ่มต้นแล้วแหละว่ารัฐไทยเริ่มเห็นความสำคัญของการสนับสนุนงานศิลปะกับวงการบันเทิงแบบจริงจัง

แน่นอนว่าผลลัพธ์อะไรพวกนี้มันไม่ได้เกิดขึ้นใน 2-3 ปี อย่างที่ไต้หวัน เค้าก็รู้ตัวว่าเค้าเล่นเกมระยะยาว เค้าไม่ได้พยายามจะผลักให้วงใดวงนึงกลายเป็นซูเปอร์สตาร์ แต่เน้นการกระจายโอกาสให้มันเกิดความหลากหลาย ทดลองความเป็นไปได้ ผมรู้สึกว่าแนวทางนั้นมันดูยั่งยืนกว่านะ และมันก็มีโอกาสที่จะต่อยอดเป็นอุตสาหกรรมได้จริง พอเรามีโอกาสได้ทุนตรงนี้ เราก็พยายามทำให้มันคุ้มที่สุด ทั้งในมุมของคนให้ทุนและในมุมของเราที่ได้รับโอกาส หวังว่าทุนแบบนี้จะมีมาอีกเรื่อย ๆ แต่ก็ต้องติดตามกันต่อไปครับ

หมอ: สำหรับผม ในฐานะคนที่อยู่ในวงดนตรี รู้สึกดีใจมากที่มีโปรเจกต์แบบนี้เกิดขึ้นนะครับ แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องยอมรับว่าเราพูดในมุมของคนที่ได้รับโอกาสไปแล้ว มันเลยไม่แน่ใจว่า ในภาพรวมของวงการดนตรีที่กว้างขนาดนี้จะมีวิธีไหนที่เรียกว่าเหมาะสมที่สุดในการจัดสรรเงินสนับสนุนด้านดนตรีให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีจริง ๆ ภายในหนึ่งปี แต่ในแง่ของผลกระทบที่เกิดขึ้นกับตัวเองและวงเรา ผมรู้สึกว่ามันจับต้องได้เลย
อย่างเช่น เราได้เห็นการเติบโตของสิ่งที่ใหญ่ขึ้นในซีนดนตรีเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เรามี H3F ที่ทำให้คนในซีนรู้จักกันมากขึ้น มีการเชื่อมโยงกันระหว่างประเทศจริง ๆ

และถ้ามองกว้าง ๆ ผมคิดว่าเรากำลังอยู่ในช่วงที่ใกล้จะเรียกว่ายุคทองของดนตรีอินดี้จากฝั่งเอเชียเลยก็ว่าได้ เพราะตอนนี้เริ่มเห็นแล้วว่า คนต่างประเทศเค้าฟังเราจริง ๆ ไม่ใช่แค่ฟังผ่าน ๆ แต่ฟังจนกลายเป็นแฟนคลับจริง ๆ ด้วย พูดตามตรงสมัยเด็ก ๆ ผมไม่เคยคิดเลยว่ามันจะไปได้ไกลขนาดนี้

ฟอร์ด: สำหรับผมเอง บอกตรง ๆ ว่าไม่เคยคิดไม่เคยฝันเลยว่าจะได้มีโอกาสออกไปเล่นดนตรีต่างประเทศ เมื่อก่อนยังคิดแค่ว่า ถ้าได้ขึ้นเวทีใหญ่ในไทยอย่าง Big Mountain ก็สุดแล้ว (หัวเราะ) แต่พอได้ออกไปดูวงดนตรีอื่น ๆ ที่เป็น local band ของประเทศต่าง ๆ มันทำให้รู้สึกเลยว่า สิ่งที่พวกเราทำอยู่ มันไม่ได้แปลกเลย แนวดนตรีที่เราทำ ซึ่งในไทยอาจจะถูกมองว่าฟังยากหรือฮาร์ดคอร์เกินไป พอเอาไปอยู่ในบริบทของเฟสติวัลต่างประเทศมันกลับดูธรรมดามาก ดูเป็นดนตรีในแบบที่คนให้ความสนใจจริง ๆ (หมอ: เราไม่ได้แปลกที่สุดในงานแน่นอน)

ผมได้เจอกับศิลปินที่เขาจริงจังกับดนตรีของตัวเองมาก ๆ เห็นวิธีคิดของเขา แล้วมันเปลี่ยนความคิดผมไปเลย จากเดิมที่เคยรู้สึกว่า เฮ้ย เพลงเราลึกไปไหม โชว์เราจะเข้าใจยากไปหรือเปล่า แต่พอได้เล่นต่างประเทศจริง ๆ แล้ว กลับรู้สึกว่าเราทำได้ เราโอเคเลย มันทำให้มั่นใจมากขึ้นว่า สิ่งที่เราทำมันไม่ใช่เรื่องแปลก มันคือดนตรีในแบบของเราและมันก็มีที่ของมันอยู่จริง ๆ

เรื่องโชว์เรื่องเพลงของเราก็เปลี่ยนไปเหมือนกันครับ เมื่อก่อนเราก็จะรู้ว่าคนดูของเราคือคนไทย หน้าตาเป็นยังไง ชอบอะไรประมาณไหน แต่พอเราได้ไปเจอคนไต้หวัน คนญี่ปุ่น คนจีน ซึ่งเราไม่รู้จักเขาเลยแล้วเขาก็ไม่รู้จักเรา มันก็เริ่มมีคำถามขึ้นมาในหัวว่าเพลงแบบไหนที่เขาจะฟังแล้วสนุกได้นะ ทั้งที่เขาไม่เข้าใจเนื้อร้องเราเลยด้วยซ้ำ มันก็ย้อนกลับมาที่คำถามเดิม เหมือนตอนเราเล่นอัลบั้ม Let Them Kid See ตอนนั้นเราก็พยายามคิดว่ามีท่อนไหนที่เขาร้องตามได้บ้างมั้ย จะต้อง “ตะแน่แนแน่ว” ผมว่าอันนี้แหละครับคือจุดที่ approach มันเปลี่ยนไปจริง ๆ

โดยเฉพาะสำหรับวงดนตรีไทย ที่ร้องเพลงไทย พอได้เจอคนดูที่ไม่ใช่คนไทยจริง ๆ เราก็ต้องกลับมาคิดใหม่เลยว่าการทำเพลงการทำโชว์ของเราจะไปทางไหนต่อดี

หมอ: ผมว่าคนดูต่างประเทศบางที่เขาเปิดใจมากเลยนะ คือเขาไม่ได้มองว่า โอเค มาดูวงจากไทยที่ยอดวิวเป็นหมื่น แต่เขาอยากรู้จริง ๆ ว่าเราทำอะไรกันแน่ เขาสนใจจริง ๆ แบบมีสมาธิกับสิ่งที่เราทำเลย มันเลยกลายเป็นว่า ทุกครั้งที่เราได้ออกไปเล่นโชว์นอกประเทศ เรามักจะได้ประสบการณ์ดี ๆ กลับมาตลอด ไม่ได้แปลว่าในไทยไม่มีนะครับ เพราะในซีนของเราก็มีคนที่ตั้งใจมาดูเราเหมือนกัน

บางทีเวลาเราเล่นในไทย แล้วเราไม่ได้เป็นวงหลักหรือไม่ได้อยู่ในไลน์อัพที่คนตั้งใจมาดู คนดูก็อาจจะยังไม่ได้โฟกัสมาที่เรามากขนาดนั้น แต่พอไปเล่นต่างประเทศ เรากลับกลายเป็นวงแปลกใหม่สำหรับเขาแล้วเขาก็พร้อมจะเปิดรับและตั้งใจฟังเราจริง ๆ

เจมส์: สิ่งที่แตกต่างแน่ ๆ เลย คือราคาบัตรครับ ซึ่งก็เป็นผลจากเศรษฐกิจ วัฒนธรรมการเสพดนตรีของแต่ละที่ด้วย อย่างในบางประเทศคนดูว่าง เค้าว่างจริง ๆ เค้าก็เลยมาดู แต่ของเราเนี่ย คนอาจจะต้องเลิกงานก่อนถึงจะมีเวลามาดูคอนเสิร์ต เพราะฉะนั้น เค้าจะเลือกดูเฉพาะวงที่อยากดูจริง ๆ เท่านั้น

สิ่งที่ผมเห็นว่าต่างชัดเจนคือขนาดครับ อย่างที่ญี่ปุ่น สมมติศิลปินอินดี้มี market share แค่ 10% ก็จริง แต่ 10% ของเค้าน่ะ volume มันใหญ่มาก แฟนเพลงเค้าซื้อทุกอย่างที่ศิลปินปล่อยออกมาได้จริง ๆ ศิลปินเลยอยู่ได้จริง ๆ คนญี่ปุ่นนี่ Loyalty สูงมาก ส่วนที่ไต้หวัน การฟังดนตรีคือแฟชั่น คือเท่ คือเทรนด์ของสังคมเลย และที่จีนคือ potential สูงมาก เพราะประชากรเค้าเยอะ มันทำให้จัดงานอะไรออกมาก็สเกลใหญ่ได้หมด

พอได้ออกไปเห็นข้างนอก เรารู้สึกเลยว่าประเทศไทยก็ยังมีหวังนะ หมายถึงว่า เราเห็น gap ที่เรายังพอจะไต่ขึ้นไปได้อยู่ เรายังไม่ชนเพดานเลยด้วยซ้ำ แค่ตอนนี้เหมือนมันยังไปไม่ถึงเท่านั้นเอง เพราะงั้นก็แค่ต้องค่อย ๆ ทำไปเรื่อย ๆ ประหยัดต้นทุนบ้าง ค่อย ๆ สร้างฐานคนฟัง ค่อย ๆ ทำให้คนหันมาสนใจเอง ส่วนตัวผมรู้สึกว่ามีความหวังนะครับ ทั้งในแง่ของการเป็นวงดนตรีไทยและในภาพรวมของวงการ ตอนนี้โลกมันเปิดกว้างมาก เราส่งเพลงข้ามประเทศไปอีกซีกโลกได้แล้วคนก็ยังฟังอยู่ มันไม่มีขีดจำกัดแบบเดิมแล้ว

และที่น่าสนใจคือ ทุกวันนี้มันไม่มีเส้นแบ่งแล้วว่า วงอินดี้ต้องอยู่งานเล็ก วงแมสต้องอยู่งานใหญ่ ทุกคนมาแชร์พื้นที่เดียวกันได้หมด เราเห็นการ cross กันเยอะขึ้น เห็นวงเล็กวงใหญ่ผลัดกันเล่นงานเดียวกัน มันเลยรู้สึกว่า เออ มันสนุกขึ้นเรื่อย ๆ ว่ะ

หมอ: เคยคุยกันเรื่องนี้เหมือนกันนะว่า อะไรที่จะทำให้วงดนตรีไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ได้รับผลบวกจริง ๆ? ถ้าให้ตอบแบบตรงไปตรงมา อาจจะเป็นเรื่องของพื้นที่ก็ได้ คือถ้ามี สถานที่ส่วนกลางที่ทุกวงสามารถเข้าถึงได้ จะวงอินดี้หรือวงใหญ่ก็ใช้ร่วมกันได้ ผมว่าแบบนี้มันเวิร์ค

อย่างที่ไต้หวัน เค้ามี Taipei Music Center ซึ่งเป็นฮอลล์คอนเสิร์ตที่ออกแบบมาสำหรับวงดนตรีโดยเฉพาะ และวงที่ไปเล่นก็อย่าง deca joins นี่คือแบบว่า ตอนแรกผมนึกว่าเค้าอยู่ระดับเดียวกับพวกเราเลยนะ แต่ทุกคนที่เล่นที่นั่นคือมีคนดูเป็นหมื่น คือมันทำให้รู้สึกว่าวงที่นั่งกินเหล้าคุยกันอยู่แถวนี้ ก็อาจจะไปยืนอยู่ตรงนั้นได้เหมือนกันนะ ถ้ามีพื้นที่แบบนี้ในบ้านเราบ้างก็น่าจะดีมาก

แต่ก็เข้าใจนะครับ ว่าพอพูดถึงวงการดนตรีบ้านเราเนี่ย มันกว้างมาก มันเลยกลายเป็นเรื่องยากที่จะตกลงกันว่า อะไรคือสิ่งที่จะทำให้เกิดผลดีต่อวงการได้จริง ๆ แต่ผมก็ยังเชื่อว่า การมี space สำหรับทุกคนคือหนึ่งในคำตอบที่ดีแน่นอนครับ

ถ้าคนเปิดกว้างกับดนตรีใหม่ ๆ ง่ายขึ้น ถ้าเค้ากล้าฟังอะไรที่ไม่คุ้นเคยมากขึ้น มันจะส่งผลกับทั้งวงการเลย แต่มันเป็นเรื่องนามธรรมมาก จะเอาเงินไปพัฒนาตรงนั้นยังไงวะ (หัวเราะ) มันไม่เหมือนสร้างฮอลล์ สร้างเวที หรือซื้ออุปกรณ์ให้วงดนตรี การทำให้คนยอมเปิดใจมันไม่ได้เกิดจากการโยนเงินใส่ บางคนอาจใช้คำว่า educate คนฟัง แต่ผมว่าคำนี้มันก็ฟังดูแปลก ๆ นะ เหมือนเราจะไปสอนเค้า แต่จริง ๆ คือเราก็แค่อยากให้คนรู้สึกว่า มันโอเคที่จะลองฟังอะไรใหม่ ๆ ไม่ต้องเข้าใจหมด ไม่ต้องชอบทันที แค่เปิดใจฟังก่อนแค่นั้นก็พอแล้ว

เจมส์: สเปซสำคัญกว่าเงินอีก ผมเห็น TCDC ที่พยายามทำ Live House ในต่างจังหวัดนั่นก็เจ๋งดี ถ้าหยิบวงโลคอลขึ้นมาแบบของอีสานก็จะได้มีพื้นที่

ฟอร์ด: ของผมนะ สมมุติว่าเรามีโอกาสได้ไปเล่นที่ต่างประเทศแล้ว เราก็อยากรู้นะว่าควรจะไปหาสื่อที่ไหน ไปคุยกับมีเดียเจ้าไหนได้บ้าง ถ้าอยากโปรโมตงานอยากทำให้คนรู้จักเรามากขึ้น จะต้องเริ่มยังไง ตอนนี้ผมยังรู้สึกว่ามันยังเหมือนเป็นดินแดนลึกลับอยู่เลยอะ ถึงจะได้ไปเล่นจริง ได้เจอคน ได้เจอวงอื่น ๆ แต่ถ้าถามว่าไปไต้หวันแล้วจะไปขายของได้ที่ไหน ไปสัมภาษณ์ที่ไหน ไปเจอสื่อยังไง เรายังไม่ค่อยรู้เลยครับ

เรื่องนี้ก็เป็นสิ่งที่ทางผู้สนับสนุนอย่าง CEA เขาอยากได้มาตลอดเลยครับ เขาอยากให้เรามี media หรือ output อะไรบางอย่างกลับมาให้เขาด้วย เพื่อใช้สื่อสารว่าทุนที่ให้ไปเกิดอะไรขึ้นบ้าง แต่ปัญหาคือ เวลาวงดนตรีเราไปโชว์ต่างประเทศจริง ๆ เนี่ย เราก็ต้องโฟกัสกับเรื่องการเล่นการแสดง การพัฒนางานของเราให้ดีที่สุดก่อน เพราะนั่นคือหัวใจของสิ่งที่เราทำ พอเราต้องรับหน้าที่ด้านโชว์อย่างเดียวแล้ว ยังต้องจัดการเรื่องสื่อด้วย มันก็เลยหนักเกินไปนิดนึง

เพราะงั้นผมว่าถ้าจะให้มันเวิร์ก มันควรมีระบบหรือช่องทางอะไรบางอย่างที่ช่วยจัดการด้านมีเดียให้ด้วยเลยตั้งแต่ต้น จะเป็นทีมที่เดินทางไปด้วย หรือเป็น local contact ที่ประสานกับสื่อให้ อะไรแบบนี้ก็ได้ เพื่อให้ทั้งสองอย่างเกิดขึ้นควบคู่กันได้จริง ๆ ครับ

ฟอร์ด: สิ่งที่ผมอยากแนะนำ และจริง ๆ ก็เป็นสิ่งที่ FORD TRIO เองพยายามทำมาตลอด ก็คือเรื่องโชว์ครับ โดยเฉพาะเวลาเล่นในต่างประเทศ เพราะ FORD TRIO ใช้ภาษาไทยในการร้อง ซึ่งอันนี้มันก็มี pain point ชัดเจนเลยคือ คนดูฟังไม่รู้เรื่อง แต่ในขณะเดียวกันมันก็เป็นจุดแข็ง เพราะมันแปลกใหม่สำหรับเขา

สิ่งที่เราพยายามทำอยู่ตลอดคือ ทำยังไงก็ได้ให้คนที่ไม่เข้าใจภาษาไทยยังเข้าใจสิ่งที่เราสื่อได้จากโชว์ ผ่านวิธีการเล่า ผ่านการแสดง ผ่านภาพ ผ่านพลังของวงบนเวที พอเป็นแบบนี้ เราก็ต้องออกแบบโชว์ให้สื่อสารได้โดยไม่ต้องพึ่งคำพูด มันไม่ใช่แค่เล่นเพลงให้จบไป แต่ต้องคิดตั้งแต่ว่า เพลงไหนเหมาะกับเวทีนี้ เพลงไหนไม่จำเป็นต้องเข้าใจเนื้อร้องถึงจะเข้าถึงอารมณ์ และบางเพลงที่ปกติเน้นเนื้ออาจจะต้องปรับหรือหลีกเลี่ยงไปเลย มันกลายเป็นการคิดโชว์ใหม่หมดเลยครับ เพื่อให้คนดูที่ไม่เข้าใจภาษาก็ยังรู้สึกได้

หมอ: สิ่งที่ผมรู้สึกตั้งแต่ตอนเริ่มออกไปเล่นต่างประเทศเลยคือเรื่องโลจิสติกส์มันสำคัญมาก มันไม่ได้แค่เรื่องขนของเฉย ๆ แต่มันเกี่ยวหมดเลยทั้งเรื่องเวลา ความเครียด งบประมาณ แล้วพอเราเป็นวงที่ดูแลกันเองเนี่ย มันยิ่งต้องคิดเยอะ เพราะว่าเราไม่มีทีมใหญ่คอยจัดการให้

อย่างตอนที่เราเริ่มออกไปเล่นครั้งแรก เราก็ต้องมานั่งคิดเลยว่า ของที่เราเคยใช้ในไทยมันจะขนไปได้มั้ย มันหนักไปมั้ย สายการบินไหนยอมให้โหลดมากหน่อย หรือว่าถ้าไม่เอาไปเลยจะไปเช่าที่นู่นแทนได้มั้ย เช่าแล้วเสียงจะยังได้เหมือนเดิมรึเปล่า มันไม่ใช่แค่ว่าอยากได้อะไรแล้วก็เอาไป แต่ต้องมาคิดละเอียดมากว่าอันไหนคุ้มกว่า

บางทีเราก็ลองลดของเอาไปให้น้อยลง ปรากฏว่าไม่ได้อีก บางทีพอเอาไปเยอะเกินก็โดนชาร์จน้ำหนักซะงั้น มันเป็นอะไรที่ต้องลองผิดลองถูกกันเยอะมากจริง ๆ เราก็ต้องมานั่งหาข้อมูล ถามวงอื่นว่าเค้าทำกันยังไง ใช้สายการบินไหน ใช้อุปกรณ์แบบไหนที่มันพกพาง่ายแต่ยังเวิร์ค แล้วแต่ละประเทศก็มีข้อจำกัดไม่เหมือนกันอีก มันเหมือนต้องทำการบ้านใหม่ตลอดทุกทริป

ซึ่งผมรู้สึกว่า ถ้าใครกำลังคิดว่าจะพาวงออกไปเล่นเมืองนอกนะ อยากให้เตรียมเรื่องนี้ก่อนเลย เรื่องโลจิสติกส์เนี่ยสำคัญมากกว่าที่คิด มันเป็นจุดที่ถ้าเตรียมไว้ดี มันจะช่วยเซฟพลังงานเราตลอดทั้งทริป ไม่เหนื่อยกับเรื่องจุกจิก แล้วจะได้เอาแรงไปโฟกัสกับเรื่องโชว์ได้เต็มที่ ถ้ามีใครสักคนทำคลิปหรือแชร์เป็นข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้อย่างจริงจัง ผมว่าโคตรดีเลย จะได้ไม่ต้องมาเริ่มหาทางกันใหม่ทุกครั้ง

เจมส์: น่าจะเป็นเรื่องที่หลายคนคาดไม่ถึง แต่ผมว่ามันสำคัญนะครับ การที่เตรียมเอกสารให้พร้อมสำหรับการส่งสมัครตลอดเวลา หรือการเตรียมโปรไฟล์ของตัวเองให้ครบ บางทีโอกาสมันอาจจะยังไม่เกิดขึ้นแต่เราต้องพร้อมไว้ก่อน

บางครั้งการไปเล่นงานฟรี ถ้างานนั้นมันสร้างเครดิตหรือโปรไฟล์ให้วง มันก็อาจจะจำเป็นต้องทำนะครับ มันเป็น cost ที่เราต้องยอมรับ เช่นเรื่องการทำ EPK (electronic press kit) หรือจัดการเอกสารราชการต่าง ๆ เพราะวงที่ไปต่างประเทศแล้วกลับไปบ่อย ๆ เนี่ย หลังบ้านต้องทำงานหนักมาก ผมเชื่อว่าไม่มีใครไปได้เพราะฟลุ๊กแน่นอน ทุกคนต้องเคยเจ็บตัวกันมาแล้วทั้งนั้น อย่างเมื่อสองสามปีก่อน หลายวงก็เคยทุ่มทุนไปแล้ว ก็กลับมาทำใหม่ เก็บเงินจากการเล่นในไทย เพื่อเอาไปยอมขาดทุนที่ต่างประเทศ เพื่อสร้างแฟนเพลงใหม่ แล้วค่อยกลับไปอีกครั้งตอนที่มันเริ่มมีกำไรจริง ๆ

ผมว่ามันเป็นเรื่องของระยะยาวครับ ถ้าเพิ่งเริ่มทำเพลงวันนี้แล้วปล่อยไป แล้วหวังว่าจะได้ไปเล่นต่างประเทศปีนี้เลย ผมว่าอาจจะไม่ง่ายนะครับ แต่มันเป็นไปได้ แค่ต้องเตรียมตัวดี ๆ นี่มันคือเกมยาว ถ้าจะให้ไปถึงจุดนั้น เราไปญี่ปุ่นเลยไม่ได้หรอกครับ เว้นแต่ว่ามีตัง (หัวเราะ) ซึ่งก็ไปได้แหละ

แต่สำหรับวงที่ไม่ได้มีทุนแบบนั้น ก็ต้องค่อย ๆ สร้างเครดิต เช่นเคยไปเล่นฟรีก็มี เล่นเพื่อเอาคอนเนกชันก็มี แล้วก็ต้องหาทางคอลแลบกับศิลปินในประเทศนั้น ๆ ด้วย ผมว่าการวางแผนระยะยาวเป็นเรื่องสำคัญมาก แล้วผมคิดว่า CEA ก็จะมองเห็นนะครับว่าวงไหนมีแผน มีทิศทางที่ชัดเจน มันก็ช่วยให้ได้ทุนง่ายขึ้นครับ

ซึ่งอันที่สำคัญมาก ๆ เลยคือ technical rider ที่เป็นข้อมูล International ซึ่งอันนี้เป็น know how ที่จริง ๆ แล้ว CEA หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องน่าจะเอามาทำเป็นคอร์สอบรมให้ศิลปินเลยด้วยซ้ำ เพราะว่ามันเป็นเหมือนภาษาเฉพาะที่วงดนตรีหรือโปรดักชันทั่วโลกใช้สื่อสารกันจริง ๆ

นอกจากนี้ก็ยังมีพวก requirement ต่าง ๆ แล้วก็เรื่องของภาษาอีก ถ้าเรามีคนในทีมที่สามารถตอบอีเมลอย่างเป็นทางการได้ มันก็จะช่วยเยอะมากเลยครับ อันนี้ผมพูดในสเกลของศิลปินที่ไม่มีค่ายนะ สำหรับศิลปินอิสระที่อยากออกไปต่างประเทศ เรื่องพวกนี้เป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นหลังบ้าน ที่หลายคนอาจไม่รู้ อย่างการเตรียม rider รายละเอียดส่วนตัว พาสปอร์ต วีซ่า แล้วก็ที่สำคัญมาก ๆ เลยคือคลิปการแสดงสดนะครับ

เอาจริง ๆ คลิปการแสดงสดมันสำคัญกว่ายอดวิวด้วยซ้ำ สมมุติว่าเรามียอดวิวในยูทูบสิบล้าน แต่ไม่เคยมีคลิปเล่นสดเลย พอส่งไปพิชชิ่งกับเฟสติวัล เขาก็อาจจะไม่เลือกเราก็ได้ เพราะเขาไม่รู้ว่าเราเล่นสดเป็นยังไง มันดูเสี่ยงเกินไป เพราะฉะนั้น ถ้ายังไม่มีโอกาสได้เล่นจริงจัง ก็อาจต้องหาโอกาสสร้าง live session หรือจัดโชว์ของตัวเองขึ้นมา เพื่อให้ได้ฟุตเทจดี ๆ เอาไว้ส่ง หรือไม่ก็ไปเล่นในงานไหนก็ตามที่มันดูจริงจังหน่อย แล้วเอาทีมไปถ่ายคลิป เก็บบรรยากาศให้พร้อมใช้ สรุปก็คือต้องมีการเตรียมตัวหลายอย่างครับ ไม่ใช่แค่เรื่องดนตรีอย่างเดียว แต่รวมถึงระบบหลังบ้านทั้งหมดด้วย

หมอ: ลองไปฟังดูครับ แต่อย่าเพิ่งไปดูเฉพาะ Live Sesion อย่างเดียวนะ ฟังเพลงในอัลบั้มอีกทีแล้วลองเปรียบเทียบกับเวอร์ชัน Live Session ดูด้วย เพราะว่ามันเป็นคนละกลิ่นกันเลย วิธีการเล่นตอนอัดกับตอนเล่นสดมันให้ความรู้สึกที่ต่างกันจริง ๆ การเล่นสดในเวอร์ชัน Live Session มันจะมีชีวิต มีจังหวะที่โยกไปตามสถานการณ์ตอนนั้นจริง ๆ ส่วนใน Audio มันก็จะมีอีกความรู้สึกนึง ยังไงก็ฝากติดตามงานต่อ ๆ ไปของ FORD TRIO ด้วยนะครับ พวกเราก็จะทำไปเรื่อย ๆ ค่อย ๆ สร้าง ค่อย ๆ เปิดทางใหม่ ๆ ไปด้วยกัน

ฟอร์ด: ฝากไปฟังเพลงกันด้วยนะครับ แล้วก็ช่วยกันคอมเมนต์เข้ามาเป็นกำลังใจให้ทีมงานกันหน่อย คอมเมนต์ดี ๆ ก็พอครับ ไม่ต้องด่าเยอะนะ (หัวเราะ) แล้วก็ฝากมาดูโชว์กันด้วย พวกเรายังต้องการแรงสนับสนุนจากทุกคนอยู่จริง ๆ ถ้าใครซื้อบัตรมาดูโชว์ ผมรู้สึกว่านั่นคือสิ่งที่ยิ่งใหญ่มากสำหรับวงเราเลยนะครับ

ไม่ว่าจะเป็นคนที่เคยมาแล้ว มาอีก หรือคนที่เพิ่งเคยมาดูครั้งแรก พวกเราดีใจมากครับ ทุกบาททุกสตางค์มันสำคัญมากโดยเฉพาะในยุคที่เศรษฐกิจมันตึง ๆ แบบนี้ แล้วคุณเลือกใช้เงินนั้นมาดูคอนเสิร์ตเรา ผมรู้สึกขอบคุณจริง ๆ และแฮปปี้สุด ๆ ครับ

เจมส์: Merchandise ก็มีนะครับ รู้สึกว่ามันเป็นอีกทางหนึ่งที่ช่วยซัพพอร์ตกันได้ เราก็พยายามนำเสนอสินค้าที่มันเป็นทางเลือกใหม่ ๆ ใช้ได้บ้าง ไม่ได้ใช้บ้าง ก็ไม่เป็นไร ถือว่ามาช่วยกันสนับสนุนก็พอครับ แล้วก็ อยากให้ติดตามการเดินทางของ EP นี้กันด้วย เพราะมันจะไปในหลายที่มาก ๆ สมมุติว่าเราอาจจะยังไม่ได้มีโอกาสเจอกันเร็ว ๆ นี้ แต่เราก็พยายามอัปเดตผ่าน Story หรือ Video ให้ดูเรื่อย ๆ นะครับ

ถ้าเกิดว่าดูแล้วรู้สึกว่า เออ อยากไปดูบ้าง ก็ฝากไว้เลยครับ ถ้ามีโอกาสก็แวะมาสนับสนุนกัน เพราะว่าเราตั้งใจกับ EP นี้มากจริง ๆ

FORD TRIO YANT EP Neo Thai Funk Pluk Sek Service Thailand
+ posts

ชอบไปคอนเสิร์ตเพราะเป็นกิจกรรมที่ทำคนเดียวได้ และยังชอบแนะนำวงดนตรีใหม่ ๆ ผ่านตัวอักษรตลอดเวลา

Related Articles

This website uses cookies to improve your experience. We'll assume you're ok with this, but you can opt-out if you wish. Accept Read More

Privacy & Cookies Policy