ออกสำรวจซาวด์ที่โคจรรอบกาแล็กซีอิเล็กทรอนิกไปกับ Django Django ใน ‘Off Planet’

by Montipa Virojpan
344 views

ตกสำรวจไปซะสนิท ไม่อย่างนั้น ‘Off Planet’ อัลบั้มชุดที่ 5 ของวงอาร์ตร็อก/อิเล็กโทรไซเคเดเลียสุดกวนจากลอนดอน Django Django คงได้ติดโผในสุดยอดอัลบั้มประจำปี 2023 ของ The COSMOS อย่างแน่นอน เพราะพวกเขาพาเราไปพบกับเสน่ห์อิเล็กทรอนิกหลากหลายสไตล์ แน่นอนว่าได้แรงบันดาลใจจากคลับมิวสิกยุคเก่าจาก UK แล้วยังผสมเอาลวดลายดนตรีแนวอื่น ๆ เข้ามาได้อย่างกลมกล่อม ใครสายนี้ฟังแล้วมีใจเต้นหลุดขอบจักรวาลกันแน่ ๆ เพราะมันเพลินมาก

Django Django – Off Planet

งานนี้เดิมทีแล้วจะออกมาเป็น EP งานทดลอง 4 ชุด ให้ดูเหมือนว่าแต่ละเพลงมาจากคนละ ‘ดาวเคราะห์’ กันแต่ไป ๆ มา ๆ ก็ถูกรวมเป็นอัลบั้มความยาว 21 แทร็คฟังกันให้หูฉ่ำ มาอ่านรีวิวแบบจัดเต็มและฟังไปพร้อม ๆ กันได้ในรีวิวจัดเต็มชิ้นนี้

PART 1

Wishbone

เริ่มอัลบั้มมาด้วยอิเล็กโทรป๊อปเท่กับเสียงไซโลโฟนชวนฉงน ชวนให้เราตั้งใจฟังอย่างจดจ่ออย่างดีเมื่อในท่อนต่อไปพวกเขาแทรกซินธ์เบสและบีตนัว ๆ เข้ามา ชอบความสดใสของคีย์บอร์ดในแทร็คนี้ที่เป็นตัวเกริ่นนำก่อนส่งเข้าบีตเทคโนย่ำ ๆ นำเสนอกลิ่นอายของสิ่งที่เราจะพบต่อไปในอัลบั้มชุดนี้ได้ครบถ้วน เรียกได้ว่าเปิดได้สวย

Complete Me (feat. Self Esteem)

ฉ่ำหูกับซินธ์สว่าง และเสียงร้องจาก Self Esteem ทำให้เบรกบีต 90 ผสมกลิ่นอายแอซิดเฮาส์สนุก ๆ เพลงนี้มีเสน่ห์และดึงความสนใจจากเราได้ทันที นอกจากท่อนสวย ๆ ในเพลงที่เป็นเมโลดี้หลักแล้ว ยังมีพาร์ตบริดจ์ที่เป็นคีย์บอร์ดที่เล่นไล่คีย์ได้อย่างน่าหยิกน่าชัง จึงไม่แปลกใจว่าทำไมถึงเลือกเพลงนี้เป็นเพลงโปรโมต และในความยาวเกือบ 5 นาทีนี้ก็ถูกแบ่งไดนามิกไล่อารมณ์ไปเป็นช่วง ๆ สามารถเอาไปเปิดในคลับได้สบาย ๆ

Osaka

แทร็คบรรเลงนี้ขึ้นเพลงมาในบรรยากาศลึกลับแบบดีปเทค ก่อนจะหวดเบสดรัมและลูปสแนร์ดุ ๆ แบบเบรก ทว่าประสานมาด้วยเสียงแซ็กโซโฟนอบอุ่นและเสียงปรบมือ ตามมาด้วยเปียโนเบา ๆ ช่วยลิฟต์อัพให้อารมณ์หม่น ๆ สดใสขึ้นทันใด 

Hands High (feat. Refound*)

อิเล็กทรอนิก้าสุดเพี้ยนที่ชูให้เสียงแร็ปหลักเด่น แต่อัดแน่นไปด้วยดีเทลของเพอร์คัสชันและซินธิไซเซอร์ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากเพลงแอมเบียนต์อิเล็กทรอนิกยุค 60 จำพวก Mort Garcon, Joe Meek

Lunar Vibrations (feat. Isabelle Woodhouse)

ลูปย้ำ ๆ กับเบสชวนสะกดจิตยังคงดำเนินไป น่าสนใจมากที่พวกเขาเลือกใช้เสียงซินธ์ที่คล้ายซาวด์เครื่องเป่าไม้ไผ่เป็นตัวเดินทำนองหลัก เสียงร้องอบอุ่นของ Isabelle Woodhouse ทำให้เพลงดูลึกลำเย้ายวน คอนทราสต์กับเสียงซินธ์สว่าง ๆ 

PART 2

Don’t Touch This Dial (feat. Yukon Sings)

เท่ไม่ไหวในดีปเทคเพลงนี้กับเสียงร้องที่เป็นภาษาญี่ปุ่น กับซินธ์เสียงก้องที่แวบไปแวบมาเป็นพัก ๆ เพอร์คัสชันและซินธ์เบสทำให้เราต้องย่ำเท้าโดยไม่รู้ตัว 

Back 2 Back (feat. Patience)

เสียงกรุ๊งกริ๊งคลอไปพร้อมกับบีตหนักแน่น อิเล็กโทรป๊อปและเสียงร้องของ Patience ให้ความรู้สึกเหมือนเพลงป๊อปดีว่าต้น 90 ทำนองล่องลอยนี้ทำให้โยกหัวตามและติดหูในเวลาอันสั้น ดูท่าพวกเขาจะกำลังอินเสียงพวกเครื่อง wood wind จริง ๆ 

Squid Inc. 

อันนี้ชอบชื่อเพลงเป็นการส่วนตัว เหมือนเล่นกับคำว่า ink ที่แปลว่าหมึกน่ะ ส่วนเพลงเหมือนเป็นแทร็คบรรเลงคั่น กรูฟจังหวะนวด ๆ ให้เราได้พักหู แต่จากเบสและเมโลดี้หลักนี่มันน่าย่อโยกให้ปวดเข่าปวดข้อกันไม่น้อยทีเดียว ส่วนเสียงฟลุตในเพลงก็แสนสวยงาม ไล่โน้ตขึ้นลงชวนหัว ให้ฟีลแบบทะเลหาดทรายสายลมสองเรามาก ๆ 

Come Down

ถือเป็นเพลงอิเล็กโทรป๊อปย่อยง่ายอันนึงของพวกเขา ฟังโยก ๆ นวด ๆ ไป

Golden Cross

อีกหนึ่งเพลงโปรดของชุดนี้ที่กลิ่นอายไซเคเดเลียมาเต็ม ทั้งเบสไลน์ และเมโลดี้ร้อง แต่ที่เท่แซงมาเลยก็คือซินธ์เบสกับกลองในเพลงนี้แหละ ยิ่งได้แทมบูรินเสริมเข้ามาหลังนาทีแรกก็คืออร่อยหู ฉ่ำ ๆ กันไปเลยเพลงนี้

PART 3

No Time (feat. Jack Peñate

เปียโนเทคเฮาส์สุดเริ่ดทำเอาใจแตกเต้นแตกแตนได้ตั้งแต่ต้นเพลง กับคีย์บอร์ดและซินธ์เปียก ๆ นวด ๆ ยังไม่รวมทรัมเป็ตมีชีวิตชีวาในท้ายเพลงช่วงไคลแมกซ์ เข้าขนบต้นตำรับแบบหยุดดิ้นไม่ได้

A New Way Through 

ลดความสุดทางในแทร็คก่อนหน้ามาใส่ความป๊อปให้มากขึ้นในเพลงนี้ เทคเฮาส์สวย ๆ ได้ฟีลโอเรียนทัลจากซินธ์ที่เป็นตัวชูโรงของเพลงนี้ 

Galaxy Mood (feat. Toya Delazy)

เหมือนช่วงที่ 3 ของอัลบั้มจะเป็นตัวซินธ์แบบเฮาส์ที่โดดเด่น แต่ในเพลงนี้เขามีพาร์ตเบสป่วน ๆ อยู่ ผสมผสานไปกับแอโฟรบีต ได้มู้ดทรอปิคัลชวนส่ายเอวสุด ๆ 

The Oh Zone

ตามมาแบบติด ๆ เนียนกริบไร้รอยต่อ กับ interlude ซินธ์เสียงใส high pitch เล่นลูปวิบวับ พร้อมเสียง voice over ก่อนจะเข้าพาร์ตคีย์บอร์ดเล่นวนและเบสผ่อนคลายคอยนวดอยู่เบื้องหลัง

Dead Machine (feat. Stealing Sheep)

เท่ ๆ กับไลน์เปียโนที่เล่นย้ำ ๆ ได้ฟีลโอลสคูลฮิปฮอป กับเสียงร้องเพราะ ๆ สไตล์ r&b รวมถึงซินธ์สุดยียวนสร้างความน่าสนใจให้กับเพลงหม่น ๆ ได้มีมู้ดเซ็กซี่จาง ๆ แล้วช่วงท้ายเพลงพวกเขาก็หวดเราด้วยเบสไลน์หนัก ๆ ทำเอาอื้อไปเลย

Dumdrum

กลับมาในเทคโนย้อนยุคอัพบีตที่ไดรฟ์ให้เราได้รู้สึกกระฉับกระเฉงยิ่งขึ้น ทั้งซินธ์เบสและเพอร์คัสชันในเพลงนี้ชวนให้เกเรมาก 

PART 4 

Fluxus

เข้าสู่ช่วงสุดท้ายของ ‘Off Planet’ กันแล้ว เพลงนี้ก็พากันทะยานสุดชั้นบรรยากาศไปเลยกับซินธ์เบสเสียงแตก หนักหน่วงเร้า ๆ ชวนโยกกันให้เมื่อยคอ

Slipstream

เสียงซิมบัลกับซินธ์ยุกยิกและไลน์เบสพุ่งร่วมด้วยลูปซินธ์ใน hypnotic electro เพลงนี้คือเท่ไม่ไหว 

Who Know You (feat. Bernado)

ฉีกจากทุกแทร็คจากอัลบั้มด้วยซาวด์แบบอินดี้ อัลเทอร์เนทิฟร็อก

Black Cadillac

ต่อกันแบบไม่หนีกันมากในเพลงหม่น ๆ กับดั๊บนวด ๆ โยก ๆ ในเพลงเบสอ่วมเพลงนี้ แต่ส่วนตัวเรามองว่าลูกเล่นแพรวพราวกว่ามากในช่วงโซโล่ที่ทั้งเครื่องเคาะและเครื่องเป่าทองเหลืองที่ไล่สเกลแบบอาราบิก 

Gazelle

ปิดท้ายอัลบั้มด้วยเพลงคลับไวบ์ดิสโก้สดใส ๆ ไฟเปิด แต่ก็มีกลิ่นอายโฟล์กคันทรีจาง ๆ เข้ามาในซาวด์ไวโอลินและทางคอร์ด ซึ่งเราก็ไม่คิดเหมือนกันว่าพวกเขาจะปูให้เพลงสุดท้ายมาลงทางนี้

และนั่นคือ ‘Off Planet’ อัลบั้มสุดวาไรตี้ของ Django Django ที่พรีเซนต์คลับมิวสิกออกมาในของสไตล์พวกเขาได้น่าสนใจ รวมถึงมีการร่วมงานกับศิลปินของยุคทั้งเมนสตรีมและอันเดอร์กราวด์มากหน้าหลายตา แอบผิดหวังนิดนึงเพราะเหมือนจัดเต็มมาแล้วหลายเพลงในช่วงต้น ทำให้ช่วงท้ายของอัลบั้มดูจาง ๆ เหมือนหมดมุขสู้พาร์ตก่อนหน้าไม่ได้ แต่โดยรวมนับว่าฟังได้เพลิน ๆ เวลาชั่วโมงกว่า ๆ รวมถึงบางช่วงบางตอนของแต่ละเพลงก็สามารถหยิบเอาไปเปิดในปาร์ตี้ได้เช่นกัน ยังไงซะพวกเขาก็มีงานรีมิกซ์ออกมาอีก 3-4 แทร็คกับโปรดิวเซอร์ท่านอื่น ๆ อย่างให้ไปลองฟังกันด้วย 

อ่านต่อ
The COSMOS’ Editor’s Pick
23 Thai Albums of the Year

Related Articles

This website uses cookies to improve your experience. We'll assume you're ok with this, but you can opt-out if you wish. Accept Read More

Privacy & Cookies Policy