Ham Tanid ศิลปินไทยคนเดียวบนเวที Golden Indie Music Award 2023 ผู้เรียกร้องพื้นที่ความหลากหลายในซีนดนตรีไทย

by McKee
1.8K views
Ham Tanid Ju Ju! โลเล The Golden Indie Music Award 2023 GIMA Best Asian Creative Artist

Ham Tanid หรือ แฮม—ฐาณิศร์ สินธารัตนะ นอกจากตำแหน่งมือกีตาร์ในวงแจ๊ส H1F4 แล้ว เขายังออกไปตะลุยโลกของเสียงดนตรีในฐานะศิลปินสายทดลอง ที่ตามไปร่วมสนุกกับโปรเจกต์มัน ๆ ของศิลปินหลากหลายแขนง ไม่จำกัดแค่ในซีนดนตรีเท่านั้น เพื่อท้าทายคำนิยามของคำว่า ‘ดนตรี’ ว่าเขาจะพามันไปได้ไกลจากความหมายเดิม ๆ ของมันได้แค่ไหน

จนผลงานล่าสุดของเขากับดนตรี instrumental ambient ในชื่อ Ju Ju! ซึ่งใช้ประกอบงานนิทรรศการของศิลปินสายวาดชื่อดังอย่าง โลเล ได้เข้าชิงบนเวที The Golden Indie Music Award 2023 โดยจัดขึ้นทุกปีในประเทศไต้หวันเป็นครั้งที่ 14 แล้ว เป็นงานระดับประเทศที่เชิดชูให้พื้นที่กับความคิดสร้างสรรค์และความหลากหลายของดนตรีในประเทศ แน่นอนว่า แฮม เป็นคนไทยคนเดียวในงานนี้ที่ได้ขึ้นไปรับรางวัลในสาขา Best Asian Creative Artist ท่ามกลางศิลปินมากฝีมือจากทั่วเอเชีย

Transmission วันนี้ เราชวนแฮมมาพูดคุยถึงรางวัลที่เขาได้รับ ว่ามันสำคัญกับตัวเขาและซีนดนตรีนอกกระแสไทยยังไงบ้าง รวมถึงความเห็นของเขาต่อข้อจำกัดในซีนดนตรีที่ไม่มีพื้นที่ให้ดนตรีทางเลือกเลย

Ham Tanid Ju Ju! โลเล The Golden Indie Music Award 2023 GIMA Best Asian Creative Artist

ก็รู้สึกเป็นเกียรติมาก ด้วยงานเรามันเป็นดนตรีบรรเลงเพราะเป็นงานประกอบนิทรรศการ ถ้าเพลงที่มีเมโลดี้เยอะมันฟังแล้วจะลูปแล้วอาจจะน่าเบื่อ เพลงเราเป็นเพลง ambient แต่ทางเวที The Golden Indie Music Awards (เรียกสั้น ๆ ว่า GIMA) ก็ยังให้เกียรติงานเราเข้ารอบและก็ชนะด้วย รู้สึกว่ามีคนสนใจเรา ก่อนหน้านี้เราทำมาเรื่อย ๆ ไม่ได้หวังผลว่าทำแล้วได้อะไร แต่พอเห็นแบบนี้ก็รู้สึกว่างานที่ทำมาก็คงมาถูกทางระดับนึง ก่อนหน้านี้ทำ The Kopycat มันก็ชัดเจนว่าเพลงสำหรับใคร แต่อันนี้มันทำตามที่อยากเฉย ๆ ทำร่วมกับ พี่โลเล—ทวีศักดิ์ ศรีทองดี ก็ช่วย ๆ กันเกลา

เหมือนผมไปเจอคนในเฟสบุ๊คคนนึง จำไม่ได้ว่าใคร เค้าแชร์โพสของ GIMA แล้วช่วงนั้นผมก็อยากไปหาประสบการณ์ที่ต่างประเทศ หาทุนแบบ Residency ทั้งในยุโรป ทั้งในเอเชีย พอมาเจออันนี้ก็สมัครแบบไม่ได้คิดอะไร แค่อัพไฟล์เพลงไป เว็บเป็นภาษาจีนด้วยพี่ ไม่รู้เรื่องเลย แปล ๆ เอา ผมว่าพอเป็นภาษาจีนคู่แข่งน้อยด้วยมั้ง (หัวเราะ) แล้วเวทีก็เงียบไปเลยแบบหลายเดือนเลย จน Spotify แจ้งมาในเมลว่า เพลงเราไปโผล่ในเพลย์ลิสต์ GIMA ด้วยนะ เราก็เหวอว่าเพลงเราเข้ารอบด้วยหรอ คือประมาณอีกสามสี่วันกว่าเวทีเขาจะเมลมาหาว่าเข้ารอบ

ประมาณทุนของรัฐบาลที่สนับสนุนให้ศิลปินไปร่วมงานแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกับเขา เขาก็จะออกเงินให้ บางที่ก็อาจจะเสียตังไปเองนะบางคนก็ยอมจ่ายเพิ่ม ที่ไทยก็มีอย่าง BACC ก็รับศิลปินไต้หวันร่วมกับ a.e.y.space ที่สงขลา ในเชียงใหม่จริง ๆ ก็มีนะพี่ แต่เขาจะรับเป็นภาษาอังกฤษ เพราะว่าเขามุ่งไปหาคนต่างประเทศ หรือที่ River City ก็มีครับในห้องเต็มไปหมดเลย เป็นชั้นที่เขาไว้โชว์งานที่เป็นการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมศิลปะชั้นนึงเลย

มีหลายอัลบั้มอยู่นะ มาตรฐานโปรดักชั่นไต้หวันนี้คือดีมาก เวลาไปฟังก็แบบเขาน่าจะชนะนะเนี่ย (หัวเราะ) อย่าง Tokyo Shiokouji เป็นคนญี่ปุ่นที่น่าสนใจมาก เขามีความเป็นแจ๊สผสมร็อกที่มีโครงสร้างที่ชัดเจน อย่างดนตรีร็อกญี่ปุ่นเราจะรู้สึกว่ามันหวือหวา แต่มีโครงสร้างชัดเจน พอฟังเพลงเราละมันเหมือนลอย ๆ ไปเรื่อย ๆ มากกว่า ฟังแล้วก็คิดว่าเขาน่าจะชนะจริง ๆ (หัวเราะ) ไม่มั่นใจตัวเองเลย อีกคนก็ Radio Mars ชอบ คือตื่นเต้นในโปรดักชั่นของเขา คุณภาพดีมาก ทุกเพลงเขาจะผสมผสานคัลเจอร์ของตัวเองจนมันชัดมาก ๆ เราชอบมาก

กดดันมาก (หัวเราะ) ตอนที่ไปก็โชคดีว่าเขามีงบสนับสนุนออกค่าใช้จ่ายให้ ถ้าไม่ชนะก็คงหน้าแตกเพราะเขาไม่น่าออกงบให้ทุกคน ถ้าพูดตรง ๆ คือด้วยชื่อ category คือ creative artist ด้วย เขาอาจจะมีความแบบอยากหาฟังแนวที่เขาไม่คุ้นชิน แปลกใหม่สำหรับเขา เพลงเรามันไม่ได้มี melody เลย เป็นเพลงที่ทิ้งจังหวะ ฟรีสไตล์ ไม่มีเนื้อชัดเจนทำไปทีละท่อนเลย อยากให้ได้ความไม่สมบูรณ์อะไร คงเป็นจุดที่เราแตกต่างจากคนอื่น

จริง ๆ ไม่รู้จักพี่โลเลมาก่อนเลย เป็นแค่ติ่งเป็นแฟนคลับที่เคยทักไปขอชื้อเสื้อ เขาก็มาขายให้ถูก ๆ แบบงง ๆ แล้วก็ติดตามเรากลับ อยู่ ๆ หลังจากนั้นผมกำลังรีดผ้าอยู่ (หัวเราะ) แล้วพี่เขาโทรมาเลย แบบมาชวนคุยแบบไม่ค่อยเกี่ยวเท่าไหร่ ตะล่อม ๆ คุยอะไรเนี่ย สุดท้ายแกก็ทิ้งไว้ว่าแบบอยากชวนมาทำเพลงประกอบ exhibition ให้หน่อย เป็น exhibition แรกที่แกทำร่วมกับคนอื่น ก็คือดีใจมาก ไม่เคยคิดว่าจะได้ทำ เขาเป็นศิลปินคนโปรดที่สุดในไทย เขาก็บอกว่าอยากทำแบบไม่ซีเรียส ทำเล่น ๆ ตามที่ชอบ คือนิทรรศการนี้มันชื่อ Ju Ju! ซึ่งเสียงนี้มาจากลูกเขาคนนึง ชื่อน้องนินจา ด้วยความเป็นเด็กก็จะมีความซน ไร้เดียงสาอะไรบางอย่าง เขาก็เลยรู้สึกว่าชื่อ Ju Ju! มาแทนความเป็นเด็กในตัวเขาได้ ก็จะเห็นได้จากงานเขาที่มีความสนุก ทำตามที่อยากทำ พอมาทำ exhibition งานแกก็จริง ๆ จะหลากหลายมาก แต่จะคงไว้ซึ่งความเป็นเด็กเสมอ ผมว่าเขาก็คงขาดอะไรแหละ เหมือนที่เราทุกคนก็อาจจะเคยขาดอะไรด้วยตามขนบสังคมใด ๆ แล้วด้วยความที่แกมีลูก แกก็คงอยากสื่อถึงความไร้เดียงสาแหละ

ในงานยังมี พี่กบ—พงษ์ภาสกร กุลถิรธรรม (KOBORED) ที่ทำเฟสติวัล มีคุณ ชุบ นกแก้ว (Chubpydoo) เป็นช่างภาพ มี พี่ข้าวโพด—มัญชุมาศ นำเบญจพล ทำแฟชั่น ก็คือจะมีหลาย ๆ คนได้มาคอลแลปส์กับแก ผมเดาว่าผมเป็นคนท้าย ๆ เพราะอีกสองสามอาทิตย์มันจะเริ่มงานแล้ว (หัวเราะ) ผมก็มีเวลาไม่เยอะ ก็ไปดูงานช่วงเสาร์อาทิตย์ที่ถูกติดตั้งไปประมาณนึงแล้วแต่ยังไม่มีเสียงเลย ก็ดูไปว่างานแกประมาณไหนแล้วพี่โลเลชอบอะไร อย่างผมชอบแจ๊ส แต่พอคุยแล้วแกชอบพังก์มากกว่า ด้วยความที่ดนตรีพังก์มันเข้ากับไอเดียแก วงที่แกชอบก็มีวงพังก์เยอะ แกส่งมาให้ผมก็ไปตามฟังมันก็จะเป็นวัตถุดิบของความพังก์ในความคิดของเรา แนวเพลงมันมีความทลายกรอบมีความอิสระค่อนข้างเยอะ ด้วยพื้นฐานเราเป็นนักดนตรี improvise อยู่แล้ว เราก็เลยแบบใช้สิ่งนี้แล้วมาผสมผสานกัน

อันดับแรกก็ทำ Demo ให้แก นั่งจับกีตาร์แล้วก็อัดสด ๆ improvise ไป 10 แทรคให้แกเลือก แล้วก็ค่อยไปทำเพลงเข้าโปรแกรมเข้าคอมพิวเตอร์ แต่ทีนี้ตอนแรกไม่ได้กะทำอัลบั้ม จะทำแค่ 6 เพลงซึ่งแค่นี้ตอนนั้นผมก็เลือดตาแทบกระเด็นแล้ว ทำไม่ทัน (หัวเราะ) แต่แกก็บอกว่าน่าจะทำเป็นอัลบั้มเนอะ คือแกก็คงนึกมาลอย ๆ (หัวเราะ) แล้วแกก็ส่งกีตาร์ที่น้องโรมันลูกของแกเล่นกับเชลโล่ที่น้องนินจาเล่นมาให้ ก็เลยกลายเป็นสองแทรคสุดท้าย ทั้งคู่ก็มาให้ผมทำต่อเป็น bonus track จนครบอัลบั้ม แล้วจะไปวางขายในวันเปิด เกือบไม่ทัน ไฟยังครุกกรุ่นอยู่เลย (หัวเราะ) แล้วเป็นอัลบั้มที่ผมมาสเตอร์เอง คือผมไม่เคยทำเพลงเองมาก่อนเลย ผมรู้สึกว่ามันก็มีประโยชน์ที่ไปประกวดนะ เพราะในงานประกวดมันเขียนเลยว่าศิลปินต้องทำเอง 80% นะ อาจจะเป็นจุดนี้ที่กรรมการเห็นในข้อจำกัดอะไรบางอย่าง พลิกมุมทำให้เห็นข้อดีของมันได้แหละ

จริง ๆ ในอัลบั้มนี้พี่โลเลมีส่วนเยอะมาก เรียกว่าแกโปรดิวซ์เลยก็ได้ แกให้อะไรที่เป็นประโยชน์กับอัลบั้มนี้เยอะมาก มี insight อะไรก็เอามาแชร์ อยากให้ไลน์นี้มีเครื่องแบบนี้ แกก็จะแชร์มา ถึงแกไม่ได้มาดนตรีสายตรง แต่ก็มีเซ้นต์ดนตรีที่ดีมากเลย ความซับซ้อนความอะไรแกจะเข้าใจ มีเรื่องความเป็นเด็กหลายเรื่องมาแชร์ให้ (หัวเราะ)

แกจะรู้สึกว่าคนเรามีความรู้สึกเหล่านี้ในตัวทุกคนอยู่แล้ว แล้วแกเป็นคนที่ให้คอนเซปต์ของภาพรวมชัด อาจจะเป็นข้อที่ผมได้พัฒนาในงานนี้ด้วย แต่ก่อนเราก็จะมองแบบตรงนี้จะใช้คอร์ดอะไร ฟิลเป็นนักดนตรี ด้วยวัยเด็กของผมกับพี่โลเลอาจจะมีต่างกัน พอแลกเปลี่ยนกันก็ไปด้วยกันได้ ถามว่าใส่ตัวเองเรื่องส่วนตัวไปไหม ก็มีแหละ เพราะครั้งนี้ผมว่ามันจะมีความรู้สึกเหมือนเวลาเรากลับไปฟังเพลงที่เราทำตอนเด็ก ๆ ตอนประถมทำในคอมง่าย ๆ ไว้ เราแทบไม่รู้อะไรเลยตอนนั้น แบบไม่รู้ทฎษฎีดนตรีใด ๆ เอาจริงมาตอนนี้ก็ยังไม่รู้อะไรเท่าไหร่ (หัวเราะ) แต่มันก็เป็นอีกแบบ ตอนเป็นเด็กเราได้ทำเพลงแบบคิดจิกซอว์ ได้ทำโดยไม่ต้องคิดมากว่าคนนี้จะว่าดี คนนั้นจะว่ายังไง มันจะไม่ได้ต้องมีเรฟอะไร มันก็จะต่างกับที่มาทำตอนโตอีกแบบน่ะครับ

เพลงแรกเลยครับ ชื่อ I’m Not There คือลองเอากีตาร์เด็กมาทำ ก็จะได้ซาวด์แบบนึงที่ไม่เหมือนกีตาร์แบบอื่น เทคนิคนี้ก็ใช้กับเพลงนี้เป็นครั้งแรก แล้วเพลงแรกเราก็ใช้โปรแกรมไป generate โน้ตบางอย่างมาด้วย มันก็มีความแรนด้อมบางอย่าง คือตอนแรกมันจะไม่มีซาวด์เปียโน แล้วพอมันไม่มีเมโลดี้ ผมก็ทำ ๆ ไปจนลืมว่าเพลงไหนนะ (หัวเราะ) เปียโนเป็นยังไง ก็หายไปเลย แต่ไม่เป็นไร ช่างมัน ซึ่งมันก็มีข้อดีของมัน

ทำอยู่ครับ อัลบั้มที่สอง (หัวเราะ) แต่ทำเป็นแบบ electronic jazz ยุค 2000 อะไรงี้

หัดจากหนังสืออาจารย์แดงครับ (หัวเราะ) พูดจริงเลยนะ คือไปขอเรียนกับแกแล้วแกไม่สอน ก็เลยฝึกจากหนังสือแกแทน

หนังสือของอาจารย์แดงมันไม่เหมือนหนังสือกีตาร์อื่นยังไง?

มันเหมือนกันแหละ แต่มันมีบางอย่างที่ผมไม่เข้าใจ แบบฝึกหัดเพลงบลูส์งี้ ซึ่งผมก็ไม่เข้าใจเลยทำให้ผมหาวิธีของตัวเอง แต่เอาจริงผมเป็นคนขี้เกียจด้วย คนอื่นอาจจะเริ่มหัดจากเพลง Dragon Force อะไรงี้ พวกเพลงเท่ ๆ กีตาร์ฮีโร่ ซึ่งเราอาจจะไม่ได้พบอาจารย์ที่มาชี้ทางให้เราได้ แบบ ถ้ามีคนมาคอยบอกว่าด้วยสกิลแบบนี้ ไปทำแบบนี้สิ ดีนะ เราก็คงไปทางนั้นเหมือนกัน แต่ว่ามันไม่ได้ เราก็ต้องหาวิธีของตัวเอง ด้วยสกิลผสมขี้เกียจของเรามันก็อาจจะไม่ได้เป๊ะ จนค้นพบการ improvise ยังไงก็ไม่รู้ละ จริง ๆ ผมจะชอบเล่นเว็บบอร์ดที่เขามีรวบรวมทฎษฎีดนตรี เป็น text หมดเลยนะ ไม่มีรูปประกอบไม่มีอะไรเลย ก็ลองเข้าไปอ่าน ๆ ดู แล้วเราชอบตรงนั้น ก็เลยได้รู้จักการเล่นดนตรีในแบบของเรา หลังจากนั้นก็เรียนรู้การใช้กีตาร์หรืออะไรมากขึ้น พอมาเรียนมหาลัยก็เพิ่งรู้จักแจ๊สจริง ๆ เพราะนี้ก็ไม่ได้ฟังแจ๊ส ก็เลยเริ่มไปเรียน แต่ความดื้อหรืออะไรไม่รู้ เราก็เลือกที่จะไม่เล่นแบบที่เขาเล่น จริง ๆ เราชอบ อาจารย์พิเชษฐ์ กลั่นชื่น ชอบที่เขาเอาโขนมาประยุกต์ แกก็ศึกษาโครงสร้างเพลงอะไรให้เด่นชัด แต่พอเป็นเราก็ไม่ได้มาศึกษาอะไรขนาดนั้น ด้วยความที่เป็นคนไทยด้วย เรารู้สึกว่าเล่นแจ๊สไปยังไงก็สู้คนต่างชาติฝั่งตะวันตกที่อยู่กับแจ๊สมาตลอดไม่ได้อยู่ดี ก็เล่นในแบบของเราดีกว่า

ผมคิดว่าถ้าเป็นคนที่จบดนตรีมาแล้วมาทางอาร์ตจะยากกว่าด้วย เพราะมันมีกรอบ ดนตรีมันต้องทำคอร์ดแบบนี้ โน้ตแบบนี้ ฟังให้ถูกต้องต้องเป็นแบบนี้ มันเลยยาก คือผมเชื่อว่าทุกคนทำได้แหละ ยิ่งถ้าเรียนดนตรีมาก็ได้เปรียบในเชิงเล่นดนตรีด้วย แต่มันจะมีเรื่อง mindset ที่ทำให้แล้วมันไม่เหมือนกัน ถ้าคนไม่มีกรอบ ไม่ได้เรียนดนตรีแต่คุณมีความเข้าใจในคอนเซปต์ในตัวงาน อาจจะทำได้ดีกว่าด้วยซ้ำ ตัวผมเองก็มีปัญหาเหมือนกันนะ คือเดิมมันเป็นสิ่งที่เราเรียนมา ก็ยังชิน ยังติด ก็ต้องค่อย ๆ ปรับไป เพราะทางที่เราเคยเล่นให้คนฟังตบมืออะไรงี้ มันเคยชินในฐานะนักดนตรี แต่พอมาทำเป็นงานอาร์ตมันไม่ใช่ ก็ต้องทำให้มันเข้ากับงานนะ

ด้านนี้เป็นด้านที่อยากลุยต่อมาก ๆ พวกงาน visual หรืออะไรก็อยากทำด้วย การ mix master หรือทำให้ดนตรีที่เป็นเสียงมีความหมายเพิ่ม ก็อยากทำ อยากเรียนรู้มาก ๆ คิดว่าปีหน้าจะได้เริ่ม

ก็ไม่ได้น้อยใจในแง่แบบทำไมเราถึงไม่ได้รับการพูดถึง ไม่ได้มองเป็นเรื่องส่วนตัว แต่รู้สึกว่า … หมดหวังก็ไม่เชิง อยากให้เหตุการณ์ที่เราประสบมาได้ไปต่อยอดให้คนอื่น ทำให้คนอื่นรู้สึกว่า เฮ้ย เราไปทำผลงานที่ไม่จำเป็นต้องเหมือนกับคนอื่นก็ได้ เป็นงานทางเลือกแต่ก็มีที่ไปของมันนะ มีที่ไปหลายที่ อยากให้เอาเรื่องนี้ไปจุดประกายให้คนที่หมดหวัง หรืออยากทำอะไรของตัวเอง แล้วรู้สึกไม่มีใครสนใจเขาเลย คนที่ติดตามซีนใต้ดินงี้ ให้เขารู้ว่ามีคนให้ความสำคัญกับสิ่งเหล่านี้อยู่นะ แต่กลับมาเมืองไทยก็คิดอยู่แล้วแหละ รู้สึกว่ามันน่าจะดีกว่านี้ ไม่ต้องพูดถึงชื่อเราหรอก แต่พูดถึงงานนี้ว่า งานประกวดพวกนี้ก็เป็นช่องทางโปรโมทสำหรับศิลปินทางเลือกมาโปรโมทตัวเองได้ ได้มารับประสบการณ์ดี ๆ ที่เราได้พบมา ศิลปินไทยที่ทำแนวนี้แต่ละคนเขาโคตรเก่งเลย แต่ก็ทำไปเรื่อย ๆ ถึงจะไม่มีการซัพพอร์ตจากสื่อ เงินก็ไม่มี

ผมว่าศิลปินไทยคือโคตรอดทนเลยอะ เขาเป็นศิลปินที่ดีได้แต่สภาพสังคมมันไม่เอื้อด้วย ทำให้เขาเลิกไปก่อน เยอะมาก เขาอาจจะมีความสามารถในการทำครีเอทีฟได้แต่ต้องละทิ้งมันไปจนเสียมันไปเลย ซึ่งน่าเสียดาย อย่าง Residency จริง ๆ ก็มีศิลปินไทยไปอยู่นะ อย่างของที่เบอร์ลินที่เกอเธ่ซัพพอร์ตก็มีพี่ Pisitakun แต่ไม่มีใครทำข่าวเลย สื่อไทยคงไม่ได้สนใจ ศิลปินไทยก็ไปดังต่างประเทศหลายคน แต่สื่อไม่ค่อยให้ความสำคัญกับเขาเท่าไหร่

Ham Tanid Ju Ju! โลเล The Golden Indie Music Award 2023 GIMA Best Asian Creative Artist

ส่วนตัวผมรู้สึกว่า ไทยจะแมสจะอะไรก็ไม่เป็นไรเลย แต่ที่ไทยผมรู้สึกขาดความหลากหลาย ผมไปที่ไต้หวัน เปิดทีวีไปมีช่องแจ๊ส ช่องคลาสสิค หลายแนวมาก แล้วก็เวที GIMA ไม่ได้จำกัดแนวเพลงหรือเฉพาะทาง มันมีทุกแนวเลย คนที่รางวัล Achievement Life Time Award ก็คล้าย ๆ ผมเลย เล่นกีตาร์สายทดลอง สายแมสในงานก็มีนะ แต่แค่มันมีหลากหลาย อยากให้ในประเทศไทยมีที่ให้กับคนที่จะแหวกไปนิดนึงในทุก ๆ ความหลายหลายเหมือนกัน

ก่อนหน้านี้ผมรู้สึกสับสนกับคำว่า ‘ไทย’ ของตัวเอง มันก็จะมีกระแส T-POP กระแส Thai Contemporary คือถ้าให้จะทำเพลง Contemporary เพลงอังกฤษเพลงไทยผสมแบบพี่ Tontrakul มันก็ไม่ใช่ทางเรา เราไม่ได้โตมาแบบนั้น ถ้าจะให้ทำแบบฝรั่งเลย ก็ไม่ 100% จะให้ทำแจ๊สให้มันได้มาตรฐานเท่าฝรั่งก็ทำไม่ได้ เพราะเราโตมาแบบนี้ ซึ่งตอนนี้ผมก็รู้แล้วคำว่า ‘ไทย’ สำหรับศิลปินไทยมันคือการทำความเข้าใจตัวเองมากกว่า ว่าเราโตมากับอะไร ชอบอะไร สุดท้ายมันคืออะไรก็ได้ที่เราชอบในช่วงหนึ่งแล้วเราเอามาเป็นส่วนหนึ่งของเรา ไม่ได้ต้องเป็นไทยก็ได้ แต่เป็นประชากรของโลก อย่างอัลบั้ม “Ju Ju!” ด้วยความที่งานนี้มันเร่งด้วย ตอนทำก็ไม่ได้คิดเรื่องนี้ แต่พอสุดท้ายมันออกมาเป็นคำตอบให้เราเฉยเลยว่า แค่เราปล่อยวางทุกอย่างกับคำว่าไทย ในฐานะที่เป็นศิลปินคนไทย ขอให้เราจริงใจกับตัวเองก็พอ มันให้ความรู้สึกว่าเรามีการพัฒนาขึ้น มีความเข้าใจตัวเองมากขึ้น เพราะเราไม่ได้ฝืนที่จะทำ ฝืนเดินทางที่เราไม่ได้ชอบ ไม่ถนัด

การได้เจอศิลปินไต้หวันเปิดโลกผมมาก คือ production ต่าง ๆ เขาดีมากหรือ culture เขาหลากหลาย ดีใจที่ได้พบหลาย ๆ คน มีคนนึงทักมาหาผม เป็นศิลปินเกาหลีชื่อ dongyi เขาชนะสาขา Best Jazz Album เป็นคนเกาหลีที่อยู่ญี่ปุ่นแล้วมาประกวดไต้หวัน อยากจะร่วมงานกับเขาสักวัน รู้สึกคนไต้หวันเขาให้ความสำคัญกับ artwork กับดนตรีมากเลยนะ เขามองดนตรีเป็นศิลปะ คือเทคนิคดนตรีเขาก็มีสูงนะ แต่ไม่ใช่เรื่องหลักของเขา แล้วการที่เขาตัดสินผมให้ชนะรางวัลเนี่ย ก็พิสูจน์เหมือนกันว่าเขาแบบไม่ได้มีอคติ ยอมรับงานด้วยความที่มันเป็นมัน เข้าใจธรรมชาติว่างานมันก็เป็นแบบนี้ ไม่ได้มีตั้งต้นในใจว่างานที่ดีต้องเป็นแบบนี้

อย่างแรกเลยคือเขาเปิดให้คนทั่วไปได้เข้าหมด คนเข้าไปเยอะมาก น่าจะ 5-6 พันคนได้ รัฐบาลก็เป็นคนสนับสนุน โลเคชั่นที่จัดก็เป็นแบบ Taipei Music Centre ที่สร้างขึ้นมารองรับงานอะไรแบบนี้จริง ๆ อย่างเมืองที่ LucFest จัดก็มี Music Center ของเขาเหมือนกัน ก็รู้สึกว่ารัฐบาลเขาซัพพอร์ตจริง ๆ คือเราเป็นคนนิดเดียว ถ้าได้คนที่ power มาช่วยทำนโยบายอะไรบางอย่าง อาจจะแบบกระตุ้นให้ทุกอย่างมันไปได้เร็วกว้างมากขึ้น

ผมคงไม่มีความสามารถในการบอกว่าอะไรคือ soft power ความเป็นไทยอาจจะต้องให้คนนอกมองมาด้วยซ้ำ ว่าของดีของเมืองไทยคืออะไร ถ้าให้คนอื่นมองมันอาจจะชัดกว่าด้วยซ้ำ คนไทยทุกคนต้องเข้าใจตัวเองว่าเราทำอะไรอยู่ จริงใจกับตัวเอง เดี๋ยวความเป็นไทยมันก็จะออกมาเอง โดยที่ไม่ได้ต้องพยายามไปจำกัดความว่ามันคืออะไร เพราะเราโตมาในสภาพแวดล้อมแบบนี้ มันก็จะเกิดขึ้นเองในแบบของเรา ฝาแฝดเกิดด้วยกันยังไม่เหมือนกันเลย ให้มันเป็นไปตามธรรมชาติ เดียว soft power มันก็มาเองแหละ อย่าไป top-down ใส่มันเลย ถ้า top down อยากให้เป็นเรื่องการส่งเสริมมากกว่า ส่งเสริมให้ทุกคนแบบได้ปลดปล่อยตัวเองในแบบที่ต้องการ ไม่อยากให้จำกัดความ soft power ต้องเป็นอะไรบ้าง แค่อยากให้เปิดโอกาสกับทุกคนให้ได้ทดลองแล้วเดี๋ยวทุกอย่างมันก็เริ่มมี pattern แล้วรวมกลุ่มกันเป็นคอมมูนิตี้ที่แข็งแรงเอง

มีทำ EP กับพี่โลเลที่พูดไปก่อนหน้านี้ครับ จะประกอบกับภาพเครื่องไหวขึ้นมา ก็จะนำไปสู่ exhibition คู่อันต่อไป แล้วก็จะมีทำกับเพื่อนทำกับครูเพลง จะทำเป็นดนตรีอีสาน ก็จะเป็นอีกงานนึงครับ และ H1F4 ก็จะมีไปเล่น Pelupo 1-2 มีนาคมนี้ ก็ลุยต่อ ๆ กันไป

ผมว่าพอมันมีสื่อออนไลน์อย่าง TikTok งี้ มันมีอะไรเยอะมากเลย คือผมคิดตลอดเลยว่าถ้าผมโตมาในยุคนี้ ผมจะมีสมาธิจดจ่อกับอะไรบางอย่างได้ยังไง ทุกอย่างมันไปไวมาก ข้อดีคือโลกมันกว้าง แต่ผมเป็นคนเชื่อในเรื่องที่เราต้องจดจ่อและใช้เวลากับสิ่งที่เราชอบจริงจัง เหมือนอิจิโร่ที่ทำซูชิมาทั้งชีวิตงี้ เขาทำซูชิ ปิ้งไข่สิบปี ทำอะไรซ้ำ ๆ จนดีเทลอะไรบางอย่างที่เราไม่คาดคิด ผมว่าทุกอย่างมันต้องใช้เวลา อย่างสมมติเรียนกีตาร์ เรียนแจ๊สนิด ๆ หน่อย ๆ พอแล้ว ซึ่งมันก็อาจจะเป็นแนวทาง ไม่ได้ผิดนะ แต่ถ้าเราอยากลง deep เรื่องใดเรื่องหนึ่งจริง ๆ ผมว่าคนที่ต้องการจริง ๆ ต้องให้เวลากับมันมาก ๆ กับสิ่งหนึ่ง สองปีอะไรงี้ เพื่อที่จะเข้าใจมันแบบทะลุจริง ๆ

อีกอย่างนึงก็คือไม่อยากให้มองดนตรีเป็นดนตรีเพียว ๆ ไม่อยากให้มองดนตรีเป็นสเกล เป็นคอร์ด อะไรงี้ มันก็เป็นอาร์ตแขนงนึงเท่านั้น การเรียนมหาลัยผมว่าไม่ได้ตอบโจทย์ด้านนี้ คือผมเคยถามอาจารย์มหาลัยนะว่าควรให้เรียนพวกเรื่อง art appreciation ดีไซน์ต่าง ๆ พวกนี้ด้วยหรือเปล่า ไม่งั้นเด็กก็จะมองดนตรีว่าเป็นแค่ดนตรีเท่านี้ ไม่ได้ตั้งคำถามว่าสิ่งที่เรียนดนตรีมาสี่ปีจริง ๆ มันคือศิลปะทั้งหมดหรือเปล่า พอได้เรียนศิลปะ มันมีวิวัฒนการมาก่อนเสียง ตั้งแต่สมัยถ้ำ ขีด ๆ เขียน มาเป็น abstract art ได้ยังไง post modern มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง ศิลปะพวกนี้มันก็สะท้อนกลับมาที่ดนตรีนะ ว่าแบบเราไม่ต้องทำแบบที่เราเคยทำก็ได้

ติดตามโปรเจกต์สนุก ๆ ของแฮม หรือ Ham Tanid ได้ที่ Facebook และ Instagram / ขอบคุณรูปจาก Ham Tanid

Ham Tanid Ju Ju! โลเล The Golden Indie Music Award 2023 GIMA Best Asian Creative Artist
+ posts

ชอบไปคอนเสิร์ตเพราะเป็นกิจกรรมที่ทำคนเดียวได้ และยังชอบแนะนำวงดนตรีใหม่ ๆ ผ่านตัวอักษรตลอดเวลา

Related Articles

This website uses cookies to improve your experience. We'll assume you're ok with this, but you can opt-out if you wish. Accept Read More

Privacy & Cookies Policy