ร่วมเดินทางเข้าสู่สถานที่ที่ถูกลืมของ JPBS ในโปรเจกต์ ‘Waiting Room’

by Montipa Virojpan
234 views

หากคุณเป็นคนหนึ่งที่เป็นคอเพลงโพสต์ร็อกไทย คุณอาจเคยได้ยินชื่อของ เจี่ยป้าบ่อสื่อ (Jia Pa Bor Sue) และผลงานมาสเตอร์พีซของพวกเขาอย่าง ‘Rainy Day’ มาบ้าง แต่นั่นคือเรื่องราวเมื่อ 10 ปีที่แล้ว เพราะตอนนี้พวกเขาเปลี่ยนโฉมหน้าสมาชิกเกือบทั้งหมดเพราะต่างคนต่างแยกย้ายไปมีเส้นทางของตัวเอง แต่เจและวินซึ่งเป็นสมาชิกรุ่นก่อนตั้งยังคงเดินหน้าต่อกับวงดนตรีนี้โดยฟอร์มทีมขึ้นใหม่พร้อมกับเปลี่ยนชื่อเป็น JPBS รวมไปถึงแนวคิดและวิธีการสร้างเสียงก็แตกต่างตามความสนใจที่เพิ่มเข้ามาวันเวลาที่ผ่านพ้นไป

สมาชิก JPBS

สมาชิก JPBS
เจ—วัฒนกุลจรัส (กีตาร์)
วิน—ภุมรินทร์ (กลอง)
เหวด—เผือกเทศ (กีตาร์)
ตอง—พรหมมา (เบส)
เนม—เจริญธนนันท์ (ซินธิไซเซอร์)
แซน—พลศร (เพอร์คัสชัน)

‘Rainy Day’ ‘Moondog’ และ ‘4388’ เป็นเหมือนเรื่องเล่าบทแรก ๆ ของพวกเขา ส่วนเรื่องราวบทต่อไปที่ เจ และ วิน เริ่มเขียนขึ้นใหม่มาแล้วสักพักใช้ชื่อว่า JPBS โดยมีเพื่อน ๆ ที่เรียนคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (SoA+D KMUTT) ได้แก่ เหวด ตอง และแซน ไปจนถึง เนม เพื่อนสมัยประถมของเจที่เคยเล่นดนตรีด้วยกันและแลกเปลี่ยนเรื่องดนตรีกันเป็นประจำอยู่แล้ว จับพลัดจับผลูกลับมาเจออีกครั้งหลังจบมหาลัย มาร่วมแต่งเติมเนื้อเรื่องให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น แม้จะยังมีดนตรี instrumental rock ยึดพื้นที่ความสนใจเป็นหลัก แต่ประสบการณ์ก็ทำให้พวกเขาได้รู้จักกับดนตรีอิเล็กทรอนิกและคลับมิวสิก ที่เจเล่าว่าเขากับเพื่อน ๆ ได้นำเอาวิธีคิดบางอย่างของมันใส่เข้ามาในเพลงด้วย

เจ: เราได้ทดลองวิธีการทำงานและการเขียนเพลงแบบใหม่ ๆ เหมือนเมื่อก่อนเราเล่นโพสต์ร็อก คนมาดูเราก็จะเป็นการก้มหน้าก้มตาฟัง เราอยากเปลี่ยนไวบ์ของโชว์ให้เรารู้สึกเอนจอย หรือไม่ว่ายังไงก็ตามต้องโยกหัวไปด้วย อยากให้รู้สึกเหมือนเพลงในคลับ ทั้งเสียง ทั้ง composition เราอยากให้คนเต้นไปกับเพลงในอัลบั้มนี้ได้

อะไรทำให้คลับซีนเป็นที่สนใจมากขึ้น ทั้งที่เมื่อก่อนพอพูดถึงปาร์ตี้แล้วคนจะมองในแง่ลบไปหมด

เนม: เหมือนคนเปิดรับมากขึ้น การไปคลับมันต่างกับการไปคอนเสิร์ตไลฟ์เฮาส์ หรือคอนเสิร์ตเมนสตรีมระดับนึงเลย อธิบายไม่ถูกเหมือนกัน แต่มันไม่ได้เป็นแค่การฟังเพลง มันมี culture ในตัวเองนิดนึง เหมือนคนที่ไปก็อยากส่งต่อ ชวนกันปากต่อปาก

ตอง: จริง ๆ ผมว่ามันก็เหมือนเป็นลูปของแนวดนตรีนะ เมื่อก่อนมันก็มีลูปร็อก หรือช่วงที่ผ่านมาซิตี้ป๊อป ฮิปฮอป อันนี้ก็คงมีช่วงที่เป็นคลับเปลี่ยนผ่านมาอีกครั้ง แล้วด้วยสภาพสังคมสมัยนี้มันจะเปิดรับมากขึ้น ไม่แน่อีกสัก 5 ปีนูเมทัลจะกลับมาอีก

นอกจากอิเล็กทรอนิกแล้ว วงยังแทรกดนตรีที่ดูไม่น่าจะเข้ากันไว้ในเพลง ทั้งดนตรีพระราชพิธี นอยซ์ร็อก และแจ๊ส

เจ: มันไม่เชิงว่าพอได้ยินเพลงเราแล้วจะนึกถึงมันเลย แต่เป็นการที่เราไปหยิบยืมเอเลเมนต์บางอย่างจากพวกนั้น ดึงความรู้สึกบางอย่าง หรือสิ่งที่เรานึกถึงจากเพลงพวกนั้นมาใส่มากกว่า

การที่วงไม่ได้เรียนดนตรีกันมาเลยทำให้การทำเพลง instrumental rock หรือการเล่นสดยากขึ้นไหม

เนม: เนื่องจากว่าเราก็ฟังดนตรี instrumental กันอยู่แล้ว ก็จะพอรู้ว่ามันจะมีพวกโมทิฟหรือเมโลดี้ที่เป็นที่จดจำได้ แต่ละท่อนก็จะมีทำนองหลัก ๆ ของท่อนนั้น ๆ ทำให้เราเรียบเรียงได้ง่ายขึ้น

เจ: แต่กว่าจะเข้ามือก็ค่อนข้างนานทีเดียวเลยครับ รวม ๆ กันน่าจะเข้าปีที่ 2 ของการฝึกซ้อมอัลบั้มนี้

(0) INT. Waiting Room, POV | WAITINGROOM.LIVE

ทำไมถึงต้องเป็น ‘Waiting Room’

เจ: มันเกิดขึ้นประมาณช่วงครึ่งทางของตอนทำเดโม่ เราเล่นเกมที่ชื่อ ‘Limbo’ อยู่แล้วก็เกิดสนใจคำนี้ อยากรู้ว่ามันคืออะไรเลยไปรีเสิร์ช แล้วมันแมตช์กับเสียงที่เราขึ้นโครงเดโม่อยู่พอดี เลยรู้สึกว่าคอนเซ็ปต์นี้มันสามารถเอามาครอบและทำให้ทุกอย่างแข็งแรงขึ้นได้ เราเลยทำเพลงอีกครึ่งนึงต่อโดยยึดจากหัวข้อนี้จนเสร็จ

โปรเจกต์ ‘Waiting Room’ เหมือนเป็นการเดินทางไปยังสถานที่ที่ถูกลืมหลายต่อหลายแห่งที่เรียกว่า ‘Limbo’ แล้วก็มีที่ที่นึงเรียกว่า ‘Waiting Room’ โดยมันเชื่อมสถานที่อื่น ๆ เข้าด้วยกันเหมือนเป็น gateway ของการเดินทาง สถานที่เหล่านี้เป็นสถานที่สมมติ แต่อาจจะเป็นที่ที่เรารู้สึกคุ้นเคยเพราะได้ผสมผสานอะไรบางอย่างที่เราเคยพบเห็นเข้าไปในนั้นด้วยเหมือนกัน

โปรเจกต์นี้ก็จะถูกแตกออกเป็นหลายสาขา ซึ่งจริง ๆ แล้วทุกคนก็มีความสนใจในอะไรใกล้ ๆ กันนี้อยู่ เราจะมีอัลบั้มชื่อว่า ‘Waiting Room’ จะปล่อยวันเดียวกับที่จะมีการแสดงสด ‘Waiting Room Live’ แล้วก็จะมีทางออนไลน์ชื่อ ‘waitingroom.live’ ให้คนเข้าไปสำรวจ เข้าไปมีประสบการณ์ใน virtual space ที่มันเชื่อมโยงกับคอนเซ็ปต์และเพลง แล้วเราก็มีคอสตูมตอนโชว์ที่มันน่าจะสร้างความรู้สึกบางอย่างในเชิงวิชวลกับ performance ได้ด้วย เราอยากผสมสื่อหลาย ๆ แบบไว้ในโปรเจกต์เดียวกัน เหมือนเป็นการทดลองหาวิธีการนำเสนอดนตรีแบบใหม่ ให้ทั้งคนฟังและคนทำได้เข้าถึงดนตรีในรูปแบบใหม่

เนม: อย่างคอสตูมมันเป็นการทดลองอย่างนึงด้วยว่าเราสามารถนำบริบทในอัลบั้มทำออกมาให้เป็นวิชวลมากขึ้นได้ไหม ปรากฏว่าพอลองแล้ว ผลตอบรับมันออกมาค่อนข้างดี เราเลยคิดว่ามันสามารถทำงานได้อย่างที่เราต้องการจริง ๆ เลยเดเวลอปต่อมาเรื่อย ๆ เราเบื่อที่จะนำเสนอดนตรีในรูปแบบที่เขาทำ ๆ กันมา ไม่ว่าจะเป็นการโฆษณา โปรโมตอัลบั้ม รูปแบบการแสดงที่เคยมีมา

โลโก้ดาวแฉกสีดำของ JPBS

เจ: ค่อนข้างไม่มีที่มา ผมเลื่อนผ่านอินเทอร์เน็ตแล้วเจอรูปนี้ก็คิดว่ามันน่าจะแทนอัลบั้มนี้ได้ตั้งแต่แรก ๆ เลยรู้สึกว่า รูปนี้แหละ และมันดูเป็นดาว เป็นพระอาทิตย์ ดูตู้มต้ามเหมือนเพลงพวกเราด้วย

เนม: หรือเป็นสัญลักษณ์ cult อะไรสักอย่าง

การร่วมงานกับ BANGKOK CITYCITY GALLERY และ DuckUnit

เจ: เริ่มจากที่วงและ BANGKOK CITYCITY GALLERY เป็นเพื่อนกัน แล้วแกเลอรีสนใจที่จะทำโปรเจกต์เกี่ยวกับดนตรี ช่วงนั้นเรากำลังทำเดโม่บันทึกเสียงอัลบั้มนี้กันอยู่ เราเลยส่ง rough mix นี้ให้ฟัง แล้วแกเลอรี่ก็สนใจเลยได้มาร่วมงานกัน ส่วน DuckUnit จะมาสมทบในการทำโชว์เพราะวินกับเหวดก็ทำงานที่ DuckUnit ผมก็เคยทำที่นี่เลยมีความสัมพันธ์เชื่อมกัน คิดว่าน่าจะทำงานด้วยกันได้ดีและน่าจะออกมาน่าสนใจ

คิดว่าอะไรที่ทำให้ JPBS เป็นวง instrumental rock ที่มีแฟนเพลงติดตามเหนียวแน่น

วิน: ความจริงเพลงก่อนหน้านี้ก็ไม่ได้มีเยอะ มีไม่กี่เพลง แต่ว่าคนที่ชอบเขาอาจจะเคยดูการเล่นสด แล้วก็น่าจะชอบจากตรงนั้นด้วย

เจ: ผมว่าเพลงเราถูกออกแบบมาสำหรับการนำไปแสดงสดมาก ตอนเขียนเพลงกันก็คิดมาเพื่อให้ดูสดแล้วน่าจะทำงานได้ดีกับคนดู

ได้ยินว่ามีงานนึงที่แฟนเพลงตามเข้าไปหาถึงหลังเวที

เจ: ไม่มีใครรู้เลยว่าเขาเข้ามาได้ยังไง ทุกคนคิดว่าเขาเป็นทีมงานมาช่วย เพราะเขาก็ช่วยพวกเรายกของ เก็บของทุกอย่างเลย แต่พอรู้ความจริงแล้วรู้สึกว่าน่ากลัวมากเลยครับ

JPBS

ความรู้สึกตอนที่ได้ไปเล่น Wonderfruit

เจ: รู้สึกตื่นเต้นแล้วก็กดดันประมาณนึงเลยครับ เหมือนเราได้ไปอยู่ในเวทีเดียวกัน งานเดียวกันกับศิลปินระดับโลกที่เราก็ชอบ ก็อยากจะทำให้ดีกว่าที่เคยทำมา เลยทำให้เราดันมาตรฐานตัวเองขึ้นไปได้ด้วย

ภาพรวมของดนตรี instrumental ในไทยตอนนี้เป็นยังไงบ้าง

เจ: คิดว่าช่วงนั้นมันเป็นกระแสที่เริ่มมา เป็นสิ่งใหม่ที่คนก็ตื่นตัวกับสิ่งนี้กัน แต่ว่าพอมันผ่านเวลาไป มันก็อาจจะเฟดไปได้ตามปกติ

วิน: จริง ๆ ตอนที่เราเริ่มมาเมื่อ 10 ปีที่แล้ว มันมีวง instrumental เยอะกว่าตอนนี้เยอะเลย แต่ปัจจัยที่ทำให้มันหายไปเยอะ ไม่แน่ใจว่าเป็นเพราะกลุ่มคนฟัง หรือเพราะตัวศิลปินเองที่เขาจะเลือกทำต่อหรือไม่เลือกทำต่อ อันนี้ผมว่ามันแล้วแต่วง แล้วแต่กระแสด้วย

แซน: มันบิลด์ขึ้นมาถึงจุดพีคจุดนึง แต่มันร่วงลงไปได้ง่ายมาก ๆ ครับ เพราะว่าอะไรที่มันเร็วขึ้นเรื่อย ๆ ความที่มันเป็นคราฟต์มากก็จะดูช้าไป มันย่อยยากกว่าเพลงทั่วไป มันไม่ได้ใช้แค่หูฟัง มันต้องใช้ประสบการณ์ที่มันสามารถเทียบกับเพลงได้ เพราะการที่ไม่มีเนื้อร้อง มันแล้วแต่คนจะตีความหมายในเพลงนั้น ๆ ซึ่งพอมันมีความฟรีมาก ๆ แล้วโอกาสที่ไม่เข้าใจมันก็เยอะขึ้น คนก็เลย… ทำไมเราไม่เลือกอะไรที่มันย่อยง่ายกว่า ถ้ามีสเต็กกับโจ๊ก ก็เลือกกินโจ๊กไม่ดีกว่าหรอวะ… แต่ก็เหมือนลูกตุ้มอะครับ เดี๋ยวมันก็ไปเดี๋ยวมันก็มา ซึ่งตอนนี้เราก็เป็นหัวลูกตุ้มหรือเปล่าไม่รู้ มันจะแกว่งกลับมาอีก คิดว่าอย่างนั้นมั้ง

แล้วทำไม JPBS ยังทำอยู่

เจ: เรายังไม่เคยมีอัลบั้มกันเลย คิดว่าถึงเวลาละ ต่อให้เทรนด์มันหายไปแล้วแต่ก็ยังอยากทำอะไรแบบนี้อยู่ แล้วคิดว่าตัวเองเปลี่ยนไปแล้วจากช่วงแรก ๆ ก็เลยอยากลองนำเสนอบางอย่างที่เปลี่ยนไปด้วย

ผู้ชมจะได้ประสบการณ์อะไรจาก Waiting Room Live

แซน: ประสบการณ์ดี ๆ

วิน: คาดหวังให้ผู้ชมได้สัมผัสเสียง ภาพ แล้วก็บรรยากาศไปพร้อม ๆ กันมากกว่าการมาดูคอนเสิร์ตหรือดนตรีสด อยากให้มันเป็นโชว์ที่ดีโชว์นึง

เจ: ทั้งงานนี้และอัลบั้ม พวกเราตั้งใจสุด ๆ ทุ่มเทกันมาก ๆ คิดว่ามันค่อนข้างเป็นสิ่งใหม่สำหรับพวกเรา อยากนำเสนอสิ่งนี้เพราะมันทั้งใหม่และน่าสนใจ อยากให้คนที่ถามหาสิ่งใหม่ได้ลองมาดู

เนม: อย่างน้อยก็น่าจะใหม่แถว ๆ นี้

เหวด: อยากให้ทุกคนมาดูกันมาก ๆ เราซ้อมกันเป็นเอาเป็นเอาตาย ถวายร่างกาย ถวายชีวิตกันไปแล้ว คิดว่ามันเป็นสิ่งใหม่จริง ๆ เพราะเราเองก็รู้สึกว่าโคตรใหม่แบบไม่เคยเห็นอะไรแบบนี้ที่ไหนเหมือนกัน ก็ลองดูครับ

ตอง: อย่างที่แซนบอกว่าการที่เรามีเพลงไม่มีเนื้อร้องมันอาจจะดูค่อนข้างกว้าง แต่สิ่งที่พวกเราทำกันอยู่ มันจะมีอะไรบางอย่างที่คนดูจะรู้สึกได้ว่าจากเพลงแรกถึงเพลงสุดท้าย มันมีสตอรี่อยู่ทั้งหมดเลย มีแสง สี เสียง ครบหมดทุกอย่าง ซึ่งความรู้สึกนี้มันจะไปอยู่ในอัลบั้มเหมือนกัน อยากชวนให้มาดูเพื่อรับรู้ได้ว่าดนตรีที่ไม่มีเนื้อร้องบางทีมันก็สามารถเล่าเรื่องได้

รับฟังอัลบั้ม Waiting Room ได้ตั้งแต่เวลาเที่ยงคืนของวันที่ 18 มีนาคมนี้ทางสตรีมมิง และเตรียมตัวสัมผัสประสบการณ์ใหม่ของสื่อหลากหลายแขนงได้ที่ Waiting Room Live ที่ BANGKOK CITYCITY GALLERY ในวันเดียวกัน ตั้งแต่เวลา 17.00 น. เป็นต้นไป

บัตรราคา 700 บาท ซื้อบัตรชมการแสดงพร้อมรับซีดีอัลบั้มในราคา 1,200 บาท ซื้อได้ที่ https://www.ticketmelon.com/bangkokcitycitygallery/waiting-room-live

รายละเอียดเพิ่มเติมที่ https://www.facebook.com/events/537001324991860

JPBS

For Who High วงร็อกเลือดใหม่ ปลดปล่อยอารมณ์เกรี้ยวกราดของวัยรุ่นใน EP แรก ‘The Misfits’

เติบโตอย่างสดใสกับอัลบั้มใหม่ ‘PSSST!’ จาก Daynim

Related Articles

This website uses cookies to improve your experience. We'll assume you're ok with this, but you can opt-out if you wish. Accept Read More

Privacy & Cookies Policy